อุตรดิตถ์ - ที่ปรึกษากระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ อบจ.ร่วมจิต เมืองลับแล เดินเครื่องสำรวจศักยภาพตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ใช้เปลือกมะม่วงหินมพานต์-ซังข้าวโพด-ชานอ้อย เป็นเชื้อเพลิง หวังใช้เป็นต้นแบบทำทั่วประเทศ
นายคนอง เมืองพุ่ม นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ร่วมจิต อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ได้เข้ามาทำเวทีประชาคมในพื้นที่ ต.ร่วมจิต ทั้ง 11 หมู่บ้าน เพื่อสำรวจศักยภาพของท้องถิ่น ว่า มีความพร้อมที่จะตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลด้านไหน จากนั้นได้มีการออกแบบ และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมพัฒนาวิสาหกิจไฟฟ้าพลังงานในชุมชนด้านพลังงานเชื้อเพลิง เน้นวัสดุที่เป็นชีวมวลจากเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรที่มีอยู่ในท้องถิ่น โดยเฉพาะที่ ต.ร่วมจิต มีเปลือกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ซังข้าวโพด ชานอ้อยจำนวนมากนั้น
นายคนอง กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน แจ้งว่า จะใช้พื้นที่ ต.ร่วมจิต เป็นโมเดลต้นแบบดำเนินการทั่วประเทศ ด้วยระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นเครื่องขนาดเล็ก เมื่อผ่านกระบวนการผลิตไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ฝุ่นผงซึ่งเกิดจากขั้นตอนการเผาไหม้จะไม่ลอยออกไปสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อยู่อาศัยละแวกนั้น โดยต้องให้เกิดการยอมรับและเข้าใจ รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อชาวบ้านเอง เนื่องจากจะเป็นพลังงานทางเลือกพลังงานทดแทนตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลจะเป็นพลังงานที่สะอาด และปลอดภัยกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
นายคนอง บอกว่า ปกติชาวบ้านมักจะเผาเปลือกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ซังข้าวโพด ชานอ้อยอยู่แล้ว ซึ่งก็จะเป็นการเพิ่มมลภาวะให้กับอากาศโดยที่ชาวบ้านคิดไม่ถึง แต่เมื่อมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้น เราก็จะนำเศษซากวัสดุเหล่านี้มาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการเผาไหม้ในระบบปิดที่ไม่มีการปลดปล่อยสารพิษใดๆ ออกมาเลย และก็จะเป็นการกำจัดขยะไปในตัวโดยที่ไม่มีการสร้างมลภาวะ
สำหรับที่ ต.ร่วมจิต จากการสำรวจพบว่า มีจำนวนประชากรประมาณ 250 ครอบครัว คิดว่า ควรสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 1 เมกะวัตต์ ก็น่าจะพอใช้งาน หรือว่าจะสร้างใหญ่กว่านั้นก็ไม่น่าจะมีปัญหาเพราะวัตถุดิบสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงจำนวนมหาศาล
นายก อบต.ร่วมจิต กล่าวอีกว่า ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในพื้นที่ ต.ร่วมจิต และพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะประโยชน์จะเกิดกับประชาชนอย่างแท้จริงสามารถช่วยประหยัดการใช้พลังงานจากไฟฟ้าทั่วไปได้ ขณะเดียวกัน หากมีการตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลขึ้นจริง จะมีงบประมาณจากกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า สามารถนำมาพัฒนาพื้นที่ได้เป็นการสนับสนุนงบประมาณของ อบต.ที่ได้รับประจำปีอยู่แล้ว