xs
xsm
sm
md
lg

กว่าจะเป็น “มหาบุรุษ”

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

วันที่ 18-21 มกราคมที่ผ่านมา ขณะที่คนจีนทั้งประเทศกำลังวุ่นอยู่กับการเตรียมฉลองตรุษจีน มีการรำลึกถึงวันครบรอบ 20 ปี ของ “การพูดระหว่างตระเวนภาคใต้” (หนันสวินเจี่ยงฮว่า 1992) ของเติ้งเสี่ยวผิง เกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปและเปิดประเทศ โดยเฉพาะการย้ำชัดถึงความจำเป็นที่ประเทศจีน จะต้องสร้างเศรษฐกิจตลาด ให้เป็นองค์ประกอบสำคัญของระบอบเศรษฐกิจสังคมนิยมของจีน

“การพูด” ดำเนินเรื่อยมาตั้งแต่เมืองอู่ชัง เซินเจิ้น จูไห่ จนถึงซั่งไห่ (เซี่ยงไฮ้) ในรูปของการ “ดูไปพูดไป” ถึงที่ไหนก็พูดในสิ่งที่เกิดขึ้นที่นั่น อันเป็นผลของการปฏิรูปและเปิดประเทศ แต่รวมความแล้วคือยืนยันในแนวทางปฏิรูปและเปิดประเทศ ชี้ให้เห็นถึงหนทางที่ถูกต้องและอนาคตอันยาวไกลของประชาชาติจีน

ทุกคำพูดของเติ้ง ได้รับการเผยแพร่อย่างรวดเร็วและอย่างทั่วถึงไปในหมู่คนจีน แสดงพลานุภาพยิ่งใหญ่ ในการสร้างความเป็นเอกภาพทางความคิดขึ้นในสังคมจีน ขจัดความสับสนในแง่มุมต่างๆ ที่ตลบอบอวลอยู่ทั่วไป ในความไม่แน่ใจในทิศทางและอนาคตของประเทศจีน สืบเนื่องจากการเผชิญหน้ากับปัญหาใหม่ๆ ที่ไม่เคยประสบมาก่อน หรือกระทั่งปัญหาบางอย่างที่ถือว่าเป็นปัญหา “สังคมทุนนิยม” เช่น การกดขี่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน การขายบริการทางเพศ การทุจริตคอร์รัปชัน รวมทั้งการแยกขั้วระหว่างคนรวยกับคนไม่รวย ฯลฯ ซึ่งถึงกับมีการพูดเหมารวมเลยว่า ปัญหาที่น่ารังเกียจเหล่านั้น เป็นผลจากการปฏิรูปและเปิดประเทศ เป็นผลจากนำเอาระบบเศรษฐกิจตลาดมาใช้ในระบอบสังคมนิยม

แม้อายุจะปาเข้าไปถึง 88 ปีแล้ว แต่ด้วยความห่วงใยในชะตากรรมของประเทศชาติ เติ้งเสี่ยวผิงเห็นความจำเป็นที่จะต้องออกมา “พูด” และเป็นการพูดอย่างเป็นกิจลักษณะครั้งสุดท้ายของเขาในฐานะ “ผู้ออกแบบมือหนึ่ง” (จ่งเซ่อจี้ซือ) ประเทศจีนใหม่

การพูดของเติ้ง ส่งผลทันทีต่อคนจีนทั้งประเทศ เกิดความเห็นแจ้งครั้งใหญ่ในหนทางที่ประเทศจีนจะก้าวเดินไป ในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 14 ปลายปีเดียวกัน คณะผู้นำพรรคที่มีเจียงเจ๋อหมินเป็นแกนนำ ได้กำหนดเป้าหมายหลักของการพัฒนาประเทศจีนไว้ที่การสร้าง “ระบบเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยม”

อีกนัยหนึ่ง เติ้งเสี่ยวผิงได้ปฏิบัติภารกิจทางประวัติศาสตร์สำคัญครั้งสุดท้าย ด้วยการ “ดูไปพูดไป” ตลอดช่วงของการตระเวนภาคใต้ เพื่อนำร่องให้แก่คณะผู้นำพรรคจีนที่ทำหน้าที่บริหารประเทศอยู่ในขณะนั้น เดินหน้าปฏิรูปและเปิดประเทศต่อไป โดยไม่ต้องหวั่นไหวไขว้เขวต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์โจมตีใดๆ

สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ยกระดับความเข้าใจให้แก่มวลสมาชิกพรรคฯ และประชาชนชาวจีนทั้งประเทศในความเป็น “สังคมนิยม” ของประเทศจีน รวมทั้งได้ตีความใหม่ครั้งใหญ่ในหลักทฤษฎีสังคมนิยมของลัทธิมาร์กซ์เกี่ยวกับ “แก่นแท้ของสังคมนิยม” ที่หลุดจากกรอบความคิดเดิมๆ อย่างสิ้นเชิง

ด้วยหลักยึดพื้นฐานที่เติ้งนำเสนอคือ “ปลดปล่อยความคิด หาสัจจะจากความเป็นจริง” (เจี่อฟั่งซือเสี่ยง สือซื่อฉิวซื่อ)

นายสวี ฉงเวิน นักวิจัยทางด้านปรัชญาลัทธิมาร์กซ์ชั้นนำคนหนึ่งของสถาบันสังคมศาสตร์จีนกล่าวว่า การพูดของเติ้งเสี่ยวผิงครั้งนี้ มีอยู่หลายเรื่อง แต่ที่สำคัญที่สุดคือได้ให้คำตอบอย่างสมบูรณ์ครั้งแรก เกี่ยวกับปุจฉาที่ว่า “อะไรคือสังคมนิยม” และ “จะสร้างสรรค์สังคมนิยมได้อย่างไร” เพราะแม้ว่าการปฏิวัติรัสเซียปี 1917 จะนำมาซึ่งการสถาปนารัฐสังคมนิยมแห่งแรกของโลก และติดตามมาด้วยประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ รวมทั้งประเทศจีน เมื่อประสบชัยชนะจากการปฏิวัติแล้วก็ดำเนินการสร้างสรรค์สังคมนิยมตามหลักทฤษฎีของคาร์ล มาร์กซ์ แต่ในที่สุดก็ไปไม่รอด พากันล่มสลายไปเกือบหมดสิ้นในปลายทศวรรษ 1980 และต้นทศวรรษ 1990

หลังจากนั้น “อะไรคือสังคมนิยม” และ “จะสร้างสรรค์สังคมนิยมได้อย่างไร” ได้กลายเป็นปัญหาคาใจของชาวลัทธิมาร์กซ์ทั่วโลก ขณะที่นักคิดตะวันตกพากันตีปีกด้วยความลิงโลด ถึงกับประกาศว่า “ประวัติศาสตร์โลกได้ก้าวมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว” เพราะสังคมนิยม “ตายแล้ว” ทุนนิยมคือคำตอบของมวลมนุษยชาติ แต่ปัจจุบันเสียงนี้ได้เงียบไปแล้ว อันเนื่องจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วต่อเนื่องในทุกๆ ด้านของประเทศจีน ที่เดินหน้าปฏิรูปตนเอง

ตามแนวคิดทฤษฎีที่พัฒนาขึ้นมาจากการรับรู้ใหม่ๆ ในท่ามกลางการเคลื่อนไหวปฏิบัติทางสังคม นั่นคือพัฒนาสร้างสรรค์ประเทศจีนในทุกๆ ด้านในบริบทของ “ระบอบสังคมนิยมเอกลักษณ์จีน” ซึ่งบัดนี้ได้กลายเป็น “โมเดล” ของความสำเร็จในการพัฒนาประเทศยุคใหม่ ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก และมีแนวโน้มเป็น “กรณีศึกษา” ของประเทศทุนนิยมตะวันตกที่พัฒนาแล้วมากขึ้นเรื่อยๆ ในความพยายามที่จะพาตัวเองให้พ้นจากวิกฤตการเงิน ไม่เว้นแม้แต่สหรัฐอเมริกา

ในทัศนะของผู้เขียน สิ่งที่เติ้งเสี่ยวผิงนำเสนอในระหว่างการตระเวนภาคใต้ คือ การต่อยอดแก่นปัญญายุคใหม่ของจีนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้คนรุ่นหลังโดยแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นผู้สานต่อ

แก่นปัญญาจีนยุคใหม่ มีลัทธิมาร์กซ์แบบจีน (ความคิดเหมาเจ๋อตง ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง และทฤษฎีอื่นๆ ที่คณะผู้นำรุ่นต่อๆ มานำเสนอ รวมกันเข้าเป็น “ระบบทฤษฎีสังคมนิยมเอกลักษณ์จีน”) เป็นองค์หลัก ประสานเข้ากับคติ ค่านิยมโบราณของจีน เช่น การยึดเอาความพอดีพอเหมาะเป็นสรณะ (จงยง) ความกลมกลืน (เหอเสีย) และ ความผ่อนปรน (ควนหรง) บวกกับทัศนคติต่อชีวิตที่จะต้องทำให้ชีวิตดีขึ้นเสมอ (จื้อเฉียงปู้ซี) ฯลฯ

ทั้งนี้ ผู้เขียนขอสรุปว่า บทบาทของเติ้งเสี่ยวผิง ได้ดำเนินมาตามแนวเดียวกันกับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนคนอื่นๆ เช่น เหมาเจ๋อตง หลิวเซ่าฉี โจวเอินไหล เป็นต้น ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงขึ้นในประเทศจีน ด้วยการสร้างแก่นปัญญาหรือปัญญาแกนขึ้นมาเป็น “เข็มทิศ” ชี้นำการเคลื่อนไหวปฏิบัติในทุกขั้นตอน ทั้งในขั้นของการปฏิวัติ และในขั้นของการพัฒนาสร้างสรรค์

บทบาทเช่นนี้ เปรียบได้กับ “มหาบุรุษ”
กำลังโหลดความคิดเห็น