xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมการเมืองไทยไปไม่ถึงไหน

เผยแพร่:   โดย: ดร.ประยูร อัครบวร

นับตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา ขบวนการนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนต่างหวังว่าสังคมไทยต้องเป็นประชาธิปไตย เห็นรัฐบาลที่ดีมี ส.ส.ที่อาสาสมัครมารับใช้ชาติด้วยสติปัญญา แต่พอนานเข้าความมั่นใจของผู้คนเริ่มเลือนหาย ส.ส.ไม่ได้ทำหน้าที่ที่ควรทำไม่ว่าการตรวจสอบรัฐบาล การคิดออกกฎหมายที่ดีหรือการออกนโยบายที่ก้าวหน้า จึงเป็นการทำลายความฝันลึกๆ ของคนที่ร่วมเข้าต่อสู้ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งถ้าลำดับจากพรรคการเมืองจากวันนั้นถึงวันนี้กว่า 38 ปี เราจะเห็นได้ว่าการเมือง พรรคการเมืองและนักการเมืองไทยภายใต้ระบบการเลือกตั้งไม่ได้พัฒนาไปถึงไหน

ในส่วนพรรคการเมืองในระบบเลือกตั้งยังวังวนในการหาเสียง สร้างวาทกรรมทำลายพรรคตรงกันข้าม เพื่อที่จะชนะการเลือกตั้งโดยไม่ต้องออกแรงหรือลงทุนมาก ซึ่งจำแนกได้ว่ามีพรรคการเมืองหลักๆ ดังนี้

พรรคแนวทางสังคมนิยมอย่างพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรคแนวร่วมสังคมนิยม

พรรคแนวทางรัฐสวัสดิการอย่างพรรคพลังใหม่

พรรคแนวทางทุนนิยมแบบจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ที่เสนอแนวทางให้รัฐเป็นผู้ลงทุนในยามธุรกิจภาคเอกชนวิกฤตและต้องการกระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนอย่างพรรคกิจสังคม ที่ประกาศนโยบายว่า “เงินผัน ประกันพืชผล สภาตำบล คนจนรักษาฟรี”

พรรคแนวทางอะไรก็ได้ขอให้ได้ชัยชนะ ให้ได้เป็นรัฐบาลอย่างพรรคชาติไทย พรรคธรรมสังคมและอีกหลายๆ พรรคเขียนนโยบายเลียนแบบกันมา ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ถึงประกาศว่าเป็นสังคมนิยมอ่อนๆ เพราะกระแสสังคมนิยมในขณะนั้นขึ้นสูง แต่เมื่อมีการต่อสู้หาเสียงก็ออกมาทำลายพรรคคู่ต่อสู้ให้ประชาชนในส่วนที่หวาดกลัวคอมมิวนิสต์ว่าพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรคแนวร่วมสังคมนิยมเป็นแนวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ และพรรคพลังใหม่นั้น พรรคประชาธิปัตย์บอกว่าเหมือนลูกแตงโม ข้างนอกเป็นสีเขียว พอผ่าข้างในเป็นสีแดงแป๊ดหรือเป็นคอมมิวนิสต์นั่นเอง

พรรคพลังใหม่ตอนนั้นมีบุคลากรที่มีคุณภาพที่ดีมากกว่าพรรคอื่นๆ อย่าง น.พ.กระแส ชนะวงศ์ หัวหน้าพรรคได้รับรางวัลแมกไซไซมาไม่นานหรือกรรมการพรรค เช่น ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ น.พ.ประสาน ต่างใจ นายบุญเยี่ยม มีศุข นายประสิทธิ์ ณรงค์เดช นายประยูร สุรนิวงศ์ ดร.พงศ์เพ็ญ ศกุนตาภัย (พ่อตาของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ฯลฯ ต่างเป็นปัญญาชนเสรีนิยมที่ต้องการมาช่วยทำงานการเมือง แต่ถูกป้ายสีซึ่งในที่สุดก็ต้องเลิกทำงานการเมืองหรือต้องไปอยู่พรรคการเมืองอื่นในที่สุด

การกล่าวหาหรือการปล่อยข่าวทางการเมืองจึงเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งที่ทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม และได้ผลหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าการตะโกนในโรงภาพยนตร์ว่า อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ “ฆ่า ร. 8” หรือการที่พรรคประชาธิปัตย์โฆษณาว่า “พล.ต.จำลอง ศรีเมือง พาคนไปตาย” หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และปัจจุบันการสร้างข่าวว่า “สนธิ ลิ้มทองกุล รับเงินทักษิณ” ซึ่งการทำลายคนที่เป็นขวากหนามในช่วงของการแย่งชิงอำนาจก็พอเข้าใจได้ แต่การทำลายคนระหว่างมีอำนาจหรือครองอำนาจนี่แหละที่น่าคิดว่านักการเมืองหรือพรรคการเมืองเหล่านี้ ยังเหมาะกับการนำในการสร้างประเทศหรือไม่ ด้วยความคับแคบในการคบหาคนดีมาเป็นพวกแล้ว ยังมีจิตใจคับแคบที่แฝงความชั่วร้ายที่น่ารังเกียจในการคิดครอบงำสังคม

ส่วนการต่อสู้ในรัฐสภาเองก็มีการสร้างหลักฐานเท็จกันอย่างดุเดือด ไร้ความรับผิดชอบอย่างนายสมัคร สุนทรเวช อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา โดยใช้เอกสารรายงานการเงินปลอมมาจากต่างประเทศ เพื่อเอามาเป็นหลักฐาน เล่นงานว่ารัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ โกง หรือกรณีนายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ พรรคประชาธิปัตย์อภิปราย นายบรรหาร ศิลปอาชา ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเผ็ดมันว่าเป็นคนต่างด้าว โดยใช้ใบสูติบัตรปลอมมาเป็นข้อมูลอภิปราย ได้เป็นข่าวหน้าหนึ่งอยู่หลายวัน

หรือการเปิดโปงวิทยานิพนธ์นายบรรหาร ศิลปอาชา ว่าลอกมาจากงานของ ดร.โภคิน พลกุล หลังจากอภิปรายแล้วถามว่าสังคมได้อะไร พรรคประชาธิปัตย์ทำอะไรหลังจากนั้น นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ เสียอีกเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงอย่างยาวนาน ได้ทำความเข้าใจและตอบสังคมอย่างไร ในส่วนวิทยานิพนธ์ของ ส.ส.ประชาธิปัตย์เองเคยเอามาพูด เพื่อยกระดับสังคมไทยหรือไม่ รวมทั้งเรื่องใบวุฒิทางการศึกษา

การใช้ใบสุทธิที่กฎหมายไม่รับรองหรือหลักฐานการจบชั้นมัธยมศึกษาของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ชุมพร นครนายก หรือปริญญาของ ส.ส.สุราษฎร์ธานีจากวิทยาลัยสกลนครที่ทบวงมหาวิทยาลัยสั่งปิด ซึ่งการไม่จัดการหรือปล่อยปละละเลยทำให้นักการเมืองจากพรรคอื่นอย่างพรรคชาติไทยที่อุทัยธานี พรรคไทยรักไทยที่กรุงเทพมหานคร เพชรบูรณ์ และเป็นที่กังขาว่า ส.ส.ลพบุรี ใช้เวลาไหนไปเรียนที่โรงเรียนเทคนิคธุรกิจบัณฑิต จังหวัดนครศรีธรรมราช ช่วงเวลาใด เพราะมีการนำใบสุทธิจากโรงเรียนนี้มาขายมากจนอยู่ในบัญชีดำของหลายมหาวิทยาลัยมานานแล้ว ซึ่งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประกาศยกเลิกใบปริญญาบัตรของ นายการุณ โหสกุล นางสาวเยาวเรศ ชินวัตร ก็เนื่องมาจากการใช้วุฒิการศึกษาจากโรงเรียนนี้ การใช้หลักฐานปลอมคงยืนยันได้ว่า พฤติกรรมของนักการเมืองที่กล้าใช้เอกสารปลอมแปลง ถ้ามีโอกาสคนเหล่านี้ก็อาจอ้างตามวาทะของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ว่า “ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ทำในสิ่งที่กฎหมายห้าม” ใช่หรือไม่

การละเลย ยกเว้น ส.ส.ที่ประพฤติมิชอบ เพราะระบบการเลือกตั้งในปัจจุบันต้องการมือหรือคะแนนในสภา ดังนั้นการได้คนที่จะมาเป็น ส.ส.มักจะเป็นผู้กว้างขวาง มีฐานมวลชนซึ่งไม่มีการตรวจสอบว่าดีหรือไม่ จึงไม่แปลกที่รัฐสภาไทยมี ส.ส.ที่ถูกจับกุมคุมขังข้อหาค้ายาเสพติดในต่างประเทศถึง 4 คนโดยแยกเป็นคดีขนเฮโรอีน 3 คน ค้ากัญชา 1 คน และที่เจ็บปวดสำหรับคนที่ได้รับฟัง พล.ต.ท.สมเกียรติ พ่วงทรัพย์ เล่าว่าไปปฏิบัติหน้าที่ของกรมตำรวจ ตามคำขอของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ไปจับกุม พ.ต.ท.ของไทยที่เป็นตัวการค้ายาเสพติดในประเทศลาว จับมาเสร็จ อธิบดีกรมตำรวจกลับถามว่า “ปล่อยได้ไหม มีนักการเมืองระดับรัฐมนตรีขอ”

เมื่อนักการเมืองที่ไร้คุณภาพถูกเลือกตั้งเข้ามามาก สภาพทางการเมืองไทยจึงตกอยู่ภาวะที่เสื่อมโทรม ขาดความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ซึ่งพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ได้คัดสรรคนดีเท่าที่ควรจะทำ ดูได้จากพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดอย่างประชาธิปัตย์ที่มีระบบมากกว่าพรรคอื่นๆ โฆษณาว่า “พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค” แต่พอเลือกตั้งคนที่พรรคตนเคยประณามว่าเป็นรัฐมนตรีที่สร้างถนนควายเดิน ผ่านที่ดินตัวเองซึ่งส่อทุจริตอย่าง นายสันติ ชัยวิรัตนะ ก็ส่งลงเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ในสมัยต่อมา จึงเป็นแบบอย่างที่สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของการคัดเลือกคนในระบบรัฐสภา และที่น่าห่วงมากกว่านั้น

ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านได้พิจารณาจากคำสัมภาษณ์ของประธานศาลปกครองสูงสุด ท่านหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ที่ว่า “ถึงเวลาแล้วที่ควรจะมีการปฏิรูปโดยเฉพาะเรื่องของการใช้กฎหมายและนิตินโยบาย ตลอดจนหลักเกณฑ์ในการบัญญัติกฎหมาย เพราะขณะนี้ประเทศไทยมีการออกกฎหมายเละเทะที่สุดในโลก แต่เราจะไปว่า ส.ส.หรือ ส.ว.ไม่ได้หรอกเพราะเขาอาจจะไม่ได้จบด้านกฎหมายมา ผมพูดได้เลยว่า ผู้ที่จบกฎหมายในเมืองไทยร้อยละ 99 ไม่รู้เรื่องนิตินโยบายของการออกกฎหมาย” (กรุงเทพธุรกิจ / 4 มกราคม 2555)

จากคำสัมภาษณ์ของประธานศาลปกครองสูงสุดข้างต้น สะท้อนให้เห็นอะไรได้มากมาย แต่สำหรับผู้เขียนอยากสรุปสั้นๆ ว่า “การเมืองไทยไปไม่ถึงไหนหรือไม่พัฒนา เพราะมีนักการเมือง พรรคการเมืองไม่เอาไหน”
กำลังโหลดความคิดเห็น