ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -นับจากวันแรกที่ปัญหาอุทกภัยได้รุมเร้าประเทศไทยกระทั่งเวลาล่วงเลยมาถึงวันนี้ แม้ปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครได้เริ่มลดลงจากขั้นวิกฤตไปในหลายพื้นที่แล้ว แต่ในขณะเดียวกันบางพื้นที่ที่ประชาชนซึ่งอยู่หลังแนวกระสอบทรายยักษ์หรือบิ๊กแบ็ก ไม่ว่าจะเป็นชาวดอนเมือง รังสิต ปทุมธานี นนทบุรี และลำลูกกา ก็ยังหนักหนาสาหัส ทำให้มีการรวมตัวและแห่กันออกมารื้อแนวกระสอบทรายจนเกิดเหตุชุลมุนวุ่นวายในหลายพื้นที่
แน่นอน ความรับผิดชอบดูแลเรื่องน้ำท่วมย่อมตกอยู่กับ “ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) และกรุงเทพมหานคร(กทม.) ที่จะต้องร่วมแรงร่วมใจแก้ปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนโดยเร็วที่สุด
ทว่า นับจากวันแรกๆ จนถึงวันนี้ ทางศปภ.และกทม.ก็ไม่เคยร่วมแรงร่วมใจกันแก้ปัญหาชาวบ้านให้ลุล่วงก่อนที่จะเกิดปัญหาได้ทุกทีไป แถมซ้ำร้ายขยันเล่นเกมการเมือง ทำงานขัดแข้งขัดขาเกือบจะตลอดเวลาที่ผ่านมา
แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้ก็คือ การแก้ปัญหาน้ำท่วมของศปภ.ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จนแล้วจนรอดก็ยังคงทำงานอยู่ในมาตรฐานบรมห่วยเข้าขั้นที่ประชาชนทั่วไปพากันขนานนามล้อเลียนว่าเป็นศูนย์ปฏิบัติการปั่นป่วนไปทั่วภูมิภาคแบบไม่ผิดเพี้ยนไปเลยทีเดียว
ซ้ำร้ายยังขยันพ่นพิษเล่นเกมการเมืองไม่หยุดหย่อน โดยเฉพาะประเด็นความขัดแย้งของการเปิด “ประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์” ที่กลุ่มแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. 200คน นำโดย "พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์" ที่ปัจจุบันสวมหัวโขนเป็นข้าราชการการเมืองสังกัดสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ แกนนำคนเสื้อแดงจังหวัดปทุมธานี นายศรรัก มาลัยทอง ดีเจวิทยุคนเสื้อแดงจังหวัดปทุมธานี อ้างคำสั่งนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการ "ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย" (ศปภ.) ให้เปิดประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ จาก 1 เมตรเป็น 1.50 เมตร ไปเมื่อคืนวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
"ผมเป็นผู้ลดระดับบานประตูน้ำลงมาในเวลาตี 02.00 น.ที่ผ่านมา เนื่องจากมีความเห็นใจชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ด้านใต้ถัดจากประตูระบายน้ำ เช่น สายไหม และสุขาภิบาล 5 โดยในช่วงสายจะกลับมาเปิดประตูระบายน้ำที่ระดับ 1.50 ม.อีกครั้ง โดยย้ำว่าหลังจากนี้ผมจะเป็นผู้กำหนดระดับการเปิดประตูระบายน้ำด้วยตนเอง เนื่องจากเห็นว่า กทม.มีความล้มเหลวในการระบายน้ำ ผมเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเงา จากนี้ไปจะไม่ยอมเจรจาทั้ง ศปภ.และ กทม. เพราะผมมีวุฒิภาวะมากกว่า หากที่ไหนเดือดร้อนก็จะเดินหน้ายกระดับประตูระบายน้ำให้สูงขึ้นอีกไม่สนว่าใครจะขวาง" พ.ต.ต.เสงี่ยม ประกาศกล่าวอย่างไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม
ใหญ่ไม่ใหญ่ขนาดที่ว่าระดับ พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ลงไปเจรจาก็ไม่เป็นผล หรือระดับนายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการกองอาคารบังคับน้ำ ก็ยังคงออกมารูปแบบเดิม คือไม่เจรจาใดๆ ทั้งสิ้น
ใหญ่ไม่ใหญ่ขนาด พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผอ.ศปภ. รวมถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ยังไม่สามารถสั่งการให้เชื่อฟังได้ จนหลายคนอดตั้งคำถามว่า “เดอะเหงี่ยม” อาจได้รับคำสั่งในทางลับให้ปฏิบัติการเพื่อดิสเครดิตกรุงเทพมหานครก็เป็นได้
แถมเท่านั้นไม่พอ เดอะเหงี่ยมยังบัญชาการให้คนเสื้อแดงปักธงแดงเฝ้าประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ เพราะกลัวว่าทางกทม.และชาวบ้านย่านสายไหม บางเขน รามอินทรา ที่ได้รับความเดือดร้อนจะบุกมาหรี่ประตูระบายน้ำให้เหลือ 1 เมตรเท่าเดิม ป่วนเมืองขนาดที่ว่าทั้งที่ชาวลำลูกกาตกลงกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ ศปภ.ตกลงว่าจะเปิดที่ 1 เมตร ทำเอาคนในพื้นที่อย่างชาวลำลูกกา ชาวสายไหม ก็งงไปตามๆ กัน ว่ากลุ่มคนเสื้อแดงที่นำโดย พ.ต.ต.เสงี่ยม มาเดือดร้อนอะไรกับปัญหาของตัวเองในพื้นที่ด้วย
กล่าวสำหรับ พ.ต.ต.เสงี่ยม ก่อนมารับตำแหน่งข้าราชการการเมืองประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เคยรับราชการตำรวจอยู่ทางภาคใต้ พัทลุง และชุมพร ก่อนขอเกษียณราชการก่อนกำหนด เป็นหนึ่งในผู้ต้องหาตามหมายจับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีการบุกอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 ก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
ทั้งนี้ ผู้ต้องหาในคดีเดียวกับ พ.ต.ต.เสงี่ยมประกอบด้วย นายยศวริศ ชูกล่อม นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ นางศิริวรรณ นิมิตศิลป์ นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง นายพายัพ ปั้นเกตุ นายวันชนะ เกิดดี และจากคดีนี้เองทำให้ "เดอะเหงี่ยม" ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของแดงฮาร์ดคอร์ "กี้ร์" อริสมันต์
นอกจากนั้น เดอะเหงี่ยงยังเคยเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาตามหมายจับในเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองช่วงเดือนเมษายน 2552 โดยเป็นแกนนำแนวร่วม นปช.จังหวัดชุมพร และอยู่ในแกนนำ นปช.ลำดับที่ 101 ที่ถูกขึ้นบัญชีดำ
ทั้งนี้ คงไม่ต้องถามว่าบุคคลที่มีพฤติกรรมและยี่ห้อติดตัวยาวเป็นหางว่าวเยี่ยงนี้ จะหวังดีออกมาห่วงใยความเป็นอยู่ของชาวบ้านหลังบิ๊กแบ็ก หรือหวังโชว์ผลงานให้เข้าตาคนใหญ่คนโตในรัฐบาลเพื่อความได้ดิบได้ดีของตัวเองในภายหน้าหรือไม่
แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คงต้องบอกว่าเป็นพฤติกรรมดิบที่ไม่มีคิดหน้าคิดหลังเลยแม้แต่น้อย และเป็นการนำความเดือดร้อนของประชาชนมาเป็นตัวประกันโดยแท้ เพราะที่ต้องซวยซ้ำซวยซ้อนก็คือมีชาวบ้านอีกฝั่งได้รับผลกระทบจากการกระทำครั้งนี้ด้วยเช่นกันความเสี่ยงในการเผชิญหน้าระหว่างชาวบ้านทั้งสองฝั่งที่เดือดร้อนย่อมมีความเป็นไปได้สูง ทั้งที่ปัญหาประชาชนหลังแนวบิ๊กแบ็กก็ยังไม่ได้รับการแก้อย่างเด็ดขาดจากทางศปภ.เลยด้วยซ้ำ อีกทั้งอาจส่งผลทำให้ระดับน้ำบนถนนสุขาภิบาล 5 ถนนโดยรอบสูงขึ้น รวมถึงทำให้ชาวบ้านย่านสายไหม บางเขน รามอินทรา เกิดความวิตกกังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากการเปิดประตูระบายน้ำเพิ่มขึ้นในครั้งนี้อีกต่างหาก
แน่นอน คงต้องบอกว่าเป็นความห่วยแตกในภาวะผู้นำอย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประชา พรหมนอก ผอ.ศปภ. อีกครั้งหนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะยังไม่ทันพ้นสัปดาห์ดีที่เพิ่งจะตื่น ด้วยการตั้งคณะกรรมการระบายน้ำและกรมชลประทานหารือร่วมกับผู้ว่าฯ กทม.และ 6 ผู้ว่าราชการจังหวัดใกล้เคียงรอบ กทม. เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในการปรับแนวการระบายน้ำ มีการจับไม้จับมือถ่ายรูปชื่นมื่นว่าต่อไปการแก้ปัญหาจะทำอย่างบูรณาการ มีการหารือร่วมกันและแก้ปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งที่ควรจะทำไปตั้งนานแล้ว
แต่ก็ดูเหมือนมิได้นำพา เพราะยังปล่อยให้แกนนำเสื้อแดงอย่าง พ.ต.ต.เสงี่ยม ออกมาโชว์กร่างคับเมืองกดดัน ม.ร.ว.สขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคงต้องบอกว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่ ศปภ.โชว์ความไร้ศักยภาพในการควบคุมดูแลคนของตัวเอง เพราะก่อนหน้านี้ ศปภ.ก็ยังเคยปล่อยให้ นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.เขตดอนเมือง นำคนไปขนรื้อกระสอบทรายหรือบิ๊กแบ็ก จนเกิดเป็นเหตุการณ์วุ่นวายโกลาหลมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้เห็นการจัดการลงโทษให้เห็นแต่อย่างใด
ถามว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ รัฐบาลรู้เห็นเป็นใจด้วยหรือไม่ แน่นอนคงจะปฏิเสธไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง เพราะคงไม่ต้องบอกว่า แกนนำเสื้อแดงก็เสมือนเป็นเครื่องไม้เครื่องมือของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชนิดที่ไม่ต้องหาคำใดมาอธิบายเพิ่มเติม และยิ่งโดยความเป็นจริงแล้วเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นด้วยซ้ำไป เนื่องจาก ศปภ.ได้ประกาศใช้ มาตรา 31 ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ยึดอำนาจการบริหารจัดการน้ำจาก กทม.โดยเบ็ดเสร็จ แต่ความจริงที่เกิดขึ้นก็คือจนแล้วจนรอด ศปภ.ก็ยังไร้น้ำยาในการแก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนจาก “ม็อบน้ำ” ที่กำลังลุกฮือหลายพื้นที่กลับโยนปัญหาให้ท้องถิ่นจัดการ เพราะปัญหาม็อบน้ำ นับวันก็ยิ่งแสดงให้เห็นความไร้น้ำยาของ ศปภ.เด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ และแน่นอนคงไม่มีสิ่งใดดีกว่าการโยนบาปดิสเครดิต ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม.
ยิ่งเมื่อฟังคำพูดของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้เห็นเกมการเมืองของศปภ.เด่นชัดขึ้นทันที
"ปัญหาทั้งหมดเป็นหน้าที่ของ ศปภ.โดยตรง ซึ่งวันนี้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผอ.ศปภ.ก็เดินทางไปในพื้นที่แต่กลับไม่มีทางตัดสินใจเชิงนโยบาย นอกจากโยนมาให้ กทม.ทั้งที่ ศปภ.ต้องตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย ทั้งจากผู้ว่าฯ กทม.และประชาชนที่เดือดร้อน เพื่อตัดสินใจนำไปสู่การบริหารที่มีประสิทธิภาพ แต่เมื่อ ศปภ.ไม่ทำก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งต่อไป ซึ่งอาจจะลุกลามไปยังพื้นที่อื่นด้วย"
"ขอย้ำว่า หน้าที่การตัดสินใจต้องเป็นของ ผอ.ศปภ.ในฐานะผู้รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ผมยังหวังว่าปัญหาจะไม่ขยายจนถึงขั้นเกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนสองฝั่ง แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นก็จะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความล้มเหลวที่เกิดจากการบริหารงานของ ศปภ.เพราะการบริหารขาดประสิทธิภาพ และเพิ่มความแตกแยกตรงกับที่เราอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกอย่าง ยิ่งมีการเคลื่อนไหวของคนที่เกี่ยวข้อง ยิ่งต้องให้ ผอ.ศปภ.และรัฐบาลเป็นผู้กำหนดแนวทางตรงนี้ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นเรื่องการเมืองขัดแย้งกันและลุกลามไปถึงการขัดแย้งเรื่องน้ำ" นายอภิสิทธิ์ ระบุ
อย่างไรก็ตาม หากกล่าวถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วมของ ศปภ.ก็ดูเหมือนว่าจะลอยตัวไปตั้งนานแล้ว เพราะประชาชนก็ยังไม่เคยเห็นว่าจะทำอย่างไรกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ประชาชนยังคงเดือดร้อนอยู่ในหลายพื้นที่ มาจนถึงวันนี้ ศปภ.ก็ยังไม่เคยคิดที่จะไปจัดการเจรจาดูแลแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรมเสียที เพราะตลอดที่ปัญหาน้ำท่วมได้รุมเร้าประชาชนก็จะเห็นเพียงแต่การตามล้างตามเช็ดแก้ปัญหาอย่างมะรุมมะตุ้มเสียแทบทุกครั้ง และคงลืมไปแล้วว่ายังมีความเดือดร้อนของประชาชนยังมีอยู่อีกมากที่รอให้ ศปภ.และรัฐบาลมาแก้ เพื่อเร่งเยียวยาฟื้นฟูเยียวผู้ประสบภัยและประเทศให้กลับคืนมาเหมือนดังเดิม
วิธีการแก้ปัญหาของ ศปภ.ก็ยังคงรูปแบบเดิมสมฉายา "ดีแต่โม้" เพราะดีที่สุดก็เห็นเพียงแค่สัญญาว่ากำลังปรับนโยบายแก้น้ำท่วม โดยอีกไม่กี่วันจะรื้อบิ๊กแบ็ก ซึ่งเอาเข้าจริงก็เป็นการซื้อเวลาให้ความหวังกับผู้ที่เดือดร้อน เพราะกว่าจะถึงวันนั้นน้ำก็เริ่มลดโดยธรรมชาติ ปล่อยให้ประชาชนเผชิญยถากรรม โดยที่รัฐบาลไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเหมือนเดิม
ซ้ำร้ายเหตุการณ์ครั้งนี้ยังสะท้อนว่านอกจากจะไม่แก้ไขให้ปัญหาเบาบางลงแล้ว ยังกลับเปิดเกมให้ท้ายคนเสื้อแดงยกขบวนไปเปิดทำสงครามน้ำ โยนบาปกับผู้ว่าฯ กทม. ยิ่งเป็นเหมือนดาบสองคมเข้าหารัฐบาลว่าอยู่ในภาวะล้มเหลวมีกฎหมายแก้ปัญหาแต่ก็บังคับใช้ไม่ได้ ทั้งที่ พ.ต.ต.เสงี่ยม ทางประชาชนก็ย่อมทราบดีว่าเป็นคนของใคร
ที่สุดแล้วประชาชนตาดำๆ ก็ยังเห็นบรรดาศปภ.มีอารมณ์เล่นเกมการเมืองบนความเดือดร้อนของประชาชนซึ่งคงจะไม่มีคำใดมาเปรียบเปรยได้ใกล้เคียงไปกว่าคำว่าเลือดเย็นจริงๆ