xs
xsm
sm
md
lg

ภาพลวงตา : เงิน รายได้ และการแก้รัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง, สุวินัย ภรณวลัย

คุณลักษณะที่สำคัญของนโยบายประชานิยมก็คือ ภาพลวงตา

เงิน หรือ money เป็นสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับรายได้ หรือ income แต่ในภาษาไทยแล้วคำว่า “เงิน” นั้นสามารถมีได้หลายความหมายตั้งแต่ เงิน รายได้ ความมั่งคั่ง (wealth) จนไปถึงชื่อแร่ silver ซึ่งแตกต่างจากในภาษาอังกฤษที่แยกแยะให้เห็นอย่างชัดเจน

เงิน ในความเข้าใจและรับทราบของคนทั่วไปมักอยู่ในรูปแบบของ บัตรธนาคาร (bank note) เช่น ธนบัตร และเหรียญกษาปณ์ การเพิ่มขึ้นในปริมาณเงินจึงมักสื่อถึงการพิมพ์ธนบัตรหรือทำเหรียญกษาปณ์เพิ่มขึ้น แต่คนทั่วไปมักไม่รู้ว่าการกู้เงินของรัฐบาลต่างหากที่เป็นการเพิ่มเงินในปริมาณที่มากโดยไม่จำเป็นต้องมีการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มและเป็นที่มาของความเสียหายอยู่เสมอๆ

ในความเป็นจริงแล้ว เงิน มิได้จำกัดอยู่เฉพาะในรูปแบบข้างต้นเท่านั้นหากแต่สามารถอยู่ในรูปแบบอื่นๆ ได้อีกมากมาย เช่น เช็ค ตั๋วแลกเงิน บัตรเครดิต หรือข้อมูลผ่านอากาศด้วยการโอนเงินทางโทรเลขโดยข้อมูลในรูปแบบอนาล็อกของโทรเลขในอดีตหรือข้อมูลแบบดิจิตอลในปัจจุบัน

การจะตั้งคำถามว่า “อะไรคือเงิน” เพื่อจะได้ทราบว่ามีเงินอยู่มากน้อยเพียงใดในระบบนั้นจะทำให้ได้คำตอบที่ผิดเพราะสิ่งใดที่ทำ “หน้าที่ของเงิน” ได้ต่างหากที่ทำให้สิ่งนั้นเป็นเงินขึ้นมาได้ รูปแบบ (form) จึงสำคัญน้อยกว่าหน้าที่ (function) ในการกำหนดนิยามว่าอะไรคือเงิน

หน้าที่ของเงินมีอยู่ 3 ประการคือ (1) สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (2) หน่วยนับ และ (3) เก็บมูลค่า ดังนั้นสิ่งใดที่ทำหน้าที่ทั้ง 3 ประการนี้ได้ก็จะมีความเป็นเงิน (moneyness) หากเปรียบเทียบระหว่างธนบัตร กับเช็ค หรือบัตรเครดิต แน่นอนว่าธนบัตรจะมีความเป็นเงินมากกว่าเช็คหรือบัตรเครดิต เพราะหน้าที่การเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนหรืออีกนัยหนึ่งคือการรับชำระราคาสามารถทำได้ตลอดเวลาไม่ต้องรอเวลาธนาคารเปิดทำการ หรือต้องหาร้านค้าที่ยินดีรับบัตรเครดิตเพื่อชำระค่าสินค้าบริการแต่อย่างใด

สังคมที่พัฒนาแล้วจึงนิยมใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการแทนที่จะใช้ระบบแลกเปลี่ยนสินค้ากันโดยตรง ยกเว้นแต่รัฐมนตรีพาณิชย์ที่ไร้ความสามารถที่ยังใช้ของแลกของอยู่ เพราะไม่สามารถค้าขายโดยให้คู่ค้าชำระค่าสินค้าเป็นเงินได้

ในสังคมที่ไม่มีเงิน หากช่างทำรองเท้าอยากจะพาแฟนไปดูหนังจะยุ่งยากขนาดไหนเมื่อเจ้าของโรงหนังคิดค่าชมเป็นต้มยำกุ้ง 1 ชาม ช่างทำรองเท้ากับแฟนจะได้ดูหนังต่อเมื่อหาคนที่สามารถทำต้มยำกุ้งและยินดีรับรองเท้า ดังนั้นนอกจากจะต้องมีความต้องการที่ตรงกันแล้วยังต้องมีอัตราแลกเปลี่ยนอีกมากมายเท่าๆ กับจำนวนสินค้าบริการที่มีอยู่นับไม่ถ้วน มิพักจะกล่าวถึงว่าจะแลกกันในอัตราใดจึงจะเป็นที่พอใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย

เมื่อมี เงิน คนในสังคมจึงสามารถแยกหน้าที่การผลิตออกจากการบริโภคให้อยู่ต่างเวลากันได้ สินค้าบริการที่ผลิตขึ้นมาจึงไม่ต้องบริโภคให้หมดในคราวเดียว หากแต่สามารถเก็บสะสมส่วนที่บริโภคไม่หมดหรืออีกนัยหนึ่งก็คือการออมความมั่งคั่งที่มีอยู่ด้วยเงินแทนการเก็บออมเป็นสินค้าหรือบริการที่ยุ่งยากในการรักษา เช่น แรงงานที่ในอดีตไม่สามารถเก็บออมไว้ได้

เงิน จึงมิใช่รายได้ เพราะรายได้มาจากการผลิตสินค้าบริการ แต่เงินนั้นเข้ามาทำหน้าที่อำนวยความสะดวกหรือสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า เก็บรักษามูลค่าและเป็นหน่วยนับ ที่มาของเงินนั้นสามารถสร้างขึ้นมาได้อย่างเอกเทศแยกต่างหากจากการผลิตสินค้าบริการ ดังนั้นรายได้จึงมีมูลค่ามากกว่าเงินเนื่องจากมิได้ใช้จ่ายรายได้ที่ได้มาให้หมดในคราวเดียว ลองดูรายได้ของทุกคนในประเทศหรือรายได้ประชาชาติที่วัดโดย GDP นั้นจะมีมูลค่ามากกว่าปริมาณเงินที่มีอยู่ทั้งในกระเป๋าหรือระบบเศรษฐกิจเสมอ

นโยบายประชานิยมมักมุ่งเน้นไปที่การ “เพิ่มเงินในกระเป๋า” ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่ทำได้โดยง่าย แค่เอาอำนาจการเมืองไปแทรกแซงการดำเนินงานของธนาคารกลางที่เป็นผู้สร้างเงินในระบบให้ได้ก็เพียงพอแล้ว ดังนั้นคนที่ขาดความรู้ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ในภาพลวงตาที่ว่า เงิน มิใช่ รายได้ จึงเป็นเหยื่ออันโอชะดังเช่นกลุ่มคนเสื้อแดงที่เป็นอยู่ในขณะนี้

นโยบายเพิ่มค่าจ้าง 300 บาท/วัน เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท/เดือน การประกันราคาข้าวหรือสินค้าอื่นๆ ที่เกินความเป็นจริง การแจก tablet ให้เด็ก หรือเงินจากกองทุนต่างๆ ล้วนเป็นตัวอย่างที่ดีของภาพลวงตา เป็นมุ่งไปที่การเพิ่มเงินทั้งทางตรงหรืออ้อมแต่มิใช่มุ่งไปที่การเพิ่มรายได้

พวกเขาที่เป็นเหยื่อเหล่านั้นก็ยังมีความสามารถในการผลิตสินค้าบริการเท่าเดิม มิได้มีการสร้างงานหรือเพิ่มขีดความสามารถแต่อย่างใด ในขณะที่ต้นทุนการผลิตโดยรวมของประเทศเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มเงิน ภาวะ “แพง” ทั้งแผ่นดินจึงเป็นผลที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงและแก้ไขได้ยาก

การหลงระเริงว่ามีเงินในกระเป๋าเพิ่ม แต่หารู้ไม่ว่าสินค้าบริการไม่เพิ่มตามไปด้วยจึงเป็นจุดเริ่มต้นของความวิบัติจากเงินเฟ้อในหลายๆ ประเทศที่ใช้นโยบายประชานิยม

การมีเงินเพิ่มแต่ไม่มีงานทำนั้นไม่ได้สร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตแต่อย่างใด การมีงานทำสร้างความภาคภูมิใจและลดการพึ่งพาในสังคมอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม เป็นที่มาของความพอใจที่เรียกว่า “ความสุข” นั่นเอง เงินจึงมิใช่ที่มาของความสุข การมีงานทำต่างหากที่นำมาซึ่งความสุข ที่ลดการพึ่งพาคนอื่น แต่เพิ่มการพึ่งพาตนเองได้เป็นสำคัญ

หากพูดแบบ “เหวงๆ” ว่าปัญหาของประเทศอยู่ที่ความไม่เท่าเทียมกันของชนชั้นที่มี “รายได้” ต่างกันระหว่างชนชั้นทำให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะชนชั้น “อำมาตย์” ที่น่าจะมี “รายได้” มากกว่า “ไพร่” เช่น จตุพร หรือ ณัฐวุฒิ แต่การจะลดช่องว่างของความไม่เท่าเทียมกันโดยการเพิ่ม “รายได้” ระหว่างชนชั้นไม่สามารถทำได้จากการแจกหรือเพิ่มเงิน หากแต่อยู่ที่การสร้างงานหรือเพิ่มขีดความสามารถเพื่อเป็นที่มาของ “รายได้” ต่างหาก เป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่าและแกนนำเสื้อแดงหรือรัฐบาล “หุ่นโชว์” นี้ก็มิได้มีข้อเสนอหรือปฏิบัติจนสำเร็จให้เห็นเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

ในภาพที่ใหญ่ขึ้นมา การกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อหวังผลให้เศรษฐกิจเติบโตมากขึ้นโดยการทำงบประมาณขาดดุลเพื่อลงทุนในโครงการต่างๆ จากภาครัฐนั้น ทำไปราวกับว่าประเทศไทยนั้นตายด้านทางเศรษฐกิจจนต้องพึ่งพา “ไวอะกร้า” ด้วยการลงทุนจากภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว มันสำเร็จได้ผลสักเพียงใดในการสร้างงานสร้างรายได้ หากสำเร็จทำไมจึงต้องทำติดต่อกันมาโดยตลอดโดยไม่เคยหยุดเลย หรือหากไม่สำเร็จทำไมไม่คิดจะหาวิธีอื่นดูบ้าง ทำไมเอกชนจึงไม่ลงทุนปล่อยให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนแต่ฝ่ายเดียวทั้งที่การลงทุนหมายถึงกำไร หรือทั้งหมดนี้เป็นเพราะถ้าเอกชนลงทุนมันโกงไม่ได้มากเหมือนกับภาครัฐลงทุน

ประเด็นที่มักถูกมองข้ามก็คือ เมื่อจ่ายมากกว่ารายได้ที่มี แสดงถึงการกู้ที่หากมิได้กู้มาจากเอกชนในประเทศหากแต่กู้จากธนาคารกลางหรือจากต่างประเทศ ผลก็คือการเพิ่มเงินในระบบนั่นเอง ดังนั้นนอกจาก “เงินเฟ้อ” ที่จะเกิดขึ้นแล้วหากโครงการที่ไปกู้มาลงทุนไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพขีดความสามารถให้กับประเทศหวังแต่เพียงการคดโกงในงบลงทุนปัจจุบันแล้วจะเป็นผลร้ายซ้ำสองเพราะจะเอาเงินที่ไหนไปชำระหนี้ในอนาคต

ประเทศนี้มิใช่มีเฉพาะคนเสื้อแดงอาศัยอยู่เพียงลำพัง หากคิดว่าตนเองจะได้ประโยชน์และพอใจจากนโยบายประชานิยมที่เป็นเพียงภาพลวงตา ก็ขอให้เก็บงำผลประโยชน์ที่คิดว่าได้เอาไว้ให้ดี หากคุณไม่ใช่นักการเมืองที่สามารถหนีไปอยู่เมืองนอกได้อย่าคิดว่าจะหนีพ้น เพราะปลายทางของอนาคตที่เห็นได้ในปัจจุบันคือความหายนะที่หากไม่ใช่คุณก็จะเป็นรุ่นลูกหรือหลานของพวกคุณที่ต้องชดใช้แทนเช่นเดียวกับคนอื่น

เช่นเดียวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ใช้ข้ออ้างเพียงประการเดียวก็คือ มีที่มาจากการยกเลิกฉบับก่อนหน้าปี พ.ศ. 2540 โดยการรัฐประหาร แต่ปิดบังไม่บอกว่าฉบับปัจจุบันมันดีเลวกว่าตรงไหนและประสงค์จะแก้ที่ประเด็นใด หากแต่ต้องการจะยกเลิกทั้งฉบับแล้วร่างใหม่ที่อาจนำเอาฉบับก่อนหน้าหรือฉบับใดก็ไม่ได้บอกมาใช้

โดยข้อเท็จจริง ไม่มีรัฐธรรมนูญใดในโลกที่สมบูรณ์แบบไม่มีข้อบกพร่อง ไม่มีรัฐธรรมนูญไทยฉบับใดไม่ได้มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร และที่สำคัญก็คือ การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้จะทำให้ประเทศมีการจ้างงานและเพิ่มรายได้เป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศนี้ได้ตรงที่ใด หากไม่สามารถรับรองว่าจะดีกว่าเดิมหรือไม่ก็ควรดูประสบการณ์จากอดีตของเราและจากประเทศอื่นดูบ้าง การใช้เสียงข้างมากก็ต้องมีเหตุผลด้วยมิเช่นนั้นก็คือเผด็จการรัฐสภาใช้พวกมากลากไปดีๆ นี่เอง

ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของไทยเจริญเติบโตควบคู่มากับการปฏิวัติรัฐประหารที่มีการใช้รัฐธรรมนูญมาแล้วอย่างมากมายนับสิบกว่าฉบับ กล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านมาไม่มีผลต่อความเจริญของประเทศแต่อย่างใด ทำไมผู้ที่จะขอแก้ด้วยการยกเลิกทั้งฉบับมีความแน่ใจว่าของใหม่มันจะดีกว่าเดิมมีหลักฐานอะไรเป็นที่ประจักษ์ยืนยันบ้าง

ประเด็นเกี่ยวกับ ม. 112 ก็เป็นภาพลวงตากับพวกเดียวกันเองเช่นกัน ต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพราะต้องการเพื่อนร่วมทางไปแค่นครสวรรค์เพื่อให้ตนพ้นผิดเท่านั้น มิได้ต้องการจะไปถึงเชียงใหม่ด้วยการแก้ไข ม. 112 แต่อย่างใดไม่

แต่ที่เห็นเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ก็คือ ในประเทศที่เขาพัฒนาเจริญก้าวหน้ากว่าเรา เช่น สหรัฐฯ ก็มีเพียงฉบับเดียวที่ร่างเมื่อกว่า 200 ปีก่อน หรือญี่ปุ่นที่มีเพียง 2 ฉบับและฉบับที่ใช้อยู่ก็ร่างโดยผู้ที่เข้ามายึดครองประเทศในฐานะผู้ชนะสงครามซึ่งเป็นมากกว่ามรดกจากการปฏิวัติรัฐประหารเสียด้วยซ้ำ

นักการเมืองบ้านเขาแย่กว่านักการเมืองบ้านเราหรืออย่างไร ทำไมเขาจึงเลือกที่จะไม่ยุ่งกับรัฐธรรมนูญ หากแต่มุ่งหน้าพัฒนาประเทศจนเจริญก้าวหน้ากว่าเราที่ยังคงสาละวนเกี่ยวกับจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งๆ ที่มีมาก่อนหน้าแล้วเป็นสิบฉบับก็ไม่ได้ทำให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าให้เห็นเป็นประจักษ์ว่าเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญที่ร่างแต่อย่างใด เป็นที่นักการเมืองเลวไม่สามารถอยู่กับรัฐธรรมนูญดีได้หรือรัฐธรรมนูญแย่กันแน่

เหตุก็เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ประชาชนตั้งกฎเกณฑ์เอาไว้ให้นักการเมืองปฏิบัติ นักการเมืองจึงเข้ามาทำหน้าที่ “ผู้จัดการ” โดยเป็นรัฐบาล หรือทำหน้าที่ออกกฎระเบียบ เช่น กฎหมายอื่นๆ ในประเทศที่ต้องสอดคล้องกับกฎหมายสูงสุดที่มีอยู่แทนประชาชนผู้เป็นเจ้านาย การอ้างว่ามีเสียงข้างมากจึงเป็นภาพลวงตาอีกเช่นกัน จะอ้างว่ามาแก้ไขแต่แท้จริงคือยกเลิกรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎให้นักการเมืองปฏิบัติได้อย่างไรเพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง

ส.ส.และส.ว.ก็ต้องปฏิญาณตนตาม ม. 123 ก่อนรับตำแหน่งมิใช่หรือว่าจะ “รักษาและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการ” แล้วพวกที่ยกมือโหวตให้จะแก้ตัวอย่างไร?

หรือนี่ก็เป็นเพียงภาพลวงตาเช่นเดียวกับนโยบายประชานิยมที่รัฐบาลทักษิณในอดีตและปัจจุบันใช้อยู่ก็คือ แจกเงินแต่ไม่สร้างรายได้ ภาพลวงตาที่ว่านี้ก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มิใช่ถ่วงความเจริญตรงที่ใด หากแต่ต้องการแก้กฎหมายสูงสุดนี้เพื่อแก้ปัญหาให้กับตนเองต่างหาก
กำลังโหลดความคิดเห็น