xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เมื่อผู้นำกลายเป็น “เด็กเลี้ยงแกะ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กลายเป็น “ตราบาป” สร้างหายนะให้กับคนทั้งประเทศไปแล้ว สำหรับคำพูด “เอาอยู่คร้า” ของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

อาจจะนับได้ว่า ยิ่งลักษณ์ กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่สร้าง “ความเสื่อมเสีย” เกียรติภูมิของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากที่สุดคนหนึ่ง

สิ่งสำคัญที่อดีตนายกรัฐมนตรี “พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” ผู้ล่วงลับสร้างบรรทัดฐานไว้ก็คือ “คำพูดเป็นนาย”…ได้ถูกยิ่งลักษณ์ ทำลายบรรทัดฐานความเป็นผู้นำไปในเวลาไม่กี่เดือน

คำพูดของยิ่งลักษณ์ ไม่มีอยู่กับร่องกับรอย...จนคนไทยหมดความเชื่อถือ

นั่นจึงเป็นเหตุให้ “ความเสื่อม” ท่วมหัวยิ่งลักษณ์ แม้ว่าจะมีสื่อบางฉบับที่ยังเชลียร์กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือแม้กระทั่งโพลล์บางสำนักที่แสดงพฤติกรรมบิดเบือนหลักวิชาการการทำโพลล์ เพื่อประจบยิ่งลักษณ์ก็ตาม

แต่หากผู้นำของประเทศแสดง “คำพูดที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย” การประจบเหล่านั้นก็ไม่มีประโยชน์

เมื่อวันที่ 2 ตค.ทีผ่านมา ยิ่งลักษณ์บอกกับนักข่าวว่า “น้ำที่ทะลักเข้าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางชันว่า เป็นน้ำที่มาจากท่อระบายน้ำ ไม่ได้ไหลมาจากประตูระบายน้ำคลองสามวา”

เป็นน้ำที่มาจากท่อ...คนฟังก็นึกว่า น้ำมาจากท่อระบายน้ำที่มีปริมาณมากเกินไป คงไม่เกี่ยวกับน้ำท่วมทุกวันนี้

แต่ข้อเท็จจริงแล้ว น้ำที่ผุดจากท่อ ก็มาจากน้ำคลองสามวานั่นเอง

แก้ตัวน้ำขุ่นไปวันๆ !!

ไม่แปลกที่สื่อหลายฉบับ (ยกเว้น สื่อที่ทรยศจรรยาบรรณสื่อ) หรือแม้กระทั่งข้อความที่กระจายผ่านเฟสบุ๊ก ทวีตเตอร์ ล้วนเห็นพ้องต้องกันว่า...”เมืองไทยกำลังมีผู้นำโง่ๆ”

น้ำจากคลองสามวาก็คือ น้ำที่กำลังท่วมถนนรามอินทราทั้งหมดทุกวันนี้นั่นเอง เพราะน้ำคงไม่สามารถขึ้นสะพาน หรือทางด่วนเหมือนรถยนต์

น้ำมีแต่จะไหลลงพื้นที่ที่ต่ำกว่าผ่านทางท่อ คูคลอง ต่างๆ

ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ยิ่งลักษณ์ กลายเป็นสาเหตุให้พื้นที่เขตบางเขนต้องจมน้ำ จนกระทั่งต้องมีการประกาศให้อพยพออกจากเขตบางเขนทั้งหมด

เพราะยิ่งลักษณ์เป็นคนสั่งเป็นลักษณ์อักษรให้เปิดประตูคลองสามวาจากเดิม 80 เซนติเมตร เป็น 1 เมตร

นักข่าวถามถึงข้อเรียกร้องของชาวบ้านบริเวณคลองสามวาที่เรียกร้องให้เปิดประตูระบายน้ำคลองสามวา ยิ่งลักษณ์ ตอบแบบไม่รู้เรื่องว่า “เราได้ให้หลักการไปว่าไม่เปิด 100 เปอร์เซ็นต์ เราหรี่ลงเพราะเป็นห่วงนิคมอุตสาหกรรม จึงให้ทาง กทม.และคณะบริหารติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำลงไปดู และให้เปิดปริมาณที่ไม่กระทบกับนิคมอุตสาหกรรมบางชัน”

เมื่อนักข่าวถามว่า ล่าสุดเหตุการณ์ที่ชาวบ้านเขตคลองสามวาได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้สำนักการระบายน้ำกรุงเทพฯ เปิดประตูระบายน้ำเพิ่มอีก 70 เซนติเมตร เป็น 150 เซนติเมตร แต่ กทม.เปิดประตูระบายน้ำ 80 เซนติเมตร แนวทางที่นายกฯ มอบไปเป็นอย่างไร

ยิ่งลักษณ์ตอบด้วยอารมณ์ของผู้รู้จริงคนเดียวว่า “ตกลงกันแล้วที่ 80 ซม.เรียบร้อยแล้ว”

เมื่อถามย้ำอีกครั้งว่า ชาวบ้านขอให้เปิดเพิ่มจากที่เปิดเดิม 70 ซม. ตกลงแนวทางเป็นอย่างไร ยิ่งลักษณ์บอกด้วยสีหน้ามึนงงเป็นไก่ตาแตกว่า "อะไรคะ มันร้อยนึงแล้วจะเปิดอีก 70 ซม.ได้ยังไง ถามใหม่ได้ไหมคะ อะไร ยังไง ตรงนี้ไปถามกรมชลฯ ดีกว่าไหมคะ ทำไมต้องมาถาม เดี๋ยวนะคะถามยังไงนะคะ”

ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงตอนนั้น ชาวบ้านได้พังหูช้างด้านข้างประตูระบายน้ำไปเรียบร้อยแล้ว และมีข้อเรียกร้องให้เปิดประตูระบายน้ำเป็น 150 เซ็นติเมตร

หลังจากนั้น ยิ่งลักษณ์จึงสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้เปิดประตูระบายน้ำคลองสามวา เป็น 1 เมตร

วันที่ 31 ตค. 54 ยิ่งลักษณ์ยังให้สัมภาษณ์กับนักข่าว เมื่อถามว่า ประเมินสถานการณ์ทิศทางน้ำล่าสุดจะไปทางไหน นายกฯ กล่าวว่า “ถ้าเรามีการควบคุมจุดต่างๆ ไม่ให้แนวทางคันกั้นน้ำแตก และสถานการณ์น้ำในวันถึงสองวันนี้น่าจะทรงตัวและค่อยๆ ลดลง หลังจากที่ปริมาณระดับน้ำทะเลลดลง ขณะเดียวกันน้ำในคลองต่างๆ จะระบายได้ดีขึ้น”

แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม !!

เมื่อนักข่าวถามว่า เวลานี้เกิดความสับสนเรื่องของมวลน้ำปริมาณมาก ตกลงยังอยู่บนเขื่อนหรืออยู่ที่จุด จ.นครสวรรค์ และพระนครศรีอยุธยา

ยิ่งลักษณ์กล่าวด้วยน้ำเสียงที่คิดว่าตนเองรู้จริง ว่า "เดี๋ยวให้นักวิชาการอธิบายดีกว่าไหม เอาเป็นว่าเราคุยรวมๆ ก่อนดีไหม ตรงนี้จะให้ผู้รู้กรมชลประทานอธิบายเพิ่มเติม แต่โดยรวมสิ่งที่เราพูดกันว่ามวลน้ำก้อนใหญ่นั้นเป็นสิ่งที่ดีขึ้น มวลน้ำก้อนใหญ่ได้ถูกระบายลงไปตามคันคลองต่างๆมากขึ้น ทำให้ปริมาณน้ำที่อยู่ในเขื่อนบริเวณ จ.นครสวรรค์, ชัยนาท มีปริมาณคงที่ และค่อยๆ ลดลงตามลำดับ ฉะนั้นสิ่งที่เราเป็นห่วงว่า มวลน้ำก้อนใหญ่จะลดลงไป แต่ไม่ได้หมายความว่ามวลน้ำจะหมดไป คงจะค่อยๆ ไหลและผ่านระบบประตูน้ำและการสูบน้ำ

เมื่อนักข่าวถามอีกว่า “กรุงเทพฯ จะไม่วิกฤติไปมากกว่านี้ใช่หรือไม่” ยิ่งลักษณ์ตอบสั้นๆ “คาดว่าอย่างนั้น”

แต่หลังจากวันนั้น น้ำก็ขยายวงกว้างไปท่วมเขตบางเขน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนกระทั่งใกล้สี่แยกลาดพร้าว

นิคมอุตสาหกรรมบางชัน นิคมอุตสาหกรรรมลาดกระบัง กำลังจะกลายเป็นนิคมจมน้ำเป็นแห่งที่ 8 และ 9 ตามลำดับ

ก่อนหน้านั้น วันที่ 18 ต.ค. หลังจากยิ่งลักษณ์ ตรวจสถานการณ์น้ำท่วม กทม.และ จ.นนทบุรี ก็ประกาศผ่านสื่อทันที “ยังรับมือได้ เพราะ กทม.มีทั้งเขื่อน หลายชั้นประตูระบายน้ำหลายบาน ขอให้สบายใจได้”

หลังจากนั้น น้ำท่วมก็ขยายวงกว้างเพิ่มขึ้นเรื่อยทั้งฝั่งตะวันตก ตะวันออก และทางเหนือ

หมู่บ้านเมืองเอก จมน้ำ 2-3 เมตร

น้ำท่วมเข้ารังสิต จนกระทั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต จมน้ำ ยิ่งลักษณ์ก็บอกว่า “เป็นแค่น้ำกระฉอก” ซึ่งเกิดจากการระบายน้ำไปสู่ฝั่งตะวันออก

พฤติกรรมของยิ่งลักษณ์เปลี่ยนไปทุกวัน หลังจากมีนักธุรกิจเข้าพบเพื่อเสนอให้เจาะถนน 5 สายเพื่อให้น้ำไหลลงด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ

ยิ่งลักษณ์ก็เด้งก้นรับทันที เพราะจนปัญญาแก้ปัญหาน้ำท่วม

วันรุ่งขึ้น ยิ่งลักษณ์นั่งเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจการระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และสถานการณ์น้ำคลองทวีวัฒนา บางบัวทอง สามโคก และปทุมธานี ซึ่งพบว่า ระดับน้ำยังคงสูง และบริเวณกว้าง บางพื้นที่น้ำไหลแรง และสีน้ำค่อนข้างดำ จากนั้นดูการระบายน้ำที่ประตูน้ำจุฬาฯ และคลองรังสิต

ยิ่งลักษณ์ไปพบปะประชาชนชุมชนคลอง 9 และขอความร่วมมือในการขุดถนนฝั่งเลียบคลองรังสิต เพื่อระบายน้ำลงสู่ทุ่ง ก่อนผันน้ำลงคลองหก และคลองแสนแสบ เดิมทีชาวบ้านคัดค้าน แต่เมื่อยิ่งลักษณ์ไปขอร้อง ก็ไม่ปฎิเสธ เนื่องจากรัฐบาลต้องการระบายน้ำจากประตูน้ำจุฬาฯ ให้มากที่สุด เพราะคลอง 9 เป็นที่เนิน ทำให้น้ำจากคลองรังสิตไหลย้อนกลับ เมื่อระบายน้ำจากจุดนี้ได้ จะทำให้ประตูน้ำจุฬาฯ สามารถระบายน้ำได้เร็วขึ้น และลดความเสี่ยงประตูระบายน้ำแตก

หลังจากนั้น แนวทางการขุดถนน ก็ต้องล้มเลิกไป เพราะผลการประเมินระดับพื้นที่แล้ว การขุดถนนไม่สามารถระบายน้ำได้

ก่อนหน้านั้นหลังจาก คนกรุงเทพฯต้องวุ่นวายกับการขนของหนีน้ำกลางดึก เพราะน้ำทะลักคลองประปา และขับรถยนต์ไปจอดเรียงรายบนทางด่วน

ยิ่งลักษณ์บอกกับคนกรุงเทพฯว่า “กทม.วันนี้อยู่ในสถานการณ์ที่เรายังควบคุมได้ และอยู่ในระดับที่น้ำยังมาไม่ถึง คลองประปาเราก็มีการควบคุมอยู่ แต่เพื่อความไม่ประมาท จะมีการป้องกัน กทม.โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของแนวโครงการพระราชดำริ ซึ่งมีพนังกั้นน้ำอยู่ 2.5 เมตร ซึ่งเราก็จะทำแนวกั้นน้ำไว้อีกชั้นหนึ่ง”

เมื่อนักข่าวถามว่า แสดงว่าวันนี้น้ำจะไหลผ่าน กทม.ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “จะเป็นการไหลผ่านคลองทางด้านตะวันออก ซึ่งน้ำที่เอ่อขึ้นมาเราตั้งใจเปิดประตูระบายน้ำ แต่จะไม่เอ่อล้นบนถนน เพราะเราคุมอยู่ เพียงแต่อาจจะมีบางพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ลุ่มหรือพื้นที่ทรุด อาจจะมีน้ำกระฉอกลงไปบ้าง ซึ่งตรงนี้จะมีการตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อสูบน้ำออกให้เร็วที่สุด และได้มีการส่งกำลังเจ้าหน้าที่ไปเฝ้าระวังตามจุดต่างๆ ที่เป็นจุดเสี่ยง โดยจะรายงานเข้ามาทุก 2 ชั่วโมง รวมถึงจะมีคณะทำงานติดตามสถานการณ์ตามจุดที่เฝ้าระวังให้เป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ให้ได้มากที่สุด”

ก่อนหน้านั้น ยิ่งลักษณ์เคยอธิบายแบบท่องจำเขามา ในรายการรัฐบาลพบประชาชนว่า “การระบายน้ำลงสู่ทะเลเป็นวิธีที่ดีที่สุด คือ จากเจ้าพระยาลงทะเล ทั้งด้านตะวันตกและออก โดยใช้เรือผลักดันน้ำทางคลองลัดโพธิ์ 800 ลำ”

นั่นทำให้ก่อนน้ำจะท่วม “นวนคร” ยิ่งลักษณ์ ไปยืนโบกไม้โบกมือส่งยิ้มปล่อยเรือผลักดันน้ำ 500 ลำ ในโครงการ “เรือประชาชนอาสาผันน้ำลงสู่ทะเล” ที่บริเวณสะพานพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี ร่วมกับนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

แต่กรุงเทพฯ ก็ไม่รอดจมน้ำเน่า

น้ำท่วมไปแล้ว 26 จังหวัด คนเดือดร้อนกว่า 2 ล้านคน ล่าสุดผู้เสียชีวิต 427 รายแล้ว

นั่นทำให้หนังสือพิมพ์ในอังกฤษที่ชื่อ "เทเลกราฟ" วิเคราะห์ว่า “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำลังเผชิญกับแรงกดดันครั้งใหญ่จากสังคมไทย ในการทำหน้าที่ของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ที่ขาดความน่าเชื่อถือ จากการรับมือกับปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่มีการแจ้งข้อมูล และการเตือนภัยเหตุน้ำท่วมที่ค่อนข้างสับสนขัดแย้งกับข้อเท็จจริงหลายครั้งจนส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทย”

นสพ.ชื่อดังรายนี้ยังระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความไม่เหมาะสม และความไม่คำนึงถึงกาลเทศะ จากการเลือกสวมใส่รองเท้าบูทราคาเรือนหมื่นของแบรนด์สุดหรูอย่างเบอเบอร์รี่ ออกไปเยี่ยมบรรดาผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่กำลังใช้ชีวิตด้วยความลำบาก

ดังนั้น ปัญหาใหญ่สุดของน้ำท่วมก็คือ เมื่อมีผู้นำที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย แล้วอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปในวันข้างหน้า !??
กำลังโหลดความคิดเห็น