กยอ.เร่งหาทำเลใหม่สร้างนิคมอุตฯ แถบภาคอีสาน เพื่อรองรับโรงงานภาคกลางย้ายหนีน้ำท่วมซ้ำ โดยกำหนดพื้นที่ตามแนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกและตะวันตก พร้อมระบุจุดเด่นเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านได้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในงานสัมมนา เจาะลึก 6 มาตรการเร่งด่วนบริหารจัดการน้ำ ปี 55 เรื่องทิศทางประเทศไทยกับความเชื่อมั่นด้านภัยพิบัติ โดยระบุว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) อยู่ระหว่างการพิจารณาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องย้ายฐานออกไปจากแห่งเดิม โดยกำหนดพื้นที่ตามแนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกและตะวันตก ซึ่งเบื้องต้นจะอยู่พื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลัก เพื่อเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
นายอาคม กล่าวว่า ผู้ประกอบการโรงงานส่วนใหญ่ ทั้งในจังหวัดนนทบุรี และ พระนครศรีอยุธยา ที่ถูกน้ำท่วม ยังยืนยันที่จะลงทุนในประเทศไทยต่อ แต่อาจย้ายโรงงานไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัยจากน้ำท่วม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ โดยดูพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และต้องหามาตรการจูงใจทั้งเรื่องการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ อัตราภาษี และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ
ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำโดยการสร้างระบบป้องกันในระยะเร่งด่วน คาดว่า จะใช้วงเงินรวม 120,000 ล้านบาท นอกจากดำเนินการตามแผนงานแล้ว สิ่งจำเป็นอีกประการ คือ ต้องสร้างความสมดุลเรื่องที่เกี่ยวข้องทั้ง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน