xs
xsm
sm
md
lg

“สุขุมพันธุ์” ขอดูมติ ครม.ก่อนดิ้นหาช่องเอาตลาดจตุจักรคืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์   บริบัตร
กทม.เรียกทีมกฎหมายประชุมพรุ่งนี้ ด้าน “สุขุมพันธุ์” ขอดูมติ ครม.ก่อนที่ให้ ร.ฟ.ท.บริหารตลาดจตุจักรก่อนค่อยหาช่องทางดำเนินการ สวนกลับ “ชัจจ์” ไม่ใช่หน้าที่ รมต.หรือผู้ว่าฯ ต้องเจรจา ด้าน รองผู้ว่าฯ เผยเตรียมเกลี่ยข้าราชการลูกจ้างไปทำงานที่ตลาดอื่นๆ ของ กทม.ขณะที่ ผอ.ตลาดจตุจักร ชี้ มติ ครม.ดูคลุมเครือและสร้างความสับสนกับผู้ค้ากว่าหมื่นราย

วันนี้ (27 ธ.ค.) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เข้าบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรแทน กทม.และให้ กทม.ทำการส่งมอบพื้นที่ตลาดนัดจตุจักรให้ ร.ฟ.ท.เลยในวันที่ 2 ม.ค.55 โดยไม่ต้องรอ 60 วัน ว่า ขอดูรายละเอียดของมติ ครม.ก่อน และจะให้ฝ่ายกฎหมายดูว่าจะสามารถดำเนินการอะไรได้บ้าง

ส่วนกรณีที่ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ว่า ผู้ว่าฯ กทม.เป็นอันธพาลไม่ยอมเจรจานั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐมนตรี หรือผู้ว่าฯ ที่จะต้องเจรจา เนื่องจากมีคณะกรรมการดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว ตนไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะตนไม่ได้ไปยึดที่ของใคร

ต่อข้อถามถึง ที่มติดังกล่าวจะให้ ร.ฟ.ท.เข้ามาบริหารพื้นที่ในวันที่ 2 มกราคม 2555 ถือเป็นการละเมิดสัญญาเดิมหรือไม่นั้น กทม.ต้องขอดูรายละเอียดในมติ ครม.ดังกล่าวอีกครั้ง จึงจะสามารถบอกได้ว่าจะมีแผนดำเนินการอะไรต่อจากนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ผู้สื่อข่าวจะซักถามต่อนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้รีบเดินหนีออกจากวงนักข่าวทันทีด้วยสีหน้าเรียบเฉย
นายพรเทพ เตชะไพบูลย์
ด้านนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม.ยอมรับมติดังกล่าว ขณะเดียวกัน จะเรียกประชุมฝ่ายกฎหมายและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในวันพรุ่งนี้เพื่อหารือเกี่ยวกับทางออกว่าจะมีแนวทางใดที่ กทม.จะสามารถบริหารตลาดต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กทม.จะต้องดำเนินการจากนี้ไป คือ การเกลี่ยพนักงานที่มีทั้งข้าราชการและลูกจ้างที่ทำงานในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ โดยจะให้ไปทำงานต่อที่ตลาดในสังกัด กทม.ที่มีกว่า 40 แห่ง พร้อมระบุว่า กทม.ได้พยายามอย่างดีที่สุดแล้วในการรักษาอำนาจในการบริหารตลาดแห่งนี้ไว้ แต่เมื่อเป็นมติ ครม.ซึ่งมีอำนาจในการสั่งการตามกฎหมายก็จะต้องยอมรับ และปฏิบัติตาม ที่ผ่านมา กทม.ได้เจรจาเรื่องการต่อสัญญาเช่าและผลตอบแทนให้กับ ร.ฟ.ท.มาโดยตลอด แต่ ร.ฟ.ท.ยืนยันที่จะให้ กทม.จ่ายค่าเช่าในอัตรา 420 ล้านบาทต่อปี ตามที่ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาสำรวจว่าเป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว ซึ่ง กทม.เห็นว่า ค่าเช่าในอัตราดังกล่าวสูงเกินไป และผิดวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งตลาดแห่งนี้มาแต่แรกเริ่ม

นายพรเทพ กล่าวต่อว่า หลายฝ่ายมองว่า กทม.มีรายได้จากตลาดนัดสวนจตุจักรต่อปีเป็นเงินมหาศาลนั้น ข้อเท็จจริง คือ กทม.มีรายได้ต่อปีประมาณ 70 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเช่า 24 ล้านบาทต้นทุนในการบริหารจัดการ 35 ล้านบาท และมีกำไรประมาณ 7-11 ล้านบาท เขาคงคิดว่าที่นี่เป็นขุมทองของประชาธิปัตย์ คิดว่า มีกำไรมหาศาล แต่จริงๆ แล้ว กทม.ไม่ได้กำไรอะไรมากมาย ทั้งหมดเป็นการเข้าไปดูแลผู้ค้าทั้งนั้นที่ผ่านมาตลาดนัดจตุจักรเกิดด้วยมติ ครม.ก็คงต้องตายด้วยมติ ครม.

ด้านนายอรุณ ศรีจรูญ ผอ.กองอำนวยการตลาดนัดกรุงเทพมหานคร (ตลาดนัดจตุจักร) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กทม.ยังไม่ได้รับทราบรายละเอียดในมติ ครม.ดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ทั้งจาก ครม.เอง รวมทั้งกระทรวงคมนาคม และทาง ร.ฟ.ท.ทำให้ยังไม่ทราบว่าจะต้องเตรียมตัวดำเนินการอะไรอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตาม หากทางการรถไฟฯจะเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ตลาดในวันที่ 2 ม.ค.55 นี้ กทม.เกรงว่า อาจเกิดปัญหาเรื่องการจัดการส่งมอบพัสดุและผู้ค้าตลอดจนปัญหาอื่นๆ ตามมาค่อนข้างมาก ขณะเดียวกัน ตามสัญญาเช่าพื้นที่เดิมระหว่าง กทม.และ ร.ฟ.ท.ก็มีการระบุไว้ชัดเจนว่า กทม.ยังมีสิทธิและเวลาเตรียมการส่งมอบพื้นที่คืนอีกอย่างน้อย 6 เดือน เมื่อหมดอายุสัญญาเช่าพื้นที่แล้ว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องรอดูรายละเอียดของมติ ครม.ที่ชัดเจนอีกครั้ง นอกจากนี้ เท่าที่ทราบคือ มติ ครม.ให้ความเห็นชอบในครั้งนี้เป็นการอนุมัติในหลักการแผนจัดตั้งบริษัทลูกของ ร.ฟ.ท.เพื่อทำหน้าที่บริหารตลาดนัดจตุจักรตามที่ ร.ฟ.ท.เสนอเท่านั้น ซึ่งยังต้องรอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์เป็นผู้ศึกษารายละเอียดและพิจารณาความเหมาะสมก่อนส่งความเห็นให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้อนุมัติจัดตั้งอีกครั้ง

ประเด็นการพิจารณาลงมติของ ครม.ในครั้งนี้ ยังคลุมเครือและสร้างความสับสนเป็นวงกว้างกับประชาชน-ผู้ค้าตลาดนัดจตุจักรจำนวนนับหมื่นๆ คน โดยเฉพาะเรื่องการอนุมัติหลักการให้ ร.ฟ.ท.จัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารตลาดนัดจตุจักร ซึ่งตามที่ผมเข้าใจนั้นยังไม่ใช่การอนุมัติให้ ร.ฟ.ท.เข้ามาบริหารจัดการตลาดแทน กทม.ในวันที่ 2 ม.ค.55 และทุกอย่างขึ้นอยู่กับทางสภาพัฒน์ ว่า จะพิจารณาด้วยว่าได้หรือไม่ได้ และถ้าหากสภาพัฒน์ยังไม่อนุมัติ ก็ถือว่า ร.ฟ.ท.ยังไม่มีอำนาจในการบริหารตลาดแต่อย่างใด” นายอรุณ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น