ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังจากลูกพี่ใหญ่ “ตุ๊ดตู่-นายจตุพร พรหมพันธุ์” ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และแกนนำตัวเอ้ของคนเสื้อแดงมีอันต้อง “สิ้นบุญ” พ้นสภาพความเป็น ส.ส.จากมติ 4 ต่อ 1 ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในขั้นตอนสุดท้าย ก็มาถึงคิวของลูกน้องร่วมอุดมการณ์ที่ต้องคำพิพากษาให้รับโทษ
เรียกว่าขณะลูกพี่เดอะคางคกกำลังแปรสภาพกลับไปเป็นกุ๊ยข้างถนน และใกล้จะกลับเข้าไปนอนซังเตอีกครั้ง ลูกน้องก็มีสภาพที่ไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก
โดยเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ณ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลได้นั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ ที่ ด.2235/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้องนายพินิจ จันทร์ณรงค์ อายุ 26 ปี, นายวิศิษฐ์ แก้วหล้า อายุ 33 ปี, นายคมสันต์ สุดจันทร์ฮาม อายุ 42 ปี, นายอาทิตย์ เบ้าสุวรรณ อายุ 29 ปี, นายพรชัย โลหิตดี อายุ 36 ปี, นายยุทธชัย สีน้อย อายุ 23 ปี และนางเจียม ทองมา อายุ 45 ปี ทั้งหมดเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลยที่ 1-7 ในความผิดต่อเจ้าพนักงาน, ปล้นทรัพย์ และฝ่าฝืนพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
คดีนี้โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 11 ส.ค.53 ระบุความผิดสรุปว่า เมื่อ 19 พ.ค.53 เวลากลางวัน จำเลยทั้ง 7 กับนายภาสกร ไชยสีทา, นายอัตพล วรรณโต ซึ่งเป็นเยาวชนแยกดำเนินคดีต่างหาก และพวกอีกหลายคน ร่วมกันชุมนุมและมั่วสุมกันที่แยกราชประสงค์ ใช้กำลังทำลายบานกระจก ผนังอาคาร บานกระจกประตู อาคารสรรพสินค้าจนแตกเสียหาย แล้วได้ร่วมกันลักเอาทรัพย์สินต่างๆ รวม 18 รายการ โดยจำเลยทั้ง 7 กับพวกมีอาวุธปืนไม่ทราบชนิดขนาดและจำนวน พร้อมเครื่องกระสุนปืนจำนวนหลายนัด ซึ่งใช้ข่มขู่และขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกายของเจ้า พนักงาน สน.ยานนาวา ขณะได้พบเห็นการกระทำซึ่งหน้าของจำเลยทั้ง 7 กับพวก โดยเจ้าพนักงานได้ปฏิบัติการตามหน้าที่แสดงตนจะเข้าจับกุม จำเลยทั้ง 7 กับพวกได้ใช้อาวุธปืนยิงในบริเวณอาคารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์จำนวน หลายนัด เหตุเกิดที่แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 138, 140, 340, 340 ทวิ 340 ตรี ขอให้ศาลได้สั่งคืนของกลางทั้ง 18 รายการให้แก่ บริษัท ซิตี้เชน (ประเทศไทย) จำกัด และผู้มีชื่อเจ้าของทรัพย์ที่เป็นผู้เสียหายด้วย
จำเลยทั้ง 7 ให้การรับสารภาพ ข้อหาฝ่าฝืนประกาศข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งสองนำสืบหักล้างกันแล้วเห็นว่า แม้คดีนี้เจ้าพนักงานจะสามารถจับกุมจำเลยทั้ง 7 คนได้ในที่เกิดเหตุขณะก่อความวุ่นวาย แต่ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้ง 7 เป็นผู้ใช้อาวุธปล้นทรัพย์ หรือต่อสู้ขัดขวางการทำงานของเจ้าพนักงาน อีกทั้งยังไม่มีทรัพย์สินของกลางที่ยืนยันว่าจำเลยทั้งหมดเป็นผู้กระทำความ ผิด คงมีเพียงนายคมสันต์ สุดจันทร์ฮาม จำเลยที่ 3 ที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ประจำห้างสรรพสินค้า สามารถตรวจยึดโทรศัพท์มือถือจำลอง และแบตเตอรี่ ที่ขโมยมาจากร้านขายโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นลำพังที่เจ้าพนักงานสามารถจับกุมจำเลยได้ในที่เกิดเหตุ ยังไม่สามารถสันนิษฐานให้เป็นโทษกับจำเลยได้ พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้เชื่อว่าจำเลยที่ 1, 2, 4, 5, 6 และ 7 กระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์และใช้อาวุธต่อสู้เจ้าพนักงาน แม้จะสามารถตรวจยึดกระสุนปืนเอ็ม 60 จำนวน 100 นัดได้ภายในห้าง แต่เจ้าพนักงานไม่มีหลักฐานยืนยันว่าอาวุธดังกล่าวเป็นของจำเลย
จึงพิพากษาว่าจำเลยที่ 1-7 มีความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ให้จำคุกคนละ 1 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุกไว้คนละ 6 เดือน
ส่วนจำเลยที่ 3 ยังมีความผิดฐานลักทรัพย์ให้จำคุก 3 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 3 ไว้ทั้งสิ้นเป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน และให้จำเลยคืนของกลางคืนแก่ผู้เสียหาย ส่วนข้อหาอื่นให้ยก
ทั้งนี้ หากนำคำพิพากษาของศาลมาตรวจสอบก็จะเห็นเหตุที่ทำให้คำพิพากษาในคดีนี้ไม่เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น และจำเลยที่จะต้องตอบคำถามหรืออธิบายจะเป็นใครเสียไม่ได้นอกจากตำรวจ
ประเด็นแรก ศาลพิเคราะห์ให้เห็นว่า แม้คดีนี้เจ้าพนักงานจะสามารถจับกุมจำเลยทั้ง 7 คนได้ในที่เกิดเหตุขณะก่อความวุ่นวาย แต่ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้ง 7 เป็นผู้ใช้อาวุธปล้นทรัพย์ หรือต่อสู้ขัดขวางการทำงานของเจ้าพนักงาน อีกทั้งยังไม่มีทรัพย์สินของกลางที่ยืนยันว่าจำเลยทั้งหมดเป็นผู้กระทำความ ผิด คงมีเพียงนายคมสันต์ สุดจันทร์ฮาม จำเลยที่ 3 ที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ประจำห้างสรรพสินค้า สามารถตรวจยึดโทรศัพท์มือถือจำลอง และแบตเตอรี่ ที่ขโมยมาจากร้านขายโทรศัพท์มือถือ
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ทำไมตำรวจถึงไม่ได้นำสืบในประเด็นเหล่านี้
ประเด็นที่สอง ศาลพิเคราะห์ให้เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้เชื่อว่าจำเลยที่ 1, 2, 4, 5, 6 และ 7 กระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์และใช้อาวุธต่อสู้เจ้าพนักงาน แม้จะสามารถตรวจยึดกระสุนปืนเอ็ม 60 จำนวน 100 นัดได้ภายในห้าง แต่เจ้าพนักงานไม่มีหลักฐานยืนยันว่าอาวุธดังกล่าวเป็นของจำเลย
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ทำไมตำรวจถึงไม่ได้นำสืบในประเด็นเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม นอกจากคดีดังกล่าวข้างต้นแล้ว อีกคดีหนึ่งที่น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ คดีเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งเป็นคดีหมายเลขดำ ด.2478/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสายชล แพบัว อายุ 29 ปี ชาว จ.ชัยนาท การ์ดแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายพินิจ จันทร์ณรงค์ อายุ 27 ปี เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ โรงเรือนที่เก็บสินค้า จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 217, 218, 224 และฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 4, 5, 9, 11, 18 รวมทั้งข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงวันที่ 7 เม.ย.53 และประกาศศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เรื่องห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุม ลงวันที่ 8 เม.ย.53 กรณีเมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 จำเลยกับพวกได้บุกเข้าไปในอาคารเซ็นทาวเวอร์ และอาคารเซ็นทรัลเวิลด์ ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์จนทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้เผากองเชื้อเพลิงแล้ว ไฟไหม้ลุกลามเผาอาคารเซ็นทาวเวอร์ และไฟไหม้เผาทรัพย์สินต่างๆ ของผู้เสียหายที่ 1 ถึงผู้เสียหายที่ 270 รวมค่าเสียหายจำนวน 8,890,578,649.61 บาท และเป็นเหตุให้นายกิติพงษ์หรือกิตติพงษ์ สมสุขที่อยู่ภายในอาคารดังกล่าวถึงแก่ความตายนั้น ขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์ของศาลอาญากรุงเทพใต้
นี่เป็นอีกคดีหนึ่งที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำสำนวนให้มีน้ำหนักเพียงพอให้ศาลมีคำพิพากษาตามที่ตั้งข้อกล่าวหรือไม่ เพราะในยุคนี้ อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้