วันที่ 30 ม.ค.55 นายบวร ยสินทร แกนนำกลุ่มราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบัน พร้อมคณะได้เข้ายื่นหนังสือต่อนางผานิต นิติทัณฑ์ประภาส ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยให้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ผลการเลือกตั้งหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 50 เป็นโมฆะ รายลำเอียดคำร้องมีดังนี้
กลุ่มราษฎรอาสาปกป้อง ๓ สถาบัน
191 อาคารซีทีไอ ชั้น10 ถนนสุขุมวิท 16
เขต คลองเตย กทม. 10110
โทรศัพท์ 08-1421-3698
วันที่ 30 มกราคม 2555
เรื่อง ขอให้พิจารณาและสอบสวนถึงการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ไม่มีอำนาจในการดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา และส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 244, 245
เรียนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน (นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ)
อ้างถึง 1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549
2. ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 1, ฉบับที่ 3, ฉบับที่ 13 เรื่องให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลใช้บังคับต่อไป
3. ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 26 เรื่องการแก้ไขประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 13 ลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2549
4. ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 32 เรื่องอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภา ท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549
ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 และได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบสัดส่วนจำนวน 500 คนไปแล้ว โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งประกอบด้วย นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกรรมการ นายประพันธ์ นัยโกวิท นางสดศรี สัตยธรรม นายสมชัย จึงประเสริฐ และนายวิสุทธิ์ โพธิแท่น กรรมการ เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ควบคุมดูแลและดำเนินการเลือกตั้ง รวมทั้งมีอำนาจในการออกประกาศกำหนดการทั้งหลาย อันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติและกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นที่หรือผู้บริหารท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติไว้ตามมาตรา 235 ถึงมาตรา 241
ข้าพเจ้าขอกราบเรียนว่า การเลือกตั้งที่ได้มีการดำเนินการไปทั้งหมดนั้น เป็นการดำเนินการเลือกตั้งโดยที่คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่มีอำนาจตามกฎหมายและตามรัฐธรรมนูญที่จะดำเนินการเลือกตั้งได้ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมทั้งการเลือกตั้งทุกครั้ง ภายหลังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ออกใช้บังคับแล้วเป็นการเลือกตั้งที่เป็นโมฆะทั้งสิ้น เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งคณะนี้ไม่ใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 หมวด 11 ส่วนที่ 1 (1) คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดนี้ไม่ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 229, 230, 231, 232, ที่จะมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเลือกตั้งได้ การเลือกตั้งที่ได้ดำเนินการมาภายหลังที่รัฐธรรมนูญ 2550 ออกใช้บังคับแล้ว เป็นการใช้อำนาจโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้งด้วยเหตุผลคือ
1. กรณีสืบเนื่องมาจากในปี 2549 ขณะใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้มีการคัดเลือกคณะกรรมการการเลือกตั้งจากที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2549 โดยมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง 5 คน คือ นายสุเมธ อุปนิสากร นายอภิชาต สุขัดคานนท์ นายประพันธ์ นัยโกวิท นายสมชัย จึงประเสริฐ และนางสดศรี สัตยธรรม ในขณะนั้นประธานวุฒิสภายังไม่ได้มีการเสนอให้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้งโดยคำแนะนำของวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 ก็ได้มีการรัฐประหารยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คมช. คมช.ได้ประกาศคณะปฏิรูปฯฉบับที่ 3 ในวันที่ 19 กันยายน 2549 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 สิ้นสุดลง โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆเกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งห้าจึงได้สิ้นสภาพการเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยผลของรัฐธรรมนูญ 2540 ตามคำสั่งของคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 3 ดังกล่าว (ปรากฏตามคำสั่งคณะปฏิรูปฯฉบับที่ 1, 3 ที่แนบท้ายหมายเลข 1, 2)
ต่อมาคณะปฏิรูปฯได้มีคำสั่งแต่งตั้งบุคคลทั้งห้าเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2549 ตามประกาศคณะปฏิรูปฯฉบับที่ 13 เรื่องให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลใช้บังคับต่อไป โดยประกาศดังกล่าวได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับต่อไป โดยระบุวัตถุประสงค์ของประกาศคณะปฏิรูปฯ ไว้ว่า “เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง” ทั้งได้ประกาศแต่งตั้งบุคคลทั้งห้าเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งตามลำดับ คือ 1. นายอภิชาต สุขัดคานนท์ ประธานกรรมการ นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการ นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการ นายสมชัย จึงประเสริฐ กรรมการ นายสุเมธ อุปนิสากร กรรมการ ผลของประกาศฯ ฉบับที่ 13 เป็นการแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งห้ามีอำนาจหน้าที่เฉพาะควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นเท่านั้น (ปรากฏตามคำสั่งคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 13 ที่แนบท้ายหมายเลข 3)
ต่อมาวันที่ 29 กันยายน 2549 คมช.ได้ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 26 แก้ไขประกาศฯ ฉบับที่ 13 โดยให้ยกเลิกข้อ 2 ข้อ 3 ของประกาศฉบับที่ 13 โดยมีข้อความในข้อ 3 ว่า “ ให้ถือว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 13 ลงวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2549 ได้รับการสรรหาและแต่งตั้งโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งตามประกาศดังกล่าว และมีอำนาจและหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 และกฎหมายอื่นที่บัญญัติให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง” อันเป็นการประกาศคณะปฏิรูปฯเพื่อรับรองการสรรหาและการแต่งตั้งว่าเป็นไปโดยถูกต้องชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 และยืนยันการมีอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งนอกจากจะมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 แล้ว ยังมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วยเฉพาะในเรื่องเพื่อให้ดำเนินการเกี่ยวกับสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมดังกล่าว หาได้มีอำนาจในการดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส.หรือ ส.ว. แต่อย่างใดไม่ ซึ่งจะปรากฏหลักฐานอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งให้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นเท่านั้น ตามประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 32 (ปรากฏตามคำสั่งคณะปฏิรูปฯฉบับที่ 32 ที่แนบท้ายหมายเลข 5)
ตามประกาศคณะปฏิรูปฯฉบับที่ 26 ซึ่งมีสาระสำคัญของการแก้ไขประกาศคณะปฏิรูปฯฉบับที่ 13 ข้อ 1 แก้ไขเป็นว่า “ข้อ 1. การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มิให้กระทบกระเทือนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 ยังคงใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก”
จากข้อความตามประกาศคณะปฏิรูปฉบับที่ 26 ข้อ 1 และข้อ 3 เป็นประกาศที่เป็นการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ได้รับแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปฯ โดยนัยให้มีวาระการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2540 คือ มีกำหนดเวลา 7 ปี นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งจากคณะปฏิรูปฯ (20 กันยายน 2549) แต่หากมีกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 แล้ว วาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ต้องสิ้นสุดลงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 นั้นด้วย ( ปรากฏตามคำสั่งคณะปฏิรูปฯฉบับที่ 26 แนบท้ายหมายเลข 4 )
ประกาศคณะปฏิรูปฯดังกล่าวก็สอดคล้องกับบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 295 มาตรา 299 วรรคสองและวรรคท้าย ซึ่งบัญญัติให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ [ เป็นสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ( ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549] พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ได้รับจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 ซึ่งก็ปรากฏว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับแล้วเสร็จ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2550 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 8 ตุลาคม 2550 วาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งห้า จึงสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2550 การสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง หรือการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งห้า เป็นการสิ้นสุดวาระหรือพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่น ซึ่งจะต้องดำเนินการสรรหาตามมาตรา 231 ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 234 วรรคสอง การดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส. หรือ ส.ว. ซึ่งได้ทำภายหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งห้าสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่งไปแล้วนั้น การเลือกตั้งจึงเป็นการเลือกตั้งที่มิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 และเป็นโมฆะ
การสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง หรือ การพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งห้า เป็นการสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งตามประกาศคณะปฏิรูปฯฉบับที่ 13 ,26และตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 295 มาตรา 299 วรรคสองและวรรคท้าย ประกอบกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 วรรคสอง การเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.ที่ได้กระทำภายหลังที่คณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งห้าสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งหรือการพ้นจากตำแหน่ง เป็นการเลือกตั้งที่มิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 และเป็นโมฆะ เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งห้าไม่ใช่เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการสรรหามาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 229, 230, 231 และ 232 และไม่ปรากฏว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งคณะนี้ เมื่อสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งไปแล้ว เพราะมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ใช้บังคับ จะได้รับการแต่งตั้งใหม่แต่อย่างใดทั้งสิ้น จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะดำเนินการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ คณะกรรมการการเลือกตั้งตามคำสั่งของคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 13 และ 26 แม้จะถือว่ามีการสรรหามาตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ไม่สามารถจะสวมสิทธิของการเป็นกรรมการการเลือกตั้ง สส.และ สว.ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ได้แต่อย่างใดไม่ เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งห้ามีอำนาจหน้าที่เฉพาะการดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นเท่านั้น การสวมสิทธิเข้ามาเป็นกรรมการการเลือกตั้งเพื่อดำเนินการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2550 ย่อมเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ดำเนินการเลือกตั้งโดยไม่มีอำนาจและหน้าที่ที่จะดำเนินการได้ จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปด้วย
2. การสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ได้รับแต่งตั้งจากคณะปฏิรูปฯตามบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 295 และมาตรา 299 และต้องสิ้นสุดวาระเพราะเหตุอื่นตามมาตรา 234 วรรคสอง เป็นการสิ้นสุดภายหลังที่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 แล้วย่อมมีนัยสำคัญตามหลักรัฐธรรมนูญ คือ เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ออกใช้บังคับเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ก่อนการสิ้นวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งยังคงอยู่ในวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2550 ถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2550 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต้องมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้งเสียก่อน เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ [ ทั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 136, 137 และคำสั่งคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 13, 26 และตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 295และมาตรา 299 ] ซึ่งโดยอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้น (ไม่ได้อยู่ในบังคับบัญชาขององค์กรรัฐองค์กรใด) คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องทราบถึงอำนาจหน้าที่ของการเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องดำเนินการถ่ายโอนอำนาจของตน โดยต้องเสนอให้ฝ่ายบริหารหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติดำเนินการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้งให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ให้เรียบร้อยก่อนที่ฝ่ายบริหารจะประกาศการเลือกตั้ง เพราะการเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญของกรรมการการเลือกตั้งจะมีอำนาจในตัวเอง และจะต้องทราบว่ากรรมการการเลือกตั้งจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะดำเนินการเลือกตั้งได้อีกต่อไป เพราะได้มีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 ออกใช้บังคับแล้ว ซึ่งกรรมการการเลือกตั้งต้องเสนอเรื่องต่อองค์กรของรัฐตามรัฐธรรมนูญ คือฝ่ายบริหาร หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในขณะนั้น เพื่อดำเนินการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 234 วรรคสอง เสียก่อน
เมื่อฝ่ายบริหารคือรัฐบาลโดย พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีได้ออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายหลังที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ออกใช้บังคับแล้วเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550 กำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบกับมาตรา 296 และมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 และได้ประกาศให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชกฤษฎีกาด้วยนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งย่อมต้องทราบเป็นอย่างดีว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่อาจดำเนินการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ได้ เพราะไม่ใช่เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ไม่ได้รับการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะดำเนินการตามมาตรา 7 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ได้ เพราะประธานกรรมการการเลือกตั้ง (นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ) ไม่ได้เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 5 แม้พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2550 จะบัญญัติให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ก็ไม่อาจทำให้ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ( นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ) หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจ หน้าที่ในการดำเนินการเลือกตั้งได้ เพราะการมีอำนาจหน้าที่ของกรรมการการเลือกตั้งเป็นอำนาจหน้าที่ที่เกิดขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ และโดยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเท่านั้น มิใช่เกิดขึ้นโดยอำนาจฝ่ายบริหารโดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งได้แต่อย่างใดไม่ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 จึงเป็นการเลือกตั้งที่ได้ดำเนินการเลือกตั้งโดยกรรมการการเลือกตั้งที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะดำเนินการเลือกตั้งได้ และเป็นกรรมการการเลือกตั้งที่หมดวาระหรือพ้นจากตำแหน่งการเป็นกรรมการการเลือกตั้งไปแล้ว การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 จึงเป็นการเลือกตั้งโดยไม่ชอบ มีผลให้การเลือกตั้งขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นโมฆะ
3. ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 นายกรัฐมนตรีโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 และกำหนดให้นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชกฤษฎีกา ซึ่งมีผลในทำนองเดียวกัน เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งคณะนี้ก็ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการเลือกตั้งได้ ( มีนายวิสุทธิ โพธิแท่น เป็น กกต.ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 แทนนายสุเมธ อุปนิสากร เนื่องจากนายสุเมธ อายุ ครบ 70 ปี โดยที่ประชุมวุฒิสภาลงมติเลือกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 231 )
คณะกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 5 คน ได้หมดอำนาจหน้าที่ในการเป็นกรรมการการเลือกตั้งไปแล้วตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ออกใช้บังคับ และกรรมการการเลือกตั้ง 5 คนดังกล่าว หมดวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้งไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2550 เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 จะต้องมีการสรรหากรรมการการเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แต่กรรมการการเลือกตั้งทั้ง 5 คนยังคงดำรงตำแหน่งต่อมาโดยที่ไม่ได้เป็นกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 แต่อย่างใด การดำรงตำแหน่งของกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 5 คน จึงเป็นการดำรงตำแหน่งโดยที่ไม่ใช่เป็นกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ดังนั้นการที่ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติคัดเลือกนายวิสุทธิ โพธิแท่น มาเป็นกรรมการการเลือกตั้งแทนนายสุเมธ อุปนิสากร จึงไม่ใช่เป็นการคัดเลือกกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 231 เพราะเป็นการคัดเลือกมาแทน นายสุเมธ อุปนิสากร ซึ่งขณะมีอายุ 70 ปีนั้น นายสุเมธ อุปนิสากรไม่ใช่เป็นกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 แต่ได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วตั้งแต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 ออกใช้บังคับเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2550 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 295 และมาตรา 299 การคัดเลือกนายวิสุทธิ โพธิแท่น จึงเป็นการคัดเลือกมาแทนบุคคลที่ไม่ใช่เป็นกรรมการการเลือกตั้งและพ้นจากตำแหน่งไปเพราะเหตุอื่น ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 234 วรรคสอง นายวิสุทธิ์ โพธิแท่น จึงไม่ใช่เป็นกรรมการการเลือกตั้งตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้งที่ดำเนินการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 จึงไม่ใช่เป็นกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ไม่ใช่เป็นประธานกรรมการการเลือกตั้งที่จะเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 แต่อย่างใดทั้งสิ้น และไม่มีอำนาจจะดำเนินการเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ได้เลย การเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 จึงเป็นการเลือกตั้งและจัดการเลือกตั้งโดยกรรมการการเลือกตั้ง ที่ไม่มีอำนาจหน้าที่และพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว การเลือกตั้งจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อกฎหมายและเป็นโมฆะ
4. การดำเนินการการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ไม่มีอำนาจหน้าที่และพ้นจากตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้งไปแล้ว แต่ได้ดำเนินการการเลือกตั้งทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา จึงมีผลทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ( เฉพาะสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ) เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขัดต่อกฎหมายและเป็นโมฆะ ส่วนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ไม่ได้ให้อำนาจในการพิจารณาและวินิจฉัยแก่กรรมการการเลือกตั้ง แต่มาตรา 130 ได้บัญญัติให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทำหน้าที่หน่วยธุรการของคณะกรรมการการสรรหา คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงอยู่ในฐานะเป็นผู้ควบคุมดูแลหน่วยงานทางธุรการของคณะกรรมการการสรรหาเท่านั้น ดังนั้นสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาจึงยังคงเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เพราะการสรรหาไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะทำหน้าที่ในฐานะเป็นวุฒิสภาได้ เพราะขาดองค์ประกอบของการเป็นวุฒิสภา
ผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา โดยมาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา แม้วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบเพราะกรรมการการเลือกตั้งไม่มีอำนาจในการเลือกตั้งนั้น ก็หาได้มีผลกระทบที่จะทำให้คำแนะนำของวุฒิสภาที่ได้ให้คำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินนั้นเสียไปไม่ เพราะการสรรหาของคณะกรรมการการสรรหามีผลเป็นการรับรองสถานะของการเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินไว้แล้วตั้งแต่ต้น คำแนะนำของวุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งที่เป็นโมฆะเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการแต่งตั้งตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น หาทำให้สถานะของการเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินต้องสูญเสียไปแต่อย่างใดไม่
ปวงข้าพเจ้าจึงได้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาและตรวจสอบหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียน ตรวจสอบการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ได้ทำการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (เฉพาะที่มาจากการเลือกตั้ง) เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2551 และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ซึ่งดำเนินการภายหลังวันที่ 8 ตุลาคม 2550 ว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยการเป็นโมฆะของการเลือกตั้งต่อไปด้วย
หากมีข้อเท็จจริงอันเป็นที่สงสัย ข้าพเจ้าและคณะพร้อมจะเข้าชี้แจงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ขอได้โปรดดำเนินการโดยด่วน
ขอแสดงความนับถือ
( นาย บวร ยสินทร )
กลุ่มราษฎรอาสาปกป้อง ๓ สถาบันและคณะ
คณะผู้ร่วมยื่นคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้พิจารณาและสอบสวนถึงการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ไม่มีอำนาจในการดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น และส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 244 , 245
................................................ .............................................
( ) ( )
................................................ .............................................
( ) ( )
................................................ .............................................
( ) ( )
................................................ .............................................
( ) ( )
................................................ .............................................
( ) ( )
คณะผู้ร่วมยื่นคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้พิจารณาและสอบสวนถึงการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ไม่มีอำนาจในการดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น และส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 244 , 245
................................................ .............................................
( ) ( )
................................................ .............................................
( ) ( )
................................................ .............................................
( ) ( )
................................................ .............................................
( ) ( )
................................................ .............................................
( ) ( )