xs
xsm
sm
md
lg

ปี 2554 ผ่านไป เราได้และเสียอะไร?

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“กาลเวลาย่อมกินตัวมันเอง และอายุของสัตว์” นี่คือพุทธพจน์ที่ตรัสเกี่ยวกับกาลเวลาตามนัยแห่งความไม่เที่ยง หรืออนิจจตา

โดยนัยแห่งพุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้นหมายถึงว่า กาลเวลาที่เปลี่ยนจากหน่วยนับย่อยไปหาหน่วยนับใหญ่ คือ จากวินาทีเป็นนาที จากหนึ่งวันเป็นสัปดาห์ จากสัปดาห์เป็นเดือน และจากเดือนเป็นปีนั้น ทำให้ทุกชีวิตที่เริ่มต้นด้วยการเกิดในเบื้องต้น จะเปลี่ยนแปลงไปจากทารกเป็นเด็กโต จากเด็กโตเป็นหนุ่มสาว จากหนุ่มสาวเป็นคนแก่ และสุดท้ายจบลงด้วยการตาย เสมอเหมือนกันทุกชีวิตไม่มีข้อยกเว้น

ดังนั้น ทุกชีวิตในรอบหนึ่งปีที่เริ่มต้นและจบลงจะต้องมีสิ่งที่เราได้และสิ่งที่เราเสียด้วยกันทุกคน จะต่างกันเพียงว่ามากหรือน้อยเท่านั้น แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนได้และได้เท่ากันคือ ได้อายุเพิ่มขึ้นหนึ่งปี และเสียเวลาในชีวิตไปหนึ่งปี หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เราได้สูญเสียเวลาที่จะอยู่ดูโลกไปหนึ่งปีนั่นเอง

ในทำนองเดียวกัน เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2554 นอกจากทุกคนจะได้อายุเพิ่มคนละปีในแง่ของความเป็นปัจเจกบุคคลแล้ว เราทุกคนในฐานะหน่วยย่อยของสังคมหรือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโดยรวม ยังได้และเสียในแต่ละด้านดังต่อไปนี้

1. ด้านสังคม

ถ้ามองในเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบต่อสังคมโดยรวมแล้ว จะพบว่าภาพลักษณ์ของประเทศตกต่ำลงไปจากการเกิดปัญหายาเสพติดที่เพิ่มขึ้น จะเห็นได้จากที่คนดังๆ ในสังคมเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทั้งในส่วนของการเป็นผู้เสพและผู้ขาย ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่อยู่ในเพศของนักบวชยังตกเข้ามาสู่วังวนของการติดยาและค้ายา ดังในกรณีที่พระฆ่าพระด้วยกัน

อีกประการหนึ่งที่น่าจะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยตกต่ำในสายตาชาวต่างชาติ นั่นก็คือ การคอร์รัปชันในประเทศไทยได้เพิ่มสูงขึ้นติดอันดับที่ 80 ของโลก โดยได้คะแนน 8.4 จากคะแนนเต็ม 10 และได้อันดับ 10 จาก 26 ประเทศ

จากสองประเด็นปัญหาที่ยกมา ในฐานะพลเมืองของประเทศถือได้ว่าเราสูญเสียภาพลักษณ์ค่อนข้างมาก

ในส่วนที่เราได้ในเชิงสังคมที่เห็นได้ชัดเจนและน่าจะถือได้ว่าเป็นการสะท้อนความเป็นคนไทย ก็คือ การให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ประสบภัยที่หลั่งไหลจากทุกทิศทั่วไทย เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงอุปนิสัยเอื้ออาทรแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อันเกิดจากพื้นฐานของวัฒนธรรมที่เกิดจากศาสนาที่เน้นให้รู้จักการให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธศาสนา

2. ในด้านการเมือง

การเมืองไทยในปี พ.ศ. 2554 เป็นปีแห่งการต่อสู้กันด้วยนโยบายประชานิยม และการแบ่งขั้วค่อนข้างชัดเจนระหว่างกลุ่มทุนเก่าซึ่งมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทน กับกลุ่มทุนใหม่ซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นตัวแทน และผลปรากฏจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะเหนือพรรคประชาธิปัตย์

จากผลของการเลือกตั้ง คนไทยโดยรวมได้อะไรและเสียอะไรในทางการเมือง

คำตอบของคำถามข้างต้นจะเห็นได้ชัดเจนถ้ามองย้อนไปดูเหตุการณ์ก่อนเลือกตั้ง ก็จะพบว่า คนส่วนใหญ่กำลังเบื่อหน่ายทางการเมือง เริ่มจากการที่มีความแตกแยกในสังคม อันสืบเนื่องมาจากการเลือกข้างซึ่งแบ่งได้ชัดเจนเป็นสองกลุ่ม คือ

1. กลุ่มต่อต้านกลุ่มอำนาจเก่าที่มีพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีประชาชนส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธการกลับมา โดยที่ยังไม่ยอมรับผิดทางกฎหมายของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรเป็นแนวร่วม

2. กลุ่มที่ต้องการนำทักษิณกลับบ้าน โดยที่ไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย โดยการวางแผนจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้อดีตนายกฯ ทักษิณ

คนกลุ่มนี้มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ และมีประชาชนในนามคนเสื้อแดงเป็นแนวร่วม และคนกลุ่มนี้มีฐานที่มั่นทางการเมืองอยู่ในภาคเหนือ และอีสาน ซึ่งมี ส.ส.รวมกันแล้วมากกว่าภาคใต้ และ กทม.ซึ่งเป็นฐานที่มั่นทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์รวมกัน

ดังนั้น เมื่อมีการเลือกตั้งจึงทำให้พรรคเพื่อไทยชนะทางการเมือง แต่การได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งถึงแม้ว่าจะเป็นไปอย่างถูกต้องในแง่ของประชาธิปไตยตามรูปแบบ แต่ถ้ามองในแง่ของเนื้อหาประชาธิปไตยดังที่ท่านพุทธทาสบอกไว้ว่า “ประชาธิปไตยไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่ แต่ผลประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่” หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ถึงแม้ว่าพรรคใดหรือกลุ่มการเมืองกลุ่มใดได้เสียงข้างมาก แต่ถ้าไม่ยึดประโยชน์ของประชาชนแล้ว ก็ไม่ถือว่าเป็นประชาธิปไตย

ด้วยเหตุนี้ การได้ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยที่มีแนวนโยบายแก้รัฐธรรมนูญเพื่อช่วยเหลือบุคคลคนเดียว หรือแม้กระทั่งกลุ่มบุคคล ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นชัยชนะของระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้นจึงพูดได้ว่า ในปี 2554 ประชาชนโดยรวมได้เสียโอกาสที่จะได้รัฐบาลที่มีความเป็นประชาธิปไตยทั้งในรูปแบบ และเนื้อหา

3. ในด้านเศรษฐกิจ

จากการที่เกิดอุทกภัยใหญ่ในหลายพื้นที่ทั้งในภาคกลางและภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคกลางที่ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมในหลายเขตนิคมอุตสาหกรรมถูกน้ำท่วมขัง และทำให้ต้องหยุดการผลิตก่อให้เกิดความเสียหายทั้งในด้านการส่งออกและการจ้างงาน ถือได้ว่าเป็นความเสียหายอันยิ่งใหญ่

แต่สิ่งที่เราได้เพียงประการเดียว คือ บทเรียนที่สอนให้รู้ว่าถ้าน้ำท่วมจะทำอย่างไร และบทเรียนที่สำคัญที่เราได้ถึงแม้จะเป็นบทเรียนราคาแพงแต่ก็คุ้มค่าคือ อย่าเอาคนทำงานไม่เป็น แต่เป็นได้แค่พูดมาปกครองประเทศ ถ้ามีโอกาสเลือกอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น