xs
xsm
sm
md
lg

เงาทรราชในนามประชาธิปไตย : การแก้รัฐธรรมนูญกับความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนระบอบและรูปแบบรัฐ(จบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 คนเสื้อแดงกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 นำโดย นายเพชรวรรต  วัฒนพงศ์ศิริกุล นายเรืองไกร กิจวัฒนะ และนายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือต่อ นายวิสุทธ์ ไชยณรุณ รองประธานคนสภาฯ คนที่ 2 เพื่อเสนอร่างแก้ไข รธน.ในนามประชาชน  เมื่อ 29 ธ.ค.54
ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

เหล่าทรราชและผู้สนับสนุนมีความชำนาญและเชี่ยวชาญในการใช้คำว่า “ประชาธิปไตย” เพื่ออำพลางปกปิดเจตนา ความคาดหวัง และการกระทำอันเป็น “เผด็จการ” ของพวกมัน และใช้คำว่า “เสียงส่วนใหญ่” เพื่อกลบฝังเสียงแห่งความรู้ เหตุผล ปัญญา และคุณธรรม

เหล่าทรราชยังชำนาญในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมแบบจอมปลอม โดยกำหนดกลไกและวิธีการที่ตนสามารถควบคุม จัดตั้ง ระดมผู้คนภายใต้สังกัดให้เข้ามากุมสภาพเวทีการประชุม เพื่อเลือกสรรข้อมูลข่าวสาร ความคิดเห็น ชี้นำการตัดสินใจ และวินิจฉัยเรื่องราวตามธงที่ตั้งเอาไว้ ไม่ว่าสิ่งนั้นถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ก็ตาม

ปลายเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2554 พรรคเพื่อไทยมีการประชุมกันเพื่อเปิดฉากปฏิบัติการทางการเมืองครั้งใหญ่ที่อาจนำไปสู่การสร้างความสั่นสะเทือนแก่สังคมไทยตลอดปี 2555 โดยนายพร้อมพงษ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยแถลงเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2554 ว่า สมาชิกพรรคเพื่อไทยร้อยละ 90 เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เพราะเป็นไปตามนโยบายพรรคที่เคยหาเสียงไว้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ว่าจะเร่งรัดผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญ ยึดหลักนิติธรรม และพร้อมรับการตรวจสอบโดยให้ประชาชนเห็นชอบด้วยการทำประชามติ

ย้อนหลังไปก่อนหน้านั้น นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ เจ้าสำนักลัทธิแดงนิยม ได้เคยกล่าวไว้ว่า “ยุทธศาสตร์ 3 ข้อ ของ นปช. คือ 1) การล้มรัฐบาลอำมาตย์ ยึดอำนาจรัฐ ซึ่งได้ทำสำเร็จแล้ว โดยพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่บรรดาสาวกลัทธิแดงให้การสนับสนุนได้เป็นพรรครัฐบาล 2) การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งลัทธิแดงนิยมถือว่าเป็นผลผลิตของคณะมนตรีความมั่นคง (คมช.) ซึ่งเป็นผู้ล้มล้างรัฐบาลทักษิณ เมื่อปี 2549 และ 3) การโค่นล้มระบอบอำมาตยาธิปไตย ซึ่งลัทธิแดงถือว่าเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด

การขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยจึงเป็นไปตามเส้นทางยุทธศาสตร์ที่กลุ่มลัทธิแดงนิยมได้กำหนดไว้ ส่วนจะเดินไปถึงยุทธศาสตร์ที่สามของกลุ่มลัทธิแดงนิยมหรือไม่ คำตอบคงปรากฏชัดเจนมากขึ้นในอีกไม่ช้า

ในการนำเสนอกรอบคิดใหญ่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยและลัทธิแดงนิยมแบ่งงานกันเดินสองด้านคือ ด้านกระบวนการแก้ไขซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นผู้นำเสนอ ส่วนด้านเนื้อหาในเบื้องต้นฝ่ายลัทธิแดงเป็นผู้เสนอ สำหรับด้านกระบวนการแก้ไขประกอบด้วย

1) การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ซึ่งเป็นเรื่องที่ว่าด้วยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากเดิมที่การริเริ่มแก้ไขมาจากกลุ่มบุคคล 4 กลุ่ม คือ คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร สมาชิกวุฒิสภา และ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งห้าหมื่นคน หากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งต้องการเสนอแก้ไข ก็เขียนเป็นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมโดยเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ

พรรคเพื่อไทยมิได้ประสงค์เพียงแค่ “แก้ไขรัฐธรรมเพิ่มเติม” แต่ประสงค์ “เขียนรัฐธรรมนูญใหม่” จึงต้องเสนอแก้ไขมาตรานี้ก่อนเพื่อจัดตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา” ดังนั้นการเสนอเช่นนี้จึงมิใช่ “การแก้ไขรัฐธรมนูญ” แต่เป็นการ “ยกเลิกรัฐธรรมนูญเดิม” โดยอาศัยเสียงส่วนใหญ่ในสภา และหากว่าข้อเสนอแก้ไขมาตรา 291 ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ไม่มีข้อความในวงเล็บ 1 วรรค 2 ที่ว่า “ ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะเสนอมิได้” ย่อมหมายความว่า รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างใหม่เปิดหน้าต่างแห่งโอกาสให้มีการเสนอเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองและรูปแบบของรัฐได้ และไม่มีหลักประกันใดเลยว่าโอกาสเช่นนั้นไม่เกิดขึ้น

ในอดีตเมื่อครั้งที่จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 ความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงระบอบและรูปแบบของรัฐโดยอาศัยรัฐธรรมนูญแทบไม่มีเลยเพราะความคิดทางการเมืองของผู้คนในสังคมไทยมีเอกฉันท์ในเรื่อง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นรัฐแบบราชอาณาจักรรัฐเดี่ยว แต่ในปัจจุบันซึ่งมีกระแสการเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบเพื่อให้ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็น “รัฐไทยใหม่” หรือ “สาธารณรัฐ” จึงทำให้ความเสี่ยงมีสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจาณาจากองค์ประกอบและที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังมีการเสนออยู่ในขณะนี้

2) เค้าโครงองค์ประกอบและที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้รับการเสนอโดยนักการเมืองผู้ประสงค์ “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” มีองค์ประกอบสมาชิก 2 ส่วนคือ ส่วนแรกมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละหนึ่งคน และส่วนที่สองมาจากการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการอีกจำนวนหนึ่ง ภายใต้สภาพการเมืองไทยในปัจจุบัน พรรคการเมืองสามารถกุมสภาพและกำหนดผลแพ้ชนะการเลือกตั้งได้ ทำให้คาดการณ์ได้ไม่ยากว่าสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแต่ละจังหวัด แต่ละภาค มาจากไหนและเป็นตัวแทนของใคร

ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางบางจังหวัดซึ่งเต็มไปด้วยมวลชนของลัทธิแดงนิยม มีความเป็นไปได้สูงที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นแกนนำของลัทธิแดงนิยมในจังหวัดนั้นๆ และหากดูจำนวนของจังหวัดในแต่ละภาค คงไม่ยากที่จะทำนายว่ากลุ่มใดที่สามารถคุมเสียงส่วนใหญ่ในสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ สำหรับสมาชิกในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ หากให้กลไกทางการเมืองในปัจจุบันผู้สรรหา ก็คงจะคาดการณ์ได้ไม่ยากเช่นเดียวกันว่า นักวิชาการหรือผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายไหนที่จะได้เข้าไปเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และหากองค์ประกอบของสมาชิกสภาร่างเป็นดังที่ผู้เขียนได้วิเคราะห์ไว้ โฉมหน้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ออกมาย่อมมีแนวโน้มเป็นไปตามสิ่งที่นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยฯ ได้เคยเสนอต่อสาธารณะ และอาจเป็นมากกว่านั้นเพราะมีอีกหลายเรื่องที่อยู่ในความคิดความเชื่อของบรรดาแกนนำลัทธิแดงซึ่งยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ

3) การทำประชามติ ซึ่งแกนนำพรรคเพื่อไทยบางคนเสนอว่าให้ทำประชามติหลังยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จแล้ว การทำประชามติเป็นสิ่งที่ดูเหมือนจะดีเพราะเป็นการประทับความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญ แต่การลงประชามติในสังคมไทยก็เฉกเช่นเดียวกับการเลือกตั้งนั่นแหละคือ ผลแพ้ชนะส่วนใหญ่ถูกกำหนดโดยกลไกการจัดตั้งและจัดซื้อคะแนนเสียง พรรคการเมืองใดมีศักยภาพในการใช้กลไกเหล่านี้ได้มีประสิทธิภาพมากกว่าก็ย่อมจะสามารถกำหนดผลของประชามติล่วงหน้าได้

กล่าวโดยสรุป การเสนอยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จึงเป็นการนำพาประเทศไทยไปสู่ความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองและรูปแบบของรัฐ เพราะกระบวนการดังกล่าวเป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสขึ้นมา และเมื่อผนวกกับแนวโน้มองค์ประกอบของสมาชิกและกลไกทางการเมืองเพื่อรองรับความชอบธรรม ก็ยิ่งทำให้ระดับความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้นไปอีก

สำหรับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญใหม่ที่ได้มีการเสนอต่อสาธารณะโดยนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ มี 10 ประเด็นซึ่งจำแนกเป็น 5 แนวคิดหลัก คือ

1) การล้มล้างผลการกระทำของคณะมนตรีความมั่นคง(คมช.) อันได้แก่การยกเลิกมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่รับรองว่าการกระทำตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำเกี่ยวเนื่องกับกรณีเหล่านั้นทั้งหมดชอบตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ผลสืบเนื่องที่เป็นไปได้ของการยกเลิกมาตรานี้ คือ การทำให้การดำเนินงานของ คตส. เป็นอันถูกยกเลิก และนั่นย่อมหมายความความผิดของนักการเมืองคนใดที่ริเริ่มสอบสวนและฟ้องโดย คตส. ก็ต้องถูกยกเลิกไปด้วย สิ่งที่ตามมาคือ ทักษิณ ชินวัตร จะหลุดพ้นจากคดีต่างๆที่ดำเนินการโดย คตส.

2) การกระชับอำนาจให้แก่กลุ่มทุนการเมืองครอบงำรัฐสภาและทำลายหลักการถ่วงดุลย์แห่งอำนาจ โดยการยกเลิกสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา การให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีตำแหน่งทางการบริหารและสามารถแทรกแซงการโยกย้ายข้าราชการได้

การกำหนดให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวเป็นการย้อนรอยความบกพร่องของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งทำให้รัฐสภาตกอยู่ภายใต้การครอบงำครอบครัวและเครือญาติของกลุ่มทุนการเมืองผู้มีอิทธิพลซึ่งเชี่ยวชาญในการเลือกตั้ง การจัดตั้งและจัดซื้อคะแนนเสียง กลไกการเลือกตั้ง สว. ภายใต้บริบทของสังคมไทยในยุคนี้ จึงเป็นการกีดกันผู้มีความสามารถ ความรู้ และ คุณธรรม ออกจากระบบการเมืองอย่างสิ้นเชิง สำหรับการเพิ่มอำนาจให้ ส.ส. แทรกแซงระบบราชการก็ทำให้เกิดความยุ่งเหยิงในระบบถ่วงดุลย์อำนาจ และทำให้การตรวจสอบอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารไม่มีประสิทธิภาพ

3) การทำลายอำนาจตุลาการ โดยกำหนดให้กลุ่มทุนการเมืองเข้าไปแทรกแซงอำนาจตุลาการ ภายใต้วลีที่สวยหรูว่า “อำนาจตุลาการต้องเกี่ยวโยงกับอำนาจอธิปไตยของประชาชน” ซึ่งหมายความว่า การให้ ส.ส. ซึ่งเป็น กลุ่มทุนการเมือง เข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งศาลยุติธรรม หรือหากมากกว่านั้นคือการเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอน

4) การเพิ่มอำนาจแก่ฝ่ายบริหารในการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติ โดยการแก้มาตรา 190 ซึ่งคาดว่าจะแก้ให้ฝ่ายบริหารสามารถทำสนธิสัญญากับต่างประเทศโดยไม่ต้องผ่านการประชาพิจารณ์และผ่านรัฐสภา หากเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้รัฐบาลสามารถทำสัญญากับต่างชาติอย่างอิสระไม่ว่าจะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบต่างชาติอย่างไร หรือ ให้ใครได้รับผลประโยชน์บ้าง หรือ ทำให้ประชาชนและประเทศชาติเสียหายอย่างไร ก็ไม่มีใครสามารถล่วงรู้ได้

5) การสร้างเสื้อคลุมให้ดูเป็นประชาธิปไตย โดยการเสนอให้ประชาชนสามารถแก้รัฐธรรมนูญ เสนอกฎหมาย ถอดถอน ส.ส. นักการเมือง คณะกรรมการองค์การอิสระ ได้โดยตรง อันที่จริงแนวคิดเหล่านี้ก็ได้ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 อยู่แล้วซึ่งเปิดโอกาสประชาชนสามารถใช้อำนาจได้สะดวกมากกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ด้วยซ้ำ ดังนั้นการเสนอขอแก้ไขในมาตราเหล่านี้จึงดูเป็นการต่อเติมเสริมแต่งเพื่อนำขึ้นมาอำพลางเจตนาที่แท้จริงของแนวคิดสี่ข้อแรกเสียมากกว่า

กล่าวโดยสรุป เนื้อหาของรัฐธรรมที่กลุ่มลัทธิแดงเสนอต่อสาธารณะ ซ่อนเจตนาที่อยู่เบื้องหลังว่าแท้จริงแล้ว พวกเขามีความประสงค์จะแก้ไขเพื่อสร้างประโยชน์แก่ทักษิณ ชินวัตร กลุ่มทุนการเมืองและพรรคการเมือง เป็นการทำลายระบบการถ่วงดุลย์อำนาจระหว่างนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร แทรกแซงและทำลายอำนาจตุลาการ และเพิ่มอำนาจฝ่ายบริหารในการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศโดยปิดหูปิดตาและกีดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน

อย่างไรก็ตามสิ่งที่พวกเขาเสนอต่อสาธาณะข้างต้นเป็นเพียงปรากกฎของยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ความประสงค์และนัยที่ซ่อนเร้นภายใต้คำว่า “การโค่นล้มระบอบอำมาตยาธิปไตย” อันเป็นยุทธศาสตร์สุดท้ายของ นปช. คืออะไร ยังคงเป็นปริศนาสำหรับสาธารณะเพราะพวกเขามิได้นิยามสิ่งนี้อย่างชัดเจน กระนั้นก็ตามสำหรับผู้ที่ติดตามข่าวสารทางการเมืองย่อมเห็นร่องรอยอันสะท้อนความหมายที่ซ้อนเร้นอยู่ภายใต้วลีนี้ โดยดูจากการเคลื่อนไหวของปกาศกและสาวกลัทธิแดงจำนวนหนึ่งในการโจมตี วิพากษ์ อาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่นสถาบัน รวมทั้งการผลักดันให้ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112

การเคลื่อนไหวอย่างเป็นขบวนการทั้งใต้ดิน บนดิน ทั้งในและนอกประเทศที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากขณะนี้ มีลักษณะเป็นคู่ขนานและดูเหมือนมีร่องรอยของความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ดังนั้นหากมีการผลักดันให้มีกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น ก็เท่ากับว่าเป็นการผลักดันให้ประเทศไทยไปอยู่ในตำแหน่งที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงระบอบและรูปแบบรัฐ และนั่นย่อมเป็นชนวนสำคัญที่นำไปสู่สถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรง และการนองเลือดครั้งใหญ่ก็อาจเกิดขึ้นอีกครั้งในสังคมไทย

หากผู้คิดเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญยังมีสติยั้งคิด ควรสำรวจความเป็นไปได้นี้ให้กระจ่าง และหากลดความอยาก ความต้องการของตนเองลงได้ ก็ควรยุติการเสนอแก้รัฐธรรมนูญเสียเถิด หากทำได้ อาจทำให้เงามืดของวิกฤติที่กำลังย่างกรายมาครอบคลุมสังคมไทยบรรเทาเบาบางลงไปได้บ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น