xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือความตั้งใจแทรกแซงของ UN (1)

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

เกิดประเด็นร้อนฉ่าขึ้นในสังคมไทย เมื่อสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมีสมาชิก 20 ประเทศอยู่ที่กรุงเจนีวาซึ่งไทยเป็นสมาชิกรวมอยู่ด้วย ได้จัดการประชุมรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน เมื่อ 5 ตุลาคม 2554 ตามวาระการตรวจสอบซึ่งมีเอกอัครราชทูต สีหศักดิ์ พ่วงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ พร้อมตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีวาระพาดพิงถึงไทยด้วย โดยเฉพาะเสรีภาพของสื่อในประเทศไทยซึ่งมีเสรีภาพมาก โดยบางสื่อได้ถูกซื้อไว้เพื่อสร้างอำนาจการเมืองและธุรกิจของคนบางคน เหมือนกับที่ รูเบิร์ต เมอร์ดอค ชาวออสซี่-อเมริกัน จอมอื้อฉาวแห่งโลกสื่อตะวันตก ที่กว้านซื้อสื่อหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ในโลกตะวันตกไว้เกือบทั้งหมด

แต่ในปี 2011 ได้ใช้กลยุทธ์อุบาทว์ชั่วช้าดักฟังโทรศัพท์คนดังในทุกวงการ ไว้เป็นข้อมูลสร้างข่าวเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของเขา โดยไม่คำนึงถึงจริยธรรม จรรยาบรรณสื่อ และศีลธรรมอันดีของมวลมนุษย์ จึงตกเป็นผู้ต้องหารัฐสภาอังกฤษ กรณีกระทำผิดกฎหมายละเมิดสิทธิผู้อื่น

ในเวทีประชุมนี้ได้หยิบยกกรณีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของไทยมาพิจารณาโดยรัฐบาลประเทศสมาชิก เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย นอร์เวย์ สวีเดน แคนาดา ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์ ต่างมีความกังวลสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ที่เกี่ยวกับมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นกฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และยังแทรกแซงโดยเสนอให้ยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ สวนทางความคิดและจิตสำนึกของคนไทยส่วนใหญ่ ที่ต้องการรักษาไว้ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นี้ให้มีอยู่ตลอดไป

ส่วน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นั้นมีไว้ควบคุมคนที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือลอบกัดคนอื่นให้ได้รับความเจ็บปวดทางใจ ทำลายความสัมพันธ์ครอบครัว และครอบงำความคิดของเยาวชนในเรื่องเพศ ยาเสพติด และความก้าวร้าว

สหประชาชาติเป็นองค์กรที่ถูกสถาปนาจากความล้มเหลวของสันนิบาตชาติในปี ค.ศ. 1945 มีหลักใหญ่ 3 ประการ คือ เสริมสร้างสันติภาพในโลกนี้ให้ได้แต่ยังล้มเหลวอยู่ พัฒนาสากลประเทศให้มีความเจริญทัดเทียมกันแต่ก็ครึ่งๆ กลางๆ เพราะเลือกปฏิบัติ และพัฒนามนุษยชาติให้มีจิตสำนึกธรรมาภิบาลเป็นสากลแต่ก็งั้นๆ เพราะหลายมาตรฐาน และแตกสาขาออกมามากมาย รวมทั้งสภาสิทธิมนุษยชนนี้ด้วยซึ่งเป็นเรื่องดีแต่หากย้อนหลังไปศึกษากรณีมาร์ติน ลูเธอร์คิงจูเนียร์ ผู้นำชาวแอฟริกันอเมริกันกว่าจะได้สิทธิเท่าเทียมคนขาวต้องสังเวยชีวิตตนเอง และกว่าคนขาวจะเรียกว่าแอฟริกันอเมริกันก็โดนเรียกหลายอย่างมาก่อน

สันนิบาตชาติเกิดขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 เพราะมวลมนุษยชาติต้องตกอยู่ในความทุกข์เข็ญของสงคราม และเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ระบาดคนตายเกือบ 20 ล้านคนในปี ค.ศ. 1919 แต่อุดมการณ์สันติบาตชาติล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงเมื่อประเทศสหรัฐอเมริกาปฏิเสธที่จะเข้าร่วม เพราะในปี ค.ศ. 1920 นั้น สหรัฐฯ ถือลัทธิสันโดษโดยไม่สนใจและไม่สนับสนุนกิจการภายนอก เพราะว่าไม่เกิดผลประโยชน์ต่อสหรัฐฯ และปิดประเทศไม่รับผู้ย้ายถิ่นฐาน โดยออกกฎหมายจำกัดจำนวนคนย้ายถิ่นฐาน ค.ศ. 1921 รับเพียงร้อยละ 3 ของคนในเชื้อชาตินั้นและลดลงเหลือร้อยละ 2 ในปี ค.ศ. 1924 และตั้งกำแพงภาษีสูงลิ่วเพื่อป้องกันสินค้าต่างชาติ

สันนิบาตชาติก็อ่อนแอลงเรื่อยๆ เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเยอรมนี หลังจากแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ระบบกษัตริย์ก็สลายไปด้วย เกิดเป็นสาธารณรัฐ เพราะประชาชนหมดความไว้วางใจระบบกษัตริย์ที่นำเข้าสงครามแล้วแพ้ แต่กลับเกิดลัทธินาซีขึ้น โดยเฉพาะหลัง ค.ศ. 1930 ฮิตเลอร์สร้างเชิร์ตน้ำตาล และต่อมาเกิดการแย่งอำนาจกันเองเกิดเชิร์ตดำนำโดยฮิตเลอร์ เหมือนกับกลุ่มแดงในรัสเซีย ในจีน และเมืองไทยในปัจจุบัน ที่มีการสถาปนาหมู่บ้านแดงตามยุทธศาสตร์บ้านล้อมเมืองของคนเสื้อแดงภายใต้การนำของทักษิณด้วยการโฟนอินสร้างฐานเสียงและชี้นำ สำหรับเสื้อดำของฮิตเลอร์ก็คือเครื่องมือสังหารคนยิวและผู้ต่อต้านระบอบฮิตเลอร์

ความก้าวร้าวของเผด็จการนาซีเยอรมันภายใต้ฮิตเลอร์ เริ่มจากภายในประเทศที่เข่นฆ่าชาวยิวและต่อมารุกรานยุโรปเพื่อสถาปนาลัทธิจักรวรรดินิยมนาซีหรือสร้างอาณาจักรไรซ์ที่ 3 แต่เมื่อละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซายบุกโปแลนด์อันชนวนปะทุสงครามโลกครั้งที่ 2

สหรัฐฯ มองเห็นผลประโยชน์จากการรวมชาติเพื่อรวบรวมทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ เป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานและเป็นแหล่งพลังงานให้สหรัฐฯ และยับยั้งลัทธิคอมมิวนิสต์ที่คนอเมริกันต่อต้านกำลังแผ่อำนาจอิทธิพล โดยชักจูงประชาคมโลกโดยเฉพาะชาติพันธมิตรที่ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าไว้เป็นสมาชิก และสถาปนาสหประชาชาติในปี ค.ศ. 1945 อิทธิพลสหรัฐฯ และอังกฤษสร้างคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติรวม 5 ชาติๆ แรก คือ สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย จีนไต้หวัน

แต่ต่อมาจีนแสดงความเป็นชาติสมบูรณ์กว่าจีนไต้หวันตามหลักรัฐศาสตร์ คือ คน แผ่นดิน และวัฒนธรรมอยู่ที่แผ่นดินใหญ่ จีนจึงเข้าแทนที่จีนไต้หวัน โดยอีก 4 ชาติไม่คัดค้านอำนาจของ 5 ชาตินี้ยิ่งใหญ่มาก เพราะต้องมีเสียงเป็นเอกฉันท์ในการดำเนินการใดๆ ตามมติของชาติสมาชิก แค่เพียงชาติเดียวคัดค้าน สหประชาชาติก็ทำอะไรไม่ได้

ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่เข้าร่วมสันนิบาตชาติและสหประชาชาติ โดยเฉพาะกรณีสงครามเกาหลี ค.ศ. 1953 เพื่อดำรงไว้ซึ่งสันติภาพและยับยั้งการขยายอาณาเขตของคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น (อ่านต่อวันศุกร์หน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น