xs
xsm
sm
md
lg

หลักจับจีน และหลักจีนที่ต้องจับ

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

ผู้เขียนรู้สึกยินดีและ “เป็นสุข” เมื่อการนำเสนอบทวิเคราะห์เรื่องจีนในคอลัมน์นี้ ได้รับความสนใจจากท่านผู้อ่านอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง อีกทั้งยังได้รับความกรุณาอย่างสูงจากท่านผู้รู้ แสดงความคิดเห็นดีๆและสร้างสรรค์ ร่วมขัดเกลาสติปัญญาและเพิ่มพูนองค์ความรู้ สู่กันและกันฉันกัลยาณมิตร

ดังนั้น เพื่อให้บรรยากาศดังกล่าวดำรงอยู่ต่อไป ด้วยการสร้างความคุ้นเคยซึ่งกันและกัน ผู้เขียนขออธิบาย “หลัก” ที่ใช้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ “จับ” จีน รวมทั้งหลักยึดของจีน ดังนี้

ประการแรก ผู้เขียนใช้หลักปรัชญาลัทธิมาร์กซ์เป็นเครื่องมือ ยืนยันในกระบวนการขับเคลื่อนของสังคม และอารยธรรมของมวลมนุษยชาติ ว่ามีต้นตอมาจากพัฒนาการของพลังการผลิตที่มีองค์ความรู้ของคนเป็นองค์ประกอบสำคัญ และเมื่อใดที่พลังการผลิตถูกปิดกั้น ขัดขวาง บั่นทอน ก็จะนำไปสู่การสะสมของพลังทางสังคม ในรูปของความคิดทฤษฎี และความต้องการใหม่ๆของสาธารณชน อันเป็นสติปัญญาร่วมสมัย ที่สะท้อนถึงกฎเกณฑ์ที่ดำรงอยู่จริง(กฎภววิสัย) เกิดวิสัยทัศน์ยาวไกล สะท้อนอนาคต มองเห็นการขับเคี่ยวกันของความขัดแย้งหลัก และเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การแปรเปลี่ยนของคู่ความขัดแย้งหลัก มองเห็นทางออก สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ยุทธวิธีได้อย่างถูกต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง

โดยเมื่อใดที่ความคิดทฤษฎีเหล่านี้ ได้รับการนำไปปฏิบัติจนเห็นจริง ก็จะเป็นที่ยอมรับของบุคคลและกลุ่มบุคคลจากวงการต่างๆ ตลอดจนมวลมหาชนโดยรวม เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจ ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคม และสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ ให้เอื้ออำนวยต่อการ “ปลดปล่อย” และ “พัฒนา” พลังการผลิตมากที่สุด

สรุปคือ สังคมมนุษย์ขับเคลื่อนตัวเองไปตามกฎเกณฑ์ของมันเอง ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ตามเหตุปัจจัยภายในของมันเอง โดยทั้งหมดนั้น ดำเนินไปได้ด้วยการเคลื่อนไหวปฏิบัติทางสังคมของมนุษย์ ทั้งในห้วงของการพัฒนาพลังการผลิต และในห้วงของการปลดปล่อยพลังการผลิต คือยืนยันชัดเจนว่า สังคมขับเคลื่อนไปตามกฎเกณฑ์ภายในของตนเอง โดยอาศัยการปฏิบัติของคนเรา

อีกนัยหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงสังคมจะเป็นไปได้ ก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขพร้อมทางภววิสัย และด้วยความพยายามทางอัตวิสัยของคนเรา

ในอดีต การปฏิวัติของจีนประสบความสำเร็จ ก็เพราะมีวิกฤตรอบด้าน ไม่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และด้วยความทุ่มเทเสียสละชีวิตเลือดเนื้อของประชาชนชาวจีน ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ปัจจุบันนี้ จีนเชื่อมตัวเองเป็นหนึ่งเดียวกับสังคมโลก ขับเคลื่อนตัวเองไปในท่ามกลางกระแสโลกกาภิวัตน์ (เงื่อนไขทางภววิสัย) เร่งปฏิรูปและเปิดกว้าง พัฒนาระบบเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยมแบบจีน ระดมความเอาการเอางานของประชาชนจีนทั้งประเทศ (ความพยายามทางอัตวิสัย) จึงสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรโลกและตลาดโลก ทำให้เศรษฐกิจจีนพัฒนาเติบใหญ่ ค้าขายกับคนทั้งโลก ทำให้คนจีนอยู่ดีกินดี ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยเครื่องมือนี้ ผู้เขียนสามารถ “จับ” จีน และโลก รวมถึงประเทศไทยของเราเอง

ประการที่สอง จีนใช้การปฏิบัติเป็นหลักยึด ทุกอย่างเริ่มจากความเป็นจริง มุ่ง “หาสัจจะจากความเป็นจริง” และใช้การปฏิบัติพิสูจน์ความถูกต้องของสัจธรรม หลักนี้มีมาตั้งแต่ยุคปฏิวัติ แต่ถูกละเลยไปในช่วงปลายของเหมาเจ๋อตง ภายหลังได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งในยุคเติ้งเสี่ยวผิง และเป็นหลักยึดสำคัญที่สุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ด้วยหลักยึดดังกล่าว ทำให้พวกเขาได้ข้อสรุปใหม่ๆ มากมาย สามารถกำหนดแนวทางปฏิบัติและนโยบายสำคัญๆ ได้อย่างถูกต้องในทุกๆ ด้าน อย่างเช่นในยุคเติ้งเสี่ยวผิงเกิดเป็น “แนวทางพื้นฐาน” ด้วยการ 1. ถือเอาการพัฒนาเศรษฐกิจเป็น “หัวใจ 2. ยึดมั่นในหลักการพื้นฐาน 4 ประการ คือยึดมั่นในหลักลัทธิมาร์กซ์, สร้างสังคมนิยม, โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์จีนบริหารประเทศ, พัฒนาประชาธิปไตยของประชาชน และ 3. ดำเนินการปฏิรูป-เปิดกว้างในทุกๆ ด้าน กำหนดทิศทางการสร้างชาติ ที่จะนำจีนก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองในทุกๆ ด้าน ทั้งทางด้านวัตถุและทางด้านจิตใจ

ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจจีนดีขึ้น เศรษฐกิจตลาดขยายตัวเติบใหญ่ขึ้น สถานภาพทางสังคมของคนจีนแตกตัวมากขึ้น จำเป็นต้องปรับองค์ประกอบของพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้สอดคล้องกับพัฒนาการทางสังคม จึงเกิดทฤษฎี “สามตัวแทน” เปิดทางให้คนจีนในทุกสาขาอาชีพ โดยไม่จำกัดเฉพาะชนชั้นผู้ใช้แรงงาน ที่พร้อมอุทิศตัวแก่ส่วนรวม ในฐานะเป็นตัวแทนพลังการผลิตที่ก้าวหน้า วัฒนธรรมที่ก้าวหน้า และผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชน เข้าเป็นสมาชิกพรรคได้ ทั้งนี้ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ในฐานะพรรคบริหารประเทศ ที่ประชาชนจีนให้ความเชื่อมั่นศรัทธา

ในทำนองเดียวกัน เมื่อเศรษฐกิจจีนดีขึ้นถึงระดับหนึ่ง เกิดความพร้อมที่จะกระจายผลให้แก่คนจีนอย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น ก็ได้มีการนำเสนอทฤษฎีการพัฒนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ โดยถือเอาคนเป็นศูนย์กลาง พร้อมกันนั้นก็นำเสนอทฤษฎีการสร้างสังคมกลมกลืน ให้คนจีนทุกระดับ ทุกสาขาอาชีพ ทั้งรวยและไม่รวย “อยู่ดีกินดีรอบด้าน”

ทฤษฎีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคเติ้งเสี่ยวผิง เจียงเจ๋อหมิน หูจิ่นเทา ปัจจุบันถูกจัดเข้าเป็น “ระบบทฤษฎีสังคมนิยมเอกลักษณ์จีน” เป็นหนึ่งในสองชุดปัญญาแกนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (อีกชุดหนึ่งคือ “ความคิดเหมาเจ๋อตง”) ให้ชาวพรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดถือเป็นหลักชี้นำการปฏิบัติในทุกๆ ด้าน

แน่นอน เมื่อคณะผู้นำชุดใหม่ อันประกอบด้วยนายสีจิ้นผิง นายหลี่เค่อเฉียง นายเฮ่อกั๋วเฉียง นายโจวหย่งคัง เป็นต้น ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในปลายปีนี้ ก็จะต้องมีการนำเสนอทฤษฎีใหม่ๆ ออกมาเป็นระยะๆ ในท่ามกลางการเคลื่อนไหวปฏิบัติที่อิงอยู่กับทฤษฎีสำคัญๆ ก่อนหน้านั้น อันเป็นกระบวนการต่อยอดทางปัญญาที่พวกเขาประพฤติปฏิบัติจนกลายเป็น “ประเพณี”

ทั้งสองประการที่กล่าวมา น่าจะทำให้ท่านผู้อ่าน “คุ้นเคย” ในตัวผู้เขียนมากขึ้น และเพียงพอต่อการถ่ายเททางปัญญา ที่เป็น “ปัญญาสร้างสรรค์” ระหว่างกันและกันในคอลัมน์ “พลวัตจีน” นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น