xs
xsm
sm
md
lg

‘นครเทียนจิน’ใช้มรดก‘ยุคถูกล่าเมืองขึ้น’เป็น‘จุดขาย’

เผยแพร่:   โดย: อันโตอาเนตา เบกเกอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Tianjin rebrands its colonial legacy
By Antoaneta Becker
04/08/2011

“เทียนจิน” (เทียนสิน) มหานครทางชายฝั่งตะวันออกของจีนที่อยู่ไม่ห่างจากกรุงปักกิ่ง กำลังสนุกสนานกับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปโฉม โดยหวังที่จะอาศัยศักยภาพจากอดีตยุคถูกล่าเป็นเมืองขึ้นของตน มาเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดการท่องเที่ยวและการพาณิชย์ แต่ขณะที่กระบวนการเสริมสวยตกแต่งเมืองเช่นนี้ เป็นหลักหมายแสดงถึง “การรีแบรนด์” ความปวดร้าวสูญเสียศักดิ์ศรีครั้งเก่าก่อนให้กลายเป็นผลประโยชน์ในปัจจุบัน ซึ่งตรงตามแนวทางแห่งวิสัยทัศน์ของอดีตนายกเทศมนตรี ไต้ เซียงหลง ก็มีผู้คนจำนวนมากรู้สึกสงสัยข้องใจว่า แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น น่าจะเป็นการที่ลัทธิบริโภคนิยมมีชัยชนะเหนืองานอนุรักษ์เมืองมากกว่า

เทียนจิน – โรงแรมแอสเตอร์ โฮเต็ล (Astor Hotel) อันเก่าแก่ เปิดให้บริการขึ้นใหม่เมื่อปี 2010 ที่ผ่านมา ท่ามกลางการป่าวร้องต้อนรับอย่างเกริกเกียรติจากบรรดาผู้นำของมหานครเทียนจิน (เทียนสิน) เหตุการณ์นี้มิใช่เป็นแค่เพียงหลักหมายแสดงว่า โฮเต็ลที่เคยได้รับการขนานนามว่าเป็น “ท่านผู้หญิงสูงศักดิ์แห่งเทียนจิน” (Grande Dame of Tianjin) แห่งนี้ ได้หวนกลับมาอยู่ในขบวนแถวของโรงแรมระดับเริ่ดหรูที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในนครแห่งนี้เท่านั้น หากแต่มันยังเป็นหลักหมายที่ชี้ไปถึงอนาคต โดยเป็นการประกาศอย่างชัดแจ้งว่า พวกผู้นำของเทียนจินมีความกระตือรือร้นที่จะต้อนรับและ “รีแบรนด์” (rebrand) หรือก็คือตีความปรับเปลี่ยนความหมายของมรดกที่ตกทอดมาจากยุคที่มหานครแห่งนี้ถูกล่าเมืองขึ้นกันเสียใหม่ โดยที่ถือว่านี่เป็นวิธีการที่จะเพิ่มพูนส่งเสริมอัตลักษณ์ให้แก่เทียนจินแห่งยุคใหม่

โรงแรมแอสเตอร์ในยุคเก่าคือตัวอย่างอันโดดเด่นชัดเจนของช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ที่มหาอำนาจต่างๆ พยายามไล่ล่าเชือดเฉือนเบียดแบ่งเอาแดนมังกรเป็นเมืองขึ้น มันจึงกลายเป็นวัตถุพยานที่ก่อให้เกิดความรู้สึกปวดร้าวสูญเสียศักดิ์ศรีเสมอมาสำหรับพวกผู้ปกครองคอมมิวนิสต์ที่ได้รับมอบหมายให้มาบริหารเมืองท่าและฐานอุตสาหกรรสำคัญแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเมืองหลวงปักกิ่งไปทางตะวันออกราว 110 กิโลเมตร ด้วยความโกรธกริ้วประวัติศาสตร์ความเป็นมาของนครแห่งนี้ ในฐานะที่เป็นเมืองท่าแห่งต้นๆ ของจีนที่ถูกบังคับให้เปิดโดยพวกชาติมหาอำนาจในช่วงทศวรรษ 1860 ผู้ปกครองคอมมิวนิสต์หลายต่อหลายรุ่นจึงยินดีปล่อยให้พวกอาคารเก่าที่เคยเป็นหลักหมายสำคัญของนครเฉกเช่นแอสเตอร์ โฮเต็ล จ่อมจมลงสู่ความชำรุดทรุดโทรม หรือไม่ก็ถูกปรับปรุงเปลี่ยนโฉมจนกระทั่งจำเค้าเดิมไม่ได้จากประชากรรุ่นใหม่ๆ ของเทียนจิน

จวบจนกระทั่งมาถึงยุคที่ ไต้ เซียงหลง (Dai Xianglong) เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีมหานครแห่งนี้ ในปี 2003 เขาก็ได้นำเอาแนวความคิดแบบมุ่งหวังผลในเชิงปฏิบัติตลอดจนทักษะต่างๆ ที่เขาเรียนรู้ในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการของธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (People's Bank of China) ซึ่งก็คือแบงก์ชาติของแดนมังกร มาใช้ในการบริหารเมืองเทียนจิน ไต้เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเมืองนี้ โดยมองเห็นศักยภาพที่จะอาศัยอดีตแห่งยุคถูกล่าเป็นเมืองขึ้นของนครแห่งนี้มาเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดรายได้จากการท่องเที่ยวตลอดจนเงินทุนทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถวิ่งไล่กระชั้นตามติดมากขึ้นในการแข่งขันกับกรุงปักกิ่งซึ่งอยู่ใกล้ๆ และกำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็วยิ่ง ด้วยภูมิหลังความเป็นมาของเขา ไต้ยังสามารถใช้เส้นสายโยงใยต่างๆ ที่มีอยู่กับคณะผู้นำในส่วนกลาง จนกระทั่งได้เม็ดเงินลงทุนอันจำเป็นเพื่อทำให้เทียนจินเกิดการปรับเปลี่ยนแปลงโฉมอีกด้วย

“มีการหักเลี้ยวปรับให้ผิดแผกไปจากเดิมในเรื่องของวาทกรรมทางประวัติศาสตร์ โดยที่จะเห็นได้ว่าไม่มีการเสนอภาพของเทียนจินในฐานะผู้ตกเป็นเหยื่อแห่งการเหยียดหยามดูหมิ่นของต่างชาติกันอีกต่อไปแล้ว” เฉิน ซ่งฉวน (Chen Song-Chuan) กล่าว เขากำลังทำวิจัยเรื่องประวัติศาสตร์เมืองเทียนจินอยู่ที่มหาวิทยาลัยบริสตอล ประเทศอังกฤษ “มีเงินทองหลั่งไหลเข้ามา และพวกเขาก็ตัดสินใจที่จะสะสางคลี่คลายความยุ่งยากซับซ้อนในอัตลักษณ์ที่ดูจะสับสนขัดแย้งกันเองของเทียนจิน เทียนจินไม่ต้องการที่จะถูกมองว่าเป็นเพียงลูกไล่ที่อยู่ในร่มเงาของปักกิ่งอีกต่อไป นครแห่งนี้ตัดสินใจที่จะสืบเสาะขุดค้นเข้าไปในประวัติศาสตร์ของตนเองเพื่อส่งเสริมสนับสนุนอัตลักษณ์แห่งท้องถิ่นของตนเอง”

สำหรับแอสเตอร์ โฮเต็ลในยุคเก่าแล้ว เครื่องหมายสัญลักษณ์อันชัดเจนยิ่งของโรงแรมแห่งนี้ คือ การวางแผนเล่นเล่ห์ทางการเมือง, เรื่องราวตัณหาราคะแห่งการนอกใจมีกิ๊ก, การหักหลังซ้อนกล, ความละโมบและการทรยศขายชาติ ตลอดจนความร่ำรวยฟุ้งเฟ้อที่จูงใจให้ไปในทางต่ำ พวกขุนศึกและเหล่าดาราสาวชาวจีนเที่ยวคบหาสังสรรค์สมาคมกับนักการทูตชาวตะวันตก และนักเผชิญโชคผู้ไม่แยแสอนาคต

โรงแรมแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นโดยคณะมิชชันนารีนิกายเมโธดิสต์ของอังกฤษเมื่อปี 1863 และได้ค่อยๆ กลายเป็นสถานที่สำคัญที่สุดสำหรับการจัดกิจกรรมทางการทูตและทางสังคมทั้งหลายทั้งปวงในเมืองเทียนจิน ผู่อี๋ (Pu Yi) จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีน พร้อมกับจักรพรรดินี ว่านหรง (Wan Rong) ได้เคยมาเต้นรำในห้องบอลรูมของโรงแรมแอสเตอร์ ดร.ซุนยัตเซ็น บิดาแห่งสาธารณรัฐจีน เคยทำหน้าที่เป็นประธานาธิบดีของประเทศโดยอาศัยโรงแรมแห่งนี้เป็นทำเนียบอยู่เป็นบางช่วงบางเวลา

ตอนที่โรงแรมแอสเตอร์เก่าเปิดดำเนินกิจการขึ้นมาใหม่อีกครั้งในปีที่แล้วภายหลังการบูรณะซ่อมแซมอย่างขนานใหญ่ ได้มีการเปิดพิพิธภัณฑ์เล็กๆ แห่งหนึ่งขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มุ่งแสดงให้เห็นถึงประวัติของโรงแรม และนั่นย่อมเท่ากับการพูดถึงอดีตอันสับสนยุ่งเหยิงของนครเทียนจินเป็นช่วงระยะเวลายาวเหยียดทีเดียว ในระหว่างปี 1860 ถึงปี 1945 นั้น เทียนจินคือที่ตั้งของเขตเช่ารวม 9 เขตที่จีนจำยอมต้องยกให้แก่พวกมหาอำนาจต่างชาติสืบเนื่องจากการที่แดนมังกรเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ปราชัยใน สงครามฝิ่นครั้งที่สอง (Second Opium War) ปี 1860 ถึงแม้สนธิสัญญาเปิดท่าเรือต่างๆ อันมีเทียนจินรวมอยู่ด้วย ซึ่งจีนถูกบังคับให้ทำกับมหาอำนาจต่างชาติในช่วงระยะเวลานั้น ได้ส่งผลทำให้เกิดการค้าขายระหว่างจีนกับต่างประเทศ ทว่าอภิสิทธิ์ต่างๆ และสิทธิสัมปทานต่างๆ ที่ถูกบีบบังคับยกให้แก่คนต่างชาติ ก็กลายเป็นประเด็นที่บ่มเพาะให้คนจีนเกิดความรู้สึกคียดแค้นชิงชังต่อลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก

ทว่าพิพิธภัณฑ์ที่โรงแรมแอสเตอร์กลับหลีกเลี่ยงวิธีนำเสนอตามแบบฉบับเดิมๆ ซึ่งมุ่งวาดภาพอดีตแห่งยุคถูกล่าเมืองขึ้นว่าเป็นความอับอายสิ้นศักดิ์ศรีของประเทศชาติ ณ ที่นี้ มรดกในยุคถูกล่าเมืองขึ้นของเทียนจินได้ถูก “รีแบรนด์” ถูกตีความปรับเปลี่ยนความหมายเสียใหม่ รวมทั้งยังมีการโอ้อวดคุยโอ่ว่ามันคือลักษณะพิเศษอันโดดเด่นประการหนึ่งของประวัติศาสตร์มหานครแห่งนี้

เมนูอาหารต่างๆ ที่นำมาตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์ บรรจุไว้ด้วยรายการของประสบการณ์ทางลิ้นอันเอมโอชเลิศรสที่บรรดาแขกของโรงแรมทั้งที่เป็นคนจีนและชาวต่างชาติได้เคยหลงใหล บรรดาภาพวาดขนาดเท่าตัวจริงตลอดจนข้าวของที่ระลึกต่างๆ ที่วางเรียงรายโชว์อวด ปรากฏว่าให้ความสนอกสนใจอย่างทัดเทียมกันแก่พวกขุนศึกชาวจีนที่เป็นเจ้าของคฤหาสน์หลังใหญ่ๆ ภายในเขตเช่าของต่างชาติ และคนเด่นคนดังชาวตะวันตก พื้นที่ทั้งหมดของมุมๆ หนึ่งถูกอุทิศให้แก่พฤติการณ์ของ เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ ผู้ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 31 ของสหรัฐอเมริกา ระหว่างที่ทำมาหากินอยู่ในประเทศจีน เขามาใช้บริการของโรงแรมแห่งนี้เป็นประจำ และสามารถพูดจาภาษาจีนกลางอย่างคล่องแคล่ว ภายหลังจากที่ทำงานเป็นวิศวกรอยู่ในเหมือง ไข่ผิง (Kaiping) ของเทียนจินอยู่ระยะหนึ่ง เขาก็ลาจากประเทศจีนไป โดยที่มีเสียงร่ำลือกล่าวหากันว่าเขาอยู่ในฐานะมั่งคั่งร่ำรวยอย่างมหาศาลเหลือเชื่อ

ในปัจจุบันเมื่อเราก้าวออกไปสู่ด้านนอกของประตูโรงแรมแอสเตอร์ ก็จะพบเส้นสายทรวดทรงของกลุ่มอาคารต่างๆ ยืนตระหง่านเป็นแถวเรียงรายไปตามริมฝั่งของแม่น้ำไห่เหอ (Hai River) อาคารบางหลังคล้ายคลึงกับพวกปราสาทในรัฐบาวาเรียของเยอรมนี บางแห่งก็ดูละม้ายลางๆ กับอาคารรัฐสภาในกรุงลอนดอน เมื่อสอบถามเกี่ยวกับอาคารเหล่านี้ คนขับรถแท๊กซี่แซ่หลิวที่นั่งรอลูกค้าอยู่หน้าโรงแรมก็ยักไหล่และตอบว่า “พวกนี้ทั้งหมดเป็นของสร้างขึ้นมาใหม่ ตั้งแต่ในสมัยของ ไต้ (เซียงหลง)”

ในช่วงการปกครองของไต้ พื้นที่ซึ่งเคยเป็นเขตเช่าของต่างชาติในนครเทียนจินถูกเปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็น “ย่านที่อยู่อาศัยทิวทิศน์งดงาม” ในสไตล์ของอิตาเลียนหรือเยอรมัน มีการเน้นลักษณะความเป็นต่างชาติของย่านเหล่านี้ให้โดดเด่นเป็นพิเศษทว่าก็ยังคงอวดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งใน“มรดกของชาวจีน” ของนครแห่งนี้ มีการจัดทำแผนการอันใหญ่โตกว้างขวางสำหรับการพัฒนาพื้นที่ซึ่งเมื่อก่อนเคยเป็นที่ตั้งสถานที่ราชการต่างๆ ของพวกอดีตมหาอำนาจล่าเมืองขึ้น รวมทั้งมีการปรับปรุงพื้นที่เหล่านี้กันเสียใหม่เพื่อทำให้มรดกทางสถาปัตยกรรมในยุคเมืองขึ้นดูเป็นระเบียบเรียบร้อยยิ่งขึ้น

ความกระตือรือร้นที่จะหาประโยชน์จากอดีตไปไกลถึงขั้นมีความพยายามที่จะลอกเลียนสิ่งที่เคยมีอยู่ดั้งเดิมในอดีตให้ฟื้นกลับขึ้นมาใหม่ ถนนหนทางสายต่างๆ ในเมืองเทียนจินถูกแต่งแต้มด้วยอาคารที่ส่วนด้านหน้ามีลักษณะทำเทียมยุคนิโอคลาสสิกไปจนกระทั่งสไตล์ยุคอาร์ตเดคโค (Art Deco) แรงขับดันอันนี้ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ถีงแม้มหานครแห่งนี้มีนายกเทศมนตรีคนใหม่แล้ว อีกทั้งมีชื่อเสียงเกียรติภูมิอันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า เป็นนครเพียงแห่งเดียวในเอเชียที่มีคฤหาสน์ชานเมืองสไตน์ตะวันตกจำนวนมากกว่า 800 หลัง

ผลลัพธ์ที่ออกมาเหล่านี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนบางคนแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ “ในท้ายที่สุดแล้ว วัตถุประสงค์หลักของ “การก่อกำเนิดเขตเมืองขึ้นมาใหม่อีกคำรบหนึ่ง” (urban regeneration) ดังกล่าวนี้ ก็คือการสร้างเขตตลาดบนในเชิงพาณิชย์ (upmarket commercial precincts) ขึ้นมา โดยที่มีจุดชมทิวทัศน์หลายๆ จุดซึ่งมีกลิ่นอาย ‘ทางประวัติศาสตร์’ และที่สำคัญกว่าเพื่อนจะต้องประกอบด้วยโรงแรม, บาร์, ภัตตาคาร ฯลฯ” เมาริซิโอ มาริเนลลี (Maurizio Marinelli) นักวิจัยชาวอิตาเลียนตั้งข้อสังเกตไว้เช่นนี้ในบทความว่าด้วยเทียนจิน ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร “มรดกจีนรายไตรมาส” (China Heritage Quarterly)

เขาตำหนิติเตียนว่า นี่คือการที่ลัทธิบริโภคนิยมมีชัยชนะเหนืองานอนุรักษ์เมือง และแสดงความเสียใจต่อการที่ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนนับพันนับหมื่นครอบครัวต้องถูกกระทบกระเทือน เนื่องจากถูกผลักไสให้ต้องโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น เพื่อเปิดทางสำหรับกระบวนการแห่งการเสริมสวยตกแต่งนครเทียนจินดังกล่าวนี้

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น