xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯสภา อ้าง พ.ร.ฎ.เพิ่มเงิน ส.ส.-ส.ว.ค้างมาจากชุดที่แล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิทูร พุ่มหิรัญ  (แฟ้มข่าว)
เลขาฯสภา อ้าง ร่าง พ.ร.ฎ.เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทน ของ ส.ส.และ ส.ว.ค้างการพิจารณามาตั้งแต่สภาชุดที่ผ่านมา ไม่ได้ฉวยโอกาส

วันนี้ (14 ธ.ค.) นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธาน และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธาน และรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการ พ.ศ... ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เสนอ ว่า เรื่องดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องที่ค้างพิจารณามาตั้งแต่สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องที่พิจารณาหรือหยิบยกมานำเสนอใหม่

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ได้พิจารณาและปรับขึ้นเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการไปแล้ว นั้นในส่วนของกรรมาธิการกิจการสภาฯ ยังได้พิจารณาประโยชน์จตอบแทนอย่างอื่นของสมาชิกรัฐสภาต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของสวัสดิการ อาทิ ค่ารักษาพยาบาล และค่าเดินทาง

นายพิทูร กล่าวอีกว่า สำหรับการรักษาพยาบาล และประกันชีวิตนั้น แบบเดิมได้ใช้การประกันสุขภาพกลุ่มให้กับผู้รับประกันในอัตราไม่เกิน 20,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอ, การรักษาไม่ครอบคลุมโรค รวมถึงมีขีดจำกัดเรื่องสถานพยาบาล ทำให้ต้องมาพิจารณาทบทวนกันใหม่ เบื้องต้นนั้นได้หารือกับกระทรวงการคลัง แล้วได้ข้อสรุปว่า ส่วนสวัสดิการดังกล่าวนั้นควรยกให้เทียบเท่ากับข้าราชการ

“ผลการพิจารณาครั้งก่อนได้พิจารณาอย่างรอบคอบ แต่ไม่สามารถนำเสนอให้รัฐบาลชุดที่ผ่านมาพิจารณาทัน เพราะต้องเชิญเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอธิบายรายละเอียด และทำให้ถูกต้อง ดังนั้นเมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาทำหน้าที่แล้ว ดังนั้น ประธานสภาฯ จึงได้ทำหนังสือยืนยันมติเดิม และนำเสนอให้ ครม.พิจารณา ขณะนี้ทราบว่า ทาง ครม.ได้อนุมัติในหลักการเท่านั้น ยังคงต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้งว่า หากการปรับเปลี่ยนสวัสดิการดังกล่าวจะขัดต่อกฎหมายใดหรือไม่ โดยภายหลังจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเสร็จจะต้องนำกลับเข้ามาสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง สำหรับประเด็นค่าตอบแทนอื่นๆ และเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มของประธานสภาที่ระบุว่าให้เท่ากับนายกฯ นั้น ผมไม่ทราบรายละเอียด” นายพิทูร กล่าว

สำหรับรายละเอียดที่ปรากฏตามร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว อาทิ เงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มของประธานและรองประธานสภาฯ ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาฯ และสมาชิกวุฒิสภา โดยให้ประธานสภาฯ (ประธานรัฐสภา) ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มเท่ากับนายกรัฐมนตรีนั้น นายศักดา คงเพชร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อดีตประธานคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของส.ว., ส.ส. และ กรรมาธิการ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2554 ไม่ได้มีการพิจารณาปรับเพิ่มขึ้นใหม่แต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มของ ส.ว.และ ส.ส.ตามพระราชกฤษฎีกา เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของ ส.ว., ส.ส.และ กรรมาธิการ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2554 ระบุไว้ว่า ประธานสภา ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 75,590 บาทต่อเดือน เงินเพิ่ม จำนวน 50,000 บาทต่อเดือน รวมเป็น 125,560 บาท ซึ่งเท่ากับเงินเดือนของนายกรัฐมนตรีที่ได้รับในปัจจุบัน, ประธานวุฒิสภา ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 74,420 บาทต่อเดือน และเงินเพิ่ม 45,500 บาทต่อเดือน รวมเป็น 119,920 บาท

รองประธานสภาฯ, รองประธานวุฒิสภา และผู้นำฝ่ายค้านได้รับเงินเดือนเท่ากันทั้ง 3 ตำแหน่ง คือ เงินประจำตำแหน่ง 73,240 บาทต่อเดือน และเงินเพิ่ม 42,500 บาทต่อเดือน รวมเป็น 115,740 บาทต่อเดือน, ส.ส.และ ส.ว.ได้รับเงินเดือนในจำนวนที่เท่ากัน คือ เงินประจำตำแหน่ง 71,230 บาทต่อเดือนและเงินเพิ่ม 42,330 บาทต่อเดือน รวมเป็น 113,560 บาทต่อเดือน

สำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางของ ส.ส., ส.ว., กรรมาธิการสภา, กรรมาธิการวุฒิสภา, กรรมาธิการรัฐสภา, และกรรมาธิการร่วมกนของ 2 สภา ที่ระบุไว้ว่าให้นำพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้ได้รับสิทธิ์ในอัตราเดียวกันกับหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ส่วนกรรมาธิการที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาฯ, วุฒิสภา ให้ได้รับค่าพาหนะเดินทางนั้น ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบสิทธิประโยชน์ของสมาชิกรัฐสภาและกรรมาธิการ (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2554) พบว่า ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการในประเทศ ส.ส., ส.ว.และกรรมาธิการ จะได้รับเบี้ยเลี้ยง แบบเหมาจ่าย 250 บาทต่อวัน ค่าเช่าที่พัก กรณีเบิกตามจริง จะได้รับ แบบห้องพักคนเดียวจะได้รับ 2,500 บาทต่อคนต่อวัน, ห้องพักคู่จะได้รับ 1,500 บาทต่อคนต่อวัน แต่หากเป็นแบบเหมาจ่าย จะได้รับ 1,200 บาทต่อวันต่อคน

สำหรับค่าพาหนะเดินทางไปราชการในประเทศ ในส่วนของพื้นที่จังหวัดที่มีเขตติดต่อกับกรุงเทพฯ หรือข้ามเขตจังหวัดที่ติดต่อกับกรุงเทพ จะสามารถเบิกค่าเช่าได้ เที่ยวละไม่เกิน 600 บาท ส่วนการเช่าพาหนะข้ามเขตไปจังหวัดอื่นๆ ผู้ที่เดินทางสามารถเบิกได้เที่ยวละไม่เกิน 500 บาท ส่วนค่าชดเชยค่าพาหนะส่วนตัวที่ใช้ในการเดินทาง สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลจะได้รับเงินชดเลย กิโลเมตรละ 4 บาท, รถจักรยานยนต์ ได้รับเงินชดเชย กิโลเมตรละ 2 บาท

สำหรับการเดินทางไปราชการในต่างประเทศ ประธานสภาและประธานวุฒิสภา ได้รับสิทธิในอัตราเดียวกับนายกฯ ส่วนรองประธานสภา, รองประธานวุฒิสภา, ผู้นำฝ่ายค้าน จะได้รับอัตราเดียวกับรองนายกฯ ส่วน ส.ส.และ ส.ว. จะได้รับสิทธิอัตราเดียวกับข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง โดยจะได้รับเบี้ยเลี้ยง 3,100 บาทต่อวัน, ค่าเช่าโรงแรม จะเบิกได้ไม่เกิน 10,000-4,5000 บาทต่อวันต่อคนแล้วแต่ประเภท เป็นต้น

ส่วนเบี้ยประชุมกรรมาธิการ ที่ระบุให้เพิ่มเป็นครั้งละ 1,500 บาทนั้น พบว่า เพิ่มจากเดิมที่ให้อัตราไม่เกินคนละ 1,200 บาท, เบี้ยประชุมคณะอนุกรรมาธิการที่ระบุให้รับได้ 800 บาทนั้นยังคงเป็นอัตราเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น