ตลท. แนะช่อง บจ.ขนาดใหญ่ หันลงทุนใน ตปท. หลังพบ ปัจจุบันการเติบโตนิ่ง ไม่มีก้าวกระโดดเหมือนในอดีต แถมเจอภาวะ ศก.ไทย เติบโตได้น้อยลงกว่าเมื่อก่อน ระบุ กลุ่มอินโดจีนน่าสนใจ
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ (ตลท.) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านกลไกตลาดทุน” โดยระบุว่า ตลท. อยากให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ขนาดใหญ่ของไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการออกไปลงทุนในกลุ่มอินโดจีน ซึ่งนับวันเศรษฐกิจมีการเติบโตที่ดี
นอกจากนี้ การที่ บจ.ขยายการลงทุนไปต่างประเทศจะสนับสนุนให้ผลดำเนินการมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ จากปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่มีการเติบโตในลักษณะที่มีเสถียรภาพ หรือมีอัตราการเติบโตที่คงที่ ขณะที่เศรษฐกิจไทยตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจหรือจีดีพีก็ไม่ได้เติบโตอย่างเช่นอดีตที่ผ่านมา
“หาก บจ.ออกไปลงทุนขยายกิจการในต่างประเทศ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะสนับสนุนให้ผลประกอบการเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่าง เช่น บจ.ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ ที่มีผลประกอบการเติบโต 35%”
นายจรัมพร กล่าวว่า เหตุที่มองว่าเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีนยังมีการเติบโตที่ดี เพราะมีทรัพยากรและความเหมาะสมในด้านต่างๆ ที่สนับสนุนให้การออกไปลงทุนประสบความสำเร็จได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับแหล่งเงินทุนที่บริษัทจะนำไปใช้ในการขยายการลงทุนนั้นสามารถระดมทุนหรือพึ่งพาเงินทุนจากตลาดทุนไทยได้ เพราะการระดมทุนในตลาดทุนไทยมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอินโดจีนและบริษัทยังมีหนี้สินต่อทุนที่ต่ำมากเฉลี่ยต่ำกว่า 1 ต่อ 1 เท่า กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ กล่าว
สำหรับบริษัทหรือธุรกิจที่อยู่นอกตลาดสามารถดูแบบอย่างของ บจ.ในตลาดได้ว่าบริษัทขนาดกลางและเล็กมีโอกาสที่จะเติบโตได้ หากใช้ตลาดทุนเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงทุนและนำไปขยายกิจการ
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมาบริษัทจดทะเบียนมีการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์กว่า 8 แสนล้านบาท เฉพาะปีที่ผ่านมามีการระดมทุนมากกว่า 6 หมื่นล้านบาท ทำให้ล่าสุดมีบริษัทที่จดทะเบียนใน ตลท.มีทั้งหมด 545 บริษัท แบ่งเป็นในตลาดฯ 472 บริษัท และตลาดหลัก ทรัพย์ mai 72 บริษัท รวมมูลค่ามาร์เก็ตแคป 8.4 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับจีดีพีของประเทศ ในขณะที่ผลงานของบริษัทจดทะเบียนในปีที่ผ่านมาก็ทำกำไรได้ค่อนข้างดี
“ตลาดหลักทรัพย์ไทยขณะนี้มีสภาพคล่องเป็นอันดับ 1 หรือ 2 ของอาเซียน ซึ่งใกล้เคียงกับตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านไทยเพิ่งจะเริ่มต้นให้ความสำคัญกับตลาดหลักทรัพย์ ในขณะที่บริษัทในตลาดฯ ก็ล้วนแต่แข็งแกร่ง แม้จะผ่านวิกฤตมาหลายรอบก็ยังสามารถอยู่ได้”
ด้านนายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า มีแนวคิดผลักดันให้บริษัทอยู่ทั้งในและนอกตลาดเข้าถึงการระดมทุนในตลาดทุน