xs
xsm
sm
md
lg

จาก “บิ๊กแบ็ก” ถึงการถมที่ดิน : ทำไมคนไทยจึงมีความรู้สึกช้า?

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่นานหลายเดือนครั้งนี้ นอกจากจะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลแล้ว เรายังได้เห็นข่าวการรวมตัวของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนลุกขึ้นมาประท้วงการแก้ปัญหาของภาครัฐ โดยเฉพาะการรื้อคันกั้นน้ำที่เรียกว่า “บิ๊กแบ็ก”

การรวมตัวกันครั้งนี้ไม่ใช่แค่เป็นชาวบ้านธรรมดาเท่านั้น แต่บางกลุ่มมีอดีตข้าราชการระดับอธิบดี อดีตรัฐมนตรี และอดีตประธานรัฐสภาเข้าร่วมด้วย และไม่ใช่แค่การประท้วงธรรมดาๆ แต่ถึงขั้นปิดถนน ปิดโทลล์เวย์ แบบเดียวกับที่ชาวบ้านในชนบทที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกรณีเขื่อนปากมูล โรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก-บ้านกรูด จนถึงกรณีปิดอ่าวเพื่อต่อต้านเรือปลากะตักปั่นไฟที่ทำการประมงแบบล้างผลาญโดยใช้แสงไฟฟ้าล่อให้ปลามาชุมนุมกันราวดิสโก้เธค

เหตุผลที่ชาวบ้านระดับรากหญ้าต้องลุกขึ้นมาประท้วงที่คนทั่วไปรู้สึกว่ารุนแรงก็เพราะโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าวได้ไปทำลายฐานชีวิต หรือแหล่งทำมาหากินของพวกเขา ชาวบ้านเหล่านั้นได้พยายามเรียกร้องตามกลไกของรัฐที่มีอยู่แล้วแต่ไม่ได้ผล เพราะกลไกของรัฐเหล่านั้นไม่คำนึงถึงหลักวิชาการรวมทั้งมีการฉ้อฉลที่ซับซ้อนมากมาย

กลับมาที่กรณีบิ๊กแบ็กเพื่อกั้นน้ำให้ท่วมฝั่งหนึ่งและไม่ท่วมอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะอ้างว่าเพื่อไม่ให้ “กรุงเทพฯ ชั้นในที่เป็นเขตเศรษฐกิจ (ของใครก็ไม่รู้)” ต้องได้รับความเสียหายหรืออะไรก็ตาม แต่เราจะเห็นว่าในช่วงแรกไม่มีใครคัดค้าน แม้ชาวบ้านที่อยู่เหนือคันบิ๊กแบ็กที่ถูกน้ำท่วมสูงกว่าก็ไม่คัดค้าน มันช่างเป็นภาพที่ดูเรียบร้อยและน่ารักเสียนี่กระไร

ผมเข้าใจว่าที่เขาไม่คัดค้านตั้งแต่ต้นก็น่าจะเป็นเพราะเพื่อเปิดโอกาสให้รัฐบาลแก้ปัญหาตามที่รัฐบาลคิดก่อน ไม่อยากจะมาขัดขวางกลางลำท่ามกลางวิกฤต แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานนับเดือน ระดับน้ำเหนือบิ๊กแบ็กก็ไม่ลดลง นอกจากระดับน้ำจะยังคงสูงถึงเอว ถึงคอแล้ว แต่น้ำกลับเน่าเหม็น ยุงชุม ขยะน่าแขยง อุจาดตา แพร่เชื้อโรค และขัดขวางวิถีชีวิตปกติของพวกเขาเกินกว่าที่พวกเขาจะ “เสียสละ” และอดทนได้อีกต่อไปแล้ว จึงต้องลุกขึ้นมาประท้วงจนถึงขั้นปิดถนน

รูปแบบของการเกิดปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาของคนทั้งสองกลุ่ม คือ กลุ่มคนเมืองกับกลุ่มคนชนบทจึงเหมือนกันไม่ผิดเพี้ยน เพียงแต่ว่ามันเกิดคนละเวลา เกิดตามสถานการณ์

ผมเข้าใจว่า ณ ตอนนี้ ถ้ากลุ่มคนเมืองที่เดือดร้อนแสนสาหัสในกรณีน้ำท่วมครั้งนี้ได้มีเวลาครุ่นคิดสักนิด ว่าที่ตนเองเคยด่าทอการแก้ปัญหาของกลุ่มคนในชนบทที่ได้รับผลกระทบแล้ว เขาคงจะเกิดความเข้าใจมากขึ้น

ถ้าว่ากันตามหลักการแล้ว การวางบิ๊กแบ็กก็คือ การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อารยประเทศทั้งหลายเขายึดถือกันมาเนิ่นนาน เพราะมันก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น มันก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงที่สุดในเอเชีย

แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือ ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำในประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศมีแนวโน้มลดลงแต่ของประเทศไทยเราเองกลับเพิ่มขึ้นอย่างน่าเกลียด (แต่คนไม่เห็น)

นักคิดบางคนถึงกับกล่าวว่า “ความเหลื่อมล้ำคือต้นเหตุของความชั่วร้ายทั้งปวง (Inequality: mother of all evils)” (หมายเหตุ ผมไม่อยากแปล mother ว่า แม่ เพราะสังคมไทยถือเป็นสิ่งที่ต้องเคารพ)

ถ้าเรายังมองปัญหากรณีบิ๊กแบ็กไม่ชัดเจนพอ ลองมาเทียบกับกรณีประเทศจีนสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงที่เป็นแม่น้ำนานาชาติที่ไหลผ่านประเทศไทยด้วย ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ต่อผู้อยู่ท้ายแม่น้ำ ไม่ว่าจะเป็นกรณีน้ำท่วม น้ำแล้งไม่ถูกต้องตามฤดูกาล รวมถึงการประมงที่ได้น้อยลง เราคนไทยรู้สึกอย่างไรต่อการกระทำของประเทศจีนมหาอำนาจใหม่ แม้ว่าเราจะทำอะไรเขาไม่ได้มากนัก แต่เราก็คงรู้สึกไม่พอใจ กรณีบิ๊กแบ็กก็เช่นเดียวกัน จะต่างกันก็เพียงแค่คนไทยทำกับคนไทยด้วยกันเอง

ความจริงแล้วกรณีการวางบิ๊กแบ็กที่เพิ่งเกิดขึ้นแต่ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็วทันทีจนต้องลุกขึ้นมาประท้วง แต่การกระทำในลักษณะเดียวกันนี้ได้เกิดขึ้นในดินแดนสยามเมืองยิ้มมานานจนเราชินชา นั่นก็คือ การถมที่ดินเพื่อการก่อสร้างที่อยู่อาศัยรวมทั้งอาคารพาณิชย์ต่างๆ ทั่วประเทศและยาวนานมาแล้ว

คนที่ก่อสร้างภายหลังก็จะถมที่ดินให้สูงกว่าบริเวณใกล้เคียงได้ตามอำเภอใจ โดยไม่มีกฎหมายบังคับ ส่งผลให้น้ำไหลบ่าไปสู่ที่ต่ำกว่า ก่อให้เกิดน้ำท่วมขังและขวางทางเดินของน้ำ รวมทั้งสร้างทัศนะอุจาดให้เกิดขึ้นทั่วบ้านทั่วเมือง

เราชินชากับการเห็นภาพสุนัขถูกรถยนต์ชนตายมานานแล้ว ไม่แน่นะครับว่าอีกหน่อยเราอาจจะรู้สึกเฉยๆ กับภาพคนถูกรถยนต์ชนตาย

การที่สังคมยอมให้เกิดการกระทำที่สร้างความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมดังกล่าว มันคือ การบ่มเพาะความชั่วร้ายทางจิตวิญญาณให้กับสังคมโดยไม่รู้ตัว และเป็นมานานแล้วก่อนจะมาระเบิดเอาที่กรณี บิ๊กแบ็กที่ถือว่าเป็นการละเมิดความเป็นมนุษย์

เพื่อนรุ่นลูกศิษย์ที่เป็นเอ็นจีโอและว่าที่ด็อกเตอร์ของผมคนหนึ่งเคยเล่าว่า “ที่อินเดียเขามีกฎหมายห้ามถมที่เพื่อก่อสร้างอย่างเด็ดขาด” เขาอ้างถึงชื่อเมืองมาเรียบร้อยแต่ผมจำไม่ได้

ที่ประเทศออสเตรเลีย ในหลายชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนที่เป็นที่ตากอากาศ เขามีกฎหมายห้ามสร้างบ้านสองชั้น เพราะเกรงว่าจะไปบังวิวทิวทัศน์ของเพื่อนบ้าน

เพื่อนที่เคยอยู่ในสหรัฐอเมริกาได้เล่าให้ผมฟังว่า การดึงเมฆมารวมกันเพื่อทำฝนเทียม ถ้าเป็นการดึงเมฆข้ามรัฐก็จะเจอกับข้อหาขโมยเมฆ เรื่องนี้จะเท็จจริงอย่างไรผมไม่แน่ใจ แต่เพื่อนผมเล่ามาอย่างนั้นนานมาแล้วครับ ขอความกรุณาท่านผู้รู้โปรดชี้แนะด้วยครับ แต่โปรดอย่ากล่าวหาว่า “ผู้เขียนไม่รู้จริง” เพราะเราไม่จำเป็นต้องเจอกับประสบการณ์จริงแล้วจึงจะได้เรียนรู้เสมอไป

ผมอยากจะสรุปบทความนี้ด้วยการตั้งคำถามเพื่อให้ท่านผู้รู้โดยเฉพาะนักสังคมวิทยาช่วยวิเคราะห์ก็คือ หนึ่ง ทำไมคนไทยเราจึงมีความรู้สึกช้าจัง กว่าจะเรียนรู้เรื่องผลกระทบของการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการถมที่ดินตามอำเภอใจจนถึงการประท้วงให้รื้อบิ๊กแบ็ก การทำการประมงในทะเลสาธารณะที่ล้างผลาญ

และ สอง ทำอย่างไรให้กลุ่มต่างๆ ที่ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนแล้วได้พัฒนาไปสู่ “กลุ่มพลเมืองที่ตื่นรู้ (active citizen)” เพื่อแก้ปัญหาของชุมชนของตนเองในมิติอื่นๆ อย่างต่อเนื่องตลอดไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น