xs
xsm
sm
md
lg

2 กลุ่มยื่นท้วง “กกต.” ล้มกระดาน“ส.ส.-ส.ว.” ทั้งระบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 30 ม.ค.) นายบวร ยสินทร แกนนำกลุ่มราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบัน พร้อมคณะได้เข้ายื่นหนังสือต่อนางผานิต นิติทัณฑ์ประภาส ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยให้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ผลการเลือกตั้งหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 50 เป็นโมฆะ
ซึ่งนายบวร กล่าวว่า หลังการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 แม้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) จะให้ กกต.ทั้ง 4 คน และนายสุเมธ อุปนิสากร ปฏิบัติหน้าที่เป็นกกต.ต่อไป รวมทั้งให้ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2541 บังคับใช้ต่อไปจนกว่าจะมีกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก แต่ในประกาศคปค.ฉบับที่ 13 ก็ได้ระบุวัตถุประสงค์ของการให้กกต.ชุดนี้เข้าปฏิบัติหน้าที่ว่าเพื่อให้มาดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นให้เป็นไปโดยสุจริต และมีการเน้นย้ำการให้กกต.มีหน้าที่เฉพาะในการจัดการเลือกท้องถิ่นในประกาศคปค.อีก 2 ฉบับต่อมาคือประกาศคปค.ฉบับที่ 26 และฉบับที่ 32
นายบวร กล่าวอีกว่า และเมื่อรัฐธรรมนูญ 50 และพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2551 มีผลบังคับใช้ ก็ทำให้กกต.ตามประกาศคปค. ฉบับที่ 13 และ 26 ต้องสิ้นสุดลง โดยเป็นการสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งตามบทเฉพาะกาลแห่งรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 295 299 และเป็นการสิ้นสุดวาระเพราะเหตุอื่นตามมาตรา 234 วรรค 2 ซึ่งต้องมีการสรรหากกต.ใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 50 ก่อนที่มีการจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่เมื่อกกต.ชุดนี้กลับทำหน้าที่ต่อไปก็มีผลให้การเลือกตั้งส.ส. เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 50 และ 3 ก.ค. 54 รวมทั้งการเลือกตั้งส.ว.เมื่อ 2 มี.ค. 51 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่าเหตุใดจึงเพิ่งจะมายื่นเรื่องร้องเรียน และทำไมจึงไม่ร้องให้การสรรหาส.ว.เป็นโมฆะ นายบวร กล่าวว่า เนื่องจากทางกลุ่มเพิ่งเห็นความบกพร่องของกฎหมาย ซึ่งแม้ประกาศคปค.จะให้คงพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง2541 เอาไว้โดยมีบทบัญญัติให้กกต.มีอำนาจในเรื่องการจัดการเลือกตั้งส.ส.ก็ตาม แต่เรื่องอำนาจกับหน้าที่ เป็นคนละคนเรื่องกัน เหมือนพ.ร.บ.ตำรวจที่ให้อำนาจตำรวจจับคนร้าย แต่ตำรวจจราจร ก็มีหน้าที่ดูแลในเรื่องการจราจร ซึ่งกรณีนี้ประกาศคปค.ฉบับที่ 13 กับ 26 เขียนให้กกต.มีหน้าที่เพียงแค่จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นเท่านั้น
ส่วนที่ไม่ร้องให้การสรรหาส.ว.เป็นโมฆะ เนื่องจากตามกฎหมายบัญญัติให้กกต.เป็นเพียงหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการสรรหาส.ว.เท่านั้น แม้ว่าประธานกกต.จะเป็นกรรมการสรรหาส.ว.ก็ไม่เป็นผล
นายบวร ยังกล่าวด้วยว่า ที่มายื่นเรื่องร้องเรียนในขณะนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ หรือเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใด เพราะทางกลุ่มเคลื่อนไหวในเรื่องของการปกป้องสถาบันฯมาก่อนหน้านี้แล้วในนามภาคประชาชน

**เรืองไกร ยื่นกกต.ล้มสรรหาสว.
อีกด้าน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสว.สรรหา เปิดเผยว่า ได้ยื่นคำร้องคัดค้านผลการสรรหาสว.เพิ่มเติม ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) โดยแนบสำเนาคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 724/2554 วันที่ 21 ธ.ค.2554 และสำเนาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 51/2554 วันที่ 28 ธ.ค.2554 ซึ่งคำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวพิเคราะห์ว่า ผู้ร้องสอดคือ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ในฐานะผู้รักษาราชการแทนผู้ว่าสตง. จึงเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่แทนประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) ในระหว่างที่ยังไม่มีคตง.ด้วย
ขณะที่เคยมีคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ในคดีหมายเลขแดงที่ 1679/2553 วันที่ 19 ต.ค.2553 ต่อกรณีดังกล่าวไว้เช่นกัน แต่คณะกรรมการสรรหาฯไม่สนใจ กลับกระทำตามอำเภอใจกีดกันไม่ออกหนังสือเชิญ รองผู้ว่าสตง.เข้าไปเป็นกรรมการสรรหาฯ ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 113 บัญญัติ
ดังนั้นกระบวนการสรรหาส.ว. จึงมีลักษณะที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว เห็นได้ชัดว่าสอดคล้องกับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง จากข้อเท็จจริงดังกล่าว กกต.สามารถนำมาประกอบการพิจารณาได้ตามหลักนิติธรรม ว่ากระบวนการสรรหาสว.ที่ผ่านมาเป็นโมฆะหรือไม่ คงไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่รับฟังคำสั่งศาลปกครองสูงสุด และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ.
กำลังโหลดความคิดเห็น