xs
xsm
sm
md
lg

พิษร้ายของประชาธิปไตย (2) ว่าด้วยมิติด้านต่างประเทศ

เผยแพร่:   โดย: สุรพงษ์ ชัยนาม

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าจักรวรรดินิยมสมัยใหม่ (ยุคโลกาภิวัตน์) คือ จักรวรรดิทุนนิยมที่อยู่ภายใต้อำนาจนำและอิทธิพลครอบงำของสหรัฐฯ กลุ่มประเทศทุนนิยมตะวันตกและบรรดาบรรษัทข้ามชาติที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาลของประเทศมหาอำนาจทุนนิยมตะวันตก อีกทั้งไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าหลังสิ้นสุดยุคสงครามเย็น (พ.ศ. 2532) โครงสร้างอำนาจของระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้เปลี่ยนจากสองขั้วเป็นหลายขั้วจากสองศูนย์อำนาจเป็นหลายศูนย์อำนาจทำหน้าที่ถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ความขัดแย้งรุนแรงด้านอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองได้ถูกแทนที่โดยความขัดแย้งเพื่อช่วงชิงผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนเป็นสำคัญ เป็นความขัดแย้งที่มิได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลครอบงำของปัจจัยด้านลัทธิอุดมการณ์ หากเป็นเรื่องของผลประโยชน์แห่งชาติของแต่ละประเทศมากกว่าปัจจัยด้านอื่นใด

จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความขัดแย้ง การแข่งขันช่วงชิงผลประโยชน์ด้านต่างๆ หรือเรื่องของความร่วมมือระหว่างประเทศ ล้วนดำเนินอยู่ภายใต้อำนาจนำหรือระบบการครองความเป็นใหญ่ของเศรษฐกิจทุนนิยมและประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบตะวันตกเป็นสำคัญ

1. เครื่องมือด้านนโยบายของจักรวรรดิทุนนิยม (imperial repertoire)

กล่าวโดยสรุปได้ว่าจักรวรรดิทุนนิยม (capitalist imperialism) ที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ มีนโยบายและเป้าประสงค์หลักเพื่อขยายผลประโยชน์และอิทธิพลของทุนนิยมตะวันตก ตลอดจนเพื่อสถาปนาการครองความเป็นใหญ่ในระดับโลกของระบบทุนนิยม (capitalist hegemonic system) ให้ดำรงอยู่อย่างมั่นคงเพื่อหวังให้เป็นการป้องกันมิให้มีระบบเศรษฐกิจ-การเมืองอย่างอื่นสามารถเติบโตขึ้นมาท้าทายการครองความเป็นใหญ่ของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและระบบประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบตะวันตก อย่างที่เคยต้องประสบมาแล้วในยุค 40 กว่าปีของสงครามเย็น (การแข่งขันท้าทายจากระบบเศรษฐกิจ-การเมืองแบบคอมมิวนิสต์) และในเมื่อปัจจุบันยังไม่ปรากฏชัดแจ้งว่ามีระบบเศรษฐกิจ-การเมืองที่สามารถเป็นทางเลือกใหม่แทนระบบทุนนิยมและระบบประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบตะวันตก

ฝ่ายจักรวรรดิทุนนิยมจึงพยายามโหมเร่งการโฆษณาชวนเชื่อเผยแพร่ชุดความคิดที่เป็นพิษร้ายที่มีลักษณะเป็นสูตรสำเร็จรูป เพื่อหวังหลอกลวงให้ประชาชนของทั้งประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาติดกับดักหลงเชื่อว่าในโลกปัจจุบันมีเฉพาะระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและระบบประชาธิปไตยเสรีนิยมที่ถูกออกแบบโดยฝ่ายกลุ่มประเทศตะวันตก (จักรวรรดิทุนนิยม) เท่านั้นที่จะสามารถนำความเจริญรุ่งเรืองความผาสุกอยู่ดีกินดีให้กับมวลมนุษยชาติได้ และว่าระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและระบบประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบตะวันตกเป็นสิ่งเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ทั้งสองอย่างเป็นคู่แฝดกัน มีเศรษฐกิจทุนนิยมก็ต้องมีประชาธิปไตยเสรีนิยม ในทางกลับกันมีระบบประชาธิปไตยเสรีนิยมก็ต้องมีระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่ออกแบบโดยจักรวรรดิทุนนิยม (สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศทุนนิยมตะวันตก เช่น 27 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา เป็นอาทิ)

เพื่อให้บรรลุซึ่งเป้าประสงค์แห่งนโยบายของจักรวรรดิทุนนิยมดังกล่าวข้างต้น จักรวรรดิทุนนิยมมีบรรดาเครื่องไม้เครื่องมือที่หลากหลายอยู่ในครอบครอง และสามารถนำออกมาใช้ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่องและอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาทั้งหลายมีนโยบาย ท่าที และการดำเนินการที่อยู่ในกรอบที่อำนาจจักรวรรดิทุนนิยมได้วางไว้เพื่อให้ตอบสนองผลประโยชน์ด้านต่างๆ ของจักรวรรดิทุนนิยมได้

บรรดาเครื่องมือต่างๆ ของกลุ่มประเทศจักรวรรดิทุนนิยมจะถูกนำมาใช้ทั้งโดยตรงหรือผ่านกลุ่มชนชั้น/กลุ่มผลประโยชน์ที่มีอยู่ในประเทศที่ตกเป็นเป้าของการใช้เครื่องมือด้านนโยบายของจักรวรรดิทุนนิยม ซึ่งกลุ่มชนชั้น/กลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้มีความยินดีและสมัครใจทำหน้าที่เป็นตัวแทน/ร่างทรงให้กับจักรวรรดิทุนนิยมด้วยต่างมีผลประโยชน์ร่วมกัน

กล่าวได้ว่าการใช้บรรดาเครื่องมือเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของจักรวรรดิทุนนิยมทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นอำนาจเพื่อการบีบบังคับ (hard power) หรืออำนาจเพื่อการโน้มน้าวความคิดขอความสมัครใจ/ยินยอม (soft power) ล้วนเป็นการใช้อำนาจเพื่อให้ประเทศที่ตกเป็นเป้ามีความคิด พฤติกรรม และการดำเนินการที่เป็นประโยชน์ต่อจักรวรรดิทุนนิยม หรือหากไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของจักรวรรดิทุนนิยม

การดำเนินใช้บรรดาเครื่องมืออันหลากหลาย ฝ่ายจักรวรรดิทุนนิยมสามารถเลือกดำเนินการได้หลายด้าน สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1.1 ดำเนินการเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองเพื่อเอื้อต่อการสะสมทุน ตลอดจนปรับ/เปลี่ยนวัฒนธรรมค่านิยมให้เป็นวัฒนธรรมและค่านิยมที่สนับสนุนส่งเสริมบริโภคนิยม ส่งเสริมและสนับสนุนระบบการเมืองประชาธิปไตยเสรีนิยมที่เน้นเฉพาะรูปแบบเท่านั้น โดยให้ความสำคัญกับการมีการเลือกตั้งเป็นหลักเกณฑ์ชี้ขาดความเป็นประชาธิปไตยและถือว่าประชาธิปไตยหมายถึงการเลือกตั้งเป็นสำคัญ

ส่วนการเลือกตั้งจะสกปรกโสมม ไม่โปร่งใส ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม มีการซื้อสิทธิซื้อเสียงมากน้อยเพียงใดไม่ใช่ประเด็นสำคัญและไม่เป็นอุปสรรคต่อการรับรองความเป็นประชาธิปไตยของฝ่ายพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง เพราะคำนิยามของประชาธิปไตยที่ฝ่ายจักรวรรดิทุนนิยมกำหนดให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนามีเพียงเรื่องของการจัดให้มีการเลือกตั้งเท่านั้น ชัยชนะจากผลของการเลือกตั้งคือปัจจัยที่จะประทับตราความชอบธรรมให้กับฝ่ายที่ชนะการเลือกตั้ง เพราะสำหรับประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาการเลือกตั้งเป็นทั้งรูปแบบและเนื้อหาของประชาธิปไตย ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาไม่มีความเจริญ ไม่มีความรู้พอที่จะมีระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยเสรีนิยมอย่างที่กลุ่มประเทศตะวันตกมี

1.2 ดำเนินการผ่านการใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงโดยตรง ตลอดจนการปฏิบัติการในทางลับ (เช่น ให้เงินสนับสนุนพรรคและกลุ่มการเมืองที่จักรวรรดิทุนนิยมต้องการให้ชนะการเลือกตั้ง ให้เงินสนับสนุนอันธพาลการเมืองเพื่อทำการเคลื่อนไหวก่อกวน ข่มขู่รัฐบาลที่จักรวรรดิทุนนิยมต้องการโค่น เป็นต้น) และการใช้กำลังทหารรุกรานเข้ายึดครองประเทศที่จักรวรรดิทุนนิยมมองว่าแข็งข้อเป็นอุปสรรคต่อผลประโยชน์ของจักรวรรดิทุนนิยม เพื่อทำการเปลี่ยนระบอบการเมืองการปกครอง (regime change) ให้ได้มาซึ่งระบอบที่ยอมอยู่ในโอวาทของจักรวรรดิทุนนิยม

ดังกรณีตัวอย่างที่มีมากมายเกี่ยวกับการที่หน่วยสืบราชการลับของสหรัฐฯ หรือ ซีไอเอได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการรัฐประหารในหลายประเทศกำลังพัฒนาของทวีปเอเชีย อเมริกาใต้ อเมริกากลาง ตลอดกว่า 40 กว่าปีของยุคสงครามเย็นเพื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ที่มีนโยบายสนองผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ได้

1.3 ดำเนินการผ่านนโยบายสร้างชาติ (nation building) และการเขียนรัฐธรรมนูญให้ใหม่ (เช่น กรณีสหรัฐฯ เขียนรัฐธรรมนูญให้ญี่ปุ่นหลังญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง หรือกรณีสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทำสงครามรุกรานและยึดครองประเทศที่ฝ่ายจักรวรรดิทุนนิยมมองว่าเป็นรัฐที่ล้มเหลว และออกแบบระบบเศรษฐกิจและการเมืองใหม่ให้เพื่อตอบสนองผลประโยชน์แก่จักรวรรดิทุนนิยม ดังกรณีของประเทศอิรัก อัฟกานิสถาน ลิเบีย และอียิปต์ เป็นต้น)

1.4 ดำเนินการผ่านการจัดตั้งรัฐบริวาร (client state) และชนชั้นปกครองที่สามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนรับใช้ผลประโยชน์ของจักรวรรดิทุนนิยมได้

1.5 ดำเนินการผ่านการมีฐานทัพอย่างถาวรในบรรดากลุ่มประเทศบริวารของจักรวรรดิทุนนิยม (ปัจจุบันสหรัฐฯ มีฐานทัพทั้งใหญ่และเล็กในกว่า 700 แห่งทั่วโลก)

1.6 ดำเนินการผ่านการชักชวน/บีบบังคับให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาเข้าเป็นภาคีของสนธิสัญญา สัญญา อนุสัญญาและข้อตกลงต่างๆ ของบรรดาองค์การและสถาบันระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านเศรษฐกิจ การค้า การเงิน การลงทุน ตลอดจนความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคงด้านสังคมวัฒนธรรม เพื่อใช้สนธิสัญญาและข้อตกลงด้านต่างๆ ผูกมัดและกำกับประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนามิให้ดำเนินการไปในทางที่จะเป็นภัยหรือเป็นอุปสรรคขัดขวางผลประโยชน์ของจักรวรรดิทุนนิยม

จากข้อเท็จจริงปรากฏในข้อ 1.1 - 1.6 ข้างต้นย่อมเป็นที่ประจักษ์ได้ว่าฝ่ายกลุ่มประเทศจักรวรรดิทุนนิยมตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ได้ใช้เครื่องมือด้านต่างๆ เหล่านี้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัย 40 กว่าปีของยุคสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน (ยุคหลังสงครามเย็น) โดยในยุคสงครามเย็นจะเน้นการดำเนินการในทุกข้อยกเว้นข้อ 1.3 และเป็นการดำเนินการโดยพึ่งมาตรการบีบบังคับ (hard power) เป็นสำคัญ

ส่วนในยุคปัจจุบัน (ยุคหลังสงครามเย็น) สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศทุนนิยมตะวันตกแม้จะยังคงดำเนินการในทุกข้อตั้งแต่ 1.1 - 1.6 ก็ตาม แต่จะพยายามหันมาพึ่งข้อ 1.1 ข้อ 1.4 และข้อ 1.6 มากกว่า (soft power) ด้วยเหตุผลสำคัญเป็นเพราะปัจจุบันไม่มีภัยคุกคามจากอำนาจท้าทายของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่เคยเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาในการพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจและการเมืองในสมัยยุคสงครามเย็น

2. นโยบายเปิดโอกาสให้เผด็จการได้สวมหน้ากากประชาธิปไตย

ในสมัยสงครามเย็นสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศตะวันตกมีนโยบายร่วมกันต่อต้านการแพร่ขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ทั่วโลก โดยนโยบายดังกล่าวของสหรัฐฯ มีเนื้อหาที่ชัดเจนอยู่ในเอกสารของสภาความมั่นคงของสหรัฐฯ ที่เรียกว่า NSC-68 เอกสารลับชิ้นนี้กระทำขึ้นมาหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองในสมัยของประธานาธิบดีทรูแมน เนื้อหาโดยสรุปของ NSC-68 ก็คือ สหรัฐฯ จะทำการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ทั่วทุกมุมโลกและจะปกป้องให้ความช่วยเหลือประเทศที่อยู่ในค่ายโลกเสรีที่ประสบภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ปกป้องระบอบประชาธิปไตย ผลประโยชน์และความมั่นคงของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ในบรรดากลุ่มประเทศที่สังกัดอยู่ในค่ายโลกเสรีนั้น กว่า 70% หาได้มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ก็ได้รับการยอมรับจากสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศตะวันตกว่าเป็นประเทศฝ่ายประชาธิปไตย เพียงเพราะประเทศเผด็จการเหล่านี้มีนโยบายร่วมต่อต้านกลุ่มประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจน (ซึ่งประเทศไทยก็รวมอยู่ในกลุ่มนี้)

ปัจจุบันซึ่งถือเป็นยุคหลังสงครามเย็นยุคที่ปราศจากการต่อสู้ด้านลัทธิอุดมการณ์ ปราศจากภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ เป็นยุคที่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและประชาธิปไตยเสรีนิยม ครองความเป็นใหญ่แต่ฝ่ายเดียว ที่กลุ่มประเทศของจักรวรรดิทุนนิยมมีนโยบายเชิงรุกอย่างเป็นระบบอย่างชัดเจน แตกต่างจากในยุคสงครามเย็นซึ่งฝ่ายทุนนิยมจะมีนโยบายที่มีลักษณะเป็นไปในเชิงตั้งรับมากกว่าเป็นไปตามนโยบายสกัดกั้นการแผ่อิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์หรือที่เรียกว่า containment policy ของสหรัฐฯ ที่ปรากฏในเอกสาร NSC-68

นโยบายเชิงรุกของจักรวรรดิทุนนิยมในยุคหลังสงครามเย็นจะมีองค์ประกอบสำคัญสองประการ คือ เรื่องของการส่งเสริมและคุ้มครองการเคารพสิทธิมนุษยชน (เริ่มอย่างเป็นระบบสมัยอดีตประธานาธิบดีเรแกน) และเรื่องของการส่งเสริมประชาธิปไตย (เริ่มอย่างจริงจังสมัยอดีตประธานาธิบดีคลินตัน) ส่วนเหตุผลทำไมสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศทุนนิยมตะวันตก (จักรวรรดิทุนนิยม) นำเอาเรื่องของสิทธิมนุษยชนและการส่งเสริมประชาธิปไตยมาเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางการเมืองระหว่างประเทศหลังยุคสงครามเย็น พอสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

2.1 เพราะสหรัฐฯ ตระหนักดีว่า แม้การล่มสลายของค่ายคอมมิวนิสต์ถือได้ว่าเป็นชัยชนะขั้นสำคัญของระบบทุนนิยมและประชาธิปไตยเสรีนิยม ด้วยสามารถกำจัดศัตรูร้ายแรงของค่ายเสรีประชาธิปไตยให้สาบสูญไปได้ และนำไปสู่การสิ้นสุดของความขัดแย้งและการต่อสู้ทางลัทธิอุดมการณ์ แต่หากฝ่ายจักรวรรดิทุนนิยมไม่ประสงค์ที่จะต้องเผชิญหน้ากับการมีคู่ต่อสู้ด้านลัทธิใหม่เกิดขึ้นในอนาคต (อย่างที่เคยเผชิญหน้าต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์มาแล้วช่วง 40 กว่าปีของยุคสงครามเย็น) ก็จำเป็นที่ฝ่ายจักรวรรดิทุนนิยมจำต้องหาทางทำให้ระบบทุนนิยมและประชาธิปไตยเสรีนิยมเป็นที่ชื่นชอบเลื่อมใสและเป็นที่ยอมรับได้จากประชาคมโลก

2.2 เพราะมองว่าเรื่องของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเป็นค่านิยมที่มีลักษณะความเป็นสากลสูง ไม่มีประเทศใดทำการผูกขาดได้ จะสามารถทำหน้าที่เป็นปัจจัยดึงดูดเรียกร้องความสนใจและการสนับสนุนจากประชาคมโลกได้อย่างไม่ยาก

2.3 เพราะสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศทุนนิยมตะวันตก (จักรวรรดิทุนนิยม) ตระหนักดีถึงคุณค่าและศักยภาพของปัจจัยสิทธิมนุษยชนและปัจจัยประชาธิปไตยว่าสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ (ของจักรวรรดิทุนนิยม) ด้วยทั้งสองปัจจัยดังกล่าวสามารถถูกนำมาอ้างเป็นเหตุผลส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายของฝ่ายสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศทุนนิยมตะวันตก (จักรวรรดิทุนนิยม) โดยเฉพาะอย่างยิ่งนำมาอ้างเพื่อสนับสนุนการดำเนินการทางการทหารของฝ่ายสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศทุนนิยมตะวันตกที่ได้มีผลนำไปสู่การเปลี่ยนระบอบการเมืองและรัฐบาลของประเทศที่ตกเป็นเป้าของการปฏิบัติการทางทหารของฝ่ายสหรัฐฯ

และกลุ่มประเทศทุนนิยมตะวันตกทั้งหมดนี้จักรวรรดิทุนนิยมได้อ้างปัจจัยสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยมาเป็นเหตุผลสนับสนุนรองรับการปฏิบัติการแทรกแซงด้านมนุษยธรรม เพื่อเป้าประสงค์ทำความเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองของประเทศที่ตกเป็นเป้าหมาย (humanitarian intervention and regime change) การปฏิบัติการทางการทหาร (ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม) ของฝ่ายกลุ่มประเทศตะวันตกตามนัยของเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ก็ได้รับการยืนยันจากเหตุการณ์ในอิรัก อัฟกานิสถาน และลิเบียมาแล้ว และคงจะมีอีกในอนาคตอันใกล้

อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมว่าในยุคสงครามเย็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของทุนนิยมคือ ลัทธิคอมมิวนิสต์ จึงเห็นได้ว่าตลอดกว่า 60 ปีของยุคสงครามเย็นกลุ่มมหาอำนาจฝ่ายตะวันตกภายใต้การนำของสหรัฐฯ จึงได้มีนโยบายสนับสนุนปกป้องระบอบการเมืองและรัฐบาลของทุกประเทศที่ให้ความร่วมมืออย่างแข็งขันกับฝ่ายสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศตะวันตกทำการต่อสู้และต่อต้านภัยคุกคามจากกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ (ไม่ว่ารัฐบาลของประเทศที่ร่วมต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์จะเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยหรือเผด็จการ เพราะความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ อยู่ที่ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์หรือไม่)

2.4 มาบัดนี้ (ยุคหลังสงครามเย็น) ภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ตายไปแล้ว แต่จักรวรรดิทุนนิยมก็ไม่อาจนิ่งนอนใจได้ เพราะไม่ต้องการให้มีคู่แข่ง/ศัตรูใหม่ขึ้นมาท้าทายระบบทุนนิยมและระบบเสรีประชาธิปไตยขึ้นมาอีก ด้วยหากวันหนึ่งเกิดมีอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ-การเมืองที่ไม่ใช่ทุนนิยมและประชาธิปไตยแบบของฝ่ายกลุ่มประเทศตะวันตก การครองความเป็นใหญ่หรืออำนาจนำของจักรวรรดิทุนนิยมปัจจุบันก็จะถูกท้าทายและทำให้สั่นคลอนได้

ดังนั้นกลุ่มมหาอำนาจทุนนิยมตะวันตกจึงมักมองว่ารัฐบาลของประเทศใดก็ตามที่มีนโยบายและท่าทีที่มีลักษณะเป็นชาตินิยมสูง พยายามดำเนินนโยบายที่มีความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเองเพื่อตอบสนองผลประโยชน์แห่งชาติอย่างแท้จริง เป็นรัฐบาลที่มีแนวโน้มสูงที่จะไม่ยอมให้ความร่วมมือกับจักรวรรดิทุนนิยม (ไม่ยอมเป็นประเทศบริวารของจักรวรรดิทุนนิยม)

ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงดังกล่าว กลุ่มประเทศมหาอำนาจทุนนิยมตะวันตกจึงพยายามคิดค้นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของประเทศที่ฝ่ายทุนนิยมตะวันตกถือว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย พร้อมออกแบบระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและระบบการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และด้อยพัฒนาทั้งหลายเพื่อให้มีรัฐบริวารหรือกึ่งบริวารของจักรวรรดิทุนนิยมให้มากที่สุด ซึ่งระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่ถูกออกแบบให้นั้นจะมีความคล้ายคลึงกับที่มีอยู่ในประเทศทุนนิยมตะวันตกเพียงด้านเปลือกภายนอกเท่านั้น หาได้มีความเหมือนด้านเนื้อหาไม่ (เหมือนยุคล่าอาณานิคมที่ระบบเศรษฐกิจ และการเมืองจะมีความเป็นประชาธิปไตยในประเทศเจ้าอาณานิคม แต่จะเป็นเผด็จการในประเทศที่ตกเป็นอาณานิคม)

สำหรับข้ออ้าง (แบบลมๆ แล้งๆ) ของจักรวรรดิทุนนิยมเพื่อหวังกล่อม/หลอกลวงประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาให้เห็นดีเห็นชอบด้วย พอสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

- สิทธิมนุษยชน = ประชาธิปไตย

- เศรษฐกิจทุนนิยม = ประชาธิปไตย

- ประชาธิปไตย = ความเจริญก้าวหน้าและทำให้เศรษฐกิจเติบโต

ก. จะเห็นได้ว่าข้ออ้างทั้งสามข้างต้นเป็นเรื่องไร้สาระอย่างยิ่ง แต่สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศตะวันตกก็รู้ดีว่ามันไร้สาระ แต่เป็นเพราะจักรวรรดิทุนนิยมมีวาระซ่อนเร้นจึงนำเสนอเช่นนี้ สิทธิมนุษยชนและการเคารพสิทธิมนุษยชนไม่เกี่ยวอะไรเลยแม้แต่น้อยกับความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตย การเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรมมากกว่าอย่างอื่น จะมีหรือไม่มีประชาธิปไตย การเคารพสิทธิมนุษยชนจะต้องมีอยู่ แล้วหากเรายอมรับว่ามนุษย์ไม่ใช่สัตว์เดรัจฉาน

และหากเราย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติกี่ร้อยปีที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่ามนุษย์ได้รบราฆ่าฟันกันมาในนามของอุดมการณ์ประชาธิปไตยมากต่อมากแล้ว เป็นผลให้มีการสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนหลายร้อยล้านคนมาแล้ว ซึ่งก็คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เพราะฉะนั้นการอ้างว่าต้องมีการเคารพสิทธิมนุษยชนจึงจะถือได้ว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย จึงเป็นเรื่องไร้สาระสิ้นดี

ข. ส่วนข้ออ้างที่ว่าการมีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมแบบตะวันตกคือ ความเป็นประชาธิปไตยเพราะสองอย่างนี้เป็นของคู่กัน ก็เป็นเรื่องไร้สาระอีกเช่นกัน เพราะข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ ชี้ให้เราเห็นได้อย่างชัดแจ้งแล้วว่า มีหลายประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูง แต่หาได้มีเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (เช่น ประเทศอินเดียตลอด 40 กว่าปีของยุคสงครามเย็นเป็นประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุดของทวีปเอเชีย แต่มีเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม หรือประเทศไทยในยุคสงครามเย็นมีระบบเศรษฐกิจทุนนิยม แต่การเมืองการปกครองส่วนใหญ่เป็นเผด็จการมากกว่าประชาธิปไตย)

ค. สำหรับข้ออ้างที่ว่าประชาธิปไตยจะนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าและการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ไร้สาระสิ้นดีเหมือนกัน แค่ดูตัวอย่างระหว่างความเจริญและการเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียกับเศรษฐกิจของจีน ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนใหญ่เป็นอันดับสองของโลก (แซงญี่ปุ่นแล้ว) ทั้งที่จีนมิได้มีการปกครองแบบประชาธิปไตยเสรีนิยมตะวันตก อินเดียซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยมมาตลอด 60 กว่าปี นับแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ แต่มีความยากจนอย่างมาก โดยประชาชน 80% มีรายได้น้อยกว่า 2 เหรียญสหรัฐต่อวัน

ขณะที่จีนประชาชนที่มีรายได้น้อยกว่า 2 เหรียญสหรัฐ มีเพียง 40% คนอินเดียมีอายุเฉลี่ยนานถึง 69 ปี ขณะที่คนจีนนานถึง 73 ปี อัตราการตายของทารกในอินเดียประมาณ 30 คนต่อทุก 1,000 คน ขณะที่ของจีนคือ 20 คน ต่อทุก 1,000 คน สรุปคือ จีนได้คะแนนสูงกว่าอินเดียในทุกด้าน ยกเว้นเสรีภาพของปัจเจกบุคคล เรื่องของการมีนิติรัฐและเรื่องของเสรีภาพของสื่อมวลชน ซึ่งอินเดียมี แต่จีนมีจำกัดมาก (Humphrey Hawksley : Democracy kills หน้า 161 และ 175)

จากข้อเท็จจริงในข้อ ก. ข. และ ค. ข้างต้น จึงเห็นได้ว่าข้ออ้างของจักรวรรดิทุนนิยมมิใช่ข้ออ้างที่มาจากเหตุผล ข้อเท็จจริง และความเป็นจริง แต่เป็นเรื่องของการโฆษณาชวนเชื่อ เพราะจักรวรรดิทุนนิยมกลัวโมเดลการพัฒนาประเทศของจีนจะเป็นที่ดึงดูดความนิยมและความเลื่อมใสของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาของโลก เนื่องจากกลุ่มประเทศเหล่านี้เห็นถึงศักยภาพของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศภายใต้ทุนนิยมรัฐ (state capitalism) ของจีนว่าสามารถพิสูจน์ประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรมในทางเป็นจริงได้ ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว (จีนหันมายึดระบบทุนนิยมรัฐเพียงช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี้เอง) ในขณะที่ทุนนิยมที่ฝ่ายกลุ่มประเทศทุนนิยมพยายามยัดเยียดให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาทั้งหลายกลับได้นำความหายนะมาให้ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาทั่วโลก

จากข้อเท็จจริงปรากฏในข้อ 2 ทั้งหมดข้างต้น จึงพอเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งแล้วว่าจักรวรรดิทุนนิยมตะวันตกใช้เรื่องของสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย นิติรัฐ/นิติธรรม มาเป็นเพียงอาวุธของการโฆษณาชวนเชื่อ หวังมอมเมารัฐบาลและประชาชนของประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาหลงผิดหลงเชื่อในภาพลวงตาเพื่อหวังสร้างประเทศบริวารของจักรวรรดิทุนนิยมให้มีมากที่สุด แต่จำเป็นต้องปิดบังเป้าประสงค์แท้จริง โดยเอาเรื่องของประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และนิติรัฐ/นิติธรรม มากลบเกลื่อนเจตนาอันแท้จริง

นั่นก็คือให้ทุกประเทศในโลกนี้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลครอบงำและอำนาจนำของจักรวรรดิทุนนิยมตะวันตก เพื่อรับใช้และตอบสนองผลประโยชน์ทุกด้านของจักรวรรดิทุนนิยมตะวันตก ด้วยการสนับสนุน บีบบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อมให้เปิดประเทศต้อนรับทุนนิยมผูกขาดของฝ่ายประเทศทุนนิยมตะวันตกอย่างปราศจากเงื่อนไข และไม่ให้มีความคิดมีพฤติกรรมออกนอกรีตนอกกรอบที่จักรวรรดิทุนนิยมได้กำหนดไว้ (ให้อยู่ในสถานภาพของความเป็นรัฐบริวารหรือกึ่งบริวาร)

อย่างไรก็ตาม จักรวรรดิทุนนิยมตระหนักดีว่า หากประสงค์ให้นโยบายครองความเป็นใหญ่ของจักรวรรดิทุนนิยมสัมฤทธิผล ก็จำเป็นต้องมีรัฐบริวารหรือกึ่งบริวารภายใต้การกำกับดูแลของจักรวรรดิทุนนิยมให้มากที่สุดเหมือนในสมัยยุคสงครามเย็น หรืออีกนัยหนึ่งคือการกลับไปพึ่งนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายทุนนิยมตะวันตกเคยใช้ดำเนินการมาแล้วในการต่อต้าน/ต่อสู้อิทธิพลของฝ่ายค่ายคอมมิวนิสต์ช่วง 60 ปีของยุคสงครามเย็น เพียงแต่ว่าการต่อสู้/แข่งขันในยุคนี้ (ยุคหลังสงครามเย็น)

ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับความขัดแย้งด้านลัทธิ-อุดมการณ์ เพราะปัจจุบันวาทกรรมที่ครองความเป็นใหญ่ในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (hegemonic discourse) คือ เศรษฐกิจทุนนิยมและประชาธิปไตยเสรีนิยม แต่เป็นความขัดแย้งที่ถูกปรุงแต่งและกำหนดโดยปัจจัยด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ (เช่น การแข่งขันช่วงชิงตลาดสินค้า แหล่งการผลิตการลงทุน แหล่งทรัพยากรโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพลังงาน เป็นต้น)

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับ/เปลี่ยนยุทธศาสตร์ให้เข้ากับสภาพข้อเท็จจริงของยุคหลังสงครามเย็น นั่นก็คือการสร้างเครือข่ายรัฐบริวารที่ร่วมมือส่งเสริม สนับสนุน และปกป้องผลประโยชน์ของจักรวรรดิทุนนิยมตะวันตก ด้วยการออกแบบเศรษฐกิจทุนนิยมและประชาธิปไตยเสรีนิยมให้กับบรรดากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่จักรวรรดิทุนนิยมตะวันตก

ในยุคสงครามเย็นการต่อต้านคอมมิวนิสต์ถือเป็นหลักเกณฑ์ชี้ขาดว่าประเทศกำลังพัฒนา และด้อยพัฒนาประเทศใดเป็นประชาธิปไตย ส่วนในทางเป็นจริงประเทศที่ร่วมต่อต้านคอมมิวนิสต์จะมีการปกครองแบบเผด็จการหรือไม่ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเผด็จการทั้งสิ้น) ฝ่ายสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศตะวันตกไม่ได้ให้ความสำคัญ ขอเพียงร่วมหัวจมท้ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ก็มีคุณสมบัติของความเป็นประเทศประชาธิปไตยแล้ว มาปัจจุบันหลักเกณฑ์ชี้ขาดว่าประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาประเทศใดเป็นประชาธิปไตย อยู่ที่ว่าประเทศนั้นมีรัฐบาลและผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งหรือเปล่า

ส่วนการเลือกตั้งจะมีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม โปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ไม่ใช่เป็นประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาตัดสินความเป็นประชาธิปไตย เพราะความเป็นประชาธิปไตยตัดสินกันด้วยชัยชนะที่มาจากการเลือกตั้งเป็นสำคัญ (เหมือนในอดีตยุคสงครามเย็นที่ผู้นำของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาทั้งหลายที่สังกัดอยู่ในโลกค่ายเสรีประชาธิปไตย 80% เป็นไม่เผด็จการ พลเรือนก็เผด็จการทหาร แต่ก็ได้ชื่อว่าเป็นประเทศและรัฐบาลประชาธิปไตย เพราะเข้าร่วมต่อต้านค่ายคอมมิวนิสต์กับสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศทุนนิยมตะวันตก)

นอกจากนั้นประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาจะได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ อยู่ที่ว่าประเทศนั้นตอบสนองผลประโยชน์ของจักรวรรดิทุนนิยมหรือไม่ จึงเห็นได้ว่าเรื่องของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและที่สนับสนุนสนองผลประโยชน์ของจักรวรรดิทุนนิยมเป็นปัจจัยชี้ขาดในด้านความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตยของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา

ในเมื่อจักรวรรดิทุนนิยม (ภายใต้การนำของสหรัฐฯ) ได้นำเอาปัจจัยประชาธิปไตย (ที่เน้นเพียงเรื่องของการเลือกตั้งและผลของการเลือกตั้งเป็นเนื้อหาสำคัญของประชาธิปไตย) และการมีเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี (liberal capitalism) ที่ฝ่ายทุนนิยมตะวันตกออกแบบให้ (ที่เน้นเรื่องการแปรรูป การเปิดประเทศในทุกด้าน การค้าเสรีที่ไม่ยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย) มาเป็นเครื่องมือของนโยบายต่างประเทศ เพื่อให้มีรัฐบริวารมากที่สุด แต่นโยบายนี้จะประสบผลมากน้อยแค่ไหนย่อมขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการมีผู้นำและรัฐบาลของรัฐบริวารที่ดูประหนึ่งว่าเป็นประชาธิปไตย (เพราะมาจากการเลือกตั้ง เพราะชัยชนะจากการเลือกตั้งจะเป็นสิ่งประทับตราความชอบธรรมให้กับผู้นำและรัฐบาล)

และนี่ก็คือที่มาของนโยบายให้โอกาสเผด็จการสวมหน้ากากประชาธิปไตย (dictator masquerading as democrat) ที่ฝ่ายสหรัฐฯ และประเทศทุนนิยมตะวันตกร่วมมือกันส่งเสริม สนับสนุนผ่านการโฆษณาชวนเชื่อว่าประชาธิปไตยคือการมีการเลือกตั้งเป็นสำคัญ

แต่ทั้งนี้ผู้นำที่ชนะการเลือกตั้ง (ส่วนการเลือกตั้งนั้นจะสกปรกหรือใสสะอาดไม่สำคัญ) จะต้องเป็นผู้สมัครที่ทางฝ่ายจักรวรรดิทุนนิยมสนับสนุนจึงจะถือว่าเป็นประชาธิปไตย ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่จักรวรรดิทุนนิยมได้กำหนดไว้ และการที่ฝ่ายจักรวรรดิทุนนิยมต้องการให้ผู้นำของประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาขึ้นมามีอำนาจรัฐบาลผ่านการชนะการเลือกตั้งก็เพื่อหาทางกลบเกลื่อนวาระซ่อนเร้นแท้จริงของจักรวรรดิทุนนิยม เพื่อให้ดูว่าผู้นำและรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาเป็นผู้นำและรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยได้รับความไว้วางใจการสนับสนุนจากประชาชน มิได้เป็นนอมินีหรือร่างทรงให้กับจักรวรรดิทุนนิยม แต่เป็นผู้แทนของประเทศและประชาชนของตน และเป็นประชาธิปไตย เพราะมาจากการเลือกตั้ง

ขณะเดียวกันเราจะเห็นได้ว่าช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีผู้นำของหลายประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาที่เข้าสู่อำนาจโดยชนะการเลือกตั้ง แต่ก็ถูกมองว่าเป็นเผด็จการ เป็นเพราะผู้นำเหล่านี้มีนโยบายและท่าทีที่มีความเป็นชาตินิยมมาก ไม่ค่อยจะยอมตอบสนองผลประโยชน์ของจักรวรรดิทุนนิยม (เช่น ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ของเวเนซุเอลา ประธานาธิบดีอีโว โมราเลซ ของโบลิเวีย นายกรัฐมนตรีอามาเดนิจาด ของอิหร่าน หรือผู้แทนขององค์กรฮามาสของปาเลสไตน์ที่ชนะการเลือกตั้ง แต่สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปไม่ยอมให้การรับรอง เป็นต้น)

หรือกรณีของนายพลมูชาร๊าฟของปากีสถานที่ได้ทำการรัฐประหารโค่นรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งและอยู่ในอำนาจกว่า 5 ปี แต่ทางฝ่ายสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปก็มิได้ประมาณการรัฐประการ แต่กลับให้การรับรองรัฐบาลของนายพลมูชาร๊าฟ เพราะฝ่ายสหรัฐฯ และฝ่ายสหภาพยุโรปใช้ปัจจัยและเหตุผลทางด้านภูมิ-รัฐศาสตร์มาตัดสินด้านนโยบายของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เพราะมองว่าปากีสถานมีความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์ต่อการปฏิบัติการทางทหารของฝ่ายสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปในการทำสงครามกับฝ่ายตาลีบันและกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ของนายบิน ลาดิน เพราะปากีสถานมีพรมแดนติดต่อกับประเทศอัฟกานิสถาน สามารถเป็นฐานเพื่อปฏิบัติการสงครามในอัฟกานิสถานได้อย่างสะดวก ข้อเท็จจริงเหล่านี้ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งว่าสำหรับจักรวรรดิทุนนิยม

คำว่าประชาธิปไตยมีคำนิยามที่หลากหลายมาก มีหลายมาตรฐานมาก และความเป็นประชาธิปไตยมีหรือไม่มี อยู่ที่ว่าสามารถตอบสนองรับใช้ผลประโยชน์ให้กับจักรวรรดิทุนนิยมได้หรือไม่เป็นสำคัญ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งสำหรับจักรวรรดิทุนนิยมประชาธิปไตยของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนามีความสำคัญและมีความเป็นประชาธิปไตยก็ต่อเมื่อตอบสนองรับใช้ผลประโยชน์ของกลุ่มประเทศทุนนิยมตะวันตกเป็นสำคัญ

เมื่อศึกษาพิจารณาข้อเท็จจริงทั้งหมดข้างต้น สำหรับประชาชนชาวไทย (ที่รู้จักคิดด้วยตนเอง) ย่อมมีความเข้าใจได้อย่างถูกต้องและปราศจากข้อสงสัยใดๆ แล้วว่า ทำไมกลุ่มประเทศมหาอำนาจจักรวรรดิทุนนิยมจึงมีปฏิกิริยารุนแรงเป็นฟืนเป็นไฟกับการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ในไทย และก็คงเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งแล้วว่าไม่มีประเทศใดในโลกนี้ที่รักและห่วงใยประเทศไทยและประชาธิปไตยของไทยเท่ากับคนไทยด้วยกันเอง ต่างชาติเขารักและห่วงใยผลประโยชน์ของพวกเขาที่มีอยู่ในประเทศไทย ประชาธิปไตยเป็นเพียงเครื่องมือของนโยบายต่างประเทศของจักรวรรดิทุนนิยมเพื่อมีไว้หลอกลวงและกดดันประเทศและประชาชนของกลุ่มประเทศโลกที่สามให้อยู่ในโอวาทของจักรวรรดิทุนนิยม

อีกทั้งไม่น่าเป็นเรื่องประหลาดใจแล้วใช่ไหมว่าทำไมประเทศไทยถึงโดนกระหน่ำโดนถล่มทุกด้านจากภายนอก แม้ 2-3 ประเทศสมาชิกอาเซียนก็ยังเข้าร่วมปฏิบัติการทำร้าย และทำลายประเทศไทยด้วยการละเมิดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน อันเป็นหลักการศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของสมาคมอาเซียน และเป็นหลักการที่มีส่วนสำคัญช่วยให้อาเซียนไม่แตกแยกอยู่ด้วยกันมา 54 ปีอย่างสันติ อิทธิพลของมิติภายนอก

จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนไทยพึงตระหนักไว้ อย่ามองข้ามโดยเด็ดขาด
กำลังโหลดความคิดเห็น