สธ.พบผู้ป่วยเพิ่มวันละกว่า 5 หมื่นราย จากยอดรวมทั้งหมด 9 แสนราย ชี้คนปทุมฯ ป่วยสูงสุด ชี้สถานการณ์น้ำไม่ร้ายแรงเท่าสึนามิ ทอร์นาโด เชื่อแนวโน้มจะดีขึ้น
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกบริการทุกจุดที่มีประชาชนอยู่ทั้งในที่พักพิง ที่บ้าน หรือตามริมถนน ทั้งทางรถ ทางเรือ วันละกว่า 300 ทีม พบผู้ป่วยเพิ่มวันละ 50,000 ราย ผู้ป่วยร้อยละ 75 อยู่ที่ จ.ปทุมธานี จำนวน 37,801 ราย ยอดผู้ป่วยสะสมจนถึงวันนี้รวมกว่า 9 แสนราย ไม่พบผู้ป่วยอาการรุนแรง ส่วน ใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า ไข้หวัด โดยหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จะออกปฏิบัติการจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ปกติ มียารักษาโรคเพียงพอ ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ และหากผู้ประสบภัยเจ็บป่วย สามารถเข้ารับริการได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
“ลักษณะของน้ำท่วมที่เกิดในขณะนี้ไม่น่ากลัว ไม่น่ารังเกียจ แต่ปีนี้น้ำมามาก ขอให้ประชาชนช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรจึงจะอยู่กับน้ำได้ น้ำไม่ได้ทำร้ายคนขนาดเท่าสึนามิหรือทอร์นาโด ขอให้ประชาชนยอมรับและอยู่กับน้ำอย่างปลอดภัย และปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการ ทั้งนี้ ผลการดูแลด้านสุขภาพจิต พบผู้ประสบภัยมีความเครียดรวม 107,874 ราย มีความเครียดระดับสูง 5,400 ราย ซึมเศร้า 6,414 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 936 ราย โดยมีผู้ที่ต้องติดตามดูแลใกล้ชิดทั้งหมด 1,458 ราย” นายวิทยากล่าว
ทางด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.กล่าวว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของกระทรวงสาธารณสุขวันนี้ ได้ประเมินผลการปฏิบัติงานดูแลประชาชนในพื้นที่ประสบภัย พบว่าบางจุดยังเข้าถึงยาก การแจกจ่ายยาทำได้จำกัด จึงได้ปรับวิธีการโดยจะใช้รถสิบล้อ จัดเป็นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และจัดเวชภัณฑ์ ยา ถุงยังชีพ น้ำ ส้วมมือถือ สิ่งของใช้ป้องกันโรค เช่น ถุงดำ สารส้มคลอรีน ดูแลความสะอาดสุขาภิบาลต่างๆ บรรทุกเต็มคันรถเพื่อให้ทุกครัวเรือนได้ใช้ในระหว่างน้าท่วม เบื้องต้นจะจัด 2 คันก่อน และจะให้มีทีมม้าเร็วเข้าไปแจกยาในพื้นที่ที่น้ำเริ่มท่วม เพื่อให้มียาพร้อมดูแลตัวเองเบื้องต้นหากเจ็บป่วยในช่วงน้ำท่วม บรรเทาอาการเจ็บป่วยไม่ให้รุนแรง
นพ.ไพจิตร์กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ กทม. กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหน่วยแพทย์หรือโรงพยาบาลสนามให้บริการประชาชนในศูนย์พักพิงบริเวณ พื้นที่หลักสี่ และจัดทีมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกบริการร่วมกับ กทม. และจะจัดลงไปยังจุดพักพิงอื่นๆ เพิ่มอีก ซึ่งจะดูแลทั้งเรื่องการรักษาพยาบาล การปฐมพยาบาลจิตใจ การดูแลความสะอาดสิ่งแวดล้อม ขยะ ส้วม น้ำ อาหาร และการป้องกันควบคุมโรค ซึ่งขณะนี้ผลการควบคุมโรคอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ ยังไม่พบมีโรคระบาด พบผู้ป่วยประปรายบางโรค เช่น ตาแดง อุจจาระร่วง ไข้ฉี่หนู รักษาหายทุกราย อยู่ในควบคุมของเจ้าหน้าที่