xs
xsm
sm
md
lg

“The king can do no wrong” และกฎหมายอาญามาตรา 112

เผยแพร่:   โดย: น้ำแท้ มีบุญสล้าง

โดย น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

องค์ประกอบของรัฐประกอบด้วย รัฐบาล ดินแดน ประชาชน และอำนาจอธิปไตย Jean Bodin (1530–1596) นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้สร้างทฤษฎีอำนาจอธิปไตยของรัฐเพื่อต่อต้านการครอบงำการปกครองจากฝ่ายผู้นำทางศาสนา สถาบันกษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) ส่วนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (Democracy) มีหัวใจที่เป็นสาระสำคัญที่สุดคือประชาชนเป็นเจ้าของและผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ทั้งนี้ รูปแบบการใช้อำนาจอธิปไตยนั้นอาจจะถูกออกแบบให้แตกต่างกันไปได้หลายประการในแต่ละประเทศทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประวัติศาสตร์ของประเทศนั้นๆ

ในยุคสมัยการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) อำนาจในการบริหารราชการทุกประเภทรวมศูนย์อยู่ที่สถาบันกษัตริย์ผู้ดำรงฐานะเป็นประมุขของรัฐ ราชการบ้านเมืองทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหาร การออกกฎหมาย ระเบียบต่างๆ หรือการชำระคดีความ ล้วนเป็นภารกิจที่อยู่ภายใต้การได้รับความเห็นชอบ อนุมัติ สั่งการ หรือแก้ไขได้ด้วยองค์กษัตริย์เองทั้งสิ้น ลัทธิความเชื่อว่ากษัตริย์เปรียบดังสมมติเทพ (Divine King) แพร่หลายในประวัติศาสตร์โบราณทั้งในสมัยโรมัน อียิปต์ และเอเชีย (มาจากคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์) เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น นำเอาศาสนามาเป็นเครื่องมือในการปกครอง เพื่อให้กษัตริย์ทรงอำนาจสูงสุดและมีสิทธิพิเศษที่จะปกครองรัฐ จึงทำให้เข้าใจว่ากษัตริย์เป็นแหล่งกำเนิดแห่งอำนาจอธิปไตย

อำนาจอธิปไตยตามทฤษฎีรัฐสมัยใหม่เป็นนามธรรมที่ดำรงอยู่แยกต่างหากจากผู้ครอบครองหรือผู้ใช้และอำนาจอธิปไตยไม่เคยล้มหายสลายไปตราบเท่าที่ยังมีสถานะความเป็นรัฐอยู่ เพียงแต่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนผู้เป็นประมุขในการใช้ใช้อำนาจอธิปไตยเท่านั้น การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อำนาจอธิปไตยเป็นของกษัตริย์ กษัตริย์เป็นผู้ออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายโดยองค์กษัตริย์เอง ดังนั้นองค์กษัตริย์จึงไม่อาจจะมีความรับผิดใดๆ ได้เพราะเป็นเจ้าของผู้ครอบครองและผู้ใช้อำนาจอธิปไตยเสียเองจะอยู่ภายใต้อำนาจของตนเองได้อย่างไร อำนาจต่างๆ ล้วนมีที่มาหรือได้รับมอบหมายมาจากกษัตริย์ทั้งสิ้น จึงมีหลักความคุ้มครองไม่ให้ฟ้องร้องดำเนินคดีใดๆต่อกษัตริย์ที่เรียกว่า “The king can do no wrong” เกิดขึ้นในระบบกฎหมาย Common law ของอังกฤษและเป็นที่แพร่หลายยอมรับในหลายประเทศในทวีปยุโรป เช่น เดนมาร์ก นอร์เวย์ เป็นต้น

สถานะความเป็นรัฐในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ทุกรัฐไม่ว่าจะเป็นรัฐขนาดเล็กหรือใหญ่ย่อมมีสถานะทางอธิปไตยเท่าเทียมกันในทางกฎหมายระหว่างประเทศทั้งสิ้น ไม่มีรัฐใดมีอำนาจอธิปไตย หรือเอกสิทธิ์เหนือรัฐอื่น ทุกรัฐจึงได้รับความคุ้มครองความเท่าเทียมที่เรียกว่าหลักความคุ้มกันอำนาจอธิปไตย (Sovereign Immunity) โดยหลักความคุ้มกันอำนาจอธิปไตยนี้ได้รับการยอมรับอย่างชัดแจ้งในทางขนบธรรมเนียมประเพณีและกฎหมายระหว่างประเทศ (customary international law) ผู้เป็นประมุขของรัฐ (Head of state) ในฐานะตัวแทนรัฐจึงได้รับความคุ้มครองเด็ดขาด (personal and absolute) และไม่อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีใดๆ โดยรัฐอื่นๆ ได้เพราะแต่ละรัฐล้วนมีความเท่าเทียมกันในทางอำนาจอธิปไตยจึงไม่มีรัฐใดที่จะใช้อำนาจไม่ว่าจะเป็นอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ ในการตรากฎหมาย บังคับใช้กฎหมาย หรือตัดสินคดีความใดๆ ให้มีผลผูกพันหรือกระทบต่อรัฐอื่นหรือประมุขของรัฐอื่นนั้นได้เพราะจะถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของรัฐนั้นๆ

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ประกอบกับแนวคิดในการแบ่งแยกอำนาจบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการออกไม่ให้อยู่ภายใต้บุคคลคนเดียวหรือองค์กรหนึ่งองค์กรใด ทำให้เกิดหลักการและสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปคือ การโอนอำนาจอธิปไตยในเรื่องผู้เป็นเจ้าของและผู้ใช้อำนาจจากกษัตริย์มาสู่ประชาชน (ซึ่งหมายถึงประชาชนในภาพรวมทั้งหมดมิใช่ปัจเจกบุคคลใดบุคคลหนึ่ง) ประชาชนจึงเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการด้วยตนเอง ดังนั้นเมื่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของและเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยผ่านตัวแทนโดยการเลือกตั้ง แม้รัฐบาลที่ประชาชนเลือกเข้าไปกระทำการใดผิดพลาด ผิดกฎหมาย ประชาชนผู้เป็นเจ้าของและเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยย่อมอยู่เหนือความรับผิดใดๆ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าหลักการ “The king can do no wrong” ได้ขยายมาใช้คุ้มครองประชาชนด้วยเช่นกัน

รัฐบาลและข้าราชการฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการผู้เป็นเพียงตัวแทนในการใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชนไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองและผู้ใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรง ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองหากมีกระทำการใดๆ ที่ผิดกฎหมาย เช่น เมื่อรัฐบาลหรือข้าราชการกระทำการใดผิดกฎหมาย ตัวรัฐมนตรีฝ่ายบริหารหรือข้าราชการย่อมมีความรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาโดยไม่อาจจะอ้างหลักการ “The king can do no wrong” มาคุ้มครองตนเพื่อให้พ้นความรับผิด กรณีเป็นเช่นเดียวกันกับข้าราชการตุลาการ เมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดเจนแล้วแต่ข้าราชการตุลาการตีความกฎหมายผิดไปจากเจตนารมณ์แห่งกฎหมายอย่างชัดแจ้ง (เจตนารมณ์แห่งกฎหมายสามารถตรวจค้นได้จากบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการร่างกฎหมายฉบับนั้นๆ) ย่อมเป็นการจงใจกระทำผิดกฎหมายเสียเองจึงต้องรับผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบไม่ต่างจากข้าราชการอื่นๆ ที่จงใจกระทำผิดกฎหมาย กรณีไม่อาจจะกล่าวอ้างความคุ้มกันใดๆ ให้พ้นความรับผิดและโยนภาระไปให้ผู้ได้รับความเสียหายไปใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาแต่อย่างใด กล่าวได้ว่ารัฐบาลและข้าราชการตุลาการไม่ใช่เจ้าของและไม่ใช่ผู้ใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรง แต่เป็นเพียงผู้แทนในการใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชนผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงเท่านั้น

ภายหลังจากหลายประเทศได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่ละประเทศอาจจะเลือกระบอบประชาธิปไตยที่คงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์เป็นประมุขของรัฐที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) หรือระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นผู้เลือกประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐโดยตรง ซึ่งแตกต่างกันไปแล้วแต่ประวัติศาสตร์ความผูกพันและทัศนคติมุมมองที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

ประเทศไทยได้เลือกระบอบประชาธิปไตยที่คงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์เป็นประมุขของรัฐที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 3 ได้รับรองหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยรับรองอำนาจอธิปไตยว่าเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐทรงใช้อำนาจอธิปไตยนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยจึงเท่ากับว่าพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชนแต่เพื่อให้พระมหากษัตริย์อยู่เหนือความขัดแย้งแข่งขันทางการเมืองและความรับผิดใดๆ อันเกิดจากการกระทำของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ จึงต้องนำหลัก “The king can do no wrong” มาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้”

เพื่อมิให้ผู้ใดกล่าวอ้างการกระทำภายใต้พระปรมาภิไธยเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 3 จึงควรได้รับการแก้ไขโดยบัญญัติว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ปวงชนชาวไทยเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล” เพื่อดำรงฐานะองค์พระมหากษัตริย์ไว้ซึ่งฐานะองค์พระประมุขของรัฐโดยไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการกระทำของฝ่ายการเมืองและข้าราชการ เมื่อบัญญัติเช่นนี้พระมหากษัตริย์จึงไม่ได้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน ย่อมไม่มีความรับผิดชอบใดๆ อันเกิดจากการบริหารราชการของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการและไม่มีเหตุที่ผู้ใดจะวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ ส่วนพระราชกรณียกิจต่างๆ เช่น การลงพระปรมาภิไธยในกฎหมาย ย่อมสามารถปฏิบัติตามหลักประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ (Head of state) อยู่ในฐานะที่ได้รับความคุ้มครองตามหลักความคุ้มกันอำนาจอธิปไตย (Sovereign Immunity) โดยเด็ดขาด

จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ได้บัญญัติรับรองหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว การดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐมีความสอดคล้องและมิได้ขัดแย้งใดๆ ต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เพียงแต่ต้องเขียนรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนเพื่อป้องกันมิให้ฝ่ายต่างๆนำพระองค์ไปกล่าวอ้างเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเพียงกฎหมายคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ได้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องใดๆต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย เหตุใดบุคคลบางกลุ่มจึงกล่าวอ้างนำมาตรา 112 ดังกล่าวเป็นข้ออ้างในการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย
กำลังโหลดความคิดเห็น