xs
xsm
sm
md
lg

เหยื่อฆ่าตัดตอนทวงเงินเยียวยา เรียกร้องสิทธิ์ผ่านศาลปกครอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (15 ม.ค.) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย นายสมชาย เกิดรุ่งเรือง และนางเรียม เกิดรุ่งเรือง แถลงข่าวเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับ เด็กชายจักรพันธ์ ศรีสอาด หรือ น้องฟลุ๊ค ที่เสียชีวิตจากนโยบายปราบปรามยาเสพติด ของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า จากที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติให้ช่ายค่าเยียวยาให้กับผู้เสียชีวิต และพิการ จากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ให้กับคนเสื้อแดง รายละ 7.7 ล้านบาท แต่ตนเห็นว่ายังมีอีกหลายรายที่เสียชีวิตจากการบริหารที่ผิดพลาด และสมควรได้รับการชดเชยเยียวยา เช่น กรณีของน้องฟลุ๊ค ที่เกิดจากนโยบายกำปั้นเหล็ก ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ประกาศสงครามกับยาเสพติด เมื่อวันที่ 23 ก.พ.46 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.บางชัน ได้ทำการล่อซื้อยาเสพติด กับนายสถาพร ศรีสอาด และก่อเหตุยิงเข้าไปในรถเก๋ง ที่มี น.ส.พรวิภา เกิดรุ่งเรือง และน้องฟลุ๊ค ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง 9 ขวบ อยู่ในรถ จนเป็นเหตุให้น้องฟลุ๊คเสียชีวิต ขณะที่ น.ส.พรวิภา มารดาน้องฟลุ๊ค ได้หายสาบสูญไป
กรณีดังกล่าว เป็นการใช้ความรุนแรงกับเหยื่อ ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องว่ามีความผิดจริง เป็นการกระทำโดยประมาท และ ลงโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 1 หมื่นบาท แต่มีการลดโทษรอลงอาญา โดยญาติของน้องฟลุ๊ค ได้รับเงินชดเชยจากกรมคุ้มครองสิทธิ์ กระทรวงยุติธรรม จำนวน 5 หมื่นบาท
" ผมอยากจะย้ำว่า เป็นเงินเพียง 5 หมื่นบาทเท่านั้น ที่แลกกับชีวิตเหยื่อผู้บริสุทธิ์ แต่ขณะที่คนที่ตายจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง มีมูลค่าสูงถึง 7.7 ล้านบาท ทั้งที่เป็นคนละหลักการ ผมไม่ติดใจการเยียวยาผู้เสียหาย แต่ติดใจเรื่องเยียวยาผู้กระทำผิด แต่ที่ต้องออกมาเรียกร้อง เพราะญาติผู้เสียหายจากการผิดพลาดของนโยบายกวาดล้างยาเสพติดของรัฐบาลทักษิณ ได้รับเงินเพียงแค่ 5 หมื่นบาท จึงต้องมาขอความเป็นธรรมกับสื่อมวลชน และจะมีการเสนอเข้า ครม.เงา ในการประชุมนัดหน้า และจะรวบรวมแนวทาง และข้อกฏหมาย เพื่อช่วยเหยื่อที่ถูกฆ่าตัดตอนด้วย" นายอรรถวิชช์ กล่าว
ด้านนายสมชาย เกิดรุ่งเรือง พี่ชายของ น.ส.พรวิภา กล่าวว่า ตนอยากให้รัฐบาลให้ความเป็นธรรม ช่วยเหลือเรื่องน้องฟลุ๊ค ที่ต้องเสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน แต่สิ่งที่ได้รับมาคือ เงินชดเชยเพียงแค่ 5 หมื่นบาท จึงอยากขอความเป็นธรรมให้ช่วยเหลือกรณีนี้ด้วย ส่วนจะมีการร้องสิทธิ์ต่อศาลปกครองหรือไม่ จะต้องปรึกษากับทนายความในเรื่องนี้ก่อน แต่ก็มีการร้องไปยังศาลอุทธรณ์ ในคดีนี้ด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า รู้สึกอย่างไรกับ มติครม.ที่ออกมาเช่นนี้ นายสมชาย กล่าวว่า ตนเห็นว่าถ้าจะปรองดอง ก็ต้องมีการช่วยเหลือให้เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ใน 3 จ.ชายแดนภาคใต้ ครู ทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร ตากใบ กรือเซะ และกับทุกเหตุการณ์ที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
นายวีระวงศ์ จิตรมิตรภาพ โฆษกคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปค.อป.) กล่าวว่า ในวันพุธที่ 18 ม.ค. เวลา 08.00 น. นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกฯ ในฐานะประธานอนุกรรมการการจัดทำหลักเกณธ์การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง จะประชุมเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการขึ้นทะเบียน ซึ่งในการดำเนินการเรื่องนี้ จะกระทำอย่างรวดเร็ว
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ระบุมติ ครม.ในการจ่ายเงินชดเชย เยียวยาให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง จะทำให้คนเกลียด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ น้อยลง ว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับการจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวแต่ต้องไม่จ่ายให้กับบุคคลที่กระทำความผิดกฎหมาย และอยากถามว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นเพราะอยากได้เงินหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีการบอกว่าต้องการให้ความจริงปรากฏ ต้องการเอานายอภิสิทธิ และนายสุเทพ เทอกสุบรรณ มาดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม แต่เหตุใดจึงใช้เงินมาปรองดอง
ส่วนที่มีการกล่าวว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ใช้เงินถึง 6พันล้านบาท ในการปราบม็อบนั้น ขอชี้แจงว่า เป็นการใช้เงินเพื่อปกป้องประชาชนไม่ให้ถูกหลอก ให้เป็นโล่มนุษย์ ป้องกันแกนนำ ให้ปลอดภัยและถ้ามี่การใช้เงินก้อนนี้เชื่อว่า จะมีคนเสื้อแดงอีกจำนวนมาต้องตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ตามความต้องการของแกนนำ.
นายวารินทร์ อัฐนาค โฆษกพรรคประชาธิปไตยใหม่ กล่าวว่า ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ขอตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลจะต้องตระหนักว่าเงินดังกล่าวเป็นภาษีของประชาชนคนทั้งประเทศ รัฐบาลจะต้องพิจารณา เรื่องการใช้งบประมาณก้อนนี้ให้รอบคอบอย่าให้สังคมมองว่าเลือกปฏิบัติ หรือสองมาตรฐาน และต้องหาคำนิยามคำว่า ผู้เสียหายจากการชุมนุมทางการเมือง นับระยะเวลาจาก พ.ศ ใดถึง พ.ศ. ใด จะรวมถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือพฤษภาทมิฬ และรวมถึงอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ตามนโยบาย 66/23 ด้วยหรือไม่ ซึ่งกรณีนี้กำลังรวมตัวเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐบาล ครอบครัวละ 255,000 บาท หรือแม้แต่ประชาชนคนยากจนในนามเครือข่ายสมัชชาคนจน (สคจ.) หรือเครือข่ายประชาชน 4 ภาค (สอส.) ซึ่งเกิดจากผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ ซึ่งมาจากนโยบายทางการเมืองและเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เช่น บริษัทเมล่อน จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเรียกร้องค่าเสียหาย 270ล้านบาท รัฐบาลจะเพิกเฉยต่อปัญหากรณีคนยากจนเหล่านี้หรือไม่
พรรคประชาธิปไตยใหม่เป็นห่วงในประเด็นกรอบการพิจารณา เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ ของผู้ที่จะได้รับอนุมัติการเยียวยาว่าจะมีการแปลกปลอมหรือสวมสิทธิ เพื่อรับเงินช่วยเหลือดังกล่าวหรือไม่ และจะป้องกันการหักค่าหัวคิวของเสื้อแดงระดับชาติ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอได้อย่างไร ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล เห็นด้วยต่อการช่วยเหลือเยียวยา แต่ถ้าหากหลักเกณฑ์และวิธีการคลุมเครือ ผลเสียหายจากเจตนาดีของรัฐบาลชุดนี้ จะส่งผลต่อเสถียรภาพและภาพพจน์ของรัฐบาลเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น