xs
xsm
sm
md
lg

การบริหารประเทศด้วยการหาร (÷)

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส

ระบบโควตาการจัดสรรการกำหนดสัดส่วนได้ถูกนำมาใช้ในการบริหารประเทศนี้จนกลายเป็นวัฒนธรรมทางสังคมและการเมืองมานานพอสมควร เริ่มตั้งแต่การจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีในยุคสมัยที่พรรคร่วมรัฐบาลที่มาจากหลายพรรค ซ้ำร้ายไปกว่านั้นมีการจำแนกแยกแยะกระทรวงต่างๆ ออกเป็นเกรด เป็นกระทรวงเกรด เอ บี ซี ซึ่งตัวแบ่งเกรดดังกล่าวขึ้นอยู่กับจำนวนงบประมาณ อำนาจหน้าที่และการใช้อำนาจของกระทรวงนั้นๆ ว่ามีขอบเขต มีบุคลากรมากน้อยแค่ไหน และก็มาต่อรองกันว่าพรรคไหนควรจะได้ตำแหน่งกี่คนจากการหารของจำนวนสมาชิกและตำแหน่งที่มี การใช้วิธีการหาร(÷)จึงดูเป็นทางออกที่ง่ายที่ยังนำมาใช้กันในการบริหารบ้านเมือง

การที่วิกฤตอุทกภัยใหญ่ในครั้งนี้ ซึ่งกินอาณาบริเวณกว้างขวางครอบคลุมหลายพื้นที่ หลายจังหวัดหลากหลายอาชีพทั้งที่เป็นบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ปศุสัตว์ เกษตรกรชาวไร่ชาวนาและที่สำคัญคือภาคอุตสาหกรรมซึ่งประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ 7 นิคม ยังไม่รวมถึงผู้ใช้แรงงานอีกจำนวนหลายแสนคนที่ต้องตกงานไปจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติที่โรงงานต่างๆ จะสามารถเดินเครื่อง เปิดโรงงานให้ผู้ใช้แรงงานได้กลับเข้ามาทำงานได้ เราจึงต้องมาจับตาดูกันให้ดีๆ ว่ารัฐบาลนี้จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยวิธีการหารอะไรอีกบ้าง

การนำวิธีการหารมาใช้ในนโยบายประชานิยมครั้งแรก เกิดขึ้นในยุคสมัยของพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ที่มีนโยบายแจกเงินยังชีพแก่ผู้สูงอายุ โดยระบุให้ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปได้รับเงินยังชีพคนละ 500 บาท (ทุกคน) ที่จริงเงิน 500 บาทก็มีความสำคัญสำหรับคนจนๆ การมีเงินไว้ใช้จ่ายที่แน่นอนเดือนละ 500 บาทสำหรับคนลำบากนั้นมีค่ามาก ถือเป็นนโยบายหนึ่งที่สำคัญที่ใช้ในการหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในตอนหลังก็มีการให้เงินแก่ ผสส. อสม.เข้ามาอีก

ในประเด็นเงินผู้สูงอายุ ถ้ารัฐมีกลไกที่มีประสิทธิภาพและไม่มักง่าย คนชราที่มีอายุก็จะมีโอกาสได้รับเงินยังชีพที่มากกว่านั้น อาจจะถึงคนละ 1,500-2,000บาท/เดือน การที่ไร้กลไกในการแยกแยะคนชราที่มีฐานะต่างกัน ทำให้เงินงบประมาณเสียไปโดยไม่คุ้มค่าและไม่ตรงกับความเดือดร้อนที่ควรจะได้รับการแก้ไขให้กับคนยากคนจน พรรคเพื่อไทยพิจารณาเห็นว่านโยบายประชานิยมในเรื่องนี้ มีส่วนในการได้คะแนนเสียงจึงได้ระบุไว้ในนโยบายของพรรคในช่วงก่อนเลือกตั้งแต่หาได้นำมาแยกแยะในเชิงของการพิจารณาในรายละเอียดดังกล่าวให้ตรงกับกลุ่มคนที่ควรจะได้รับเช่นเดิม กลับเกทับบลั๊ฟแหลกนโยบายดังกล่าวของพรรคประชาธิปัตย์ในเชิงปริมาณ

โดยพรรคเพื่อไทยได้มีนโยบายอนุมัติปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากเดิมที่จ่าย ให้ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 500 บาทต่อเดือน ในอัตราที่เท่ากันทั้งหมดในสมัยของพรรคประชาธิปัตย์ มาจัดเป็นชั้นๆ โดยกำหนดให้ผู้ที่มีอายุ 60 -69 ปี จ่าย 600 บาท อายุ 70-79 ปี จ่าย 700 บาท อายุ 80-89 ปี จ่าย 800 บาท และอายุ 90 ปีขึ้นไปจ่าย 1,000 บาท ซึ่งมีผู้สูงอายุได้รับประโยชน์รวม 6.5 ล้านคน รวมงบประมาณ 52,228 ล้านบาท เพิ่มจากวงเงินเดิม 16,219 ล้านบาท

การนำวิธีการหาร(÷)มาใช้ในการบริหารประเทศบางครั้งก็ดูดี ดูว่าเป็นความถูกต้องชอบธรรมและเท่าเทียมกับประชาชนทุกหมู่เหล่าโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ แต่ในข้อเท็จจริงความเป็นจริงของสังคมที่ดำรงอยู่ เราน่าจะทำให้เงินงบประมาณที่จ่ายออกไปมีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากกว่านี้ได้มิใช่หรือ

ปลายปี 2553 เกิดอุทกภัยและพายุดีเปรสชันพัดเข้าพื้นที่หลายจังหวัดของภาคใต้ การนำวิธีการช่วยเหลือแบบวิธีการหาร(÷)ก็ถูกนำมาใช้อีกครั้ง โดยรัฐบาลประกาศจ่ายครอบครัวละ 5,000 บาท/ครัวเรือน การนำเสนอนโยบายแบบลวกๆ เน้นฉกฉวยนำการเมือง (หาเสียง) มาหวังผลในภาวะวิกฤตของสังคมโดยไม่มีการแยกแยะความเสียหายระหว่างครัวเรือนที่กระเบื้องแตกเพียง 5 แผ่นกับผู้ที่บ้านเรือนพังทั้งหลัง ต่างก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลครัวเรือนละ 5,000 บาทเท่าๆ กัน จนเป็นที่กล่าวขานกันกระหึ่มเมืองว่านี่คือการซื้อเสียงล่วงหน้าโดยใช้งบประมาณของแผ่นดินของเหล่านักการเมือง ข้อเท็จจริงที่พบในพื้นที่ ก็พบว่าบ้านชาวบ้านที่พังทั้งหลัง ไร้ที่อยู่ต้องไปซุกหัวนอนบนถนนต่างก็ได้รับเงินช่วยเหลือเพียง 5,000 บาท

ในขณะที่บ้านราคาหลังละเป็นล้านล้านบาท น้ำท่วมกระทบแค่กระถางต้นไม้เขาก็ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล 5,000 บาทด้วยเช่นกัน ซ้ำยังนำมาพูดคุยเฮฮาตามร้านน้ำชาว่ารัฐบาลเขาจ่ายให้ “เป็นค่าตกใจ” ประเทศนี้จะเดินไปบนเส้นทางนี้อีกนานเท่าไหร่ ประเทศที่ประชาชนถูกสร้างให้มีวัฒนธรรมมุ่งตักตวงกอบโกยทุกสิ่งที่เอาได้จากรัฐ โดยปราศจากคุณธรรมจริยธรรมว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรควรไม่ควรและอะไรคือสิ่งที่เราต้องช่วยกันปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ

ผลจากการบริหารจัดการแก้ไขวิกฤตอุทกภัยด้วยวิธีง่ายๆ ลวกๆ ดังกล่าวเหตุการณ์ที่ตามมาคือความวุ่นวาย จากการลุกขึ้นมาประท้วงของผู้ประสบภัยในหลายๆ พื้นที่เกือบทุกจังหวัด คุณสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นต้องตระเวนรับหน้าม็อบของผู้ชุมนุมไม่เว้นแต่ละวัน หากรัฐบาลนี้ยังไม่มีการปรับปรุงวิธีการในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างจริงจังและเป็นธรรมเป็นที่ยอมรับได้ของสังคมโดยรวม การกำหนดเงื่อนไขกว้างๆ ไว้แค่ 3 ประการในการเยียวยาชดเชยที่ว่าคือ

1. น้ำท่วมถึงบ้านพักอาศัยโดยฉับพลันและทรัพย์สินได้รับความเสียหาย 2. อาศัยถูกน้ำท่วมขังติดต่อกันไม่น้อยกว่า 7 วันและทรัพย์สินได้รับความเสียหาย 3. บ้านพักอาศัยได้รับความเสียหายจากอุทกภัย น้ำป่าไหลหลากหรือดินโคลนถล่ม โดยมีรายละเอียดเพียงแค่นี้ แล้วนำเอาจำนวนผู้เสียหายมาหาร(÷)จากงบประมาณหน้าตักที่มีอยู่ ผมทายไว้เลยว่าหลังน้ำลดรัฐบาลจะต้องเตรียมรับมือกับการลุกฮือของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน.
กำลังโหลดความคิดเห็น