xs
xsm
sm
md
lg

ประชาธิปัตย์จะยังพ่ายแพ้อีกยาวหากยังอยู่แบบนี้ !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เมื่อประมาณเดือนกันยายน พ.ศ.2554 เอแบคโพลล์ สำรวจเปรียบเทียบความนิยมศรัทธาสาธารณชน ต่อ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พบว่า ร้อยละ 48.5 ไม่นิยมใครเลย ในขณะที่ร้อยละ 38.6 นิยมศรัทธาต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และร้อยละ 12.9 นิยมศรัทธาต่อนายอภิสิทธิ์

ผลการสำรวจของสำนักเดิมต่อมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 ถึงกลางเดือนมกราคม 2555 (หลังผ่านช่วงเวลาน้ำท่วม) พบว่าคะแนนที่ไม่นิยมศรัทธาใครเลยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 48.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 51.1 ในขณะนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 38.6 ในเดือนกันยายนมาอยู่ที่ร้อยละ 34.7 ในขณะที่ความนิยมของสาธารณชนต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 12.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 14.2

ความจริงคะแนนนิยมของนางสาวยิ่งลักษณ์ สูงกว่า นายอภิสิทธิ์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะความพ่ายแพ้ของประชาธิปัตย์เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งปี 2554 แล้ว

หากผลสำรวจนี้ถูกต้องแม่นยำจริง ตัวเลขที่น่าสนใจก็อยู่ตรงที่ผลการสำรวจที่ระบุว่าประชาชนที่ไม่นิยมศรัทธาใครเลยสูงถึงร้อยละ 51 ซึ่งถือว่าเกินครึ่งหนึ่งของการสำรวจ !!!?

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ในวันเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว ก็จะพบว่าพรรคเพื่อไทยได้คะแนนระบบบัญชีรายชื่อทั่วประเทศ 15.7 ล้านเสียง คิดเป็นร้อยละ 33.4 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั่วประเทศ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนระบบบัญชีรายชื่อ 11.4 ล้านเสียง คิดเป็นร้อยละ 24.3 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั่วประเทศ

ลำพังความนิยมต่อพรรคประชาธิปัตย์รวมกับพรรคเพื่อไทยทั่วประเทศก็ควรจะได้ร้อยละ 57.7 และควรจะมีคนที่ไม่ได้เลือก 2 พรรคนี้ ก็ควรจะอยู่ที่ร้อยละ 42.3 เท่านั้น

ดังนั้น หากเราลองมาเปรียบเทียบผลการเลือกตั้งโดยอ้างอิงสัดส่วนคะแนนการเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 มาเปรียบเทียบกับผลสำรวจคะแนนนิยมต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2554 – กลางเดือนมกราคม 2555 เราจะเห็นตัวเลขที่น่าสนใจดังนี้

คะแนนรวมในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยเมื่อรวมกับพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 มีสัดส่วนร้อยละ 57.7 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด แต่ผลการสำรวจคะแนนนิยมของนางสาวยิ่งลักษณ์เมื่อรวมกับนายอภิสิทธิ์ เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2554 – กลางเดือนมกราคม 2555 มีสัดส่วนลดลงเหลือร้อยละ 48.9

คะแนนรวมในระบบบัญชีรายชื่อของคนที่ “ไม่ได้เลือกพรรคเพื่อไทยและไม่ได้เลือกพรรคประชาธิปัตย์” เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 มีสัดส่วนร้อยละ 42.3 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด แต่ผลการสำรวจประชาชนเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2554 – กลางเดือนมกราคม 2555 ที่ไม่นิยมใครเลยสูงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 51

คะแนนรวมในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 มีสัดส่วนร้อยละ 33.4 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด แต่ผลการสำรวจคะแนนนิยมของนางสาวยิ่งลักษณ์ เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2554 – กลางเดือนมกราคม 2555 มีสัดส่วนร้อยละ 34.7 ซึ่งลดลงมาแล้วหลังจากเกิดเหตุการณ์วิกฤติน้ำท่วม

คะแนนรวมในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 มีสัดส่วนร้อยละ 24.3 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด แต่ผลการสำรวจคะแนนนิยมของนายอภิสิทธิ์ เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2554 – กลางเดือนมกราคม 2555 มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 14.2 ซึ่งเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยแล้วหลังเหตุการณ์วิกฤติน้ำท่วม


จริงอยู่ว่าคะแนนผลสำรวจอาจมีความไม่แน่นอนและผิดพลาดได้ และคะแนนระบบบัญชีรายชื่อของพรรค อาจจะไม่ได้เป็นคะแนนทั้งหมดที่เลือกเพราะหัวหน้าพรรค เพราะคนเลือกพรรคอาจจะไม่ชอบหัวหน้าพรรคทั้งหมดก็ได้ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนที่พรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 กับ คะแนนความนิยมของ นางสาวยิ่งลักษณ์ เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2554 ถึงกลางเดือนมกราคม 2555 ที่มีความใกล้เคียงกัน แต่ในขณะที่คะแนนนิยมของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในวันนี้มีกับมีคะแนนที่น้อยกว่าคะแนนของระบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 อยู่มาก

และหากผลสำรวจมีความถูกต้องแม่นยำแปลว่า คะแนนนิยมของยิ่งลักษณ์ ยังมากกว่าคะแนนนิยม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประมาณ 2.44 เท่าตัว !!!

ในขณะที่ผลสำรวจของกรุงเทพโพลล์ในการประเมินผลงาน 6 เดือน รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้คะแนน 4.9 จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งแม้จะถือว่าสอบตกเพราะคะแนนยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งเลย แต่ก็มีคะแนนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 3 เดือนที่แล้ว ซึ่งได้คะแนน 4.78

ความจริงยิ่งกว่านั้น หลังๆจะพบความจริงเพิ่มขึ้นว่า เมื่อประชาชนเห็นความเลวร้ายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย พอจะหันไปมองฝ่ายค้านที่พูดเก่งและฉะฉานในการตรวจสอบในแต่ละเรื่อง ก็ล้วนถูกตั้งคำถามว่า ในช่วงระยะเวลา 2 ปี 7 เดือนที่รัฐบาลประชาธิปัตย์บริหารประเทศได้ทำอะไรลงไปบ้างในแต่ละเรื่องที่ออกมาค้านพรรคเพื่อไทย

ตัวอย่างแรก
เมื่อไม่นานมานี้ประชาธิปัตย์เรียกร้องจากพรรคเพื่อไทยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องทำประชามติ และยังตั้งข้อสังเกตอีกด้วยว่าขบวนการคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้นมีความน่าเป็นห่วงการล็อกสเป็กตัวบุคคลให้อยู่ในแวดวงของนักการเมืองในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของรัฐบาลเอง แต่พอประชาชนบางกลุ่มหันไปทบทวนในสิ่งที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลก็ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราที่เอื้อประโยชน์ให้กับรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลด้วยการยกมือในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งๆที่รับปากกับประชาชนเป็นที่ประจักษ์ว่าจะต้องทำประชามติ ก็กลับตระบัดสัตย์นั้นเสียเอง

ตัวอย่างที่สอง พรรคประชาธิปัตย์ ได้วอคเอาท์ เพราะประท้วงว่ารัฐบาลทำตัวเป็นเผด็จการทางรัฐสภาใช้เสียงข้างมากลากไปในกรณีการ ออกพระราชกำหนดกู้เงินฉุกเฉินเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยไม่มาเข้ากระบวนการงบประมาณปกติเพื่อให้ใช้กระบวนการตรวจสอบโดยสภาผู้แทนราษฎร แต่ในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ก็ออกพระราชกำหนดฉุกเฉินในโครงการไทยเข้มแข็งโดยไม่ผ่านกระบวนการทางงบประมาณปกติทั้งๆที่ในเวลานั้นมีงบค้างท่ออยู่จำนวนมาก โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน

ตัวอย่างที่สาม พรรคประชาธิปัตย์ ได้ตำหนิการดำเนินการของรัฐบาลที่จะสานต่อ MOU 2544 ในการตกลงผลประโยชน์ทางทะเลทั้งๆที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้ออกมติคณะรัฐมนตรีไปแล้ว ก็ถูกตั้งคำถามเช่นเดียวกันว่า เหตุใดรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เมื่อได้ออกมติคณะรัฐมนตรีเพื่อยกเลิก MOU 2544 และนายกษิต ภิรมย์ ก็ได้รับปากในที่ประชุมรัฐสภาว่าจะได้ดำเนินการนำเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรให้เสร็จสิ้น แต่เอาเข้าจริงก็ไม่มีการนำเข้าสู่สภา และไม่แจ้งให้กัมพูชาทราบ แถมยังมีคนจากรัฐบาลเจรจาลับๆเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางทะเลกันอีก

ตัวอย่างที่สี่ พรรคประชาธิปัตย์ได้ดำเนินการท้วงติงในความเป็นห่วงเรื่องการแปรรูป ปตท. เพิ่มเติมว่าจะเป็นเป้าหมายของทุนระบอบทักษิณในการเข้าครอบงำกิจการพลังงาน แต่รัฐบาลประชาธิปัตย์ตลอดสมัยกลับไม่ดำเนินการใดๆทั้งสิ้นเกี่ยวกับปัญหาของ ปตท. ทั้งๆที่มีการท้วงติงมากมายหลายครั้งจากคณะกรรมาธิการและสมาชิกวุฒิสภา

ตัวอย่างที่ห้า พรรคประชาธิปัตย์ท้วงติงพฤติกรรมหลายอย่างของรัฐบาล ที่อาจทำให้ไทยเสียเปรียบในเวทีศาลโลกในการตีความคดีปราสาทพระวิหาร ทั้งๆที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ที่เคยบอกว่าการมี MOU 2543 จะทำให้ประเทศไทยไม่ต้องไปศาลโลก แต่กลับกลายเป็นว่าประเทศไทยต้องไปศาลโลกอีกครั้งโดยกัมพูชาได้ใช้ MOU 2543 มาผนวกกับมูลเหตุในการตัดสินของศาลโลก ในคดีปราสาทพระวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2505 ว่าหมายถึงประเทศไทยต้องจัดทำหลักเขตแดนที่เสร็จสิ้นตามแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ซึ่งระบุใน MOU 43 ซึ่งไทยโดนกฎหมายปิดปากตามคำพิพากษาของศาลโลกไปแล้ว นอกจากนี้ยังไม่เคยใช้ข้อมูลที่ภาคประชาชนทักท้วงว่าไทยไม่ได้ต่ออายุปฏิญญาการยอมรับอำนาจศาลโลกโดยบังคับมา 50 ปีแล้ว และยังเพิกเฉยต่อข้อสงวนของประเทศไทยที่ได้ตั้งข้อสงวนเอาไว้ที่องค์การสหประชาชาติในคดีคำตัดสินปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 อีกทั้งยังปล่อยให้ทหารกัมพูชาและชุมชนกัมพูชาเขามาอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยโดยไม่มีการผลักดันใดๆทั้งสิ้น

ที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้มีความหมายว่าเพราะประชาธิปัตย์ยังทำได้ทำไมเพื่อไทยถึงทำไม่ได้ ในทางตรงกันข้ามกำลังจะยืนยันว่าขั้วอำนาจทั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็ทำสิ่งที่เลวร้ายไม่ต่างกันในประเด็นเหล่านี้

พรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ใช่ทางออกของประเทศ เพราะเลือกตั้งไปก็จะแพ้อีก ต่อให้พูดเก่งอภิปรายดีแต่พอยกมือในสภาก็จะแพ้ตลอดสมัย และเมื่อมีอำนาจก็ไม่สามารถใช้อำนาจนั้นก่อให้เกิดยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่เพื่อหยุดยั้งระบอบเผด็จการรัฐสภาโดยทุนสามานย์ได้เลย มีแต่จะกลับไปสวมผลประโยชน์ต่อจากรัฐบาลชุดก่อนหน้านั้นและกลายเป็นเผด็จการรัฐสภาอีกขั้วหนึ่งที่ไม่มีความยั่งยืน


สำหรับคนที่รักประชาธิปัตย์จึงไม่ควรมาเสียเวลาสาละวนอยู่กับความแค้นที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรณรงค์เรื่องโหวตโน (เพราะความจริงปรากฏชัดอยู่แล้วว่าต่อให้โหวตโนไปรวมกับประชาธิปัตย์ก็จะยังแพ้ขาดให้กับพรรคเพื่อไทยอยู่ดี) หรือขบวนการใส่ร้ายลอยๆด้วยความเท็จว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่ออกมาเคลื่อนไหวเพราะแกนนำรับเงินทักษิณ ก็ไม่สามารถทำให้ประชาธิปัตย์ดูดีหรือได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นแล้วกลายมาเป็นรัฐบาลได้เลย

แต่คนที่รักและปรารถนาดีกับพรรคประชาธิปัตย์ที่แท้จริง จึงควรจะนำประเด็นไปสำรวจดูว่าพรรคประชาธิปัตย์ในยามที่มีอำนาจเป็นจริงอย่างที่ตัวอย่างที่บทความนี้ได้ยกมาหรือไม่ แต่ถ้าไม่ยอมรับความจริง หรือเห็นว่าไม่จริง ก็ไม่มีทางที่จะไปเริ่มต้นหาทางปฏิรูปพรรค และก็จะไม่มีข้อเสนอที่นำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นความหวังได้เลย

และอาจด้วยเหตุผลนี้ผลสำรวจจึงพบว่ามีประชาชนถึงร้อยละ 51 ไม่นิยมศรัทธาใครเลย !!!

กำลังโหลดความคิดเห็น