xs
xsm
sm
md
lg

"อุกฤษ” ดื้อ!43อรหันต์เจ๋งกว่า ส.ส.ร. โฆษกรัฐอ้างครม.ไม่ได้รับข้อเสนอ“คอ.นธ.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (18 ม.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แจ้งว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวต่อสื่อมวลชนหรือสาธารณะโดยทั่วไป ในทำนองว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สนับสนุนการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอเรียนว่า เรื่องนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติ ที่ปกป้องพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขของประเทศ เฉกเช่นเดียวกับประมุขของรัฐต่างประเทศ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 133 แห่งกฎหมายนี้ และเป็นหลักสากลที่นานาอารยประเทศให้การปกป้องประมุขของประเทศในหลักการเดียวกัน
ดังนั้นข่าวที่ปรากฏต่อสื่อมวลชน หรือสาธารณะโดยทั่วไปว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสนับสนุนการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น จึงเป็นข่าวที่คลาดเคลื่อนและไม่มีมูลความจริงแต่ประการใด จึงขอทำความเข้าใจต่อทุกฝ่าย มา ณ โอกาสนี้
อนึ่ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอยืนยันว่าจะปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยยึดหลักความสมดุลระหว่างสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับการรักษาพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

**“อภิวันท์”รับส.ส.ต้องดูม.112
พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความเคลื่อนไหวจากภาคนักวิชาการที่ต้องการแก้ไขมาตรา 112 ว่า เป็นเรื่องของนักวิชาการที่จะดำเนินการ เท่าที่ฟังนั้นไม่ใช่เป็นการยกเลิกกฎหมาย แต่เป็นการปรับปรุงแก้ไขให้กฎหมายดีขึ้น เบื้องต้นหากภาคนักวิชาการเสนอร่างแก้ไขมาสู่สภาฯ ต้องขึ้นกับเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมสภาฯ ว่าจะรับเรื่องไว้พิจารณาหรือไม่ อีกทั้งต้องรอพิจารณาร่างกฎหมาย มาตรา 112 ที่นักวิชาการได้แก้ไขแล้วก่อน

**แย้มอีก1-2 เดือน พท.ชงแก้ม.291
อีกด้านความคืบหน้ากระบวนกที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าว ในส่วนของพรรคเพื่อไทยหลังจากที่ได้สรุปว่า จะแก้ไขมาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่เป็นตัวแทนมาจากประชาชนจังหวัดละ 1 คน รวมเป็น 77 คน จากนั้นจะให้ ส.ส.ร. 77 คนนั้น เป็นผู้เลือกนักวิชาการให้เข้าร่วมเป็น ส.ส.ร. จนครบจำนวน 100 คน ว่า ขณะนี้ได้มีการเตรียมร่างแก้ไขมาตรา 291 ไว้แล้ว เพื่อเปิดให้มีส.ส.ร. สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นส.ส.ร. มองว่าควรกำหนดคุณสมบัติเฉพาะ เช่น เป็นผู้มีความรู้ด้านนิติศาสตร์ , รัฐศาสตร์ หากเป็นข้าราชการต้องกำหนดระดับตำแหน่ง (ซี) ให้ชัดเจน เป็นต้น อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ยังไม่ได้หารือกันแต่เป็นเพียงร่างในหลักการเท่านั้น
" ผลการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นเช่นไรนั้น ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย คือ ให้ ส.ส.ร. เป็นผู้พิจารณากันเอง แต่เมื่อยกร่างแก้ไขเรียบร้อยแล้วนั้น ต้องนำร่างแก้ไขให้ประชาชนลงประชามติ ก่อนที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาให้ลงมติ " พ.อ.อภิวันท์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงวันดีเดย์ที่จะยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อสภาฯ พ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า ยังไม่ได้กำหนด อีกทั้งประเด็นนี้ขั้นอยู่กับประธานวิปฯรัฐบาล สำหรับเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมพรรคเพื่อไทยเห็นว่าหากรอไป 1 - 2 เดือน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังคงอยู่ในกรอบเวลาไม่เกิน 1 ปี ดังนั้นจะรอไปอีก 1 - 2 เดือนคงไม่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญช้าไปกว่านี้ สำหรับความเห็นของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ที่เป็นผู้ริเริ่มผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เห็นตรงกันว่าอยากให้รัฐบาลใช้เวลาแก้ไขและเยียวยาด้านเศรษฐกิจก่อน ทั้งนี้ตนขอยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ระบุถึงความผิดเกี่ยวกับสถาบัน

**อ้างครม.ไม่ได้รับข้อเสนอ“คอ.นธ.”
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอธิบายถึงมติครม.ที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ออกมาบี้ให้รัฐบาลแสดงความชัดเจนว่ารับข้อเสนอของ คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ที่มีนายอุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธานหรือไม่ว่า ในฐานะที่ตนเองเป็นผู้แถลงประเด็นนี้ขอชี้แจงอีกครั้งว่า เป็นเพียงการรายงานผลการศึกษาของคอ.นธ.เท่านั้น ในฐานะที่ทำงานมาครบ 3 เดือน ซึ่งครม.ก็ไม่ได้มีความเห็นใด ๆ แต่ได้มอบให้ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ไปศึกษาร่วมกับกระทรวงยุติธรรม และหากได้ผลอย่างไรก็ให้นำเข้าสู่ครม.เพื่อพิจารณาอีกครั้ง

**“อุกฤษ” ยังดื้อแถลง43อรหันต์เหมาะกว่า ส.ส.ร.
วันเดียวกันนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ออกแถลงยืนยันข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 34 คนมาทำหน้าที่นั้นเหมาะสมกว่าการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพราะตามมาตรา291 ได้ระบุชัดเจนว่าสามารถดำเนินการได้ทันที แต่หากจะให้แก้ไขมาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มีส.ส.ร.นั้น ตนมองว่าเป็นวิธีการที่อยู่นอกรัฐธรรมนูญ อีกทั้งตนกังวลว่า หากให้ ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งตัวแทนของจังหวัด อาจได้บุคคลที่ขาดความรู้และประสบการณ์ และทำให้ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของ ส.ส.ร.ที่รัฐบาลแต่งตั้งมาทำหน้าที่
คำแถลงของนายอุกฤษ ระบุอีกว่า ข้อเสนอของ คอ.นธ. นั้นได้เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาทิ การเสนอชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติม, การติดตามและแสดงความเห็นระหว่างพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญของรัฐสภา เพราะจะเปิดให้มีการถ่ายทอดสดการประชุมผ่านวิทยุและโทรทัศน์ และร่วมออกเสียงลงประชามติได้ในขั้นตอนสุดท้าย คือ หลังจากที่สภาได้พิจารณาเห็นชอบ
“ข้อเสนอของ คอ.นธ.ยืนยันหลักการตามระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือสมาชิกสภา ควรตระหนักในการทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากประชาชน ไม่ควรผลักภาระและหน้าที่ความรับผิดชอบนั้นไปให้ประชาชนอีก และควรทำหน้าที่ให้สมกับได้รับเงินเดือนซึ่งเป็นเงินภาษีประชาชน” แถลงของ นายอุกฤษ ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แถลงการณ์ดังกล่าวมีจำนวนทั้งสิ้น 6 หน้า โดย 2 หน้าสุดท้าย เป็นตารางแสดงบัญชีเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มของ ส.ว.และ ส.ส. รวมถึงตารางแสดงค่าตอบแทนของบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยและผู้เชี่ยวชาญประจำตัวของส.สและ ส.ว. ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น