xs
xsm
sm
md
lg

“ทักษิณ”เอาใจส.ส.-ส.ว. มุมมิบเพิ่มสวัสดิการอื้อซ่า ปูทางออกกฎหมายล้างผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**ข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีเริ่มจะเงียบหายไปพร้อมกับลมหนาวที่พัดโชยเข้าปกคลุมเกือบทุกจังหวัดของประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม มีความชัดเจนระดับหนึ่งว่า...ปรับแน่
หลังจากที่แกนนำพรรคเพื่อไทยตั้งแต่ระดับรัฐมนตรี-ส.ส. และพวกนักโทษการเมืองทั้งพวก 111 และ 109 ที่บินไปหา ทักษิณ ชินวัตร ที่สิงคโปร์ในช่วงวันสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเอาหน้าแสดงความยินดีกับทักษิณ ก่อนจะมีการจัดงานฉลองมงคลสมรสให้กับพิณทองทา ชินวัตร เมื่อ 12 ธันวาคม ที่ผ่านมา
มีกระแสข่าวว่า คนที่ไปส่วนใหญ่แม้จะไม่มีใครกล้าถามทักษิณตรงๆ เรื่องปรับครม. แต่พวกที่ไปหาหลายกลุ่มแล้วเมื่อกลับมาเล่าให้คนในพรรคฟังก็คือ ทักษิณ ส่งสัญญาณว่าเรื่องปรับครม.อาจจะคุยกับยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หลังผ่านพ้นสัปดาห์แรกของเดือนมกราคมไปแล้ว
ทำให้พวกส.ส.เพื่อไทย ที่หวังจะรอเสียบเป็นรัฐมนตรี เชื่อว่าหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็น่าจะเริ่มเขย่าปรับครม.แบบปรับเล็กประมาณ 5 เก้าอี้ หลังสภาผู้แทนราษฏรเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2555 ในช่วงต้นเดือนมกราคม แล้วก็รอให้ทอดยาวไปอีกประมาณหนึ่งสัปดาห์ คือรอให้เสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่เชียงใหม่ 16 มกราคม 2555 จากนั้นน่าจะมีความชัดเจนว่าจะเอาอย่างไร
เป็นไปได้ว่า ทักษิณ อาจสั่งปรับครม.แบบรวบรัด ทำเร็วเลยเพราะเป็นการปรับเล็ก ไม่มีอะไรยุ่งยาก แค่ปรับเพื่อแก้ปัญหาบางจุดในรัฐบาลให้ทำงานให้ดีขึ้น ภาพออกมาดูดีมากขึ้น ตัดคนที่มีปัญหา ทำงานไม่เข้าตาออกไป จึงไม่ต้องรออะไรมาก โดยมีความเป็นไปได้ที่คงไม่มีการแตะโควต้ารัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลแน่นอน
ก็เป็นอันว่า เรื่องปรับครม.คงรอให้ผ่านพ้นปีใหม่ไปก่อน เพราะเวลานี้ “เสี่ยแม้ว” กำลังครึ้มอกครึ้มใจ กับการที่ลูกสาวเพิ่งแต่งงาน และรอดูทิศทางการเมืองอะไรหลายอย่างอยู่ จะปรับครม.เมื่อใดไม่ใช่ปัญหา เพราะจริงๆ แล้ว ครม.ทั้งหมดก็อยู่ในการกำกับและคอนโทรลของทักษิณอยู่แล้ว
**สิ่งที่ทักษิณกำลังคิดหนักตอนนี้ก็คือ แผนการต่างๆ ในการจะหาทางกลับประเทศไทยว่าปีหน้าฟ้าใหม่ จะทำอย่างไร ให้บรรลุเป้าประสงค์
ทักษิณคงคิดเช่นกันว่า การปล่อยให้เวลาผ่านไปเรื่อยๆ ย่อมไม่เป็นผลดี ก็ขนาดกุมเสียงข้างมากในสภาฯได้ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง จะออกกฎหมายสักฉบับ เช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมหรือใช้อำนาจบริหารแบบพิเศษ เช่น การออกพระราชกฤษฏีกาอภัยโทษให้ตัวเอง ยังติดขัดไปหมดทำอะไรแทบไม่ได้
ปล่อยให้เวลาผ่านไปเรื่อยๆ หากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทำผลงานดี เข้าตาประชาชน ก็ดีไป มีแต้มต่อในการเอาผลงานรัฐบาลมาสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง
แต่หากกลับกัน ยิ่งอยู่ยิ่งไม่มีผลงาน แถมคะแนนยิ่งตกต่ำ เจอปัจจัยที่อยู่เหนือความคาดหมายเข้าซัดรัฐบาลแบบเดียวกับปัญหาน้ำท่วม ถึงตอนนั้นจะลำบาก หากคิดการใหญ่จะทำทั้งแก้รัฐธรรมนูญ-ออกกฎหมายนิรโทษกรรม หรือ ออกพ.ร.ฎ.อภัยโทษ ในโอกาสพิเศษต่างๆ ก็ปิดประตูล็อกกุญแจตาย หมดโอกาสตลอดชีวิต
จึงต้องจับตาดูกันให้ดีว่า ปีหน้าเป็นต้นไป ทักษิณจะคิดการใดกับการหาทางล้มคดีความของตัวเองทั้งหมดเพื่อให้กลับประเทศไทยได้อีกครา
ซึ่งดูแล้ว แนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุด คงไม่พ้นการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ล่าสุดคนในพรรคเพื่อไทยก็ออกมาแก้ผ้าหมดเปลือกแล้วว่า จะใช้ผลสรุปของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ หรือ กมธ.ปรองดอง ของ พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นใบเบิกทางนำไปสู่การออกกฎหมายนิรโทษกรรม
**แต่จะบังหน้าว่าเป็น “กฎหมายปรองดอง”
เพื่อลดแรงต้านหากใช้ชื่อกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งกรรมวิธีที่จะช่วยทักษิณคงมีหลายกระบวนยุทธ์ อาจไม่ได้มีแค่กฎหมายปรองดองบังหน้าเท่านั้น น่าจะมีหลายกระบวนท่าออกมา แต่ก็คงต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาให้โหวตประทับตราความชอบธรรม
ด้วยเหตุนี้ทักษิณและรัฐบาล ก็ต้องเอาอกเอาใจทุกกลุ่มอำนาจที่จะเกื้อหนุนแผนการได้ ถึงได้บอกไว้แต่ตอนต้นว่าไม่มีทางที่ทักษิณจะไปแตะโควต้ารัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาล อย่างที่ลูกพรรคเพื่อไทยออกมาเรียกร้องให้ยึดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คืนจาก บรรหาร ศิลปอาชา และชาติไทยพัฒนา
เชื่อได้ว่าทักษิณไม่มีทางถีบหัวส่งพรรคร่วมแน่นอน หรือถึงทำก็ต้องมีเงื่อนไขที่ดีกว่า มีกระทรวงใหญ่พอๆ กันเอาไปแลก เพราะทักษิณจำเป็นต้องอาศัยเสียงส.ส.หนุนโหวตให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการออกฎหมายนิรโทษกรรมให้ผ่านออกมา จึงจำเป็นต้องมีแนวร่วมให้มากที่สุด และต้องสร้างพันธมิตรกับทุกกลุ่ม เพื่อทำให้เป้าหมายสำเร็จ
ดูอย่างเช่น กรณีล่าสุดซึ่งครม.เห็นชอบ ร่างพระราชกฤษฏีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธาน และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการ พ.ศ.... และร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเกี่ยวกับการประกันสุขภาพ (การรักษาพยาบาล) ของสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
**ที่ผิดปกติก็คือมีการนำร่างตัวนี้ไปหารือกันในครม. แต่กลับไม่ให้ทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงข่าวให้สาธารณชนรับทราบ
สาระสำคัญคือ ร่างระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเกี่ยวกับการประกันสุขภาพที่ครม.อนุมัติ ได้เพิ่มสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลให้กับ ส.ว.และส.ส. จากที่ปัจจุบัน ส.ว.และส.ส.ได้รับการประกันสุขภาพเป็นรายปี โดยมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายในลักษณะการประกันสุขภาพกลุ่มให้กับผู้รับประกันในอัตราไม่เกิน 20,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณปีละ 12.6 ล้านบาท
แต่ร่างที่แก้ไขฉบับนี้ได้ปรับให้เป็น ส.ว.และ ส.ส. จะได้รับสิทธิประโยชน์สวัสดิการรักษาพยาบาล โดยสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลทั่วไปต่อครั้งได้ 100,000 บาท, ค่าผ่าตัดต่อครั้งได้ 120,000 บาท และค่าตรวจสุขภาพประจำปีได้ 7,000 บาท โดยจะมีผลบังคับใช้ในปีงบประมาณ 2556
นอกจากนี้ตามร่างกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นฯ ที่ครม.อนุมัติ กำหนดให้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร (ประธานรัฐสภา) จะได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่ม เท่ากับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร กรรมาธิการวุฒิสภา กรรมาธิการรัฐสภา และกรรมาธิการร่วมกันของทั้ง 2 สภา ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งเฉพาะครั้งที่มาประชุม ในอัตราครั้งละ 1,500 บาท และกำหนดให้อนุกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร อนุกรรมาธิการวุฒิสภา อนุกรรมาธิการรัฐสภาและอนุกรรมาธิการร่วมกันของทั้ง 2 สภา ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง ครั้งละ 800 บาท
แม้เรื่องนี้จะเป็นการสานต่อมาจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ทำค้างคาเอาไว้ แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็เร่งผลักดันให้โดยเร็ว ส่งผลให้พวก ส.ส.-ส.ว. จะได้ประโยชน์ไปเต็มๆ จากการนี้แม้จะเริ่มในปีงบประมาณ 2556 ก็ตาม แต่ก็เป็นการซื้อใจไว้ล่วงหน้า ว่ารัฐบาลเพื่อไทยเขาให้แต่สิ่งดีๆ ที่ปฏิเสธกันไม่ลง
** แล้วถึงเวลาต้องช่วยเหลือกันในรัฐสภา ไมตรีนี้ก็ต้องตอบแทนกันบ้างไม่ใช่หรือ
กำลังโหลดความคิดเห็น