xs
xsm
sm
md
lg

ปราสาทพระวิหารกับศาลโลกและมรดกโลกเหตุผลที่ไทยต้องเสียดินแดน

เผยแพร่:   โดย: เทพมนตรี ลิมปพยอม

ปัญหาสำคัญกรณีปราสาทพระวิหารที่จะเกิดขึ้นในปีหน้ามีสองเรื่อง เรื่องแรกคือเรื่องมรดกโลก และเรื่องที่สองคือเรื่องศาลโลก ทั้งสองเรื่องนี้ต่างสอดคล้องกันมีผลต่อเนื่องซึ่งกันและกัน เรื่องมรดกโลกเป็นที่ทราบกันดีว่าการลาออกของคุณสุวิทย์ คุณกิตติ ในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการมรดกโลกฝ่ายไทย มีเหตุผลข้อใหญ่ก็คือ แผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารที่เข้าสู่ที่ประชุมทำให้เราอาจสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียดินแดน คุณสุวิทย์ คุณกิตติ ได้ลุกขึ้นแสดงเหตุผลต่อที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ขอให้ที่ประชุมเลื่อนการพิจารณาแผนบริหารการจัดการออกไปก่อน แต่ในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ปารีสเมื่อกลางปีที่ผ่านมา “ไม่เลื่อน”

คุณสุวิทย์จึงแถลงลาออกจากการเป็นภาคีสมาชิกโดยอ่านจดหมายลาออกกลางที่ประชุม การลาออกของคุณสุวิทย์ในเวลานั้น ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของสมาชิกและมีบางประเทศถึงกับตกใจเดินเข้ามาขอให้คุณสุวิทย์อย่าลาออก ประเทศภาคีสมาชิกส่วนใหญ่ ไม่คิดว่าประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิกจะกล้าลาออก การลาออกในวันนั้นได้ส่งผลให้คณะกรรมการยังไม่พิจารณาแผนบริหารจัดการ แต่ผ่านการตรวจสอบรับรองแบบไม่เป็นทางการ ต่อมานางอิรีน่า โบโกว่า ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก จึงส่งหนังสือตามหลังคุณสุวิทย์มายังเมืองไทย โดยย้ำว่าการลาออกของประเทศไทยจะยังไม่สมบูรณ์ (จนกว่าจ่ายเงินที่ค้างอยู่ให้เสร็จสิ้น) ต้องมีจดหมายจากนายกรัฐมนตรีและการลาออกจะมีผล 1 ปีถัดไป

คุณสุวิทย์ลาออกเพราะเหตุผลที่ว่า แผนบริหารการจัดการได้รุกล้ำดินแดนประเทศไทยอันอาจให้ไทยต้องสูญเสียดินแดนไปในอนาคต (และแม้วันนี้เราก็ได้สูญเสียดินแดนไปด้วยการปล่อยให้กัมพูชาเข้ามายึดครองพื้นที่) การลาออกด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงชวนให้คิดได้ว่ารัฐบาลของคุณปู ยิ่งลักษณ์ จะต้องตอบคำถามก่อนการกลับเข้าไปขอคืนสถานภาพที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาใบลาออกของคุณสุวิทย์นั้น “ประเทศไทยจะไม่สูญเสียดินแดนแล้วใช่ไหม

ประเทศไทยในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะไม่มีการสูญเสียดินแดนอีกแล้วใช่หรือไม่” การประชุมมรดกโลกในปีหน้าจะกระทำกันราวเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2555 หัวข้อของคณะกรรมการในวาระแรกเป็นการขอแสดงความยินดีที่รัฐภาคีสมาชิกอย่างประเทศไทยจะกลับมาร่วมทำสังฆกรรมกันอีก เสียเงินค่าสมาชิกจำนวนเป็นสิบๆ ล้าน และในที่สุดเราอาจต้องเข้าร่วมแผนบริหารจัดการกับเขมรหรือถูกคณะกรรมการมรดกโลกออกมติให้ไทยรับแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารของเขมรเพื่อสันติภาพตามหลักการของยูเนสโกและเหตุผลการกำเนิดของมรดกโลก “สันติภาพและสันติสุขจะดำรงอยู่อย่างกลมเกลียวในหมู่มวลสมาชิก”

สำหรับเรื่องศาลโลกแล้ว ประเทศไทยไม่เคยยอมรับอำนาจของศาลโลกอีกภายหลังจากคดีปราสาทพระวิหารที่ทำให้ไทยต้องสูญเสียอำนาจอธิปไตยที่ตัวปราสาท คำพิพากษาของศาลโลกเมื่อ พ.ศ. 2505 ตัดสินตามคำฟ้องของฝ่ายกัมพูชา ข้อความที่สำคัญซึ่งเป็นปัญหามาจนถึงปัจจุบันคือ

1. ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนพื้นที่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา 2. ไทยมีพันธกรณีที่จะต้องถอนกำลังทหาร ตำรวจและยามรักษาการณ์ออกจากบริเวณปราสาทพระวิหาร ปัญหาของคำตัดสินสองข้อนี้ก็คือ จะตีความคำพิพากษาอย่างไร ประเทศไทยในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ จำต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกทั้งๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน และมีการตั้งข้อสงวนสิทธิ์เพื่อเรียกคืนตัวปราสาท

อย่างไรก็ตาม มติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ. 2505 ได้นำไปสู่การปฏิบัติตามคำพิพากษา กล่าวคือ เรื่องอำนาจอธิปไตยที่ตัวปราสาทและการกำหนดเขตบริเวณพื้นที่ด้วยการไปทำรั้วลวดหนามรูปสี่เหลี่ยมคางหมูครอบตัวปราสาท (หากแต่คงปล่อยให้กัมพูชาขึ้นมาใช้อำนาจอธิปไตยที่ตัวปราสาททางช่องบันไดหัก) แม้ในเวลานั้นจอมพลถนอม กิตติขจรได้แสดงทัศนะผ่านสื่อมวลชนด้วยบทสัมภาษณ์ที่ว่า “ก็คืนเฉพาะพื้นที่ที่รองรับตัวปราสาทเท่านั้น ส่วนว่าจะขึ้นหรือเข้ามาทางไหนในบริเวณตัวปราสาทพระวิหารเราไม่รับทราบเป็นเรื่องของเขมรเอง”

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 ย้ำให้เห็นว่าการจะให้กัมพูชาเข้ามาใช้อำนาจอธิปไตยที่ปราสาทพระวิหารนั้น จะต้องให้ประเทศไทยเสียพื้นที่น้อยที่สุด “พื้นที่ที่เราจะปฏิบัติตามคำพิพากษานั้นคือพื้นที่ที่รองรับตัวปราสาทเท่านั้น” และส่วนที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนกันอยู่นั้นก็ควรหมายถึงพื้นที่ที่รองรับตัวปราสาทนั่นเอง หาได้ใช่พื้นที่บริเวณ 4.6 ตารางกิโลเมตรที่เป็นของประเทศไทยโดยสมบูรณ์ไม่

ประเทศไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในรายงานของคุณจาพิกรณ์ เศรษฐบุตร เจ้าหน้าที่ของกรมสนธิสัญญาฯ ในเวลานั้น ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน จอมพลประภาส จารุเสถียร ได้ขึ้นไปที่ตัวปราสาทพร้อมออกคำสั่งให้ยกเสาธงโดยไม่ลดผืนธงลงมา แล้วนำธงและเสาธงมาตั้งอยู่บริเวณที่เราเรียกว่าผามออีแดงในปัจจุบัน ตำบลตรงนั้นจึงเรียกว่าตำบลเสาธงชัยจนถึงปัจจุบัน

มีผู้กล่าวกันว่าเมื่อเรากั้นรั้วลวดหนามโอบล้อมรอบตัวปราสาท มีการตั้งประตูเหล็กที่เชิงบันไดนาค ห่างจากบันไดลงมาทางทิศเหนือซึ่งเป็นบันไดสิงห์มา 20 เมตร จอมพลประภาสได้ออกคำสั่งปิดประตูเหล็กนั้นแบบ “ปิดประตูตาย” ออกคำสั่งไม่ให้เจ้าหน้าที่ของไทยเข้าออกและไม่ยอมให้เขมรเข้ามาอีกหากเข้ามาก็จัดการขั้นเด็ดขาดได้ ประเทศไทยได้จัดส่งรายงานและแผนผังการล้อมรั้วอาณาบริเวณไปยังองค์การสหประชาชาติและศาลโลกว่าประเทศไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว

การออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก ด้วยการยึดแผนผังจากฝ่ายกัมพูชาได้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 17 ตารางกิโลเมตรซึ่งเป็นพื้นที่ของฝ่ายไทย ส่วนฝ่ายกัมพูชาเสียพื้นที่เพียงเล็กน้อยส่วนใหญ่เป็นชะง่อนผาและพื้นที่สูงชัน มีข้อน่าสังเกตว่าการออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลกในครั้งนี้ ประกาศบนแผนบริหารจัดการมรดกโลกปราสาทพระวิหารของกัมพูชา จึงเป็นอะไรที่ประเทศไทยของเราเสียเปรียบอย่างมาก

ศาลโลกไม่ได้มีอำนาจที่จะสั่งการกับประเทศไทยหรือว่าสั่งได้แล้ว ครั้งหนึ่งอดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายได้ทำหนังสือไปยังสำนักราชเลขาธิการ รายงานว่าการตีความในคดีปราสาทพระวิหารไม่สามารถกระทำได้แล้ว รัฐบาลของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่งตัวแทนประเทศไทยไปขึ้นศาลโลก ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ต่อปฏิญาณการยอมรับอำนาจศาลโลกมาตั้งนานแล้ว หรือว่าเรายอมรับอำนาจศาลโลกไปแล้วจริง ผมเองก็งงๆ กับเหตุการณ์ครั้งนี้ ศาลโลกคณะปัจจุบันมีอำนาจตีความคำพิพากษาของศาลโลกในคดีนี้ได้จริงหรือ ทำไมระดับอธิบดีกรมสนธิสัญญา และกฎหมายจึงมีทัศนะที่แตกต่างกันแม้ข้อกฎหมายเหมือนกัน แต่การดำรงตำแหน่งต่างปีกัน

นอกจากนี้ศาลโลกชุดปัจจุบันไปหยิบยกแผนผังที่กระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชาจัดส่งมาให้เป็นเอกสารประกอบการออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวได้อย่างไร แล้วแบบนี้จะเชื่อได้ว่าศาลโลกจะตีความคำพิพากษาได้อย่างยุติธรรมจริงหรือ

ศาลโลกชุดปัจจุบันจะหมดวาระเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ศาลโลกชุดนี้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเกินขอบเขตที่ศาลโลกเมื่อ พ.ศ. 2505 ได้ตัดสิน และออกตามที่กัมพูชาต้องการเพราะเป็นพื้นที่ตรงตามแผนบริหารการจัดการของสองโซน (ตัวปราสาทพื้นที่โดยรอบที่ห่อหุ้ม) ทำไมศาลจึงทำเช่นนั้น? เพราะศาลโลกเป็นเพียงศาลการเมืองระหว่างประเทศมีลักษณะเป็นศาลสั่งได้

บทสรุปของเรื่องนี้มันจึงอยู่ที่ว่า หากประเทศไทยทำตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวด้วยการถอนกำลังทหารให้คงเหลือเป็นตำรวจตระเวนชายแดน อาจส่งผลให้กัมพูชาสมประโยชน์ และหากประเทศไทยยืนยันที่จะกลับไปเป็นรัฐภาคีแฟรนไชส์อีก ประเทศไทยของเราก็จะเสียประโยชน์ เสียประโยชน์ทั้งทำตามที่ศาลโลก (มีอำนาจหรือไม่มีอำนาจ) สั่งตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราว และในเวทีมรดกโลกที่จะเกิดขึ้นประมาณกลางปีหน้า

หากเรากลับเข้าไปนั่งเป็นสมาชิกอย่างสมบูรณ์ ลืมเรื่องการลาออกของคุณสุวิทย์ คุณกิตติ ลืมความบาดหมางของทหารผู้เสียชีวิต ลืมการเสียชีวิตของพี่น้องประชาชน ประเทศไทยของเราต้องเสียดินแดนอย่างแน่นอน เสียดินแดนแบบง่ายๆ เหมือนกินกล้วยเข้าปาก ประวัติศาสตร์ต้องจารึกการกระทำของคนไทยใน พ.ศ.นี้ว่าเราเสียดินแดนโดยไม่ต้องรบ
กำลังโหลดความคิดเห็น