xs
xsm
sm
md
lg

สำนวนเขมรกรณีปราสาทพระวิหารที่ส่งไปยังศาลโลก (1)

เผยแพร่:   โดย: เทพมนตรี ลิมปพะยอม

หลังจากเขมรได้ยื่นคำขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อ พ.ศ. 2505 ใหม่อีกครั้งหนึ่งต่อประเด็นพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร ศาลได้ออกคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวออกมาให้สองประเทศได้ปฏิบัติตามคำสั่ง โดยให้มีการถอนทหารออกจากพื้นที่ 17.3 ตารางกิโลเมตร (ตามที่เขมรได้ส่งแผนผังการคุ้มครองชั่วคราวให้ศาลโลก) แต่ในขณะนี้ทั้งสองประเทศยังไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวอย่างใด สำนวนของเขมรที่ส่งไปยังศาลโลกนั้นมีความสำคัญต่อการต่อสู้คดีในชั้นศาลเป็นอันมาก สมควรจะได้นำมาวิเคราะห์พิจารณากัน

“ข้าฯ แต่ศาลที่เคารพ การตัดสินของศาลโลกเมื่อ พ.ศ. 2505 แม้ศาลโลกจะไม่ตัดสินตามคำขอของฝ่ายกัมพูชาตามข้อ 2 ที่กล่าวถึงสถานะของแผนที่ 1:200,000 ว่าเป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีนฝรั่งเศส และข้อ 3 เส้นเขตแดนที่ปรากฏอยู่ในแผนที่ 1:200,000 นั้น มีความถูกต้อง แต่ศาลได้ใช้แผนที่ 1:200,000 ที่เราได้เสนอเป็นหลักฐานสำคัญนั้นเป็นมูลฐานแห่งคดีอันนำไปสู่การตัดสินให้ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชาต้องตามคำฟ้องข้อ 1 และต้องไม่ลืมว่าต่อมาหลังคำตัดสินเพียง 34 ปี รัฐบาลไทยกลับปฎิบัติต่อแผนที่ 1:200,000 ดังนี้

1. รัฐไทยได้ทำการปักปันเขตแดนไทย-ลาวจนเสร็จสิ้นไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยบันทึกความตกลงไทย-ลาวซึ่งลงนามเมื่อ พ.ศ. 2539 และได้ใช้แผนที่ 1:200,000 ที่ศาลโลกมิได้พิจารณานั้นให้มีผลผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งยังส่งผลให้มีผลจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้รัฐไทยยังยอมรับว่าแผนที่ดังกล่าวเป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีนฝรั่งเศส อันทำให้เห็นได้ชัดว่าพฤติกรรมของรัฐไทยได้ยอมรับแผนที่นั้นแล้วอย่างเห็นได้ชัด

2. ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2543 รัฐไทยได้ทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พฤติกรรมรัฐไทยก็ยังคงยอมรับแผนที่ 1:200,000 อันเป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีนฝรั่งเศส และมีผลผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศ

โดยพฤติกรรมของรัฐไทยได้แสดงให้ศาลเห็นแล้วว่าได้ยอมรับว่าแผนที่1:200,000 เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีนฝรั่งเศส ข้าฯแต่ศาลที่เคารพ รัฐไทยมักแสดงการกล่าวอ้างว่าไม่เคยยอมรับแผนที่ดังกล่าวจนศาลโลกเมื่อ พ.ศ. 2505 หลงเชื่อและไม่ได้ตัดสินตามข้อ 2-3 ที่กัมพูชาได้ร้องขอ จึงก่อให้เกิดปัญหาเส้นเขตแดนขึ้นตรงบริเวณปราสาทพระวิหาร รัฐไทยไม่เคยปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างครบถ้วน แต่อาศัยช่องว่างที่มีอำนาจทางการทหารที่เหนือกว่าดำเนินการจัดการปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยลำพัง ฝ่ายกัมพูชาไม่เคยรับรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าวเลย (อ่านต่อวันพุธหน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น