xs
xsm
sm
md
lg

จับตา! 28 ธันวาคม อัยการส่งศาลคดีทหารฆ่าเสื้อแดง หวังผลถึงปล่อยตัวอริสมันต์ !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำคนเสื้อแดง ผู้ต้องหา่ก่อการร้าย
ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

คดี 16 ศพ ที่รัฐบาลชุดนี้ไปรื้อฟื้นต่อขึ้นมาจากการตั้งเรื่องจากรัฐบาลชุดที่แล้ว กรณีการเสียชีวิตในการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 จำนวน 91 ศพนั้น มีทั้งทหารและพลเรือน แต่การที่แกนนำคนเสื้อแดงซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ได้ปลุกระดมมาโดยตลอดว่าทหารฆ่าประชาชนนั้น จึงทำให้รัฐบาลชุดนี้ได้เดินหน้าเพื่อเอาผิดกับรัฐบาลชุดที่แล้วและทหารให้ได้

และต้องไม่ลืมว่าการสูญเสียชีวิตบริเวณสี่แยกคอกวัวนั้นเริ่มต้นขึ้นจากการที่มีกลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่สวมชุดสีดำนั้นได้ปฏิบัติภารกิจในการยิงทำร้ายและสังหารทหาร และในขณะเดียวกันก็มีประชาชนกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงเสียชีวิตจากการถูกยิงเช่นกัน ทั้งๆ ที่ทหารที่ปฏิบัติภารกิจในวันดังกล่าวนั้นปราศจากอาวุธปืนอยู่ในมือและตกเป็นเป้าสังหารอย่างอำมหิตโหดเหี้ยม

ข้อสำคัญคือกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงบางส่วนได้ขโมยอาวุธสงครามและกระสุนของทหารตามรถต่างๆไปอีกด้วย ทำให้สถานการณ์ยากขึ้นไปอีกเพราะจะทำให้ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าการที่มีคนเสื้อแดงเสียชีวิตนั้นเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่ เพราะสมมุติว่ามีบางกรณีเป็นกระสุนที่เกิดจากอาวุธของกองทัพ ก็ยังไม่สามารถจะสรุปได้อีกว่าเป็นกระสุนที่มาจากทหารจริงๆ

หลังจากที่ปรากฏเป็นหลักฐานและภาพวีดีโอมากมายว่า กองกำลังติดอาวุธแฝงตัวอยู่ในที่ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เป็นเหตุทำให้ทหารซึ่งเสียชีวิตและบาดเจ็บไปเป็นจำนวนมากทั้งๆที่ไม่มีอาวุธอยู่ในมือ ทำให้ทหารต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างระมัดระวังตัวมากขึ้น และในเวลานั้นสังคมย่อมมีความเข้าใจได้ที่ทหารมีความจำเป็นต้องติดอาวุธอยู่ในมือเพื่อเตรียมรับสถานการณ์การตอบโต้ด้วยอาวุธสงครามจากในที่ชุมนุมซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วและอาจจะเกิดขึ้นอีก

สถานการณ์การสลายการชุมนุม ตามมาด้วยการเผาอาคารบ้านเรือนต่างๆมากมาย ยังไม่นับว่าหลังการสลายการชุมนุมยังพบหลักฐานการปล้นทุบทำลายตู้เอทีเอ็ม และขโมยของตามร้านค้าต่าง ตลอดจนห้างสรรพสินค้า ซึ่งอยู่ในพื้นที่บริเวณชุมนุมอีกด้วย

การเคลื่อนไหวโดยมีอาวุธสงครามก่อวินาศกรรม ปล้นทุบทำลาย ขโมยของ เผาบ้านเผาเมือง สิ่งเหล่านี้ไม่อาจเรียกว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะการเคลื่อนไหวทางการเมืองในที่สาธารณะจะได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญก็ต่อเมื่อการชุมนุมนั้นอยู่ในความสงบและปราศจากอาวุธเท่านั้น

หลังการสลายการชุมนุมเกิดขึ้น การตั้งเรื่องจากรัฐบาลชุดที่แล้วเปิดทางเพื่อให้สอบสวนข้อเท็จจริงในการสูญเสียชีวิตของคนเสื้อแดง แต่การดำเนินการกลับไม่ทำให้จบสิ้นแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จึงทำให้เรื่องดังกล่าวตกมาถึงมือรัฐบาลพรรคเพื่อไทยซึ่งสนับสนุนการชุมนุมคนเสื้อแดงอย่างเปิดเผยกลายมาเป็นเจ้าภาพในการสอบสวนเรื่องนี้ต่อในเวลานี้

สถานภาพของกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งถูกตั้งข้อหาว่าเป็นพวกโจรก่อการร้าย กลับกลายเป็นกลุ่มที่กุมอำนาจและกำลังมาสอบสวนเอาผิดทหารที่มาสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงแทนเสียเอง !?

การที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเข้ามาบริหารประเทศ ก็ได้มีการกระชับอำนาจในหลายมิติ ทั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจเอาพรรคพวกเข้ามาในตำแหน่งสำคัญ ย้ายอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และใช้กรมสอบสวนคดีพิเศษที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล

ผลก็คือรัฐบาลชุดนี้โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ได้ดำเนินการรื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมาใหม่ ก็ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นการตั้งธงเอาไว้ตั้งแต่ก่อนมีการเลือกตั้งแล้วว่า “ทหารฆ่าประชาชน”

ในที่สุดก็เปิดโอกาสให้รัฐบาลชุดนี้มาสวมยอดต่อในการตั้งธงเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐโดยดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับกรณีมีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานที่ระบุว่า:

มาตรา 150 วรรคสาม ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ศพนั้นอยู่เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์ตามวรรคหนึ่ง และให้นำบทบัญญัติในวรรคสองมาใช้บังคับ

มาตรา 150 วรรคสี่ เมื่อได้มีการชันสูตรพลิกศพตามวรรคสามแล้ว ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้พนักงานอัยการเข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนทำสำนวนชันสูตรพลิกศพให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ

มาตรา 150 วรรคห้า เมื่อได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานอัยการทำคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใครตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำนวน ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ

ตำรวจส่งสำนวนกรณีการเสียชีวิตของคนเสื้อแดง 16 ศพ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 วรรคห้า ให้อัยการประมาณวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ต่างอยู่ภายใต้ “การตั้งธง”ของรัฐบาลทั้งสิ้น

ความจริงแล้วอัยการมีเวลาอยู่พอสมควรที่จะทำคำร้องต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ศพนั้น เพราะตามกฎหมายมาตราในวรรคนี้มีเวลาถึง 30 วัน และขยายเวลาได้อีก 2 ครั้งๆละไม่เกิน 30 วัน รวมเวลายาวที่สุดได้ถึง 90 วัน ดังนั้นหากอัยการรับสำนวนมาวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554 หากต้องการตรวจสอบให้รอบด้านก็จะมีเวลาไม่เกินวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554

แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะมีกระแสข่าวว่าอัยการชุดนี้ซึ่งมีท่าทีในการสนับสนุนเกื้อกูลไม่ฎีกาคดีหลบเลี่ยงภาษีของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ก่อนหน้านี้ ได้ดำเนินการสนองความต้องการของคนเสื้อแดงจนทำให้คดีนี้ส่งถึงศาลอาญาเร็วกว่าระยะเวลาที่กฎหมายได้ให้ไว้

มีกระแสข่าวว่า อัยการอาจส่งให้ศาลเพื่อไต่สวนวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554


ฝ่ายการเมืองเอาตัวรอดไปแล้ว เพราะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้อ้างว่าตนเองได้ดูภาพรวมเท่านั้น ส่วนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ได้ยื่นคำสั่งที่เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นนัยว่าหากเกิดเหตุนอกเหนือลายลักษณ์อักษรฝ่ายการเมืองไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย

ข้อสำคัญหากมีการดำเนินการตามคดีนี้อย่างรวดเร็วนั้น รัฐบาลน่าจะหวังผลอยู่หลายประการ

1.สนองความต้องการของกลุ่มคนเสื้อแดงว่าทหารฆ่าประชาชนจริงตามที่ได้
รณรงค์ปลุกระดมไปทั่วประเทศ
และอาจมีผลในการใช้เหตุอ้างในการช่วยเหลือคดีของคนเสื้อแดงว่าการกระทำใดที่ผิดกฎหมายก็เพื่อปกป้องรักษาชีวิตตัวเองหรือ มวลชนถูกกดดันจนไม่สามารถควบคุมสติอารมณ์ได้

2.ทำให้ทหารต้องเป็นผู้รับผิดในทางสังคมฝ่ายเดียว และในทางการเมือง และ
อาจนำไปสู่ข้ออ้างในการดำเนินคดีกับทหาร หรือ โยกย้ายทหารในตำแหน่งสำคัญ
หรือล้วงลูกห้ามบุคคลที่เกี่ยวข้องในการสลายการชุมนุมได้อยู่ในตำแหน่งสำคัญ และหากติดขัดก็จะเป็นข้ออ้างสำคัญในการแก้ไขหรือยกเลิก พระราชบัญญัติ จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ตามมา

3.บีบบังคับให้ทหารต้องยอมและสนับสนุนในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมทุกฝ่าย เพื่อให้นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร และคนเสื้อแดงได้หลุดออกมาจากคดีร้ายแรงทั้งหลายอันสืบเนื่องมาจากการชุมนุม แต่หากฝ่ายทหารถูกกำราบหรือโยกย้ายไปแล้ว หรือมีแรงกดดันจากคนเสื้อแดงต่อรัฐบาลอย่างมาก ก็อาจไม่มีการนิรโทษกรรให้กับทหาร คงเหลือเอาไว้สำหรับการนิรโทษกรรมให้กับนักการเมืองที่ถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง และความผิดทั้งปวงของผู้ชุมนุมทุกฝ่าย และก็ให้ดำเนินคดีความเอาผิดกับทหารต่อไป เพื่อเป็นการกดให้สถาบันกองทัพเข็ดหลาบในความพยายามสลายการชุมนุมที่ติดอาวุธสงครามของกลุ่มคนเสื้อแดงในอนาคต ถือเป็นการทำลายระบบบังคับบัญชาการของสถาบันทหารให้สั่นคลอนจนพิกลพิการไม่สามารถใช้งานเพื่อจัดการกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงได้อีกต่อไป

4.ประการสุดท้ายหากศาลไต่สวนแล้วว่าทหารฆ่าประชาชน ทนายความของกลุ่มคนเสื้อแดงโดยเฉพาะนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ก็อาจใช้เหตุผลนี้ในการอ้างว่าที่ต้องหลบหนีเพราะทหารตามไล่ฆ่าประชาชนคนเสื้อแดงจริง โดยหวังว่าหากศาลไต่สวนและมีคำสั่งว่าการเสียชีวิต 16 ศพเกิดจากทหาร ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ทนายของนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ก็จะใช้เหตุผลนี้ในการยื่นขอประกันตัวนายอริสมันต์โดยทันที เช่นกัน

นี่คือเหตุผลหากรัฐบาลจึงเร่งคดีนี้ เพราะในด้านหนึ่งเป็นการทำลายกระแสความนิยมและความชอบธรรมของทหารให้ลดลง ก่อนที่รัฐบาลจะดำเนินการกระชับอำนาจของตัวเองให้ถึงที่สุด ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การแก้ไขหรือยกเลิก พรบ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ออกกฎหมายนิรโทษกรรมล้างความผิดให้ทักษิณและพวกพ้อง และสุดท้ายจึงค่อยดำเนินการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในท้ายที่สุด


รัฐบาลคงมั่นใจอย่างมากว่า เมื่อตำรวจ และ กรมสอบสวนคคีพิเศษ ตลอดจนอัยการ ยืนอยู่ตามธงของรัฐบาล กองทัพย่อมไม่สามารถใช้อัยการเป็นทนายได้อีก หากกองทัพบกจะใช้นายทหารพระธรรมนูญก็ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในคดีลักษณะเช่นนี้มาก่อน จึงย่อมตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายรัฐบาลถือว่าได้กุมอำนาจทั้งกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น และชั้นกลาง เอาไว้ได้จนหมดสิ้นแล้ว ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่สถาบันกองทัพอาจต้องขอความช่วยเหลือจากสถาบันทางกฎหมายอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสภาทนายความแทน

ข้อสำคัญหลังจากวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554 หากการไต่สวนเริ่มต้นนับหนึ่งขึ้นแล้ว ก็ต้องมีวันที่ศาลจะต้องพิพากษามีคำสั่งทางใดทางหนึ่ง ระหว่างทหารมีความผิด(กองทัพก็เสียหาย) หรือทหารไม่ได้มีความผิด (เสื้อแดงก็เสียหาย) เพียงแต่รัฐบาลชุดนี้มีความเชื่อมั่นว่าตัวเองตกอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบมากกว่าเพราะคุมทั้งตำรวจและกรมสอบสวนคดีพิเศษ อีกทั้งอัยการก็พร้อมรวมหัวกันยืนอยู่ข้างรัฐบาล ในขณะที่ทหารก็ปล่อยให้ถูกโดดเดี่ยวและมีความเสี่ยงเช่นนี้ไม่ได้เช่นกัน

เพราะสำหรับสถาบันทหารแล้ว การบังคับบัญชาการถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูงสุดในการรักษาเอาไว้เพื่อความมั่นคงของชาติ แม้เอาชีวิตเข้าเสี่ยงก็ต้องปฏิบัติตามโดยไม่ต้องตั้งคำถามใดๆจากผู้บังคับบัญชา

ดังนั้นถึงแม้สมมุติว่าคดีนี้ฝ่ายทหารจะมีข้อกฎหมายที่จะสามารถต่อสู้คดีความได้ แต่การที่มีผู้ใต้บังคับบัญชาเริ่มเข้าไปมีความเสี่ยงทางคดีความอาญาอันสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาแล้ว นั่นเท่ากับทำให้ระบบการบังคับบัญชาการของทหารย่อมสั่นคลอนลงอย่างแน่นอน และอาจทำให้การสั่งการของกองทัพในภารกิจที่มีความเสี่ยงอาจทำไม่ได้อีกตลอดไป

ดังนั้นหากรัฐบาลชุดนี้สามารถดำเนินคดีความอาญากับทหารได้สำเร็จ ก็เท่ากับว่าระบอบทักษิณได้กระชับอำนาจขั้นสำคัญ และทำให้การสถาปนารัฐไทยใหม่ใกล้สำเร็จเต็มที

เหลือเพียงแต่ว่าเมื่อถึงวันนั้นจริงๆ อัยการจะใจถึงยื่นต่อศาลตามกระแสข่าว หรือจะขอเลื่อนการยื่นให้ศาลไต่สวนหรือไม่ เท่านั้น !!!

กำลังโหลดความคิดเห็น