xs
xsm
sm
md
lg

ลดการพึ่งพารายได้โซล่าฟาร์ม“เอสพีซีจี”จับมือพันมิตรญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - “เอสพีซีจี” เดินหน้าขยายธุรกิจลดการพึ่งพารายได้หลักจากโซล่าฟาร์ม ล่าสุดจับมือพันธมิตรญี่ปุ่น เพื่อศึกษาและลงทุนระบบไฟฟ้าแรงสูง เพิ่มช่องทางธุรกิจ ส่วนหุ้นเพิ่มทุน60 ล้านหุ้น คาดเสนอขายได้ในสัปดาห์หน้า โบรกฯประเมินแนวโน้มกำไร3ปีข้างหน้าโตอย่างแข็งแกร่ง

นางสาววันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. เอสพีซีจี.(SPCG) เผิดเผยว่าเมื่อเร็วๆนี้ บริษัทได้มีเซ็นบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท Enecate และ บริษัท ไทยไอจิเดนกิ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ในญี่ปุ่น ที่มีเทคโนโลยี ในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าอัจฉริยะ ซึ่งตรงกับความต้องการของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ต้องการเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าระบบเดิมให้เป็นระบบอัจฉริยะทั้งหมดประมาณ 14-15 ล้านครัวเรือนในปัจจุบัน

โดยการลงนามในบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ เพื่อศึกษาการลงทุนร่วมกันในประเทศไทย ในกิจการประกอบระบบควบคุมไฟฟ้าแรงสูง เช่น ตู้สวิทช์ตัดตอนระบบไฟฟ้าแรงดันสูง ตู้ควบคุมระบบไฟฟ้า สำหรับโซล่าฟาร์ม และโครงการอื่นๆ ตามแผนการกระจายหารายได้อื่นนอกเหนือจากการพึ่งพารายได้จาก โซลาร์ฟาร์มเพียงอย่างเดียว

ส่วนการกำหนดราคาหุ้นเพิ่มทุนที่จะเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไป (PO) จำนวน 60 ล้านหุ้น บริษัทคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในสัปดาห์หน้า โดยเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนดังกล่าวจะใช้ในการพัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์ม ที่ปินี้จะลงทุน 16 โครงการ โครงการละ 600-700 ล้านบาท และบางโครงการจะมีพันธมิตรเข้าร่วม

บล.เอเซีย พลัส ประเมินทิศทาง SPCG โดยคาดแนวโน้มกำไรสุทธิในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะเติบโตอย่างมีนัยฯ ถึง 102%p.a. (CAGR) โดยบริษัทได้ทำการเซ็นสัญญาขายไฟฟ้าระยะยาวให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ไปล่วงหน้าแล้วทั้งหมด ภายใต้เงื่อนไขโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในปี 2556 ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจได้ในระยะยาว นอกจากนี้ ความได้เปรียบในเรื่องของ Gross Margin ซึ่งอยู่ในระดับสูงเกิน 60% เป็นอีกปัจจัยช่วยผลักดันฐานกำไรสุทธิให้เติบโตอย่างมีนัยดังกล่าว

ส่วนแผนการจัดหาแหล่งเงินทุนทั้งจากการก่อหนี้และเพิ่มทุนนั้น แม้ในช่วง 2 ปีข้างหน้าสัดส่วนหนี้สิน/ทุนจะยังอยู่ในระดับที่สูงเกิน 2 เท่าเนื่องจากยังอยู่ในช่วงขยายการลงทุน แต่แนวโน้มคาดว่าจะทยอยลดลงได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี2557 ส่วนผลกระทบจากการเพิ่มทุนแทบจะไม่มีนัยต่อ Dilution Effect ของ EPS ด้วยการเติบโตเชิงรุกของฐานกำไร อีกทั้ง Warrant ที่ให้กับผู้ถือหุ้นรวมกว่า 280 ล้านหน่วยที่ถูกจำกัดการใช้สิทธิในช่วง 3 ปีข้างหน้า (European Option) ถือเป็นเงื่อนไขที่ดีมากที่จะช่วยลดผลกระทบจากการเพิ่มทุนอีกทางหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น