xs
xsm
sm
md
lg

หยุดจักรวรรดินิยมยุคใหม่ได้อย่างไร?

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส


ความอ่อนแอของสังคมเกษตรกรรมในอดีต ที่เน้นการพัฒนาทางจารีตประเพณี ศาสนาและวัฒนธรรมเป็นหลัก ทำให้ชาติตะวันตกที่พัฒนาทางอุตสาหกรรมและวัตถุได้ใช้เครื่องมือที่เกิดจากการพัฒนาที่เหนือกว่า ไม่ว่าเรือกลไฟ ปืนใหญ่ใช้เป็นเครื่องมือในการตระเวนเข้ายึดครอง ตีเป็นเมืองขึ้น บุกเข้าแย่งชิงทรัพยากรจากประเทศหรือชุมชนท้องถิ่นที่ด้อยกว่า เราเรียกยุคนั้นว่าเป็นยุคของการล่าอาณานิคม เราเรียกพวกที่มากระทำดังกล่าวว่าพวกจักรวรรดินิยมลัทธิจักรวรรดินิยมที่มุ่งเข้ายึดครองประเทศ ยึดกุมพื้นที่และปกครองแต่จักรวรรดินิยมแบบใหม่ที่เราเรียกว่า Neocolonialism ที่ไม่เน้นการควบคุมแต่ใช้อิทธิพลโดยวิธีอื่นๆ นอกเหนือไปจากวิธีครอบครองอาณานิคมโดยตรง และวันนี้ประเทศของเราก็ตกอยู่ในภาวะดังกล่าว โจทย์ของเราในวันนี้ก็คือเราจะหยุดหรือออกจากจักรวรรดินิยมยุคใหม่นี้ได้อย่างไร???

ในปี พ.ศ. 2540 ความเจริญเติบโตและการขยายตัวจักรวรรดินิยมแบบใหม่มีพลังถึงขีดสุดผนวกกับการขยายตัวของระบบทุนนิยมโลก ได้ส่งผลให้ธุรกิจและกลไกธุรกิจของชาติต้องตกไปอยู่ในเงื้อมมือการควบคุมและเอาผลประโยชน์ไปจากคนในชาติแทบหมดสิ้นไม่ว่าธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ บริษัทเงินทุน ฯลฯ เป็นโจทย์ที่ยากยิ่งว่าเราจะเอาสิ่งเหล่านั้นกลับคืนมาได้อย่างไร

วันนี้สังคมข้อมูลข่าวสารขยายตัวอย่างกว้างขวาง ทำให้ข้อมูลของความถูกต้องชอบธรรมแพร่กระจายออกไปในวงกว้างมากขึ้น ทำให้คนไทยได้เรียนรู้ถึงกลไกในการเอารัดเอาเปรียบของต่างชาติของระบบทุนข้ามชาติรวมไปถึงความเลวร้าย ความเห็นแก่ตัวของคนในชาติที่ร่วมมือกับทุนต่างชาติทุนข้ามชาติกอบโกยเอาผลประโยชน์โดยรวมของชาติไปเป็นของส่วนตัวและพวกพ้อง รูปธรรมของการแปรรูปบริษัทปตท. คือ ประเด็นที่แหลมคมและชัดเจนของปรากฏการณ์ที่กล่าวมา

กรณีการเข้ามายึดครองแหล่งพลังงานของประเทศในรูปแบบการสัมปทาน ไม่ว่าแหล่งก๊าซหรือน้ำมันน่าจะเป็นจุดสำคัญที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปลดปล่อยตัวเองจากจักรวรรดินิยมของสังคมไทยได้ เพราะว่าเรามีข้อมูลเปรียบเทียบปฏิบัติการดังกล่าว ไม่ว่าค่าภาคหลวงที่เป็นธรรมต่อเจ้าของประเทศ การส่งต่อเทคโนโลยีหลังระยะการให้สัมปทาน กลไกในการควบคุมการขุดเจาะและผลผลิตของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ว่ามีความชอบธรรมมีความเป็นธรรมของระบบดังกล่าวนั้นๆ เป็นอยู่อย่างไร

ปัจจัยสำคัญคือนโยบายของรัฐบาลต่อเรื่องนี้เป็นอย่างไร และสิ่งที่จะทำให้เรื่องนี้เป็นจริงขึ้นมาได้อยู่ที่ภาคประชาชนไม่ใช่ฝ่ายนโยบายของพรรคการเมืองแน่นอน เพราะเขาเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็คือกลุ่มคนที่ได้รับผลประโยชน์จากกลไกของจักรนิยม และระบบทุนข้ามชาติกันเป็นส่วนใหญ่ทั้งนั้น

ในปี 2546 นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รมต.พลังงานในรัฐบาลของอดีตนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เซ็นสัญญาให้สัมปทานการขุดเจาะและผลิตน้ำมันให้กับบริษัท นิวคอสตอล (ซึ่งจดทะเบียนบริษัทแม่อยู่ที่เกาะเคแมน) ในแปลง G5/43 ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันที่อยู่ในพื้นที่ใกล้ชายฝั่งของจังหวัดสงขลาไม่เกิน 30 กิโลเมตรเป็นระยะเวลา 16 ปี และแปลง G5/50 ในบริเวณหมู่เกาะของอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี สังคมไทยปล่อยให้พี่น้องชาวสงขลาและพี่น้องชาวเกาะสมุยต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ทักท้วงแ ละตรวจสอบปกป้องสิ่งแวดล้อมและผลประโยชน์ของชาติโดยรวมอย่างโดดเดี่ยว จนบริษัทสามารถเดินหน้าสำรวจขุดเจาะเอาแหล่งน้ำมันอันเป็นผลประโยชน์โดยรวมได้อย่างง่ายดาย ปราศจากการต่อรองให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ชาติโดยรวมเหมือนอารยประเทศพึงได้รับจากแหล่งพลังงานของตัวเอง

ประเทศอเมริกา ตัวแม่ของระบบจักรวรรดินิยมยุคใหม่ วางมาตรการเรื่องพลังงานของประเทศตัวเองไว้ในสถานะ “ความมั่นคงของชาติ” หาได้เคารพกติกาที่ตัวเองป่าวประกาศว่าระบบเศรษฐกิจของสังคมประชาธิปไตยจะต้องเป็นทุนนิยมเสรีแต่อย่างใด ตอนที่บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่างยูโนแคลประกาศขายทอดตลาด ประเทศจีนสนใจจะเข้าไปทำการซื้อแต่รัฐสภาของอเมริกันก็ไม่อนุญาตโดยอ้างกรอบความมั่นคงด้านพลังงาน ทำให้เชฟรอนบริษัทสัญชาติอเมริกันเท่านั้นมีสิทธิ และวันนี้ยูโนแคลก็ตกอยู่ในสถานะบริษัทของอเมริกาดังเดิม

ถึงวันนี้ วันที่พรรคเพื่อไทยได้กลับเข้ามาบริหารประเทศ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงานที่ต่อเนื่องมาจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างปตท. แล้วนำเอาผลประโยชน์ของชาติมาแบ่งปันกันในหมู่พวก การอนุมัติให้สัมปทานแหล่งก๊าซและน้ำมันให้กับต่างชาติอย่างกรณีการให้สัมปทานแก่บริษัทนิวคอสตอลเข้ามาเอาผลประโยชน์ของชาติไปประเคนให้กับทุนต่างชาติในยุคสมัยที่ผ่านมา จะเดินหน้าต่อไปอย่างไรขอให้ติดตามกันอย่างใกล้ชิด ที่แน่ๆ วันนี้สังคมไทยยังไม่เชื่อว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่นำโดยคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะไม่ได้อยู่ในอุ้งมือของระบบจักรวรรดินิยมและระบบทุนข้ามชาติอย่างแน่นอน.
กำลังโหลดความคิดเห็น