xs
xsm
sm
md
lg

จุดลงตัว ที่ไม่มีในประเทศตะวันตก และไทย

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

คุณเชื่อไหมว่า การที่จีนก้าวมาถึง และเป็นอยู่ได้ทุกวันนี้ เพราะมี “จุดลงตัว” ให้ทำอะไรใหม่ๆ สำเร็จได้ในทุกขั้นตอน บนฐานของการใช้ปัญญา ซึ่งก็คือปัญญาแกน มีลัทธิมาร์กซ์แบบจีน-ความคิดเหมาเจ๋อตง และระบบทฤษฎีสังคมนิยมเอกลักษณ์จีน-เป็นองค์หลัก อันเป็นการผสมผสานอย่างลงตัวของของปรัชญามาร์กซิสม์กับปรัชญาโบราณของจีน ดังปรากฏอยู่ทั่วไปในงานเขียนของเหมาเจ๋อตงและผู้นำคนอื่นๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ผู้เขียนขอให้คำจำกัดความของคำว่า “จุดลงตัว” ว่า เป็น “จุดเริ่มต้นที่ลงตัวทางด้านปัญญา” หมายถึงว่า เมื่อเริ่มตรงจุดนั้นได้แล้ว ก็สามารถดำเนินการให้เป็นผลสำเร็จ บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ใกล้เคียงมากกับคำว่า “ปัญญารู้ทัน” ของไทยเรา แต่เน้นอย่างยิ่งในปัญญารู้ทันที่มาจากการเคลื่อนไหวปฏิบัติที่มุ่งปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคม เพื่อนำไปสู่การ “ปลดปล่อย” มวลมนุษยชาติ

ด้วยเหตุที่ปรัชญาลัทธิมาร์กซ์ยึดโยงอยู่กับการปฏิบัติเช่นว่านี้มาตั้งแต่ต้น (ถือว่าเป็น “หัวใจ”ของลัทธิมาร์กซ์เลยก็ว่าได้) ดังนั้น หลักทฤษฎีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน จึงหนีไม่พ้นการยึดโยงอยู่กับหลักสามประการ คือ 1. ต้องเป็นวิทยาศาสตร์ ปฏิบัติได้จริง 2. ต้องเป็นผลดีต่อคน ต่อมวลชน และ 3. ต้องนำไปสู่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ข้อสรุปนี้ ได้จากการประมวลเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของจีน ภายหลังตกอยู่ใต้บาทาย่ำยีของมหาอำนาจต่างชาติ ตั้งแต่สงครามฝิ่น (ค.ศ.1840) เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศจีนในห้วงเกือบสองร้อยปีที่ผ่านมา กำลังกลายเป็น “กรณีศึกษา” หรือ “โมเดล” ที่จะนำไปสู่การยกระดับทางปัญญาครั้งยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ เพราะไม่มีใครหลีกเลี่ยงหรือเมินเฉยกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับคนจีนซึ่งเป็น 1 ใน 5 ของประชากรโลก

โดยเฉพาะในจุดที่ว่า ทำไมคนจีนที่ในอดีตรู้จักแต่ความยากจน อดอยากและอัตคัดขาดแคลน จึงได้กลายเป็นผู้มีชีวิต “อยู่ดีกินดี” และบางส่วนก็ถึงกับ “มั่งมีศรีสุข” กันแล้ว? ซึ่งจากนี้จะนำไปสู่การบอกตัวเองว่า ในเมื่อประเทศจีนที่ตกที่นั่งลำบากยิ่งกว่าใครๆ ยังทำได้สำเร็จ แล้วทำไมประเทศอื่นๆ(อย่างเรา) ซึ่งอยู่ในสภาพที่ดีกว่ามาก (เมื่อเทียบกับจีนเมื่อตอนเริ่มต้น) จึงจะทำไม่ได้!

ในทัศนะของผู้เขียน ถ้าจะทำได้สำเร็จแบบจีน สิ่งหนึ่งที่จะต้องทำให้ได้คือการหา “จุดลงตัว” คือ “จุดเริ่มต้นที่ลงตัว” ของประเทศตน ซึ่งจะต้องลงมือปฏิบัติโดยยึดถือเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง อีกนัยหนึ่ง ต้อง “เปิดใจ” หรือ “ปลดปล่อยความคิด” รับเอาหลักการ 3 ประการมาประยุกต์ใช้ในการสร้างทฤษฎีชี้นำการเคลื่อนไหวปฏิบัติของตนเอง

พูดแบบนี้ พวก “ทุนนิยมสามานย์” ก็หมดสิทธิ์

แน่นอนที่สุด ทฤษฎีที่สร้างขึ้น โดยเนื้อหาแล้วจะเป็นของตนเองล้วนๆ หาใช่ลอกหรือ “ก๊อบปี้” มาจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนแต่อย่างใดไม่

ถ้าเป็นแบบนี้ ผู้เขียนขอฟันธงว่า ทำได้สำเร็จแน่ สามารถปฏิวัติเปลี่ยนแปลงประเทศชาติไปในทางที่ดีขึ้น ประชาชน “อยู่ดีกินดี มั่งมีศรีสุข” แน่นอน

สำหรับประเทศจีน ได้ “จุดลงตัว” จริงๆ ตั้งแต่การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1921 เมื่อที่ประชุมใหญ่สมัชชาพรรคครั้งที่ 1 ลงมติดำเนินการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงประเทศจีน นั่นหมายถึงว่า ประชาชนชาวจีนมี “กองหน้า” ที่ไว้ใจได้ ในการดำเนินการต่อสู้ปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเอารัดเอาเปรียบของนายทุนต่างชาติ และเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ใช้อำนาจฉ้อฉล ทุจริตโกงกิน

จุดลงตัวครั้งที่สอง เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนสรุปบทเรียนการลุกขึ้นสู้ในเมืองแล้ว พบว่าไม่สอดคล้องกับสภาวะเป็นจริงของสังคมจีนที่เป็นสังคมเกษตรกรรม นำเสนอทฤษฎีสงครามประชาชน ใช้ชนบทล้อมเมือง ดำเนินการปฏิวัติที่ดิน สร้างกองทัพ ฐานที่มั่น และสร้างแนวร่วมระหว่างชนชั้นต่างๆ ที่ยึดเอาความรักชาติเป็นตัวตั้ง โดยเหมาเจ๋อตง เป็นผู้อธิบายแจกแจงให้ทั่วทั้งพรรครับไปศึกษาปฏิบัติ ซึ่งต่อมาเขาก็ได้พัฒนาเพิ่มเติมให้สมบูรณ์รอบด้าน เรียกว่าทฤษฎีการปฏิวัติประชาธิปไตยแผนใหม่ และกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของ “ความคิดเหมาเจ๋อตง” ในเวลาต่อมา

จุดลงตัวครั้งยิ่งใหญ่ของจีน เกิดขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 1978 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีมติกำหนดภารกิจใจกลางในการสร้างชาติใหม่ จากการต่อสู้ทางความคิดทางการเมือง มาเป็น การพัฒนาเศรษฐกิจ ดำเนินนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ ซึ่งต่อมาได้ขยายผลเป็นการสร้างระบบเศรษฐกิจตลาด ที่เรียกว่า “ระบบเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยมเอกลัษณ์จีน”

ผู้ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการนำเสนอแนวคิดสร้างชาติด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ ก็คือเติ้งเสี่ยวผิง โดยกำหนดขึ้นมาเป็น “แนวทางพื้นฐาน” (จีเปิ่นลู่เซี่ยน) ว่า ภายในระยะหนึ่งร้อยปีนับตั้งแต่จีนปลดปล่อยประเทศจีนได้สำเร็จ (ค.ศ. 1949) จนถึงกลางศตวรรษที่ 21 จีนจะต้องถือเอาการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหัวใจ หรือภารกิจใจกลาง ยึดมั่นอยู่กับ “หลักการพื้นฐาน 4 ประการ” (ยึดมั่นใน 1. ลัทธิมาร์กซ์ 2. สังคมนิยม 3. พรรคคอมมิวนิสต์จีน 4. ประชาธิปไตยประชาชน) และดำเนินการปฏิรูปและเปิดประเทศตลอดไป

จุดลงตัวสำคัญๆ ภายหลังจากนั้น ก็เช่น ทฤษฎี “สามตัวแทน”ของเจียงเจ๋อหมิน ที่มุ่งปฏิรูปพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้เป็นพรรคบริหารประเทศที่ดี มีคุณภาพ ประกอบไปด้วยบุคลากรดีเด่นจากทุกวงการของประเทศจีน

ทฤษฎี “การพัฒนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์” ที่นำเสนอโดยหูจิ่นเทา นับว่าเป็น “จุดลงตัว” ที่โดดเด่นยิ่ง เนื่องจากได้ยกระดับการพัฒนาประเทศโดยถือเอา “คน” เป็นศูนย์กลาง ส่งผลดีอย่างยิ่งต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนจีน ดังที่ชาวโลกกำลังสัมผัสได้ด้วยตัวเอง ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ในทางปฏิบัติ พรรคและรัฐบาลจีนได้แปรหลักคิดทฤษฎีเป็นข้อปฏิบัติในด้านต่างๆ ตลอดเวลา เช่น ในเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ศูนย์กลางพรรคจีน (ตั่งจงเอียง) ก็ออกเอกสารหมายเลขหนึ่ง กำหนดให้การพัฒนาทางด้านเกษตรกรรม ต้องใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในสัดส่วนที่มากขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ปากท้องของคนจีนทั้งประเทศในทุกๆ ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น