xs
xsm
sm
md
lg

ยึดคืนตลาดจตุจักร ครม.ไฟเขียวรฟท.บริหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ครม.เห็นชอบร.ฟ.ท. บริหารตลาดจตุจักร ยึดพื้นที่คืนจากกทม. 2 ม.ค.55 พร้อมสั่งทำรายละเอียดตั้งบริษัทลูกก่อนชงครม.อีกครั้ง “ชัจจ์”มั่นใจไม่มีปัญหา เผย 2 เดือนนี้ยังไม่ต้องจ่ายค่าเช่า พร้อมเปิดให้ผู้ค้าร่วมเคาะราคา ชัดกทม.-ปชป. เล่นเกมการเมือง "ปู"สั่งดูแลผู้ค้าและประชาชน ห้ามทำให้เดือดร้อน "มาร์ค"จับตาการบริหาร ส่วนกทม.ดิ้นมอบฝ่ายกฎหมายหาช่องยึดคืน

พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (27 ธ.ค.) ว่า ที่ประชุมรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เข้าไปบริหารพื้นที่ตลาดนัดจตุจักรแทนกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งหมดสัญญาในวันที่ 1 ม.ค.2555 ส่วนการจัดตั้งบริษัท ตลาดนัดจตุจักร ร.ฟ.ท.จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของร.ฟ.ท.ขึ้นมาบริหารจัดการตลาดนั้น ครม.เห็นว่ารายละเอียดยังไม่ชัดเจน จึงมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปจัดทำรายละเอียดมาเสนอใหม่ ทั้งการลงทุน และการบริหารงานในส่วนต่างๆ และให้เสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอครม.พิจารณาอีกครั้ง

ทั้งนี้ ในวันที่ 2 ม.ค.2555 ร.ฟ.ท.จะเข้าไปบริหารจัดการเอง ซึ่งได้จัดเตรียมแผนรายละเอียดที่จะเข้าไปดำเนินการไว้เรียบร้อยแล้ว และจะทำหนังสือเชิญ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) มาเป็นประธานร่วมในพิธีส่งมอบพื้นที่ด้วย เพื่อให้เห็นว่าตลาดยังคงเป็นตลาดเหมือนเดิมต่อไป แต่ถ้าหากกทม.ไม่ยอมส่งมอบพื้นที่ ตอนนี้ยังไม่สามารถตอบอะไรได้ แต่เชื่อว่าทั้งสองหน่วยงานก็เป็นส่วนราชการเหมือนกัน ก็ควรเข้ามาคุยกัน เพราะถ้าไม่คุยกันก็คงไม่เกิดผล

สำหรับเรื่องอัตราค่าเช่าใหม่นั้น ที่ผ่านมา ได้ให้นโยบายกับผู้บริหาร ร.ฟ.ท.แล้วว่าจะต้องคิดอัตราค่าเช่าที่ผู้ค้าเดิมไม่เดือดร้อน และให้ ร.ฟ.ท.มีรายได้ที่เป็นธรรมด้วย เพราะขณะนี้ ร.ฟ.ท.เป็นรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุน และมีหนี้สินสะสมเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถจัดหารายได้เข้าไปพัฒนากิจการในส่วนต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะให้ตัวแทนผู้ค้าเข้าร่วมหารือเพื่อกำหนดอัตราค่าเช่าที่เหมาะสมด้วย

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างช่วงรอยต่อของการเข้าไปบริการพื้น และการจัดทำรายละเอียดการก่อตั้งบริษัทลูกเข้ามาดูแล ร.ฟ.ท.จะเปิดให้ผู้ค้าไม่ต้องเสียค่าเช่าแผงค้าขายเป็นเวลา 2 เดือน ระหว่างเดือนม.ค.-ก.พ.2555 ด้วย

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีการทำให้ผู้ค้าไขว้เขว ซึ่งมติครม. ทำให้ผู้ค้าเกิดความชัดเจนแล้วว่า ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.2555 เป็นต้นไป ร.ฟ.ท.จะเป็นผู้บริหารตลาดนัดจตุจักรเอง ส่วนรายละเอียดการบริหาร เป็นเรื่องความความรับผิดชอบของพล.ต.ท.ชัจจ์ ที่กำกับดูแล ร.ฟ.ท. ซึ่งขณะนี้ผู้ค้ามีทั้งที่เห็นด้วยกับที่ ร.ฟ.ท.จะบริหาร และส่วนที่ไม่เห็นด้วยก็มี แต่เป็นส่วนน้อย ซึ่งอยากให้หันมาค้าขายกันดีกว่า ยืนยันว่า ร.ฟ.ท.จะไม่เน้นเอาแต่กำไร เพราะที่ผ่านมา 30 ปี ได้เงินค่าเช่าจากกทม. 100 กว่าล้านบาทเท่านั้น กทม.ได้ไปมากแล้ว ขณะที่ ร.ฟ.ท.ต้องประสบกับการขาดทุน ดังนั้น การบริหารตลาดเองก็เพื่อนำรายได้มาช่วยเหลือกิจการของ ร.ฟ.ท.

ส่วนกรณีที่กทม.จะฟ้องศาลปกครอง เรื่องนี้คงห้ามไม่ได้ ส่วนผู้ค้าถ้าอยากทำสัญญาเช่ากับกทม.ต่อก็เป็นสิทธิ์ของผู้ค้า ขณะที่ชื่อ “ตลาดนัดจตุจักร” ที่กทม.ระบุว่าเป็นชื่อขอพระราชทาน หากร.ฟ.ท.จะทำ ต้องหาชื่อใหม่นั้น เรื่องนี้คุยกันได้ ไม่มีปัญหา ทั้งนี้ เชื่อว่าในวันที่ 2 ม.ค.2555 ร.ฟ.ท.จะมีวิธีการบริหารจัดการในการเข้าพื้นที่ เพราะที่เป็นของร.ฟ.ท. อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ดูแลผู้ค้าเก่าด้วย

***"ชัจจ์"ชัดกทม.-ปชป.เล่นการเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครม. พล.ต.ท.ชัจจ์ ได้เสนอให้ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบหลักการในการจัดตั้งบริษัท ลูกเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ตลาดนัดจตุจักรของ รฟท. เป็นเรื่องพิจารณาจร เรื่องที่ 8 โดยนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการครม. กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่มีอะไรมาก เป็นเรื่องของการต่อหรือไม่ต่อสัญญา ขอเชิญพล.ต.ท.ชัจจ์ ต้นเรื่องชี้แจง ซึ่งพล.ต.ท.ชัจจ์ได้ชี้แจงต่อครม.ว่า เรื่องนี้ไม่มีอะไร อย่างที่เลขาธิการครม. บอกไปแล้ว เป็นเรื่องของมติครม. ที่ออกมาเมื่อกว่า 30 ปีมาแล้ว ในปี 2522 จริงๆ ไม่ได้มีอะไรเลย แต่มันเป็นเรื่องการเมืองที่ทางกทม. ซึ่งเดิมทีเดียวก็ไม่ได้ต้องการที่จะต่อสัญญา หรืออยากจะต่อสัญญาจริงหรือเปล่าก็ไม่ทราบ เพราะว่าเมื่อถึงช่วงเวลาใกล้ๆ จะครบสัญญา 30 ปี ทางรฟท.ได้เชิญผู้แทนกทม.มาเจรจาหลายครั้ง แต่ว่าไม่มา

"เราก็บอกว่าถ้าไม่มา เราจะต้องตัดสินใจ 2แนวทาง คือ 1.รฟท.ทำเอง หรือ 2.ประกาศหาผู้เช่าหรือผู้บริหารพื้นที่ดังกล่าวมาบริหาร แต่กทม.ก็ยังไม่มาเจรจา จนกระทั่งเป็นประเด็นข่าวขึ้นมา ผมให้สัมภาษณ์ในฐานะเป็นรัฐมนตรีกำกับดูแล รฟท. ได้ศึกษาทรัพย์สินของรฟท. ว่ามีอะไรที่จะสามารถต่อยอดรายได้ของรฟท.ได้บ้าง และเมื่อเราแถลงไป ก็ยังไม่มาคุยอีก แต่ผู้ว่าฯ กทม.ไปให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อไม่เหมาะ ทำไม่ได้ที่จะให้รฟท.เข้ามาบริหารตลาดนัดจุตจักรเอง จนยิ่งจะใกล้หมดสัญญานี่แหละ ก็ยิ่งโหมประโคมข่าว พูดกันทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และกทม. เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองแน่นอน ยิ่งมามีม็อบมาชุมนุมประท้วงกัน ก็ยิ่งชัดเจนว่าเป็นเรื่องการเมือง"พล.ต.ท.ชัจจ์กล่าว

***สวนอีกดอกรับไม่ได้ค่าเช่า79ล้าน

พล.ต.ท.ชัจจ์กล่าวว่า การตั้งตัวเลขค่าเช่าพื้นที่ที่เสนอให้กทม.ไปพิจารณาใหม่ เป็นการอิงบนฐานของที่ดินบริเวณสวนจตุจักรกับมูลค่าปัจจุบันมีความแตกต่างกัน ตัวเลขที่เป็นข่าวว่าจะปรับค่าเช่าพื้นที่ใหม่เป็น 420 ล้านบาท ไม่ใช่ แต่ต้องการ 425-450 ล้านบาทด้วยซ้ำไป แต่กทม.ยืนยันว่าสามารถจ่ายได้เพียง 79 ล้านบาท มันเป็นเรื่องของเจ้าของทรัพย์สินกับผู้เช่า เราดูข้อกฎหมายทุกมิติแล้ว ไม่มีมุมไหนที่กทม. ในฐานะผู้เช่า จะมาทำอะไรกับเจ้าของทรัพย์สินได้ ดังนั้น ตัวเลขค่าเช่า 79 ล้านบาทต่อปี จึงเป็นตัวเลขที่ไม่สามารถจะยินยอมให้กทม. ดำเนินการต่อไปได้

***"ปู"สั่งห้ามทำผู้ค้า-ประชาชนเดือดร้อน

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า มั่นใจในนโยบายของรฟท. และกระทรวงคมนาคม แต่ขอฝากความห่วงใยกับผู้เกี่ยวข้องไว้ใน 2 มิติ คือ 1.ผู้ประกอบการร้านค้าที่เปิดร้านทำมาหากินอยู่ในสวนจตุจักร ต้องไม่ได้รับผลกระทบ หรือได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด 2.ประชาชนผู้ที่ไปซื้อของไปขายต่อ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง หรือแม้แต่นักท่องเที่ยว ประชาชนทั่วไปก็ต้องไม่ได้รับผลกระทบ เช่น คุณภาพของตลาด ปริมาณร้านค้าที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไป ต้องไม่ได้รับผลกระทบ ถ้าสามารถทำข้อห่วงใย 2 ข้อนี้ได้ ก็คงไม่มีใครว่าอะไรได้ และขอให้ยึดมั่นและสื่อสารกับสังคมว่า เงิน425-450 ล้านบาทที่รฟท.พึงได้ แต่ไม่ได้นั้น จะให้ทางกทม. มาบังคับให้ยอมรับค่าเช่า 79 ล้านบาทคงไม่ได้ ซึ่งพล.ต.ท.ชัจจ์ ก็ระบุว่าจะนำข้อห่วงใยของนายกฯ ไปมอบเป็นนโยบายให้กับบริษัทลูกของ รฟท.ให้ดำเนินการอย่างเคร่งครัดต่อไป

***ม็อบผู้ค้าจตุจักร2กลุ่มบุกทำเนียบ

วันเดียวกันนี้ เวลา 09.00 น. ที่ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ์ ถ.พิษณุโลก กลุ่มผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร ประมาณ 200 คน นำโดยนายประวิทย์ วิทยาขจรศาสตร์ หัวหน้ากลุ่มตัวแทนผู้ค้า ได้ร่วมปักหลักชุมนุมเพื่อรอฟังมติครม. พร้อมทั้งเตรียมยื่นหนังสือต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรื่องการต่อสัญญาตลาดนัดจตุจักร โดยมีข้อเรียกร้อง 5 ข้อ คือ

1.ให้ยืนตามมติครม.ปี 2522 ที่ให้ฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการตลาดนัดจัตุจักร เพราะมีความพร้อมในการบริหารจัดการตลาดนัดมากกว่าหน่วยงานอื่น
2.ให้กระทรวงคมนาคม กับกรุงเทพมหานคร เร่งเจรจาหาข้อยุติเรื่องค่าเช่าที่ดิน โดยอัตราค่าเช่าต้องเป็นธรรมกับผู้ค้าเพื่อให้ผู้ค้าสามารถประกอบกิจการได้ ในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้
3.ให้ต่อระยะสัญญาไปอีก 30 ปี
4.ผู้ค้าที่มีชื่อในทะเบียนแผงค้า หรือเอกสารสิทธิ์ที่แสดงว่าได้มีสิทธิ์ทำการค้าเหมือนเดิม และต้องอยู่ที่เดิมโดยที่ไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น
5.ให้รัฐบาลสนับสนุนให้ตลาดนัดจัตุจักรเป็นตลาดนัดของประชาชน โดยไม่มีกลุ่มทุนใดๆ แอบแฝงและยังคงเอกลักษณ์เป็นตลาดนัดชั้นเดียวอย่างนี้ตลอดไป

ขณะเดียวกันที่หน้าประตู 4ทำเนียบรัฐบาล มีกลุ่มผู้ค้าตลาดนัดจตุจักรอีก 1 กลุ่ม ประมาณ 100 คน ที่อ้างว่าเป็นกลุ่มที่เป็นกลาง มีแนวทางที่ไม่คัดค้านว่าจะเป็นกทม.หรือ รฟท. จะเข้ามาบริหาร ได้ชุมนุมเพื่อรอฟังผลครม. เช่นกัน โดยนางนฤมล แซ่หุ้น ตัวแทนกลุ่มผู้ค้า กล่าวว่า พวกตนเป็นกลุ่มผู้ค้าจากตลาดนัดจตุจักรอีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถรับได้ ไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้บริหารดูแล ทั้งกทม.และรฟท. แต่อยากเรียกร้องให้ผู้ที่จะเข้ามาบริหาร ดำเนินการให้ตลาดนัดจตุจักรมีศักยภาพคุณลักษณะแห่งสาธารณประโยชน์ โดยเสนอแนวคิด 3 ประการ คือ

1.รัฐบาลพึงเร่งกำหนดมติให้ตลาดนัดจัตุจักร เป็นภาระกิจสาธารณะ ที่รับกับผู้ค้าประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาและบริหารจัดการ
2.ให้ผู้ค้าประชาชนมีสิทธิในการเข้าร่วมตรวจสอบสาธารณะได้
3.การกำหนดราคาค่าเช่า ค่าธรรมเนียม และค่าตอบแทนใดๆ ของหน่วยงานราชการ หรือองค์กรของรัฐที่เข้ามาบริหารจัดการ อย่าคำนึงหวังผลในเม็ดเงินรายได้สูงๆจนลืมประโยชน์สาธารณะแห่งรัฐ ที่ประชาชนร่วมสร้างสรรค์มา ตั้งอยู่บนหลักการที่รัฐพึงให้การสนับสนุนเพื่อส่งเสริมเกื้อกูลสามารถเอื้ออำนวยต่อการบริหารจัดการร่วมกับประชาชน อีกทั้งทดแทนเงินงบประมาณแผ่นดิน ที่ตลาดนัดจัตุจักร ไม่เคยได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล

***"มาร์ค"จับตารฟท.บริหารจตุจักร

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การบริหารอะไรต้องดูที่ความเป็นธรรม เพราะที่มาของตลาดนัดจตุจักรมาจากมติครม. เดิม และการบริหารจัดการตลาดนัด กทม.มีอำนาจหน้าที่ตรงนี้ แต่รฟท.มีอำนาจเพียงการบริหารสินทรัพย์หรือการให้เช่าที่ดิน ไม่ใช่การบริหารจัดการตลาดนัด ซึ่งการเช่าที่ดินต้องผูกติดอยู่กับหลักประกันเงื่อนไขที่ให้ผู้ค้าย้ายมาที่นี่ตั้งแต่แรก และต้องจับตาดูว่า สุดท้ายรฟท.เองก็คงไม่อยู่ในฐานะผู้บริหาร คงอาจจะให้เอกชนเข้ามาบริหารแทน ซึ่งจะมีการแข่งขันกันเรื่องผลประโยชน์ สุดท้ายไม่แน่ใจว่าภาระอาจตกอยู่ที่ผู้ค้า ตอนนี้ต้องดูว่ารัฐบาลและรฟท.จะดำเนินการอย่างไร หากไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ต้องมีการโต้แย้งกัน เดิมกระทรวงคมนาคมและกทม. เริ่มเจรจาก่อนจะหมดอายุสัญญา แต่ติดขัดที่ค่าเช่า เพราะรฟท.บอกว่ากทม.ให้ค่าเช่าต่ำกว่าที่อื่น จึงตกลงกันไม่ได้

เมื่อถามว่ามีข่าวว่าพล.ต.ท.ชัจจ์ อาจดึงบริษัทลูกของรฟท.เข้ามาบริหาร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องดูว่าสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่หรือไม่ และสุดท้ายภาระจะตกอยู่ที่ใคร ไม่อยากให้รัฐบาลมองว่ากทม.ไม่ได้เป็นท้องถิ่นที่พรรคตัวเองบริหาร จึงมาทำอย่างนี้ ตนอยากให้การตัดสินต่างๆ อยู่บนผลประโยชน์ส่วนรวม และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของตลาดนัดจตุจักร

**"สุขุมพันธ์"ให้ฝ่ายกฎหมายหาช่องยึดคืน

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ขอดูรายละเอียดของมติครม.ก่อน และจะให้ฝ่ายกฎหมายดูว่าจะสามารถดำเนินการอะไรได้บ้าง ถึงจะบอกได้ว่ามีแผนจะดำเนินการอะไรต่อจากนี้

นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม.ยอมรับมติดังกล่าว ขณะเดียวกันจะเรียกประชุมฝ่ายกฏหมายและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในวันนี้ (28 ธ.ค.) เพื่อหารือเกี่ยวกับทางออกว่าจะมีแนวทางใดที่กทม. จะสามารถบริหารตลาดต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กทม.จะต้องดำเนินการทันที คือ การเกลี่ยพนักงานที่มีทั้งข้าราชการและลูกจ้างที่ทำงานในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ โดยจะให้ไปทำงานต่อที่ตลาดในสังกัดกทม. ที่มีกว่า 40 แห่ง

ทั้งนี้ กทม.ได้พยายามอย่างดีที่สุดแล้วในการรักษาอำนาจในการบริหารตลาดแห่งนี้ไว้ แต่เมื่อเป็นมติครม. ซึ่งมีอำนาจในการสั่งการตามกฎหมาย ก็จะต้องยอมรับและปฏิบัติตาม ที่ผ่านมา กทม.ได้เจรจาเรื่องการต่อสัญญาเช่าและผลตอบแทนให้กับรฟท. มาโดยตลอด แต่รฟท.ยืนยันที่จะให้กทม.จ่ายค่าเช่าในอัตรา 420 ล้านบาทต่อปี ตามที่ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาสำรวจว่าเป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว ซึ่งกทม.เห็นว่าค่าเช่าในอัตราดังกล่าวสูงเกินไปและผิดวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งตลาดแห่งนี้มาแต่แรกเริ่ม

"หลายฝ่ายมองว่ากทม. มีรายได้จากตลาดนัดสวนจตุจักรต่อปีเป็นเงินมหาศาล ข้อเท็จจริง คือ กทม.มีรายได้ต่อปีประมาณ 70 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเช่า 24 ล้านบาท ต้นทุนในการบริหารจัดการ 35 ล้านบาท และมีกำไรประมาณ 7-11 ล้านบาท เขาคงคิดว่าที่นี่เป็นขุมทองของประชาธิปัตย์ คิดว่ามีกำไรมหาศาล แต่จริงๆ แล้ว กทม.ไม่ได้กำไรอะไรมากมาย ทั้งหมดเป็นการเข้าไปดูแลผู้ค้าทั้งนั้น ที่ผ่านมา ตลาดนัดจตุจักรเกิดด้วยมติครม. ก็คงต้องตายด้วยมติครม."นายพรเทพกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น