การเมืองสีเขียวประเมิน “ทัวร์นกขมิ้น” แค่การตลาดนำการเมือง ถอดแบบ “ทักษิณโมเดล” ท้าเปิดเผย รบ.ใช้พื้นที่ใดทำแก้มลิงบ้าง ชี้ไม่ให้ความสำคัญภาคประชาชน ข้องใจ กยน.สายคุณวุฒิและนักวิชาการไม่ร่วมคณะเดินทาง พร้อมชำแหละผลงาน 6 เดือนเหลว - หมายหัว 10 รมต.สายตรงทักษิณเอื้อประโยชน์ทับซ้อน
วันนี้ (19 ก.พ.) ที่โรงแรมจันทร์เกษมพาร์ค นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มการเมืองสีเขียว (กลุ่มกรีน) กล่าวถึงการประเมินผลการ “ทัวร์นกขมิ้น” ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าจากการลงพื้นที่ของนายกฯ ในการทัวร์นกขมิ้นครั้งนี้ กลุ่มกรีนสังเกตเห็นว่ายังมีหลายอย่างที่ยังไม่มีความชัดเจน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงข้อเท็จจริงต่อประชาชน ดังนี้ 1. จะใช้พื้นที่ใดเป็นพื้นที่รับน้ำ และจัดทำแก้มลิงบ้าง และแต่ละบริเวณได้ผ่านกระบวนการตัดสินใจอย่างโปร่งใสหรือไม่ เพราะมีความเป็นไปได้ในกระบวนการเวนคืนที่ดินเพื่อทำฟลัดเวย์และพื้นที่รับน้ำกว่า 2 ล้านไร่นั้น อาจจะมีนายทุนใช้ข้อมูลอินไซด์ไปกว้านซื้อที่ดินบริเวณน้ำท่วมจากชาวบ้านในราคาถูก เพื่ออ้างสิทธิในการรับเงินชดเชยค่าเวนคืนจากรัฐอีกต่อหนึ่ง 2. รัฐบาลยังไม่ให้ความสำคัญกับบทบาทและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และชุมชน เป็นแผนที่กำหนดและตัดสินใจโดยส่วนกลางแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทั้งที่ในบางพื้นที่เริ่มมีเสียงทักท้วงคัดค้านจากประชาชน 3. “ทัวร์นกขมิ้น” ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของสูตรการเมืองแบบ“การตลาดนำการเมือง” ถอดแบบจาก “ทักษิณโมเดล” ที่สร้างการเมืองเชิงมวลชน เสริมภาวะผู้นำให้กับนายกรัฐมนตรี โดยมีการระดมมวลชนเสื้อแดงมาต้อนรับนายกฯ ในทุกๆ พื้นที่ ทำให้ภาคประชาชนที่ไม่เห็นด้วยไม่มีเวทีสะท้อนความเห็นที่แตกต่างอย่างแท้จริง
นายสุริยะใสกล่าวว่า และ 4. มีข้อน่าสังเกตว่า ทำไมคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ (กยน.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและวางอนาคตประเทศ (กยอ.) สายผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการทำไมถึงไม่ร่วมทัวร์นกขมิ้นครั้งนี้ ทั้งที่การลงพื้นที่เป็นการติดตามตรวจสอบความคืบหน้าของแผนบริหารจัดการน้ำที่กำหนดโดยกยน. แต่กลับปล่อยกรรมการ กยน.สายการเมือง หรือ “ทักษิณคอนเนกชัน” ร่วมลงพื้นที่ครั้งนี้ จึงเกิดคำถามตามมาว่า โครงการต่างๆ ภายใต้แผนบูรณาการจัดการน้ำจะมีการทุจริตคอร์รัปชันหรือการแสวงหาประโยชน์จากทักษิณคอนเนกชันหรือไม่ ทั้งนี้ หลังจากนี้ทางกลุ่มกรีนจะจัดทีมลงพื้นที่เพื่อไปสอบถามและเก็บข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่ที่ทัวร์นกขมิ้นเดินทางไปมาทุกที่ว่ายังมีผลกระทบอะไรอีกหรือไม่เพื่อจะนำมาประเมินต่อไป
ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน แถลงผลการประเมินการทำงาน 6 เดือนของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า นับตั้งแต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 ส.ค.54 บัดนี้เป็นเวลากว่า 6 เดือนแล้ว สามารถสรุปผลการทำงานได้ 4 ประเด็นใหญ่ คือ
1. วิกฤตภาวะผู้นำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง จนกระทบความเชื่อมั่นของประชาชน และคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ซึ่งเกิดจากสาเหตุดังนี้ การสื่อสารบกพร่อง การโดดประชุมสภาและไม่ตอบกระทู้ ความสามารถในการแยกแยะเรื่องส่วนตัวกับส่วนรวม ล่าสุดกรณีปัญหาทางจริยธรรมที่เอาเวลาราชการไปพบนักธุรกิจเป็นการส่วนตัว ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่น จนถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมอย่างกว้างขวางในขณะนี้
“เมื่อดูวิกฤตปัญหาของประเทศที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้ รวมทั้งวิกฤตการณ์หลายอย่างที่กำลังก่อตัวขึ้น ยิ่งทำให้สังคมไทยมีโอกาสเผชิญกับความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น หมดเวลาที่จะเอา 15 ล้านเสียงที่ได้รับจากการเลือกตั้งมาอวดอ้าง ปิดปากปิดกั้นกระบวนการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และอย่าหลอกตัวเองอีกต่อไป บทเรียนที่ใกล้ตัวที่สุดของ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่ควรศึกษา คือจุดจบของทางการเมืองของพี่ชายตนเอง” นายสุริยะใสระบุ
นายสุริยะใสกล่าวด้วยว่า ประเด็นที่ 2 คือ การผลักดันนโยบาย โดยดูได้จากวิกฤตจากอุทกภัยช่วงปีที่ผ่านมาอาจเป็นข้ออ้างของรัฐบาลได้ระดับหนึ่ง ถึงความล่าช้าและไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในการผลักดันนโยบายที่แถลงต่อสภา และที่หาเสียงให้สัญญาไว้กับประชาชนในช่วงเลือกตั้ง แต่บางนโยบายที่อาจจะได้รับผลกระทบหรือไม่เป็นจริงในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เช่น กองทุนน้ำมัน โครงการจำนำข้าว รถคันแรก บ้านหลังแรก เงินเดือนปริญญาตรี เงินเดือนข้าราชการประจำ ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน เป็นต้น กลับไม่ทบทวนปรับปรุงหรือออกมายอมรับและพูดความจริงกับประชาชนว่าไม่สามารถผลักดันได้อีกต่อไป ในทางตรงกันข้ามยังเดินหน้านโยบายประชานิยมเต็มสูบอีกต่อไป ท่ามกลางข้อวิตกกังวลของหลายฝ่ายถึงหนี้สินและภาระของประเทสจากการระดมกู้เงินเพื่อรองรับนโยบายลดแลกแจกแถมของรัฐบาล
ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน กล่าวต่อถึงประเด็นที่ 3 ว่า ปัญหาทางการเมืองโดยเฉพาะความขัดแย้งแตกแยกของสังคมเป็นเรื่องที่รัฐบาลละเลย ในทางตรงกันข้ามกับตอกลิ่มความแตกแยกมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะการเอาวาระทักษิณ” มาเป็นความสำคัญลำดับต้นๆ ในการบริหารแผ่นดินของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นความพยายามลักไก่ออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ การคืนพาสปอร์ต รวมทั้งการปูนบำเหน็จทางการเมืองให้กับแกนนำเสื้อแดงและคนเสื้อแดงไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีและตำแหน่งทางการเมือง และการอนุมัติเงินเยียวยาผู้ชุมนุม โดยเฉพาะผู้เสียชีวิตรายละ 7.75 ล้านบาท เป็นต้น
“นอกจากนี้ยังเตรียมผลักดัน พ.ร.บ.ปรองดอง และเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญเพื่อฟอกผิด พ.ต.ท.ทักษิณและเครือข่าย ทั้งที่รัฐบาลก็รู้นี้ว่าประเด็นเหล่านี้เป็นเงื่อนปมที่จะทำให้เกิดความแตกแยกและการเผชิญหน้าในสังคมขึ้นมาอีก 6 เดือนของรัฐบาลจึงเสร้างความปรองดองและสมัครสมานสามัคคีเฉพาะภายในเครือข่ายระบอบทักษิณและ นปช. คนเสื้อแดงเท่านั้น” นายสุริยะใสกล่าว
สำหรับประเด็นที่ 4 นายสุริยะใสกล่าวถึงภาพรวมทางเศรษฐกิจว่า ปัญหาเศรษฐกิจรัฐบาลไม่มีผลงานใหม่ๆ โดยเฉพาะผลงานที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมหรือระดับมหภาค ยังสาละวนอยู่กับการกู้เงิน นอกจากนี้ ปัญปากท้องของประชาชนโดยเฉพาะค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นนั้น จนเกิดปรากฎการณ์ข้าวยากหมากแพง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เดินสวนทางกับนโยบายกระชากค่าครองชีพของรัฐบาลและนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่ปราศรัยหาเสียงไว้กับประชาชนอย่างสิ้นเชิง
จากนั้น นายจาตุรันต์ บุญเบ็ญจรัตน์ คณะทำงานกลุ่มกรีน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเรียกร้องสังคมและพี่น้องประชาชน ช่วยกันทำหน้าที่เฝ้าระวัง 10 รัฐมนตรีที่กำลังบริหารบ้านเมืองอย่างสุ่มเสี่ยง และอาจเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนใช้อำนาจหน้าที่เอื้อผลประโยชน์ต่อพรรคพวก และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นำพาประเทศชาติไปสู่วิกฤตซ้อนวิกฤตอย่างรุนแรงอีกครั้ง
นายจาตุรันต์กล่าวต่อว่า โดย 10 รัฐมนตรี ประกอบด้วย 1. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถือเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันถูกส่งมาควบคุมการเงินการคลังให้รัฐบาล เน้นเดินหน้ากู้เงินเป็นเรื่องหลัก งานบริหารเป็นเรื่องรองเพื่อสนองนโยบายทักษิณคิด เพื่อไทยทำ หากสุ่มเสี่ยงจะผิดถูกกฎหมายค่อยมาว่ากันภายหลัง สนใจเพียงการทำอย่างไรให้ได้เงินมาอยู่ในการกำกับดูแลของนายกฯ มือใหม่ รอการกระจายงบประมาณอย่างสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ประเทศเกิดวิกฤต คนไทยติดหนี้ทั้งแผ่นดิน
2. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีป้ายแดง ฝากผลงานสุดแสนประทับใจจัดชุมนุมจนนำไปสู่การจลาจลเผาบ้านเผาเมือง ต้องโทษคดีก่อการร้าย สุดท้ายกลายเป็นอำมาตย์แบบไม่คาดฝัน สิ่งที่ต้องจับตาจากนักโต้วาทีขึ้นชั้น รัฐมนตรีช่วยฯ คุมกระทรวงเกรดเอ งบประมาณหลายหมื่นล้าน แต่ตัวเองยังมีเรื่องพัวพันฮั้วประมูลสัมปทานหน่วยงานของรัฐ ซ้ำถูกสอบจริยธรรม สุ่มเสี่ยงต่อการบริหารราชการแผ่นดินแบบเอาอกเอาใจฐานมวลชนคนเสื้อแดง ดูแลจังหวัดไหนเสื้อแดงมาก ดูแลมาก
3. นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตผู้บริหารไอทีวี เป็นคนที่ พ.ต.ท.ทักษิณสั่งซ้ายหันขวาหันได้ ถูกส่งคุมสื่อของรัฐ หวังจัดระเบียบสื่อ ทั้งมาตรการแทรกแซงและแทรกซึม หรือถึงขั้นแทรกซื้อให้เข้าระบบ สื่อไหนเห็นต่างอาจโดนมาตราการข่มขู่ให้สมยอม
4. นางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เป็นรัฐมนตรีแบล็คลิสต์ของแท้ ติดบัญชีดำจากมหาอำนาจอเมริกา ส่งผลต่อเกียรติภูมิของคนไทยทั้งประเทศ สุ่มเสี่ยงต่อการเดินหน้าบริหารงานเนื่องจากถูกตรวจสอบจริยธรรมแถมกรณีแบล็กลิสต์โดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ก็ยังเคลียร์ไม่สะอาดหมดจด ส่งผลโดยอ้อมให้ไทยถูกขึ้นบัญชีดำเป็นแหล่งฟอกเงินเที่ยวเท่าประเทศด้อยพัฒนาอีกหลายประเทศ
5. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สายตรงดูไบ เอาใจนายใหญ่และเพื่อนนายใหญ่เป็นหลัก ผลงานชิ้นเอกเร่งคืนพาสปอร์ตให้นักโทษหนีคดี สานสัมพันธ์ลึกกัมพูชา เพิกเฉยต่อปัญหาชาติที่อยู่ในศาลโลกกรณีที่พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่สุ่มเสี่ยงส่อแววถูกเขมรยึดครอง แถมบริหารราชการแบบปิดๆ บังๆ เข้าข่ายลับลวงพรางต่อประชาชน
6. นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อดีตมือบริหารใหญ่กลุ่มชิน เข้านอกออกในบ้านจันทร์ส่องหล้า เข้ามาดีลต่อหลังจาก รมต.คนเก่าเดินหน้านโยบายฉาบฉวย แค่เป็นรูปธรรม บัตรเครดิตพลังงาน กระชากค่าครองชีพ ลับหลังขยิบตา ปตท.โขกเลือดคนไทยขึ้นทั้งก๊าซทั้งน้ำมัน แต่เป้าหมาย รมต.ใหม่ ประชาชนห้ามกระพริบตาเดินหน้า ปตท. รัฐวิสาหกิจต้องเป็นของนายทุนเต็มตัว
7. นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติตามคำสั่งนายใหญ่อย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อยและไม่เคยบ่น ก้มหน้าก้มตาเดินหน้าทำงาน ล็อคเป้าข้าราชการท้องถิ่นลากเดินคู่ขนานคนเสื้อแดงสอดประสานกันเป็นเนื้อเดียว วางฐานกำลัง ส่งนำเลี้ยงผ่านระบบราชการท้องถิ่นกระทรวงมหาดไทย แต่ผลงานที่ผ่านมายังไม่เป็นที่ประจักษ์มักถูกข้ามหัว เพราะเป็นรัฐมนตรีแต่ยังติดภาพข้าราชการประจำ
8. นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เคยเป็นวอลเปเปอร์ นายกฯสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และเป็นแหล่งทุนใหญ่ภาคเหนือถูกโยกจากกระทรวงคลังมาคุมกระทรวงปากท้องประชาชน ทั้งที่ไม่เคยมีผลงานแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ในอดีตแค่นักธุรกิจที่ผันตัวมาเล่นการเมือง ควรจับตาเรื่องการดำเนินนโยบายที่สุ่มเสี่ยงต่อการบริหารงานผิดพลาดส่งผลข้าวยากหมากแพงซ้ำเติมประชาชน เพราะไม่เคยมีผลงานการันตี ควรจับตาเรื่องการดำเนินนโยบายเอื้อประโยชน์นายทุนเพื่อถอนทุน เพราะเข้ามาด้วยในฐานะนายทุนทางการเมือง
9. พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
เพื่อนรัก พ.ต.ท.ทักษิณ สายสัมพันธ์ไม่ธรรมดาถูกส่งมาหวังสลายขั้วและแรงต้านจากกองทัพ เป้าหมายจัดระเบียบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารราชการกลาโหม พ.ศ.2551 พันธนาการทหารให้อยู่ในกรมกอง ห้ามแตกแถวออกมาปฏิวัติ แต่สิ่งที่น่าจับตา งบก้อนใหญ่ในกระทรวงกลาโหมและการวางขุมกำลังเครือข่ายคนรักทักษิณ กลับเข้าประจำตำแหน่งสำคัญในกองทัพ
10. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี น่าจับตามองว่า อาจสอดไส้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เดินเกมสับขาหลอกด้วย พ.ร.บ.ปรองดอง เป้าหมายสูงสุดในชีวิต พา พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้านโดยไม่มีความผิด เพื่อแรงกับตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองก่อนเกษียณตัวเอง