“กลุ่มการเมืองสีเขียว” เจอเสื้อแดงดักป่วนหน้า ป.ป.ช.ก่อนเข้าร้องเอาผิดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ฐานจัดการน้ำผิดพลาด “สุริยะใส” หวั่นสร้างสถานการณ์ ส่งตัวแทนเข้ายื่น ลั่นเดินหน้ารวบรวบผู้เสียหายฟ้องรัฐบาลสัปดาห์หน้า
วันนี้ (25 พ.ย.) นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มการเมืองสีเขียว เปิดเผยถึงสาเหตุที่ไม่ได้เดินทางเข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่ง (ป.ป.ช.) เอาผิดรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ฐานบริหารราชการแผ่นดินโดยมิชอบ กรณีแก้ปัญหาน้ำท่วมผิดพลาด ด้วยตนเองว่า ในระหว่างที่เดินทางถึงหน้าสำนักงาน ป.ป.ช.ได้สังเกตเห็นกลุ่มคนเสื้อแดงประมาณ 30-40 คน รวมตัวกันอยู่ที่บริเวณทางเข้าสำนักงาน ซึ่งอาจจะมาดักรอ ทางกลุ่มจึงได้มอบหมายให้ผู้แทนของกลุ่มเข้ายื่นเรื่องแทน เนื่องจากเกรงว่าอาจมีความพยายามปั่นป่วนสร้างสถานการณ์เพื่อเบี่ยงเบนประเด็นที่ทางกลุ่มการเมืองสีเขียวต้องการกล่าวโทษนายกฯ ฐานบริหารจัดการน้ำล้มเหลว
ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้าจะมีการรวบรวมรายชื่อผู้เสียหายเพื่อยื่นฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายอันเนื่องมาจากความผิดพลาดในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมต่อศาลปกครองอีกครั้ง
หนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ
สำนักงานกลุ่มกรีน (Green Politics)
๓๘๖/๕๒ ซอยรัชดา ๔๒ ถนนรัชดาภิเษก
เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ๑๐๙๐๐
วันศุกร์ที่ ๒๕ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒
เรียน ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
สิ่งที่แนบมาด้วย
๑. สำเนาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๑
๒. สำเนามาตรา ๒๕๐(๒) มาตรา ๒๗๕ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐
๓. สำเนามาตรา ๑๕๗ ประมวลกฎหมายอาญา
๔. สำเนาแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๗ เกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยและดินโคลนถล่ม มาตรา ๗
๕. มาตรา ๑๙ (๒) (๔) และมาตรา ๑๒๓/๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒
๖. สำเนาภาพถ่ายสำนักงานกลุ่มกรีน
๗. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้กล่าวหา
ข้าพเจ้าในฐานะตัวแทนกลุ่มกรีน (Green Politics) และผู้ประสบภัยจากการบริหารจัดการน้ำของคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความประสงค์ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ ป.ป.ช. ใช้อำนาจตามมาตรา ๑๙ (๒) (๔) และมาตรา ๑๒๓/๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบมาตรา ๒๕๐(๒) มาตรา ๒๗๕ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๑๕๗ ประมวลกฎหมายอาญา ดำเนินคดีกับผู้ถูกร้องและพวกในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังมีรายชื่อต่อไปนี้:-
ผู้ถูกร้องที่ ๑ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑ คือ
มาตรา ๑๑ นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(๑) กำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อการนี้จะสั่งให้ราชการ ส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และส่วนราชการซึ่งมีหน้าที่ควบคุมราชการส่วนท้องถิ่น ชี้แจง แสดงความคิดเห็น ทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ ในกรณีจำเป็นจะยับยั้งการปฏิบัติ ราชการใด ๆ ที่ขัดต่อนโยบายหรือมติของคณะรัฐมนตรีก็ได้และมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น
(๒) มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีกำกับการบริหารราชการของกระทรวง หรือทบวงหนึ่งหรือหลายกระทรวงหรือทบวง
(๓) บังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่งซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรม
(๔) สั่งให้ข้าราชการซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรมหนึ่งมาปฏิบัติราชการ สำนักนายกรัฐมนตรี โดยจะให้ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิมหรือไม่ก็ได้ ในกรณีที่ให้ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิม ให้ได้รับเงินเดือนในสำนักนายกรัฐมนตรีในระดับ และ ขั้นที่ไม่สูงกว่าเดิม
(๕) แต่งตั้งข้าราชการซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรมหนึ่งไปดำรงตำแหน่งของอีกกระทรวง ทบวง กรมหนึ่ง โดยให้ได้รับเงินเดือนจากกระทรวง ทบวง กรมเดิม ในกรณีเช่นว่านี้ให้ข้าราชการซึ่งได้รับแต่งตั้งมีฐานะเสมือนเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งตนมาดำรงตำแหน่งนั้นทุกประการ แต่ถ้าเป็นการแต่งตั้งข้าราชการตั้งแต่ตำแหน่งอธิบดี หรือเทียบเท่าขึ้นไป ต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
(๖) แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษา หรือคณะที่ปรึกษา ของนายกรัฐมนตรี หรือเป็นคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติราชการใด ๆ และกำหนดอัตราเบี้ยประชุม หรือค่าตอบแทนให้แก่ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้ง
(๗) แต่งตั้งข้าราชการการเมืองให้ปฏิบัติราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี
(๘) วางระเบียบปฏิบัติราชการเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปโดย รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น
(๙) ดำเนินการอื่น ๆ ในการปฏิบัติตามนโยบาย ระเบียบตาม (๘) เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ใช้บังคับได้
นอกจากนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรียังมีอำนาจหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ หรือ กปภ.ช. ซึ่งประกอบด้วยผู้ถูกกล่าวหาในฐานะนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งผู้ถูกล่าวหามอบหมายเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน ๕ คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจาก ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์เกี่ยวกับการผังเมืองและการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย เป็นกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสารณภัย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๗ ให้ กปภ.ช. มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ :-
(๑) กำหนดนโยบายในการจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ
(๒) พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ตามมาตรา ๑๑ (๑) ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี
(๓) บูรณาการพัฒนาระบบการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระหว่างหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพ
(๔) ให้คำแนะนำ ปรึกษาและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
(๕) วางระเบียบเกี่ยวกับค่าตอบแทน ค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
(๖) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
ในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ในวรรคหนึ่ง กปภ.ช. จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดแทนหรือตามที่มอบหมายก็ได้ ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๐ มาใช้บังคับกับการประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง กปภ.ช. อาจเรียกให้หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุม หรือชี้แจงหรือให้ข้อมูลก็ได้
ผู้ถูกร้องที่ ๒ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และเป็นรองประธานกรรมการ กปภ.ช. ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสารณภัย พ.ศ.๒๕๕๐
ผู้ถูกร้องที่ ๓ พลตำรวจเอกประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และผู้อำนวยการ ศปภ. (ส่วนหน้า) ซึ่งแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี
ผู้ถูกร้องที่ ๔ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ข้อกล่าวหา เป็นเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในตำแหน่งหน้าที่ หรือ
ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหาย
แก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติโดยมิชอบ
โดยพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดตามข้อกล่าวหา กล่าวคือ เมื่อประมาณต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ถึงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการป้องกันและและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เรียกชื่อย่อว่า กปภ.ช. กับพวก มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๗ เกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยและดินโคลนถล่ม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ ๑. เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่เกิดจากอุทกภัย ๒. เพื่อให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ๓. เพื่อกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรเครือข่ายทุกภาคส่วนในการป้องกันและบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉินจากอุทกภัยและดินโคลนถล่มให้ชัดเจน บูรณาการและมีประสิทธิภาพ โดยแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๗กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติไว้ ๓ ช่วง คือ ๑. ก่อนเกิดภัย ๒. ขณะเกิดภัย และ ๓. หลังเกิดภัย รายละเอียดปรากฏตามสำเนาแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๗ เกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยและดินโคลนถล่ม ที่แนบมาด้วย
ประเด็นแรก แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๗กำหนดให้คณะกรรมกรรมการป้องกันและและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ซึ่งมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี และนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และเป็นรองประธานฯ จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยแบบบูรณาการในทุกระดับ เตรียมการด้านโครงสร้างโดยสำรวจและก่อสร้างหรือปรับปรุงแหล่งน้ำและเส้นทาง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและดินโคลนถล่ม ให้ความรู้แก่ชุมชนโดยเน้นการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เป็นต้น
ได้บังอาจร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องกับพวกโดยมิชอบ เพื่อทำให้ผู้ร้องและประชาชนทั่วไปได้รับความเดือดร้อนเสียหายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดพิจิตร ประสบปัญหาอุทกภัยจากพายุนกเตน โดยผู้ถูกร้องกับพวกในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ทราบดีว่ามวลน้ำดังกล่าวจะไหลลงสู่ที่ต่ำในพื้นที่ภาคกลางตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอยุธยา จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานครตามลำดับ แต่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ถูกร้องกับพวกกลับละเว้นไม่จัดเตรียมมาตรการและโครงสร้างการผันน้ำจากภาคเหนือตอนล่าง มีการเก็บกักน้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิตติ์ ตามที่ระบุแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๗ และไม่ทำการผันน้ำไปทางตะวันออกและตะวันตก โดยเฉพาะทางจังหวัดสุพรรณบุรี
โดยกรณีดังกล่าวข้างต้น นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกมาแถลงรับ ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ว่าตนเป็นผู้สั่งชะลอน้ำเพื่อให้พี่น้องชาวนาได้เกี่ยวข้าว ก่อนปล่อยน้ำเข้าทุ่ง อีกทั้งเมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔ นายถิรชัย วุฒิธรรม เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และเลขาธิการ ศปภ. กล่าวยอมรับต่อสื่อมวลชนว่า การบริหารงานที่ผ่านมาของ ศปภ. ที่ตั้งตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ไม่มีแผนงานดำเนินการต่างๆ เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของ ศปภ. เท่านั้น
ทั้งที่ความจริงแล้ว ผู้ถูกร้องกับพวก และหน่วยงานราชการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลมีหน้าที่ต้องจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและดินโคลนถล่มแบบบูรณาการในทุกระดับ ทั้งระดับชาติ จังหวัด อำเภอ ท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับแผนป้องกันและบรรเทา - สาธารณภัยแห่งชาติ และแผนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีหน่วยงานหลักได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมพัฒนาที่ดิน จังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรุงเทพมหานคร เป็นการล่วงหน้า
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้ถูกร้องกับพวกได้ทำการเก็บกักน้ำ บริหารจัดการน้ำระดับชาติ โดยไม่มีแผนปฏิบัติป้องกันและบรรเทาอุทกภัยตามที่กฎหมายกำหนด จนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย มีผู้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากภัยพิบัติดังกล่าวมากกว่า ๖๐๐ คน ตลอดจนนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เสียหายนับล้านล้านบาท เกิดผลกระทบด้านต่างๆ ตามมาอีกมากมายจนยากจะประเมินค่าได้
ประเด็นที่สอง ต่อมาเมื่อประมาณเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ ๑ ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง ศูนย์อำนวยความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ. โดยมีพลเอกตำรวจเอกประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และผู้อำนวยการ ศปภ. ตามมาตรา ๓๑ พระราชบัญญัติพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยศูนย์อำนวยความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ภายใต้การบังคับบัญชาของพลเอกตำรวจเอกประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้แถลงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชนจังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ว่า รัฐบาล และ ศปภ. สามารถรับมือและป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพมหานครเรื่อยมา โดยมิได้จัดเตรียมสถานที่ปลอดภัย เพื่อรองรับผู้ประสบภัย พร้อมสิ่งสาธารณูปโภคที่จำเป็น ซึ่งมีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบและอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาและกำกับดูแลของผู้ถูกร้องพวก จนกระทั่งมวลน้ำดังกล่าวไหลลงสู่จังหวัดอยุธยา จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานครตามลำดับ เป็นเหตุให้บ้านพักอาศัยขอ
ประชาชนได้รับความเสียหาย ซึ่งต่อมา นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็ได้เปิดเผยในวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ว่า “ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ประเมินจำนวนมวลน้ำหลากใน จ. พระนครศรีอยุธยา ผิดพลาด จึงเกิดเหตุน้ำท่วมสูงขึ้น ซึ่งวันนี้จะมีการประชุมเพื่อประเมินและแก้ไขอีกครั้ง” รายละเอียดปรากฏตามเว็ปไซต์ http://hilight.kapook.com/view/63525
ทั้งที่ความจริงแล้ว แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๗ ได้กำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหากับพวกแต่งตั้งหน่วยงานราชการ เพื่อทำการประเมินและแจ้งเตือนอุทกภัยดังกล่าวให้ผู้ร้องและประชาชนทราบ ซึ่งหากผู้ถูกร้องกับพวกได้ปฏิบัติตามกฎหมายและแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๗ ก็จะไม่เกิดความเสียหายดังกล่าวหรือเกิดความเสียหายน้อยลง
การกระทำของผู้ถูกร้องกับพวกข้างต้น ถือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่หรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติโดยมิชอบ มาตรา ๑๒๓/๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และตามมาตรา ๑๕๗ ประมวลกฎหมายอาญา โดยข้าพเจ้าจะนำส่งพยานเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณาของท่าน และเพื่อขยายผลไปยังหน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบจากความล้มเหลวในการบริหารจัดการน้ำต่อไป
ดังนั้น ข้าพเจ้าในฐานะตัวแทนกลุ่มกรีน (Green Politics) จึงขอร้องทุกข์กล่าวโทษมายังประธาน ป.ป.ช. เพื่อดำเนินคดีกับผู้ถูกร้องกับพวกต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อทราบและโปรดพิจารณาดำเนินการ
กลุ่มกรีน (Green Politics)
ลงชื่อผู้ร้อง
1. ............................................................. 2. .............................................................
3. ............................................................. 4. .............................................................
5. ............................................................. 6. .............................................................
7. ............................................................. 8. .............................................................
9. ............................................................. 10. .............................................................