xs
xsm
sm
md
lg

สร้างป่า แก้ปัญหาน้ำ ทิศทางที่ควรทำ

เผยแพร่:   โดย: ชัยพันธุ์ ประภาสะวัต

ทุกวันนี้ภัยจากธรรมชาติคร่าชีวิตมนุษย์ได้อย่างรวดเร็ว และเป็นจำนวนมากในแต่ละครั้งที่เกิดเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเหตุจากแผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิ พายุทอร์นาโด ภูเขาไฟระเบิด ดินโคลนถล่ม หิมะถล่ม วาตภัย อุทกภัย เหล่านี้และอีกมายมายที่เราได้ยินและได้เห็นจากทั่วโลก

ในอดีตมนุษย์ทำสงครามแย่งชิงแผ่นดินกัน สูญเสียไพร่พลนับแสนนับล้าน แต่สงครามในปัจจุบันฝ่ายชนะสูญเสียชีวิตน้อยมาก เพราะต่อสู้ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยและเหนือกว่าคู่ต่อสู้ เห็นได้จากตัวอย่างสงครามในอิรัก สหรัฐฯ สูญเสียทหารไปเพียง 200 กว่านายจากการสู้รบที่กินเวลายาวนานหลายปี แต่น้ำท่วมประเทศไทยเพียงไม่กี่เดือน มีผู้คนเสียชีวิตไปแล้วกว่า 800 ราย ความโหดร้ายจากภัยธรรมชาติครั้งนี้ ยังพอเข้าใจได้ว่าเป็นบทลงโทษของธรรมชาติที่สั่งสอนมนุษย์ผู้ก่อความเสียหายต่อโลกเอาไว้มากมาย

แต่ภัยที่เกิดจากความบกพร่องของน้ำมือมนุษย์ด้วยกันเอง ดังเช่นที่เกิดขึ้นในบ้านเราขณะนี้ ทำให้ต้องสังเวยชีวิตของผู้คน รวมทั้งความเสียหายต่อทรัพย์สินมูลค่ามหาศาล จะให้เชื่อว่าเป็นเรื่องธรรมชาติคงทำใจได้ยาก เราจึงต้องใช้เรื่องราวเหล่านี้มาเป็นบทเรียน ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งและได้ผู้นำไร้สมองมาทำลายประเทศ และทำร้ายประชาชนเช่นนี้หรือ?

จากการทัวร์นกแก้วนกขุนทองของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมคณะทำงานเพื่อดูปัญหาน้ำท่วม หนึ่งในหลายๆ มาตรการที่ออกมาคือการเร่งปลูกป่าภายใน 3 เดือน คนที่ไม่เคยอยู่กับป่าหรือรู้จักคำว่า ป่า อาจจะฟังแล้วดูดี ซื้อใจคนได้ หน่วยงานทั้งหลายที่เกี่ยวข้องล้วนขานรับ และตามมาด้วยการขออนุมัติงบประมาณซึ่งก็คือเงินภาษีอากรจากพวกท่านทั้งหลาย

แต่สิ่งที่หลายๆ คนยังไม่รู้ก็คือ การปลูกต้นไม้ในป่าช่วงฤดูแล้งนั้น ไม่ว่าจะปลูกจำนวนมากมายมหาศาลขนาดไหนก็ตาม 90% ของต้นไม้ที่ปลูกนั้นจะตายหมด เพราะช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมที่ยังคงเป็นฤดูร้อน อากาศแห้งแล้งมาก เราเคยไปติดตามสำรวจดูบ้างหรือไม่ว่าที่ไปปลูกป่าแล้วถ่ายรูปลงหนังสือพิมพ์ ออกโทรทัศน์กันไปนั้น เมื่อเวลาผ่านไปยังมีต้นไม้ที่เหลือรอดอยู่สักกี่ต้น? หลายปีที่ผ่านมา เราจะเห็นหน่วยงานของทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันปลูกป่าอย่างต่อเนื่องนับล้านไร่ แต่ไม่มีใครตอบได้เลยว่ามีต้นไม้ที่รอดอยู่จำนวนเท่าไหร่ ดังนั้นการปลูกป่าภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนจึงเรียกว่าได้ไม่คุ้มเสีย

กว่าร้อยปีของกรมป่าไม้ ป่าลดลงโดยตลอดนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกรมนี้โดยชาวต่างชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อการให้สัมปทานป่าไม้ เมื่อบริษัทต่างชาติทั้งหลายที่ได้รับสัมปทานตัดไม้ ไม่ว่าจะเป็นบอมเบย์เบอร์ม่า หรืออี๊สต์เอเชียติ๊ก และบริษัทอื่นๆ ตัดไม้และขนออกไปต่างประเทศจนแทบไม่เหลืออะไรไว้แล้ว ภายหลังเราจึงมาคิดเรื่องการอนุรักษ์ หลังจากป่าสักทองขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกได้ถูกทำลายลง ปัจจุบันมีป่าสมบูรณ์เหลืออยู่ไม่ถึง 80 ล้านไร่จากพื้นที่ของประเทศ 320 ล้านไร่ และป่าไม้ยังคงถูกทำลายลงปีละกว่า 3 หมื่นไร่ ไม่ว่าจะแยกตัวจากกรมป่าไม้ออกไปเป็นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หรือไม่ว่าจะของบประมาณซื้อปืน M16 อีกกี่พันกระบอก ป่าไม้ก็ยังคงลดลงโดยตลอด

องค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาชนที่ทำงานเรื่องคนกับป่าไม้ได้เคยเสนอ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ที่ให้โอกาสภาครัฐและเอกชนได้ทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างสำนึกใหม่และวิธีการจัดการแบบใหม่ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลจัดการและใช้ประโยชน์จากป่าร่วมกันอย่างยั่งยืน เปลี่ยนทัศนคติของชาวบ้านที่เข้าใจว่าป่าเป็นของรัฐ เจ้าหน้าที่เท่านั้นที่มีอำนาจและหน้าที่ในการดูแล ใครเข้าไปยุ่งเกี่ยวจะมีความผิด ทั้งๆ ที่กฎหมายป่าไม้หลายฉบับมีบทบัญญัติขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และฉบับ 2550 กลับไม่มีใครสนใจแก้ไข ทั้งที่ในรัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุด

กฎหมายอื่นใดที่ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับไม่ได้ แต่ก็ยังคงใช้กฎหมายป่าไม้และอุทยานแห่งชาติฯ โดยไม่ได้แก้ไขปรับปรุง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมากก็รู้เรื่องเหล่านี้ดี แต่ไม่พยายามหาทางแก้ไขในเรื่องที่กระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน มัวแต่หมกมุ่นอยู่กับการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองและพวกพ้อง

ใน 100 ปีเศษที่ผ่านมา ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศนี้ถูกทำลายไปไม่รู้เท่าไหร่ สังเวยการเปิดประเทศเพื่อการพัฒนา การปล่อยให้รัฐและข้าราชการเพียงหยิบมือมาทำหน้าที่ดูแลป่าแต่เพียงลำพังนั้นล้มเหลวมาตลอด วิธีการเดียวที่จะฟื้นฟูป่าขึ้นมาใหม่ คือการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เปลี่ยนการจ้างเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้ดูแลป่า มาให้ชาวบ้านที่อยู่ในป่าและพื้นที่โดยรอบเป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างคอยดูแลป่าไม้แทน เอาเงินเดือนจำนวนมากและงบประมาณซื้ออาวุธป้องกันป่ามาให้เพียงครอบครัวละ 3 พันบาท เราจะได้ผู้คนประมาณ 100,000 ครอบครัว จำนวนกว่า 4 แสนคนเข้ามาช่วยเหลือดูแลป่า ปลูกป่า และทำมาหากินอยู่ในนั้นด้วยความเต็มใจ ใช้งบประมาณเพียงปีละ 36,000 ล้านบาท แต่จะได้ป่าไม้จำนวนนับล้านไร่กลับคืนมาภายในไม่เกิน 10 ปี

งบประมาณที่จะใช้ในการนี้ให้เก็บภาษีจากผู้ใช้ประโยชน์จากน้ำทุกประเภทในอัตรามากน้อยต่างกัน อาทิ ภาษีจากน้ำประปา น้ำดื่ม น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ตลอดจนเหล้า เบียร์ ฯลฯ ที่ก่อเกิดรายได้จากการใช้น้ำ ต้องแบ่งเอามาให้เป็นกองทุนเพื่อดูแลจัดการต้นน้ำและดูแลป่าไม้

มีการศึกษาและงานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ได้ว่า ประชาชนสามารถดูแลรักษาป่าและอยู่อาศัยร่วมกันได้โดยไม่ทำลาย วิธีการเดียวกันนี้สามารถนำมาใช้ในพื้นที่ราบลุ่มบริเวณรอบหมู่บ้าน ริมห้วย หนอง คลอง บึงต่างๆ ขุดคูคลองเพิ่มขึ้นทั่วประเทศแทนการทำถนน ทำทางลำเลียงพืชผลการเกษตรและปลูกต้นไม้ตลอดสองข้างคลอง ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงแนวความคิดเบื้องต้นที่ผ่านการศึกษาวิจัยมาแล้วทั้งสิ้นว่ามีความเป็นไปได้ แต่ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยเอาใจใส่

น้ำฝนแต่ละหยดที่หล่นลงมาสู่ป่า กว่าจะผ่านใบไม้นับร้อยนับพันใบ ตกลงสู่พื้นซึ่งปกคลุมไปด้วยใบไม้แห้งที่ทับถมกันหลายชั้น กว่าจะซึมลงไปในผืนดินซึ่งเต็มไปด้วยรากไม้ที่คอยดูดซับความชื้นจากน้ำขึ้นไปหล่อเลี้ยงลำต้น กิ่งก้าน และใบ น้ำจำนวนมากถูกใช้ไปจากกระบวนการเหล่านี้ ที่เหลือจึงค่อยๆ ซึมลงไปสู่แหล่งน้ำอย่างช้าๆ เป็นกลไกการชะลอน้ำตามวัฏจักรของธรรมชาติ

กระบวนการทำงานของธรรมชาติอาจต้องใช้เวลานาน ไม่เห็นผลทันใจ คนจึงมักไม่ค่อยเห็นคุณค่า ปัจจุบันเราถางป่าเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลผลิตเร็วและทำรายได้มากกว่า เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา แต่พืชเชิงเดี่ยวเหล่านี้ไม่สามารถรักษาสมดุลของระบบนิเวศไว้ได้ ต่อให้ปลูกเป็นล้านไร่ก็ไม่สามารถทำหน้าที่ทดแทนป่าไม้ได้ เราจึงควรจำกัดการปลูกพืชแต่ละชนิด จัดโซนนิ่งพื้นที่ระหว่างชุมชนที่อยู่อาศัยและนิคมอุตสาหกรรม ทบทวนบทเรียนที่ผ่านมาและใช้ความรู้แก้ปัญหา การป้องกันน้ำท่วมด้วยเขื่อนเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้ แน่นอนว่าเราไม่อาจหลีกเลี่ยงภัยธรรมชาติที่จะเกิดได้ แต่เราสามารถป้องกันและบรรเทาความรุนแรงของมันได้

การแก้ปัญหาเรื่องป่าไม้และน้ำไม่ใช่เรื่องที่คนเพียงไม่กี่คนจะแก้ได้ แต่ต้องมาจากความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย เราจึงจะได้ป่าไม้ที่สมบูรณ์กลับคืนมา
กำลังโหลดความคิดเห็น