xs
xsm
sm
md
lg

ชุมชนพะเยาตื่น! เตรียมรับมือระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ วางผังร่วม-ติวภาษาปั้นคนรับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พะเยา - ชุมชนรายทางระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ เริ่มตื่นตัวเตรียมพร้อมรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจผ่านเส้นทาง R3a พบ 3 เทศบาลเมืองกว๊านฯ เตรียมวางผังเมืองร่วม พร้อมหาครูสอนภาษาปั้นเด็ก-เยาวชนในพื้นที่ รับมือ

นายสมพน พึ่งพวก นายกเทศมนตรีตำบล (ทต.) สบบง อ.ภูซาง จ.พะเยา กล่าวว่า ขณะนี้ชุมชนต่างๆ ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) ต้องเตรียมพร้อมทั้งเรื่องของคน พื้นที่ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการวางแผนเรื่องการจัดการที่ดิน หรือโซนนิ่งพื้นที่ หรือ การจัดวางผังเมือง เพื่อรองรับความเจริญที่กำลังมาพร้อมกับเส้นทาง R3a

กรณีของ ทต.สบบง ที่เป็นทางผ่านของระเบียงเศรษฐกิจสายนี้ สิ่งสำคัญคือ การจัดทำผังเมืองรวมท้องถิ่นสบบง ซึ่งการจัดทำผังเมืองรวมในอนาคตที่จะเกิดขึ้น คือ การวางผังเมืองรวมเชื่อมกันระหว่างพื้นที่ 3 แห่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คือ ทต.สบบง อ.ภูซาง ทต.เชียงคำ และ ทต.บ้านทราย อ.เชียงคำ เนื่องจาก อปท.ทั้ง 3 แห่ง อยู่ในพื้นที่เส้นทางหลวงแผ่นดินเส้นทางเดียวกันที่เชื่อมระหว่าง อ.ภูซาง และ อ.เชียงคำ ส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจสายนี้ อีกทั้งชุมชนก็หนาแน่นเริ่มขยายถึงกันแล้ว

เบื้องต้น ทต.สบบงได้มีการจัดวางไว้ว่าพื้นที่ทางด้านทิศตะวันออกของที่ทำการเทศบาลฯ อาจจะถูกจัดวางไว้รองรับสำหรับเป็นโกดังเก็บสินค้าของผู้ประกอบการทั้งในและนอกพื้นที่ โดยจะต้องอยู่ห่างจากชุมชนในระยะที่เหมาะสม รวมถึงการวางผังเรื่องการใช้พื้นที่ โครงสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้งถนน ไฟฟ้า น้ำประปา ฯลฯ ไม่ให้เกิดปัญหาแย่งชิงทรัพยากรเหล่านี้ในอนาคต ซึ่งทั้งสาม อปท.รอเพียงงบประมาณจากส่วนกลางที่จะอนุมัติมาให้ดำเนินการจัดทำผังเมืองรวมท้องถิ่นทั้งสามแห่ง เมื่องบประมาณพร้อมทุกอย่างสามารถเดินหน้าเรื่องการจัดทำผังเมืองรวมได้ทันที

นายสมพนบอกอีกว่า ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการตื่นตัวด้านการเตรียมความพร้อมของภาษา ซึ่งสังเกตได้ว่าขณะนี้มีภาคเอกชนบางกลุ่มหรือบางองค์กร เข้ามาในพื้นที่ ต.สบบง แล้วเปิดให้เด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ที่สนใจ เข้าไปเรียนรู้เรื่องภาษา เช่น ภาษาจีน อังกฤษ ฯลฯ

ในส่วนของ ทต.สบบง ก็มีแผนที่จะจัดหาบุคลากรที่มีความชำนาญด้านภาษาต่างประเทศ หรือเจ้าของภาษาต่างประเทศ มาเป็นวิทยากรสอนภาษาให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่จะมากับเส้นทาง R3A และระเบียงเศรษฐกิจสายนี้ในอนาคต ซึ่งตนคิดว่าหากภาษาไม่พร้อม จะมีปัญหาอุปสรรคในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งอาจจะกระทบถึงปัญหาด้านอื่นๆ ตามมาหากไม่สามารถเจรจาหรือสื่อสารในภาษาเดียวกันได้รู้เรื่อง

“ผมและทางสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ต.สบบง อ.ภูซาง หารือร่วมกันว่า ควรจะมีการจัดหาบุคลากรที่มีความชำนาญเรื่องภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เข้ามาสอนและเพิ่มทักษะด้านภาษาแก่ประชาชนในพื้นที่ทุกกลุ่ม ขณะเดียวกันก็เน้นการอนุรักษ์ภาษาไทยและภาษาพื้นบ้านไม่ให้สูญหายด้วย เพราะสิ่งสำคัญคือเอกลักษณ์อันเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมของคนไทลื้อไม่ให้ถูกกระแสเศรษฐกิจโลกมากลบไป” นายสมพนกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น