เนื่องจากจะมีการจัดสมัชชาสุขภาพภาคใต้เร็วๆ นี้ (ตามแผนเดิม) ผมจึงขอพูดถึงเรื่องความสุขร่วมกันของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมครับ
แม้ข้อความในกล่องสี่เหลี่ยมนี้จะดูแปลกๆ อยู่บ้าง แต่โปรดอย่ากังวลหรือกลัวนะครับ เพราะมันเป็นแค่ข้อความง่ายๆ ที่มีความสำคัญมากต่อความอยู่รอดของมนุษยชาติและสิ่งแวดล้อมในอนาคต มันคือ สมการคณิตศาสตร์เบื้องต้นที่สะท้อนปรัชญาชีวิตซึ่งมีเป้าหมายและวิถีปฏิบัติอย่างชัดเจน นั่นคือ วิถีปฏิบัติที่ “ความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่การใช้สอยน้อยลง” โดยมีเป้าหมายรวบยอดอยู่ที่ความมีอายุยืนยาวอย่างมีความสุข และ ความพึงพอใจในชีวิต
ในขณะที่เป้าหมายของการพัฒนากระแสหลักในปัจจุบันนี้ได้เน้นที่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว โดยใช้ จีดีพี หรือรายได้รวมของคนในชาติ (โดยไม่สนใจว่าจะเป็นคนต่างชาติหรือไม่) เป็นตัวชี้วัด ส่งผลให้มีการเร่งใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่บันยะบันยังและไม่คำนึงว่าคนรุ่นหลังว่าจะอยู่กันอย่างไร จะมีอะไรใช้สอย ขณะเดียวกันสิ่งแวดล้อมธรรมชาติก็ถูกทำลายจนเกิดเป็น “วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก” จนส่งผลให้เกิดภัยพิบัติเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับ 50 ปีก่อน มหาอุทกภัยในประเทศไทยเราเองคงเป็นพยานในเรื่องนี้ได้
ไม่เพียงแต่ธรรมชาติที่ได้ถูกทำลายจนเกินสภาพสมดุลไปมากแล้ว แม้แต่ระบบเศรษฐกิจของโลกรวมทั้งระบบการปกครองที่ถูกเรียกว่า “ประชาธิปไตย” (แต่เพียงรูปแบบนั้น) ก็กำลังมีอาการร่อแร่รอวันที่จะพังครืนลงมา
จากความล้มเหลวของระบบปัจจุบันและความพยายามหาทิศทางใหม่ในอนาคตที่กล่าวโดยย่อข้างต้นในรูปของสมการคณิตศาสตร์นี้ คือ ทางออกเพียงทางเดียวที่มนุษยชาติจะหลุดพ้นจากมหาวิกฤตได้ เพราะเป็นทิศทางที่เน้นคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต คือ ความมีอายุยืนยาวอย่างมีความสุขของทั้งมนุษย์และของโลกที่เราอาศัยอยู่ แต่ก่อนที่จะทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับสมการนี้ เรามาทำความรู้จักกับองค์กรที่คิดสมการนี้สักเล็กน้อยครับ
องค์กรที่ว่านี้คือ "มูลนิธิเพื่อเศรษฐกิจใหม่ (New Economics Foundation)” ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2529 ได้อธิบายตนเองว่าเป็น "องค์กรนักคิดและทำ (think-and-do tank) ที่อิสระเพื่อจุดประกายและทำให้เห็นถึงเศรษฐกิจเพื่อความอยู่ดีกินดีที่แท้จริง มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตโดยส่งเสริมแนวทางแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่ท้าทายความคิดกระแสหลักใน 3 ประเด็นคือ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม เราทำงานร่วมกับผู้อื่นโดยถือเอามนุษย์และโลกเป็นความสำคัญเป็นอันดับแรก” (ที่มา www.happyplanetindex.org)
นักวิจัยที่มีส่วนสำคัญในการคิดสมการนี้คือ Nic Marks ซึ่งเป็นนักสถิติ (เดิมเป็นสาขาหนึ่งของคณิตศาสตร์) ผลงานของเขาและองค์กรนี้มีมากมายซึ่งสอบถามได้จาก “อาจารย์กูเกิล” ครับ
ผมยังมีอีก 2 ประเด็นที่จะนำเสนอ คือ (1) ความหมายของสมการและแนวคิดและ (2) องค์ประกอบหรือปัจจัยที่นำไปสู่ความสุข มาเริ่มกันเลยครับ
คำว่า HPI (ย่อมาจาก Happy Planet Index) ทางซ้ายมือของสมการ คือ “ดัชนีความสุขโลก” ทางขวามือมี 3 องค์ประกอบคูณและหารกันอยู่ คือ (1) จำนวนปีที่ชีวิตมีความสุข (Happy life years) ซึ่งอาจจะใช้ความมีอายุยืนยาวแทนก็ได้ ถ้าคนไทยมีอายุเฉลี่ย 69 ปี ก็แทนค่าองค์ประกอบแรกด้วย 69 องค์ประกอบที่ (2) คือความพึงพอใจในชีวิตซึ่งมีค่าอยู่ระหว่าง 0 ถึง 10 ได้จากการสอบถาม จากการสำรวจพบว่าประเทศไทยอยู่ที่ 6.25
ถ้าสององค์ประกอบนี้มีค่ามาก ผลคูณของสององค์ประกอบนี้ก็จะมากด้วย แต่เท่านี้ยังไม่พอครับ เพราะยังมีองค์ประกอบที่ 3 คือ ทรัพยากรธรรมชาติที่บริโภคซึ่งเป็นตัวหารอยู่ทางขวามือของสมการ ถ้าปัจจัยนี้มีค่ามาก (คือใช้ทรัพยากรมาก) จะส่งผลให้ค่าดัชนีความสุขโลกทางขวามือลดลง ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีการใช้ทรัพยากรน้อย จะทำให้ดัชนีความสุขโลกมากขึ้น โลกจะยั่งยืนขึ้น
โดยสรุป ปัจจัยที่นำมาคิดในสมการคณิตศาสตร์ดังกล่าวได้สะท้อนถึงคุณค่าของชีวิตทั้งต่อมนุษย์และโลก ผมเชื่อว่านี่เป็นแนวคิดที่นำไปสู่เป้าหมายรวบยอดที่สอดคล้องกับหลักศาสนาต่างๆ ที่เรายึดถือกันอยู่แล้ว
เขียนมาถึงจุดนี้ทำให้คิดถึงคำสอน คำเตือนอย่างเป็นองค์รวม (ทั้งเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม) ของท่านพุทธทาสภิกขุ เมื่อหลายสิบปีก่อนที่ว่า “ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาวินาศ”
มาถึงประเด็นสุดท้ายครับ คือ องค์ประกอบของความมีอายุยืนอย่างมีความสุขในชีวิต แผนผังข้างล่างมาจากเอกสารของมูลนิธิเพื่อเศรษฐกิจใหม่ซึ่งผมได้พยายามแปลกำกับไว้แล้ว เราจะเห็นว่าวิถีทางที่นำไปสู่เป้าหมายรวบยอดมีถึง 11 องค์ประกอบ วิถีทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลไทยกอดแน่นมาตลอดนั้นเป็นเพียงหนึ่งในนั้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สมการข้างต้นนี้ได้ใช้ตัวแปรรวบยอดเพียง 3 อย่างที่กล่าวมาแล้ว
ผมอยากจะเปรียบเทียบแนวคิดนี้กับดัชนีความสุขมวลรวม (Gross National Happiness) ของประเทศภูฏาน ซึ่งมี 9 องค์ประกอบ แต่ละองค์ประกอบมีน้ำหนักที่สะท้อนถึงความสำคัญไว้ด้วยตามลำดับ คือ 1. การใช้เวลา (13%) 2. ธรรมาภิบาลในการปกครอง (12%), 3. สุขภาพ (12%) 4. วัฒนธรรม (12%), 5. ความเข้มแข็งของชุมชน (12%), 6.ความรู้สึกว่าอยู่ดีมีสุข (11%) 7. มาตรฐานการครองชีพ (11%) 8. ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ (10%) และ 9. การศึกษา (เพียง 7% แต่คนไทยได้ทุ่มเทเงินทองและเวลาลงไปมากที่สุด)
เราจะเห็นว่าสองแนวคิดนี้คล้ายคลึงกันมาก แต่สิ่งที่เราไม่เคยเก็บมาคิดมานับเลยในบ้านเมืองเราก็คือความมีธรรมาภิบาลในการปกครองหรือพูดสั้นๆ ก็คือ ปัจจัยการคอร์รัปชัน และประสิทธิภาพในการบริหาร
ถึงตอนนี้ผมคิดถึงคำพูดของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่ว่า “ไม่ใช่ทุกสิ่งที่สำคัญจะนับได้ และไม่ใช่ทุกสิ่งที่นับได้จะสำคัญ” เห็นไหมครับ นักการเมืองไม่ยอมนับเรื่องการคอร์รัปชันซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราจนลงๆ และขาดความสุขมาเป็นตัวชี้วัดการพัฒนา ในขณะที่บางประเทศและนักคิดบางกลุ่มเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก.