xs
xsm
sm
md
lg

เปิดผลศึกษาปรับโครงสร้างอุตฯอ้อย เลิกระบบ70:30-ลอยตัวราคาน้ำตาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“ทีดีอาร์ไอ”เปิดผลศึกษาปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ชี้หมดเวลาใช้ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 ต้องกำหนดสูตรคำนวณราคาอ้อยใหม่ พร้อมเลิกโควตา ก. ปล่อยให้ราคาลอยตัว หวังใช้ระบบใหม่ฤดูการผลิตปี 56/57 รับเข้าสู่ AEC
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (27ธ.ค.) นายวิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะหัวหน้าคณะทีมงานการวิจัยการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายทำการว่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้นำเสนอผลการวิจัยเบื้องต้นต่อชาวไร่

นายวิโรจน์ ชี้แจงผลการศึกษาว่า จากการศึกษาโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย พบว่าระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่และโรงงาน 70:30 ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2527 ได้เดินมาถึงทางตัน เนื่องจากพบว่าปัจจุบันไม่สามารถตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาน้ำตาลขาดตลาดเมื่อราคาส่งออกแพง ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งโมลาส ชานอ้อย ก็ยากที่จะเจรจาแบ่งปัน เพราะระบบดังกล่าวทางปฏิบัติไม่ได้เป็นหุ้นส่วน เพราะชาวไร่ไม่มีส่วนเข้าไปบริหารแต่อย่างใด ดังนั้น จึงเสนอให้ยกเลิกแล้วกำหนดกติกาใหม่ที่จะสะท้อนกลไกการค้าเสรีมากขึ้น

“ผลการศึกษาดังกล่าวจะมีการเปิดรับฟังความเห็นจากชาวไร่อ้อย และโรงงานแล้ว จึงมีการสรุปอีกครั้งภายในม.ค.2555 ก่อนที่จะเสนอรัฐบาลภายในก.พ.2555 เพื่อเห็นชอบ และหากเป็นไปได้ต้องการเห็นการปรับโครงสร้างอย่างช้าในฤดูการผลิตปี 2556/57 ก่อนที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558“นายวิโรจน์กล่าว
ทั้งนี้ ข้อเสนอต่อการปรับโครงสร้างสำคัญ เช่น การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศให้เป็นการซื้อขายแบบเสรีเลิกควบคุม โดยให้ยกเลิกระบบโควตา ก. (จำหน่ายในประเทศ) ซึ่งกรณีเกรงว่าน้ำตาลจะขาดแคลนสามารถให้บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) ทำหน้าที่สต็อกน้ำตาลทรายช่วงปิดหีบให้พอใช้ประมาณ 2 เดือน และไตรมาส 4 ก่อนเปิดหีบใหม่ 2 เดือน
นายวิโรจน์กล่าวว่า กองทุนอ้อยฯ ต่อไปจะต้องเป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองและระบบราชการให้มากขึ้น และสามารถทำหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพราคา เมื่อมีความผันผวนจนกระทบต่อเกษตรกรและราคาในประเทศมาก ซึ่งกรณีที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช มีการปรับราคาน้ำตาลหน้าโรงงาน 5 บาทต่อกิโลกรัม นำมาใช้หนี้หากชำระหนี้หมดควรจะยังเก็บต่อไป เพื่อนำมาสร้างความเข้มแข็งให้กองทุนฯ ก่อนลอยตัวน้ำตาล
“5 บาทจะไม่เป็นประเด็นอีกต่อไป เพราะเมื่อลอยตัว ส่วนนี้ก็จะเก็บไม่ได้ ซึ่งกรณีที่มีผู้ขอให้ลดเงินกองทุนฯ เวลานี้ขอบอกว่าคิดได้ยังไง เพราะน้ำตาลยิ่งจะหายไปราคาต่างประเทศยังสูงอยู่”นายวิโรจน์กล่าว

นอกจากนี้ ยังจะต้องกำหนดกติกา คำนวณราคาอ้อยที่เป็นราคาเดียวทั่วประเทศที่จะต้องกำหนดรายละเอียดต่างๆ ซึ่งทีดีอาร์ไอเสนอให้นำโมลาสและพรีเมี่ยมมาคิดด้วย เพราะระบบเดิมทำอยู่ พร้อมกับกำหนดประสิทธิภาพสกัดน้ำตาลที่ 90% ทรายดิบอิงราคานิวยอร์ และทรายขาวอิงราคาตลาดลอนดอน และการรับซื้ออ้อยจะเป็นการซื้อขาดที่เหลือโรงงานจะไปผลิตอะไรก็ได้
โดยทั้งหมดเมื่อคำนวณแล้วจะทำให้ชาวไร่อ้อยได้รับราคาอ้อยที่สูงขึ้นและสะท้อนกับราคาตลาดโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวไร่อ้อยค่อนข้างพอใจกับประเด็นหลักๆ ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ราคาในประเทศ แต่บางรายก็ยังต้องการให้มีขั้นตอนการลอยตัวโดยมีการกำหนดเพดานราคาขั้นต่ำเอาไว้ เพราะราคาตลาดโลกใช่จะดีต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ยังต้องขอผลศึกษาไปดูรายละเอียดเพื่อนำเสนออีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น