ศูนย์ข่าวขอนแก่น -คณะทำงานตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวขอนแก่น เล็งชงเรื่องเข้า ครม.สัญจร ที่ จ.อุดรธานี 21-22 ก.พ.นี้ หวังของบศึกษาและจัดทำพิมพ์เขียว เบื้องต้น 50 ล้านบาท พร้อมโฟกัสพื้นที่ตั้งนิคมฯโซนทิศใต้และทิศตะวันตกของเมืองขอนแก่น เผยเปิดให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นนำเสนอพื้นที่เหมาะสม มั่นใจโอกาสเกิดนิคมอุตสาหกรรมที่ขอนแก่นกว่า 70% แม้มีคู่แข่งหลายจังหวัด
นายวิฑูรย์ กมลนฤเมธ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ในฐานะคณะกรรมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว เปิดเผยว่า คณะทำงานจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวจังหวัดขอนแก่น ที่มี นายสมบัติ ตรีวัฒน์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธาน มีมติที่จะนำแผนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวจังหวัดขอนแก่น เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม คณะรัฐมนตรีสัญจรครั้งที่ 2 ที่ จ.อุดรธานี ระหว่างวันที่ 21-22 ก.พ.นี้
คณะทำงานจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวขอนแก่น จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีสัญจร พิจารณาเรื่องจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว ขึ้นในพื้นที่ จ.ขอนแก่น โดยจะมีการขอจัดสรรงบประมาณศึกษาในทุกๆด้าน พร้อมกับจัดทำพิมพ์เขียว ซึ่งต้องใช้งบดำเนินการไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท
สำหรับพื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวขอนแก่น คณะทำงานได้ข้อสรุปเบื้องต้น จะเลือกใช้พื้นที่โซนด้านทิศตะวันตก และทิศใต้ จากตัวอำเภอเมืองขอนแก่นเท่านั้น เป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว โดยด้านทิศตะวันตกตั้งแต่อำเภอเมืองไปตามถนนหลวงหมายเลข 12 ไปจนถึงอำเภอภูเวียง มีความเหมาะสมเป็นเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ EWEC มีการขยายเส้นทางเป็น 4 เลนไปจนถึง อ.แม่สอด จ.ตาก
ส่วนด้านทิศใต้ ตามเส้นทางมิตรภาพฝั่งซ้าย ตั้งแต่อำเภอเมือง อำเภอบ้านแฮด ลงไปจนถึงอำเภอบ้านไผ่ เป็นพื้นที่น้ำท่วมไม่ถึง ซึ่งมีความเหมาะสมด้านการคมนาคมขนส่ง เป็นถนนสายหลักมุ่งสู่พื้นที่ภาคกลาง ในอนาคตจะมีการพัฒนาเส้นทางรถไฟรางคู่ มีคอนเทนเนอร์ ยาร์ด ที่ท่าพระ อำเภอเมืองขอนแก่น
นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ไม่เลือกพื้นที่โซนทิศเหนือ ด้านอำเภอน้ำพอง อำเภอกระนวน เพราะเคยมีการผลักดันจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมมาก่อนหน้าแล้ว ซึ่งเกิดปัญหามวลชนในพื้นที่ต่อต้านมาก ขณะที่โซนด้านทิศตะวันออกของอำเภอเมืองขอนแก่น มีพื้นที่จำกัดจะเข้าไปในเขตจังหวัดมหาสารคาม จึงเป็นพื้นที่ไม่เหมาะสม
สำหรับพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว จังหวัดขอนแก่น จะต้องเป็นพื้นที่ผืนใหญ่ไม่ต่ำกว่า 1,500 ไร่ จนถึง 2,000 ไร่ เป็นพื้นที่น้ำท่วมไม่ถึง ไม่ใช่พื้นที่การเกษตรที่สำคัญ และการคมนาคมเข้าถึงพื้นที่สะดวก ไม่ห่างจากถนนสายหลัก โดยคณะทำงานจะเปิดรับพิจารณาพื้นที่จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง อบต. เทศบาล สามารถนำเสนอพื้นที่ที่เหมาะสมต่อคณะทำงานพิจารณาได้
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ผืนใหญ่ที่จะมาตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว ไม่จำเป็นว่าต้องพื้นที่ของรัฐ สามารถจัดซื้อพื้นที่เอกชนผืนใหญ่ได้ เพราะการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับนักลงทุนที่สนใจ
นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า โอกาสที่จะเกิดนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว จังหวัดมีความเป็นไปได้สูงมากกว่า 60-70% เพราะขณะนี้โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ถูกน้ำท่วม มีความต้องการจะย้ายโรงงานออกมายังภาคอีสานที่ปลอดภัยจากปัญหาน้ำท่วม มีจำนวนสูงมาก ขณะเดียวกันจังหวัดขอนแก่น ถูกเลือกจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้เป็นหนึ่งในสี่จังหวัดที่เหมาะต่อการตั้งนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งประกอบด้วย ขอนแก่น กาญจนบุรี เชียงราย และ อ.แม่สอด จ.ตาก
ในพื้นที่ภาคอีสาน ณ ขณะนี้มี 4 จังหวัดที่มีโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมขึ้น ประกอบด้วย ขอนแก่น อุดรธานี มหาสารคาม และนครราชสีมา โดยแผนการดำเนินการผลักดันของจังหวัดขอนแก่น มีความคืบหน้ามากที่สุดเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นในภาคอีสาน ซึ่งมั่นใจว่า นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคอีสาน น่าจะเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 1 จังหวัด