xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากคันไซ ตอนที่ 21

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง1

โดย...ชวินทร์ ลีนะบรรจง1

ตระกูล “ชิน” หรือตระกูลอื่นก็ใช้สิทธิในการปกป้องจากการถูกดูหมิ่น

แล้วทำไม “คนไทย” จึงไม่มีสิทธิที่จะปกป้องสิ่งที่เคารพ

ในระยะหลังนี้มีการพูดถึงมากเกี่ยวกับ กฎหมายหมิ่นฯ ทั้งในแง่ความเหมาะสมของตัวกฎหมายและการบังคับใช้ในหลายแง่มุม ที่เบาที่สุดดูเหมือนจะเป็นเรื่องความเหมาะสมของการกำหนดโทษ ในขณะที่ที่หนักที่สุดก็คือความพยายามที่จะยกเลิกโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ม. 112 ของกฎหมายอาญาฯ

ลองหันมาดูประสบการณ์ของประเทศญี่ปุ่นที่มีระบบกษัตริย์มาเป็นเวลายาวนาน ผ่านร้อนหนาวมาไม่แพ้กันว่าเป็นอย่างไร

สถาบันกษัตริย์ของญี่ปุ่นมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่จักรพรรดิหรือ Emperor ที่ไม่ได้มีอำนาจเหมือนกับกษัตริย์โดยทั่วไปในโลกนี้ เนื่องจากส่วนใหญ่ถูกครอบงำและถูกแย่งอำนาจโดยฝ่ายการเมืองมาโดยตลอดก็ว่าได้

ในยุคก่อนมีรัฐธรรมนูญตั้งแต่ ค.ศ. 530 ถึง 1867 จักรพรรดิถูกครอบงำโดยตระกูลใหญ่ไม่กี่ตระกูล เช่น มินาโมโตะ อาชิคากะ หรือ โตกุกาวะ โดยผู้สำเร็จราชการที่รู้จักในชื่อตำแหน่ง คือ โชกุนเป็นผู้ใช้อำนาจ อำนาจของระบบกษัตริย์โดยจักรพรรดิจึงไม่สามารถใช้ได้เองโดยอิสระหากแต่โดยความเห็นชอบของโชกุนที่ในบางทีหรือส่วนใหญ่ถูกโชกุนนำไปแอบอ้าง

จักรพรรดิจึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในประเทศมากกว่าเป็นผู้นำทางการเมืองการทหาร ปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้ระบบกษัตริย์ญี่ปุ่นไม่มีอำนาจเหมือนระบบกษัตริย์ในประเทศอื่นๆ ก็เพราะการไม่มีระบบศักดินา จักรพรรดิก็คือจักรพรรดิไม่มีความเกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดินแต่อย่างใด จักรพรรดิเป็นจักรพรรดิอยู่ได้ก็เพราะมีผู้ยกให้เป็นแม้จะมีเพียงผู้เดียวและผู้นั้นโดยส่วนใหญ่ก็คือโชกุน

นอกจากนี้แล้วในด้านการทหาร สงครามที่เกิดขึ้นมักไม่ใช่สงครามหรือความต้องการของจักรพรรดิแต่อย่างใดเพราะผู้ที่ทำสงครามที่แท้จริงคือโชกุน

การแก่งแย่งอำนาจของกลุ่มการเมืองตามพื้นที่ที่ตนเองมีอำนาจปกครองจึงพุ่งเป้าไปที่ตำแหน่งโชกุนมากกว่าการขึ้นเป็นจักรพรรดิเสียเอง เพราะการเป็นหัวหน้าก๊กหรือไดเมียวคือผู้ที่ครอบครองพื้นที่ซึ่งหมายถึงอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ การสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นของระบบกษัตริย์ญี่ปุ่นจึงเกิดขึ้นได้อย่างไม่ขาดตอนไม่เหมือนดังเช่นในจีน

ดังนั้นคงไม่ต้องกล่าวต่อไปว่าการหมิ่นจักรพรรดิก็หมายถึงจะต้องเป็นผู้ที่กระด้างกระเดื่องต่อโชกุนที่มีหน้าที่คอยปกป้องจักพรรดิเพราะตนเองใช้อำนาจแทนอยู่นั่นเอง หากเกิดก็แสดงว่าโชกุนไม่มีอำนาจและเป็นโชกุนต่อไปไม่ได้

ญี่ปุ่นมีรัฐธรรมนูญเพียง 2 ฉบับเท่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับแรกเริ่มใช้ภายหลังจากจักรพรรดิได้อำนาจกลับคืนมาจากระบบโชกุนที่ต้องล้มเลิกไปในปี ค.ศ. 1868 หลังจากที่ฝ่ายกบฏต่อต้านรัฐบาลกลางที่เอโดะ (โตเกียว) อาศัยความอ่อนแอของโชกุนจากตระกูลโตกุกาวะที่จำต้องเปิดประเทศตามอำนาจปืนใหญ่จาก “เรือดำ” หรือ Black Ship ของนายพลเพอร์รี่ในการโค่นล้มโดยอาศัยเงื่อนไข “การคืนอำนาจสู่จักรพรรดิ” เพื่อต่อสู้กับภัยจากภายนอก เป็นแนวทางในการต่อสู้กับระบบโชกุนที่หยั่งรากฝังลึกมาหลายร้อยปี

อำนาจของจักรพรรดิเมจิจึงมิได้มาจากการต่อสู้ของตัวระบบกษัตริย์แต่อย่างใดไม่ หากแต่มาจากสามัญชน เช่น ซากาโมโตะ เรียวมะ และฝ่ายต่อต้านที่มีพื้นที่ปกครองในแถบตะวันตกของประเทศญี่ปุ่น เช่น ยามากุจิ นางาซากิ หรือ โทสะ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากจักรพรรดิเมจิได้สถาปนาอำนาจอย่างมั่นคงก็เริ่มร่างรัฐธรรมนูญอย่างลับๆ ในปี ค.ศ. 1881 และเริ่มประกาศใช้เป็นประเทศแรกในเอเชียในปี ค.ศ. 1890 โดยอาศัยต้นแบบจากเยอรมนี

ความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ญี่ปุ่นร่างเองและฉบับที่สองที่สหรัฐฯ ผู้ชนะสงครามเข้ามามีบทบาทร่างให้ในปี ค.ศ. 1947 ก็คือการจำกัดอำนาจของจักรพรรดิให้อยู่ภายใต้กฎหมายและมีอำนาจด้อยกว่าฝ่ายการเมือง โดย ม. 1 กำหนดว่าจักรพรรดิเป็นสัญลักษณ์ของชาติและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ อันเป็นการล้มเลิกอำนาจของจักรพรรดิที่เคยมีช่วงสั้นๆ ตั้งแต่จักรพรรดิเมจิขึ้นครองอำนาจ ในขณะที่ ม. 4 และ 7 กำหนดขอบเขตหน้าที่เกี่ยวกับกิจการงานบ้านเมืองให้จักรพรรดิในลักษณะที่มิให้เข้ามายุ่งเกี่ยวในทางการบริหารบ้านเมือง

สาเหตุที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับเมจิ (ฉบับแรก)นั้นร่างภายใต้การปกครองของจักรพรรดิเมจิ ที่ได้อำนาจคืนมาจากโชกุน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จักรพรรดิเมจิจะดำรงไว้ซึ่งอำนาจของจักรพรรดิเหนือฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 คือ การบริหาร การออกกฎหมาย และศาลอยู่ในตัวจักรพรรดิ (ม.4) แต่แบ่งหน้าที่การทำงานแต่การทำงานไปให้ฝ่ายอื่นๆ ดูแล ในขณะที่ ม. 3 กำหนดว่าจักรพรรดิ (มิใช่ระบบกษัตริย์เช่นประเทศไทย) เป็นที่เคารพและจะละเมิดมิได้

จากบริบทที่กล่าวมาข้างต้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ระบบกษัตริย์โดยจักรพรรดิญี่ปุ่นมีอำนาจที่แท้จริงเหนือฝ่ายการเมืองเพียงไม่ถึง 100 ปี คือตั้งแต่จักรพรรดิเมจิมีอำนาจในปี ค.ศ. 1868 ถึงช่วงสิ้นสงครามโลกครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1947 การมีอำนาจมากเกินไปก็เป็นความผิดพลาด สิ่งหนึ่งที่เป็นความผิดพลาดที่สำคัญในช่วงนั้นก็คือการเริ่มสงครามกับสหรัฐฯ โดยการโจมตีที่อ่าวเพิร์ล เพราะขนาดและความสามารถทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอย่างมากทำให้นักยุทธศาสตร์มองว่าไม่มีทางชนะ แต่การตัดสินใจที่ผิดพลาดบนเงื่อนไขของการเลือก “ทางมาร” หรือ adverse selection ของฝ่ายลัทธิทหารภายใต้โครงสร้างอำนาจของจักรพรรดิเป็นสำคัญ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับเมจิ ม. 11 ถึง 14 กำหนดให้จักรพรรดิเป็นผู้มีอำนาจแต่ผู้เดียวเกี่ยวกับการสงคราม เช่น เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหาร หรือการประกาศสงคราม มิใช่ของฝ่ายการเมืองแต่อย่างใด

ดังนั้นการวิพากษ์วิจารณ์ระบบกษัตริย์ญี่ปุ่นจึงมิได้เกิดขึ้นเพราะกฎหมายห้ามไว้แต่อย่างใดไม่ ในปัจจุบันแม้จะมิได้มีกฎหมายห้ามไว้แต่ก็ไม่มีผู้ใดกระทำเพราะจักรพรรดิมิได้มีอำนาจเหนือกฎหมาย และไม่ได้มีบทบาทในทางการบริหาร นิติบัญญัติ หรือศาลเหมือนดังเช่นในอดีตช่วงสั้นๆ ที่ผ่านมา กล่าวง่ายๆ ก็คือไม่ได้เป็นคนริเริ่มกระทำและไม่ได้มีอำนาจที่จะทำหรือไม่ทำ

หากย้อนกลับมาดูตัวเราเอง สถาบันฯ หลังปี พ.ศ. 2475 ก็มีลักษณะเช่นเดียวกันคืออยู่ภายใต้กฎหมาย การกระทำใดๆ ก็ขึ้นอยู่กับที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ การมีกฎหมาย เช่น ม. 112 ก็เพื่อปกป้องความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของชาติมิให้ใครมาพูดจาดูหมิ่นโดยปราศจากข้อเท็จจริงโดยง่าย เป็นเรื่องของระบบมิใช่ตัวบุคคลตามที่ส่วนใหญ่เข้าใจไม่ หากเป็นเรื่องของนโยบายสาธารณะหรือ public policy เฉกเช่นเดียวกับเรื่องของโจรสลัดที่ต่างจากโจรปล้นบ้านปลัด

หากจะเอาสีข้างเข้าถูว่าให้หน่วยงานอื่นๆ เช่น สำนักเลขาฯ เป็น “ตัวแทน” ฟ้องร้องแทนหากมีใครละเมิดก็แสดงว่าสถาบันฯ มีสถานะที่ด้อยกว่าบุคคลทั่วไปเสียอีกเพราะต้องพึ่งพาให้ผู้อื่นกระทำแทน มีโอกาสสูงที่ “ตัวแทน” อาจไม่กระทำตามความประสงค์ของ “เจ้าของ” ดูตัวอย่างความประพฤติของหน่วยงาน เช่น กกต. ก.ล.ต. อัยการ ก็ได้ว่าที่ผ่านมามีอำนาจเป็นเจ้าทุกข์ในเรื่องสาธารณะแต่ไม่ได้กระทำตามหน้าที่ให้สอดคล้องกับความประสงค์ของประชาชนมากน้อยเพียงใด

การจะยกเลิกควรดูบริบทของหลายประเทศรวมถึงบ้านตัวเองด้วยว่าแตกต่างกันอย่างใด อย่าดูเพียงว่า เขายกเลิกแล้วแต่เราไม่ยกเลิก อันเป็นเสมือนการบังคับให้กิน “บิ๊กแม็กฯ” ที่รสชาติเดียวกันทั่วโลกให้อร่อยเหมือนกันซึ่งไม่แสดงถึงตรรกะและเหตุผลความจำเป็นแต่อย่างใด หรือหากจะอ้างว่ากฎหมายนี้สามารถนำมาเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งหากเป็นจริงก็ควรแก้ไขที่กระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำรวจและอัยการ ที่เป็นต้นน้ำให้ทำตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่ที่ผ่านมามีกรณีใดบ้างที่ผิดพลาด? เห็นมีแต่พลาดเพราะไม่ยอมทำ!

การกล่าวดูหมิ่นตระกูล “ชิน” กฎหมายก็ให้ความคุ้มครองดูแลเช่นเดียวกับคนตระกูลอื่นๆ ในสังคมเช่นกันมิใช่หรือ ดูการฟ้องร้องที่ผ่านมาก็ได้ว่าคนตระกูล “ชิน” ใช้สิทธินี้มากเท่าใด อาจจะมากเกินไปด้วยซ้ำ แล้วทำไมคนไทยจะใช้สิทธิสาธารณะนี้ผ่านกฎหมายที่มีอยู่ไม่ได้บ้าง

ดังนั้นหลักการและเหตุผลในเรื่องการแก้กฎหมายนี้จึงอ่อนมาก หรือจะมุ่งการ “ตีชิ่ง” เพื่อไปสู่เป้าหมายอื่น หากเป็นจริงก็แสดงถึง “การแก้แค้น มิใช่แก้ไข” ของพวกซ้ายที่ยึดถือคัมภีร์โดยปฏิเสธโลกแห่งความเป็นจริงและไม่ยอมรับความเห็นต่าง ดังวาทกรรม “ไพร่-อำมาตย์” เพื่อแบ่งแยกความเห็นต่างที่ล้าหลังทางความคิดและตกเป็นเครื่องมือของ “นายทุน”
โตกุกาวะ โยชิโนบุ โชกุนคนสุดท้ายภาพซ้าย และจักรพรรดิเมจิ ภาพขวา
ภาพการพระราชทานรัฐธรรมนูญของจักรพรรดิเมจิ (ภาพพิมพ์ โดย โตโยฮาระ ชิกะโนบุ)
ภาพทั้งหมดจาก google.com

*************
1 The Japan Foundation Fellow บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน Japan Foundation ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น