xs
xsm
sm
md
lg

หั่นเหี้ยน!อีสานบ้านเฮา "ปู"จัดให้1.6พันล้านจาก1.9หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี วานนี้(22ก.พ.55) นางฐิติมา ฉายแสง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.สัญจร) เกี่ยวกับแผนงานโครงการที่ที่ประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 2/2555 (กรอ.ภาคอีสานตอนบน) เสนอเข้าวาระการประชุม ครม.ครั้งนี้ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่ กรอ.และแผนงานโครงการของแต่ละจังหวัด จำนวน 29 โครงการ งบประมาณทั้งสิ้น 1,650 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอเข้ามา 1,595.75 ล้านบาท โดยมีโครงการที่เพิ่มเข้ามา คือ โครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยอุดรธานี ที่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้เสนอ ใช้งบประมาณในการศึกษา 30 ล้านบาท โครงการศึกษาพัฒนาพื้นที่หนองแด จ.อุดรธานี เพื่อรองรับวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และสนามกีฬากลางจังหวัดอุดรธานี ที่เพิ่มเข้ามา
สำหรับ 29 โครงการที่ได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุม ครม.ไปแล้วนั้น แบ่งเป็นโครงการกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน 1 จำนวน 5 จังหวัด วงเงินรวม 680 ล้านบาท ได้แก่
1.จ.อุดรธานี 3 โครงการ คือ โครงการพัฒนาห้วยหลวงเพื่อป้องกันน้ำท่วมและภัยแล้งเร่งด่วน 77 ล้านบาท โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกบ้านเชียง 6 ล้านบาท และโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก 25 ล้านบาท
2. จ.หนองบัวลำภู 3 โครงการ คือ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำพะเนียง 17 ล้านบาท โครงการขุดสระน้ำเพื่อการเกษตร 50 ล้านบาท และโครงการพัฒนาศักยภาพการเกษตร ส่งเสริมการเลี้ยงไก่พื้นเมือง 40 ล้านบาท
3. จ.หนองคาย 1 โครงการ คือ โครงการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ท่าบ่อ 100 ล้านบาท
4.จ.เลย 1 โครงการ คือ โครงการเพิ่มศักยภาพทางหลวงหมายเลข 2115 ช่วงสามแยกไปท่าลี่ 84 ล้านบาท
5.จ.บึงกาฬ 1 โครงการ คือ โครงการก่อสร้างอาคารบำบัดรักษา 4 ชั้น และค่าปรับพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อยกระดับมาตรฐานโรงพยาบาล 126 ล้านบาท รวมไปถึงโครงการของบริหารจัดน้ำเพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัย-ภัยแล้งของกลุ่มจังหวัดอีก 141 ล้านบาท
กลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน 2 จำนวน 3 จังหวัด วงเงินรวม 389.25 ล้านบาท ได้แก่
1.จ.มุกดาหาร 2 โครงการ คือ โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์แก่งกะเบา และถนนเพื่อการท่องเที่ยวสายแก่งกะเบา-บ้านบางทราย 54.25 ล้านบาท และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของการท่องเที่ยว 45 ล้านบาท
2.จ.สกลนคร 1 โครงการ คือ โครงการพัฒนาหนองหาร 110 ล้านบาท
3.จ.นครพนม 2 โครงการ คือ โครงการพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์สุขภาพแห่งอนุภูมิภาคอินโดจีน ด้านครุภัณฑ์ทางการแพทย์ 30 ล้านบาท และโครงการเชื่อมโยงเส้นทางรองรับการใช้ประโยชน์สะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) 70 ล้านบาท รวมไปถึงโครงการก่อสร้างฝายยางห้วยบางทรายน้อยของกลุ่มจังหวัดอีก 80 ล้านบาท
กลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนกลาง จำนวน 4 จังหวัด วงเงินรวม 526.50 ล้านบาท ได้แก่
1.จ.ขอนแก่น 3 โครงการ คือ โครงการปรับปรุงระบบเก็บกักบึงละเลิงหวาย พร้อมอาคารประกอบอำเภอพล 40 ล้านบาท โครงการปรับปรุงระบบเก็บกักหนองลาดควาย อ.อุบลรัตน์ 30 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างระบบผันน้ำ (ฟลัดเวย์) จากเขตเมืองสู่แม่น้ำชี 30 ล้านบาท
2.จ.มหาสารคาม 3 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาบึงกุยเพื่อป้องกันน้ำท่วมและส่งเสริมการท่องเที่ยว 30 ล้านบาท โครงการพัฒนาแหล่งน้ำสาธารณะฝายป่าโคกไม้งามเพื่อการเกษตร 30 ล้านบาท และโครงการบริหารจัดการลุ่มน้ำชีระยะเร่งด่วน 50 ล้านบาท
3.จ.ร้อยเอ็ด 2 โครงการ คือ โครงการพัฒนาห้วยแอ่ง 70 ล้านบาท และโครงการปรับปรุงและพัฒนาบึงพลาญชัย 35 ล้านบาท
4.จ.กาฬสินธุ์ 2 โครงการ คือ โครงการก่อสร้างบ้านพักค่ายเยาวชน พิพิธภัณฑ์สิรินธร 60 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างศูนย์ศิลปวัฒนธรรมผ้าไทยผ้าไหมแพรวาบ้านโพน 51.50 ล้านบาท รวมไปถึงโครงการปรับปรุงและพัฒนาศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ จ.ขอนแก่น ของกลุ่มจังหวัดอีก 100 ล้านบาท
ขณะที่ ครม.เห็นชอบในหลักการมติของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่เสนอโครงการลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่ วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท โครงการก่อสร้างถนนเรียบ ริมแม่น้ำโขง วงเงิน 60,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน รวมทั้ง ยังมีอีกหลายโครงการ วงเงินกว่า 28,000 ล้านบาท
นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบโครงการเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำหนองหาน-กุมภวาปี จ.อุดรธานี ใช้งบประมาณ 1 พันล้านบาท โดยจะเพิ่มพื้นที่รับน้ำ 5.9 แสน ลบ.ม. สามารถใช้ในการเกษตรได้ 5.6 หมื่นไร่ ทั้งนี้รายละเอียดโครงการมี อาทิ ขุดลอกคูคลอง กำจัดวัชพืช ปรับปรุงคันดิน ฯลฯ ซึ่งทันทีที่โครงการนี้แล้วเสร็จจะเป็นพื้นที่แก้มลิงที่ใหญ่สุดในภาคอีสาน
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า สืบเนื่องจากที่นายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบแผนของกระทรวงตัวเองเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายตามแผนโครงการเพื่อใช้ในการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย และส่งให้ครม.พิจารณาภายในเวลา 2 สัปดาห์ หากไม่มีความคืบหน้าจะเรียกงบประมาณคืนเพื่อนำไปจัดสรรใหม่นั้น
ครม.ได้พิจารณาความคืบการสรุปผลการพิจารณาค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูเยียวยาฯและได้อนุมัติโครงการของกรมชลประทานที่ผ่านการอนุมัติของกยน. 653 ล้านบาท ทำให้มีวงเงินที่ยังไม่ได้รับการจัดสรร 4.2 หมื่นล้านบาท และยังมีโครงการที่ควรชะลอ 74 โครง เป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 1หมื่นล้านบาท ซึ่งสาเหตุที่ต้องชะลอไว้มีหลายปัจจัย อาทิ ส่วนราชการไม่สามารถเสนอขอจัดสรรงบประมาณในกรอบเวลาที่ครม.กำหนดได้ หรือส่วนราชการขอรับงบประมาณจัดสรรต่ำกว่ากรอบวงเงินที่ได้รับการอนุมัติ
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบก่อหนี้ผูกพัน วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 และขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือ งบกลาง ต่อผลการทัวร์นกขมิ้นของ นายกรัฐมนตรี ในการแก้ปัญหาอุทกภัย จำนวน 117 โครงการ วงเงิน 5,000 ล้านบาท
อีกด้านนางฐิติมา ฉายแสง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ฐานะรักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการประชุมครม.ว่า ในส่วนของโครงการก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงที่ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ที่เป็นข้อเสนอของกรอ.ภาคอีสานตอนบนนั้น ครม.ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาก็อยากให้มี แต่ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีบอกว่ายังดำเนินการไม่ได้ต้องศึกษาก่อน เพื่อจะได้ไม่มีข้อครหา
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินใจเรื่องนี้ ซึ่งต้องดูผลการศึกษาก่อนว่าประชาชนในพื้นที่จะมีความคิดเห็นอย่างไรรวมถึงผลกระต่อระบบนิเวศวิทยาด้วย โดยขอใช้เวลาเพื่อการศึกษา เพื่อความรอบครอบ และเห็นควรว่าควรจะจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาแล้วค่อยตัดสินใจในภายหลัง
นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ครม.มีมติให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปทำการศึกษาผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะระบบนิเวศน์ โดยไม่มีกรอบระยะเวลา
นางฐิติมา ฉายแสง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 3 จะมีการจัดการประชุมฯ ขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 มีนาคม 2555 ณ จังหวัดภูเก็ต โดยเดือนเมษายน จะเว้นการประชุมไปก่อน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จะเห็นว่าเวลาไปประชุมก็จะมีการบอกว่าจะมีงบประมาณลงไป แต่ว่ากระบวนการในการทำงาน การบริหารจริง ๆ ก็ไม่ได้เป็นภาพปรากฎออกมา เราเคยเห็นกรณีนี้ตั้งแต่สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งประเด็นก็คือว่าโครงการมันจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่นั้น มันต้องมีการจัดลำดับความสำคัญให้อยู่ในกรอบของงบประมาณ ให้อยู่ในกรอบของเงินกู้ ถ้ากรณีที่จะกู้เงินมา ตรงนี้ต่างหากคือของจริง
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านั้น ครม.สัญจร ที่จ.เชียงใหม่ มีการเห็นชอบแผนงานลงทุนโครงการพัฒนาจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ 8 จังหวัด จำนวน 128 โครงการ วงเงินรวม 387,389.44 ล้านบาท
ก่อนหน้านั้นหน่วยงานต่างๆ ใน 11 จังหวัดทางภาคอีสานตอนบนได้มีการรวบรวมข้อมูลของโครงการๆต่างจำนวน 190โครงการที่มีมูลค่ารวมกว่า 1.9 หมื่นล้านให้ที่ประชุมครม.พิจารณา
นางฐิติมา แถลงด้วยว่า ครม.เห็นชอบกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ 2.1 ล้านล้านบาท และเป็นงบขาดดุล 1.3 ล้านล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น