xs
xsm
sm
md
lg

ปูอาการกำเริบ-คลื่นไส้ ศาลปค.สั่งบรรเทาทุกข์ ให้ศปภ.-กทม.ร่วมเปิด-ปิดปตร.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ศาลปค.มีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวให้ศปภ.-กทม.ร่วมกันพิจารณาเปิด-ปิดประตูระบายน้ำคลองมหาสวัสดิ์ในสัดส่วนที่เหมาะสม ด้าน "ยิ่งลักษณ์" อาการป่วยกำเริบ-หน้าซีดคลื่นไส้ ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ก่อนเผ่นกลับไปพักผ่อน ส่วนผบ.ทอ.เผยกู้ดอนเมืองเสร็จช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับงบฯที่รัฐบาลจะสนับสนุน บวท. เผยอุปกรณ์นำร่องพัง 60 ล้าน "โกร่ง" เดินสายญี่ปุ่น ยันไม่มีใครหนีน้ำท่วมเมืองไทย “ศอส.” เผย ยังมีน้ำท่วม 21 จังหวัด เสียชีวิตรวม 666 ราย

วานนี้ ( 1 ธ.ค.) ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งมาตรการบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยสั่งให้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือศปภ. และ กรุงเทพมหานคร ร่วมกันพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ในการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำคลองมหาสวัสดิ์เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมกับความสามารถในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่รับผิดชอ บ ของทั้ง 2 ฝ่ายนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง

ศาลสั่งให้ทั้งศปภ.และกทม.ดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่จ.นนทบุรีและออกคำสั่งกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาให้มีการระงับ การกู้ทางหลวงสาย 340 และทางหลวงหมายเลข 9 (ถนนกาญจนาภิเษก) พร้อมกับให้ระงับการปิดประตูระบายน้ำและเสริมกระสอบทรายตามแนวคลองมหาสวัสดิ์ช่วงรอยต่อกับจ.นนทบุรีไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

เมื่อเวลา 09.00 น.วานนี้ (1 ธ.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดโครงการ 5 ธันวาฯ รวมพลังคนไทย รวมหัวใจถวายพระพรชัยมงคล ที่ ลานพระราชวังดุสิต โดยมีคณะรัฐมนตรี ร่วมมอบสิ่งของ ยานพาหนะ และเงิน ในการดำเนินโครงการอันเป็นสาธารณะประโยชน์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 7 รอบ ในวันที่ 5 ธ.ค.นี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปความสำคัญของโครงการตอนหนึ่งว่า เพื่อความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงเสียสละ เหน็ดเหนื่อยพระวรกาย ปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เพื่อพสกนิกรชาวไทย โดยจะร่วมกันแสดงออกในความรัก ความสามัคคี ของประชาชนในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง ร่วมทำความสะอาด และ ซ่อมแซมสิ่งของต่างๆ พร้อมกันทั้งประเทศตั้งแต่วันที่ 1-4 ธ.ค.นี้ โดยเฉพาะพื้นที่น้ำลด 22 เขตในกทม. และ อีก 3 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี และนครปฐม ร่วมกันเร่งสูบน้ำ บำบัดน้ำเสีย กำจัดขยะ และยุง รวมทั้งแก้ปัญหาการคมนาคม สัญจรเพื่อฟื้นฟูสภาพบ้านเมือง

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังกล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมว่า ยอมรับว่าการแก้ปัญหาอาจไม่ตรงใจในหลายจุด แต่จะแก้อย่างเต็มที่ เพราะการทำงานบางอย่างอาจไม่ถูกใจทุกคน แต่พยายามประนีประนอม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจที่อ.ปากเกร็ด นายกฯ และคณะได้เดินทางไปรับประทานอาหารร้านไก่ทอง ย่านเมืองทองธานี นั่งได้ประมาณ 10 นาที ปรากฏว่า นายกฯมีอาการคลื่นไส้ อ่อนเพลีย จึงได้ขอตัวกลับไปพักที่บ้าน โดยยกเลิกภารกิจที่ทำเนียบฯ ในช่วงเย็น

**ยิ่งลักษณ์ปัดแม้วโทรหา

นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวก่อนเข้าพบ ผู้อำนวยการใหญ่กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children's Fund-UNICEF) กล่าวปฏิเสธว่า พ.ต.ท.ทักษิน ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ได้โทรมาในช่วงที่ตนเองป่วย ส่วนกรณีที่ให้รัฐมนตรีทุกคนส่งผลสรุป การปฏิบัติหน้าที่มานั้น ถือเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่ต้องรายงานผลการทำงานอยู่แล้ว พร้อมยืนยันด้วยว่าไม่ได้นำเริ่องนี้ไปประเมินเพื่อปรับคณะรัฐมนตรี

** กู้ดอนเมืองช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับงบฯ

พล.อ.อ.อิทธพร ศุกภวงศ์ ผบ.ทอ กล่าวถึงความคืบหน้าการกู้สนามบินดอนเมือง และกองบัญชาการ กองทัพอากาศ ว่า ขณะนี้พื้นที่บางส่วนใช้การได้ แต่ในส่วนพื้นที่อื่นๆ ที่ตั้งอยู่ในดอนเมือง เช่น ส่วนการศึกษา และยุทธบริการ ถือเป็นคลังใหญ่ และส่วนสนับสนุนทั้งหมดจมน้ำหมด พื้นที่ที่มีผลกระทบมากคือ พื้นที่กองบิน6 โดยมีเครื่องบินรอซ่อมบำรุงจอดอยู่ ทั้งนี้ถ้าเราได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล ก็จะสามารถกลับมาปฎิบัติงานได้ตามปกติ จะเร็วช้าแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับส่วนนี้ ซึ่งงบประมาณ 10,563 ล้านบาท ที่ได้รับเรามีแผน 3 ระยะ คือ แผนเร่งด่วน แผนฟื้นฟูระยะกลาง และแผนระยะยาว

**อุปกรณ์นำร่องที่ดอนเมืองพัง 60 ล้าน

นาวาอากาศตรี ประจักษ์ สัจจโสภณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่า ระบบและอุปกรณ์สนับสนุนระบบบริการการเดินอากาศ ของบวท. ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ได้รับความเสียหายอย่างมาก โดยจะต้องใช้งบประมาณในการบูรณะซ่อมแซม จัดหา และติดตั้งระบบ-อุปกรณ์ที่เสียหาย จำนวน 60.539 ล้านบาทซึ่งเป็นงบของ บวท.เอง เพื่อให้สามารถกลับมาใช้งานโดยเร็วที่สุด

** "โกร่ง" ยันญี่ปุ่นไม่ย้ายฐานหนี

นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ให้สัมภาษณ์หลังกลับจากการเดินทางไปเยือนญี่ปุ่น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน ว่า ญี่ปุ่นยืนยันว่า จะลงทุนในไทยต่อไป และจะสนับสนุนโครงการต่างๆในมาตรการป้องกันน้ำท่วมในระยะสั้น และระยะยาว จากหน่วยงานของรัฐบาลญี่ปุ่นคือไจกา, เจบิก กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงที่ดูแลสถาบันการเงิน ที่ดูแลบริษัทประกันภัย

แต่ยอมรับว่า ไทยเป็นฐานอุตสาหกรรมการส่งออกของญี่ปุ่นที่สำคัญสุด วิกฤตน้ำท่วมในไทย มีผลกระทบกับห่วงโซ่การผลิตของญี่ปุ่น และส่งผลไปทั่วโลก ซึ่งฮาร์ดดิสก์ ที่ใช้กันทั่วโลกผลิตที่ จ.อยุธยา กว่าร้อยละ 60 เหตุนี้จึงเกิดผลกระทบกับอุตหกรรมทั่วโลก

*** ศอส.เผยเสียชีวิต 666 ราย

ที่กระทรวงมหาดไทย ศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์ อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) รายงานถึงสถานการณ์อุทกภัยและประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ใน 2 พื้นที่ คือ ประเทศไทยตอนบนมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 15 จังหวัด 104 อำเภอ 773 ตำบล 4,898 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,800,043 ครัวเรือน 4,827,958 คน ได้แก่ นครสวรรค์ ชัยนาท อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครนายก ฉะเชิงเทรา และ กทม. มีผู้เสียชีวิต 657 ราย สูญหาย 3 คน (จ.แม่ฮ่องสอน 2 ราย จ.อุตรดิตถ์ 1 ราย)

ส่วนสถานการณ์ในภาคใต้มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 6 จังหวัด 42 อำเภอ 228 ตำบล 1,421 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 100,233 ครัวเรือน 334,361 คน ได้แก่ พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา และปัตตานี มีผู้เสียชีวิต 9 ราย (จ.พัทลุง 2 ราย สงขลา 2 ราย ยะลา 2 ราย นราธิวาส 3 ราย)

***ตรึงกำลังปตร.คลองพระยาสุเรนทร์

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ที่ประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ กรณีชาวบ้านรวมตัวกันเพื่อกดดันและยืนยันให้มีการเปิดประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ 1.5 เมตร ยังมีตำรวจสน.คันนายาว สายไหม และหน่วยควบคุมฝูงชน กว่า 100 นายตรึงกำลัง ขณะที่ระดับน้ำที่ประตูระบายน้ำฝั่ง อ.ลำลูกกา อยู่ที่ 1.94 เมตร ฝั่งสายไหม อยู่ที่ 1.73 เมตร ซึ่งเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ กทม. ระบุว่า ระดับน้ำในพื้นที่ลำลูกกา ลดลงจากเมื่อวันที่ 30 พ.ย.5 เซนติเมตร ขณะที่สายไหมคงที่

ด้าน พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ ข้าราชการการเมืองสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะแกนนำชาวบ้านย่านลำลูกกา กล่าวว่า ขีดเส้นภายในเวลา 14.00 น.วันนี้ กทม.จะต้องเปิดประตูระบายน้ำ ที่ระดับ 1.50 เมตร เพราะคนในพื้นที่ยังเดือดร้อน

ทั้งนี้ กทม.ได้ส่งเจ้าหน้าที่แจ้งความดำเนินคดีกับ พ.ต.ต.เสงี่ยม ข้อหาบุกรุกสถานที่ราชการ ที่ สน.คันนายาว ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลหลักฐาน ขณะที่ พ.ต.ต.เสงี่ยม ยืนยันว่าไม่กังวล ยินดีมอบตัว หากมีคนแจ้งความดำเนินคดี

**เปิดปตร.พระยาสุเรนทร์เป็น 1.40 ม.

เมื่อเวลา 10.30 น.วานนี้ (1 ธ.ค.) ที่ศาลาว่าการ กทม. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงผลการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการแก้ไขในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับการเปิดประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ว่า กทม.จะเพิ่มระดับประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ อีก 10 ซม. จากเดิม 1.30 เมตร เป็น 1.40 เมตร หลังประเมินสถานการณ์น้ำในช่วง 24 ชม. พบว่าระดับน้ำทรงตัว และในวันพรุ่งนี้หากสถานการณ์น้ำยังทรงตัวเช่นเดิม กทม.จะพิจารณาเพิ่มระดับประตูระบายน้ำเป็น 1.50 เมตรต่อไป
**เร่งกำจัดขยะให้หมดก่อนวันที่ 5 ธ.ค.นี้

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวอีกว่า ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมกันกำจัดขยะตกค้างในพื้นที่ต่างๆ ให้หมดไป ก่อนวันที่ 5 ธ.ค.นี้ เพื่อให้กรุงเทพฯ ปลอดขยะ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 พ.ย.54 ที่ผ่านมา กทม.สามารถจัดเก็บขยะได้สูงถึง 11,610 ตัน คิดเป็นร้อยละ 131 ของขยะในช่วงเวลาปกติ โดยเฉพาะในพื้นที่ 25 เขตน้ำท่วม สามารถจัดเก็บขยะได้ถึง 5,644 ตัน โดยมีปริมาณขยะสูงกว่าปกติทุกพื้นที่

**เสงี่ยมนำเปิดปตร.คลองลำหม้อแตก 2ม.

สถานการณ์ล่าสุดบริเวณประตูระบายน้ำคลองลำหม้อแตก เขตสายไหม พ.ต.ต.เสงี่ยม แกนนำชาวบ้านย่านลำลูกกา พร้อมมวลชนจำนวนหนึ่ง เดินทางมาเปิดประตูระบายน้ำคลองลำหม้อแตก เพิ่มขึ้นจากเดิม 50 เซนติเมตร เป็น 2 เมตร

พ.ต.ต.เสงี่ยม กล่าวว่า วันที่ 3-5ธ.ค. จะไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ

**คาด10วัน ‘บางบัวทอง-บางใหญ่’คลี่คลาย

นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เลขานุการคณะกรรมการบริหารจัดการระบายน้ำในพื้นที่ที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรง กล่าวถึงสถานการณ์ฝั่งตะวันออกว่า ภาพรวมคลี่คลายแล้วเหลือเพียงการแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ คาดว่าวันที่ 5 ธ.ค.พื้นที่ฝั่งตะวันออกส่วนใหญ่จะกลับเข้าสู่ภาวะการฟื้นฟูได้ ส่วนฝั่งตะวันตกกรมชลประทานจะทำหน้าที่ดูแลสถานการณ์น้ำในภาพรวมโดยพื้นที่ ที่ยังมีปัญหา คือ บางบัวทองและบางใหญ่ แต่เชื่อว่าจะมีการระบายน้ำลงระบบคูคลองได้ โดยใช้เวลาประมาณ 10 วัน

**ชาวหมู่บ้านชวนชื่น จ.นนท์ขอศปภ.ช่วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการสัมภาษณ์ได้มีตัวแทนชาวบ้านหมู่บ้านชวนชื่น กอล์ฟ อเวนิว จ.นนทบุรี เข้าร้องเรียนและสอบถามถึงวิธีการระบายน้ำออกจากหมู่บ้านกับนายอานนท์ เนื่องจากขณะนี้น้ำในหมู่บ้านมีระดับสูงกว่า 2 เมตร และก่อนหน้านี้ได้ทำแผนเสนอจังหวัด แต่พบปัญหาเพราะทางจังหวัดระบุว่าไม่มีงบประมาณที่จะจัดสรรให้กับประชาชน ซึ่งต้องการเครื่องสูบน้ำ 11 ตัว พร้อมน้ำมัน จึงเดินทางมายื่นเรื่องต่อศปภ.พร้อมสอบถามว่าทำอย่างไรจึงจะสูบน้ำลงระบบคู คลองได้

**เร่งกู้หมู่บ้านน้ำท่วมขัง คาดเร็วสุด 5 ธ.ค.

ต่อมา เมื่อเวลา 14.00 น. ผู้ว่าฯกทม. แถลงข่าวความร่วมมือกับภาคเอกชนในการกู้พื้นที่น้ำท่วมขังภายในชุมชนและหมู่บ้านในเขตกรุงเทพมหานคร โดยการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำจากหน่วยงานภาคเอกชน 8 บริษัท จำนวน 36 เครื่อง สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร 20 เครื่อง และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย 1 เครื่อง รวมทั้งสิ้น 57 เครื่อง เพื่อเร่งสูบน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขัง 4 พื้นที่ที่สามารถ ดำเนินการได้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 ธ.ค. ได้แก่ 1.หมู่บ้านโกสุมนิเวศน์ 2 เขตดอนเมือง ซึ่งมีน้ำสูง 25 ซม.จากผิวจราจร โดยจะเร่งระบายน้ำในพื้นที่ลงสู่คลองตาอูฐและคลองบางพูด จะทำให้ระดับน้ำในหมู่บ้านลดลงโดยเฉลี่ยวันละ 5 ซม. 2.ซอยแจ้งวัฒนะ 14 เขตหลักสี่ น้ำท่วมขังสูง 50-60 ซม. จะสูบน้ำสู่คลองเปรมประชากร คลองบางตลาด และท่อระบายน้ำ ซึ่งจะทำให้น้ำในพื้นที่ลดลงวันละประมาณ 10 ซม. 3.เคหะชุมชนทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ ระดับน้ำสูง 20-30 ซม. จะระบายน้ำสู่คลองตาอูฐและทำให้น้ำลดลงประมาณ 5-7 ซม. และ 4.ถนนรามอินทรา ซอย 1-39 เขตบางเขน ระดับน้ำสูง 15-20 ซม. จะเร่งสูบน้ำลงคลองถนนและคลองกระเฉด ทำให้น้ำลดลงวันละประมาณ 10 ซม. ส่วนในพื้นที่น้ำท่วมขังสูงกว่านี้คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 14 ธ.ค.นี้

**รอคลองทวีวัฒนาลดกู้หมู่บ้านเศรษฐกิจ

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า กทม.ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในทุกพื้นที่ แต่การจะเร่งระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขังจะต้องทำการปิดล้อมพื้นที่เพื่อไม่ให้น้ำเข้ามาเพิ่มอีก และเร่งระบายน้ำออกโดยใช้เครื่องสูบน้ำจำนวนมากสูบลงท่อระบายน้ำหรือคลองในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วยิ่งขึ้น ในส่วนของหมู่บ้านเศรษฐกิจ เขตบางแค นั้น ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากมีขนาดพื้นที่กว้างทำการปิดล้อมพื้นที่ได้ยาก อีกทั้งระดับน้ำในคลองทวีวัฒนายังสูงมาก หากสูบน้ำออกตอนนี้น้ำจะไหลวนกลับเข้ามาในพื้นที่ได้ อย่างไรก็ตาม หากระดับน้ำในคลองทวีวัฒนาลดลงและสามารถทำการปิดล้อมพื้นที่ได้ กทม.จะระดมเครื่องสูบน้ำและทำการระบายน้ำหมู่บ้านเศรษฐกิจ รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ที่มีน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ ทันที และทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ จะแห้งภายใน 31 ธ.ค.2554 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนกรุงเทพฯ

ส่วนกรณีที่ยังมีชาวบ้านไปกดดันจะปิดถนนให้ กทม.เปิดประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ที่ระดับ 1.50 เมตร นั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ยืนยันว่า จะเปิดปตร.คลองพระยาสุเรนทร์ที่ระดับ 1.40 เมตร ตามระบบขั้นบันได

**แรงงานแห่ของานกว่า 8 พันคน เริ่มม.ค.55

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้รวบรวมตำแหน่งงานว่างได้แล้ว 147,365 อัตราแบ่งเป็นตำแหน่งในประเทศ 131,356 อัตรา ซึ่งในจำนวนนี้เป็นตำแหน่งงานที่จ้างงานได้ทันทีใน 4 จังหวัดได้แก่ ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทราจำนวนทั้งหมด 28,456 อัตรา และตำแหน่งงานในต่างประเทศ 16,000 อัตรา

ส่วนการจัดทำเลเบอร์แบงก์นั้น ขณะนี้จัดทำข้อมูลตำแหน่งงานว่างได้แล้ว 56,383 อัตรา ซึ่งก็ได้มีแรงงานประสบภัยน้ำท่วมที่ถูกเลิกจ้าง 8,075 คนจากที่มีอยู่ในเวลานี้ 9,500 คนมายื่นความจำนงขอให้จัดหาตำแหน่งงานรองรับ ซึ่งกกจ.ได้นำข้อมูลมาจับคู่กับตำแหน่งงานและสถานประกอบการไว้แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น