ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การวิจารณ์ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มี พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ นั่งเก้าอี้ใหญ่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติคือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ...กลายเป็นเรื่องควรหลีกเลี่ยง เพราะจะทำให้อนาคตการงาน และสถานะทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป
โดยเฉพาะคนในวงการบันเทิง และวงการสื่อ
เหตุผลสำคัญที่สุดคือ นักการเมืองพรรครัฐบาลจะยกเลิกโครงการต่างๆ ตามงบโฆษณาของภาครัฐ หากวิจารณ์รัฐบาลยิ่งลักษณ์
หลายคนจะต้องออกจากงาน เพราะวิจารณ์รัฐบาล
หลายโครงการถูกเลิกไป
แต่คนสร้างความครึกโครมจนกลายเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” ก็คือ “หนูดี วนิษา เรซ” ผู้อำนวยการโรงเรียนวนิษา ซึ่งเป็นที่รู้จักนนามผู้แต่งหนังสือ “อัจฉริยะสร้างได้” ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า “ขอพูดอะไรแรงๆ สักครั้ง ที่วนิษา ครั้งหนึ่งในชีวิตค่ะ พูดแล้วจะร้องไห้...น้ำท่วมไม่กลัว กลัวอย่างเดียว...ผู้นำโง่ เพราะพวกเราจะตายกันหมด”
“ผู้นำโง่” กลายตรายี่ห้อ (Brand) ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไปทั่ววงการโซเชียลมีเดีย และนอกวงการโซเชียล
หากใครถามว่า ผู้นำคนไหนโง่ สังคมจะต้องอ๋อทันที!!
นอกจากนั้น “หนิง ปณิตา พัฒนาหิรัญ” ยังได้ทวิตเตอร์ว่า “ส.ส.ที่เลือกมาหายไปไหนหมดอ้ะ ไม่เห็นทำไรได้ซักคน เห็นแต่เอาหน้าโดยการเอาของที่ประชาชนบริจาคไปเป็นของตัวเอง ว่ามาจากตน กินกันยังไม่พออีกเหรอ” และอีกหลายต่อหลายคน แต่ที่เด็ดสุดเห็นจะเป็น
คนที่โดนพิษการเมืองเล่นงานมากที่สุด เห็นจะเป็น “ดีเจจั๊ดจ์ ธีมะ กาญจนะไพริน” แห่งคลื่นสบาย 90 เอฟเอ็ม ของบริษัท พีดี ครีเอชั่น จำกัด ก็ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ศปภ.ผ่านสถานี และจัดรายการ “จั๊ดจ์จัด” ลงยูทิวบ์ด้วยถ้อยคำที่ตรงไปตรงมา
เขาวิจารณ์ “พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก” อดีตอธิบดีกรมตำรวจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการ ศปภ.ว่า ถูกแต่งตั้งมาทำหน้าที่ทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้เรื่องน้ำ เพราะเติบโตมาจากการเป็นตำรวจมาทั้งชีวิต พอออกมาแถลงข่าวทีก็อ่านสคริปต์ และสื่อสารไม่รู้เรื่อง แผนที่ที่เอามาประกอบการแถลงข่าวก็ห่วย ไม่มีเงินจ้างทำกราฟิกให้ประชาชนเข้าใจหรือไง
“ทั้งแก่ทั้งโง่” นิยามความหมายของ พล.ต.อ.ประชา
หรือสรุปสั้นๆ ว่า “โง่เง่า”
ดีเจจั๊ดถูกพักงานไป 3 สัปดาห์ ก่อนจะถูกปลดรายการออกจากหน้าปัดวิทยุในสัปดาห์ที่สี่
นอกจากนั้นยังมี บิณฑ์ บันลือฤทธิ์ วิจารณ์การทำงานของ ศปภ.
นั่นคือชะตากรรมของวงการบันเทิง
วงการสื่อก็ไม่แพ้กัน โฆษณาจากรัฐวิสาหกิจไม่เข้า ทำให้หนังสือพิมพ์บางฉบับ ต้อง “ปรับแนวทางการเสนอข่าว”
โดยเฉพาะ นสพ.มติชน และข่าวสด จนกลาย “ข่าวแดง” ประจำวัน ซึ่งนำเสนอข่าวและบทความ “ชื่นชม” ท่านผู้นำหญิงอย่างออกนอกหน้า จนหัวหน้าข่าว และบรรณาธิการข่าวบางคนทนอดสูไม่ได้
แต่การนำเสนอ “ความคิดเห็น” ที่เป็นภัยร้ายแรงพอสมควรก็คือ การนำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็น
โดยเฉพาะผลการสำรวจของ “สำนักวิจัยเอแบคโพลล์” ซึ่งสร้างเสื่อมเสียให้กับ “หลักวิชาการวิจัย” พอสมควร
นักวิชาการท่านหนึ่ง ซึ่งเป็น “คอลัมนิสต์” ของ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ เขียนในคอลัมน์เมื่อเร็วๆนี้ ในเชิงตั้งคำถามกับการผลการสำรวจความคิดเห็น ในช่วงสถานการณ์น้ำท่วมว่า
“แต่ในฐานะนักวิชาการที่มีความรอบรู้เรื่องการศึกษาวิจัย และการทำโพลล์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใคร ผมใคร่ขอตั้งคำถามไปยังทุกสำนักโพลล์ ที่ผลิตผลงานกันเป็นล่ำเป็นสันในช่วงอุทกภัยคราวนี้หลายข้อด้วยกัน หากจะสามารถไขข้อข้องใจให้ผมได้ในทางใด ก็จะเป็นความกรุณาอย่างยิ่งทีเดียว”
“ประการแรก ผมสงสัยในประเด็นคำถามของการทำโพล”
“ประการที่สอง ผมทึ่ง และรู้สึกประหลาดใจในความสามารถของการทำโพลของหลายสำนักเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงที่น้ำท่วมเกือบมิดทุกเขตทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล หลายต่อหลายสำนักยังสามารถผลิตผลงาน ถามโน่นถามนี่ประชาชนได้อย่างน่าฉงนยิ่งนัก”
“ประการที่สาม ด้วยความเป็นนักวิจัย ทำให้ทราบระเบียบวิธีวิจัย (research methodology) ในขั้นที่เรียกได้ว่า สามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือของการทำวิจัยอย่างน้อยๆ ประเมินความน่าเชื่อถือ และคุณภาพของแบบสอบถามได้เช่นเดียวกับนักวิชาการจำนวนหนึ่งที่มีการร้องขอว่า หากไม่เป็นการรบกวน ใคร่ขอให้สำนักโพลล์ต่างๆ แสดงความจริงใจด้วยการเปิดเผยระเบียบวิธีวิจัย”
ก่อนที่นักวิชาการผู้นี้จะสรุปว่า “ด้วยเหตุผลทั้งปวง ผมจึงไม่ค่อยสนิทใจที่ “จะไว้วางใจ” ในมาตรฐานการทำโพลล์ ที่ดูเหมือนระยะหลังจะมีหลากหลายสำนักออกเผยแพร่ผ่านสื่อแขนงต่างๆ อย่างดาษดื่นสักเท่าใดนัก”
แปลไทยเป็นไทยก็คือ สงสัยในมาตรฐานการทำโพลนั่นเอง
สำนักวิจัยที่น่าสงสัยในเรื่องอื้อฉาวทางวิชาการมากที่สุดคือ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ เพราะผลการสำรวจมักจะขัดแย้งกับกระแสข่าวความเชื่อของสังคมอยู่บ่อยครั้ง
จนหลายครั้ง ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมักจะตรงกันข้ามกับผลการสำรวจที่เปิดเผยออกมา
วันที่ 30 ตุลาคม 2554 คุณนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง “ความทุกข์ ความเสียสละ และการให้โอกาสรัฐบาลทำงานแก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม” พบว่า เมื่อถามถึงการรับรู้ต่อการสื่อสารการทำงานแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมของรัฐบาลผ่าน ศปภ. ภายหลังปรับเปลี่ยนการทำงานของทีมโฆษก ศปภ. พบว่า ร้อยละ 54.5 ระบุดีขึ้น แต่ร้อยละ 34.2 ระบุเหมือนเดิม และร้อยละ 11.3 ระบุแย่ลง
เชลียร์ ศปภ.ไปตามกระแสน้ำได้ดีทีเดียว
ในวันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน 2554 เอแบคโพลล์ ที่นิยมกระจายข่าวผลการสำรวจในวันอาทิตย์ เพราะรู้ดีว่า สื่อสำนักต่างๆ ไม่ได้ข่าวจะพิมพ์มากนัก
สำนักวิจัยแห่งนี้เปิดเผยผลการสำรวจว่า จน นสพ.นำเสนอข่าวไปในอีกภาพหนึ่ง “เอแบคโพลล์ วอนรัฐบาลฝ่ายค้านหยุดโจมตีกัน”
ศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน ( ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) เปิดผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง “เสียงสะท้อนของผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมต่อผู้เข้าให้ความช่วยเหลือ : กรณีศึกษาตัวอย่างในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล” โดยศึกษาตัวอย่างในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,478 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่ 93.8% ขอให้หยุดขัดแย้ง หยุดโจมตีกัน 63.0% ขอให้บอกความจริงที่ครบถ้วนกับประชาชน 58.0%
สถานการณ์ในช่วงดังกล่าวเป็นเวลาที่น้ำกำลังท่วมมิดปาก จนไม่มีใครตอบโต้กันทางการเมือง
ยอดคนตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 100 ศพ กลายเป็น 700 กว่าศพ ในปัจจุบัน
แล้วเอแบคโพลล์กลับไปตั้งถามสำรวจความคิดเห็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างฝายค้านและรัฐบาล
ช่วงเวลาดังกล่าว คนกำลังสาปแช่ง ศปภ.กันทั่วเมือง
อีก 1 สัปดาห์ผ่านมา คือ ในวันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน 2554 เอแบคโพลล์ ออกผลการสำรวจความคิดเห็นเชลียร์ง่ามเท้ายิ่งลักษณ์ ว่า ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนไหนแก้ปัญหาได้ดีกว่ายิ่งลักษณ์
ทั้งๆ ที่คนที่จมน้ำด่ายิ่งลักษณ์ว่า “โง่เง่า”
ในวันนั้น นสพ.พาดหัวข่าวว่า โพลเอแบคเผยประชาชนไม่คิดว่ามีนักการเมืองคนใดแก้น้ำท่วมได้ดีกว่ายิ่งลักษณ์เกินครึ่ง เชื่อมีโกงของรับบริจาค
สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องการเมืองกับภัยพิบัติน้ำท่วม และทางออกในสายตาของสาธารณชน จากกลุ่มตัวอย่าง 2,149 คน ใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 27.6 เป็นผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม ในขณะที่ส่วนใหญ่ ไม่ประสบปัญหา
ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 92.5 คิดว่าเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน ที่ต้องช่วยกันในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม ขณะที่ร้อยละ 7.5 คิดว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลฝ่ายเดียว
กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 75 ไม่คิดว่ามีนักการเมืองคนใด จะสามารถทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ได้ดีกว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอุทกภัยที่เกิดขึ้น
กลุ่มตัวอย่างมากถึงร้อยละ 97.8 เห็นว่า ทางออกของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้ ไทยต้องช่วยไทย คนไทยไม่ทิ้งกัน
ร้อยละ 96.7 คิดว่า ความรักความสามัคคีของคนในชาติ คือ ทางออก และร้อยละ 92.5 เห็นว่ารัฐบาล ควรทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนแก้ปัญหาน้ำท่วมต่อไป
ส่วนแนวทางที่ไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ คือ การปฏิวัติ ยึดอำนาจ รองมาคือ นายกรัฐมนตรี ลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบ และ การปรับคณะรัฐมนตรี
ลองอ่านดูดีนะครับ ผลการสำรวจครั้งนี้ เหมือนจะเขียนตามสคริปต์ เพราะคนส่วนใหญ่ถึง 72.8% ไม่ประสบน้ำท่วม
ที่สำคัญเอแบคโพลล์ ยังบอกอีกว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 92.5 คิดว่าเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน ที่ต้องช่วยกันในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม
ยิ่งลักษณ์ เหมือนเหมาะสมที่สุด หลังจากไปยืนร้องไห้ที่นครสวรรค์
น่าจะส่งคุณนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ไปสร้างบิ๊กแบ็ก จะได้รู้ว่า เป็นหน้าที่ของใครในการแก้ปัญหาน้ำท่วม
ถัดมาในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2554 นสพ.พาดหัวข่าวว่า “โพลเอแบคเผยคนเห็นด้วยอภัยโทษคดีการเมือง”
คุณนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง “ทัศนคติอันตรายว่าด้วยการยอมรับรัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่น กับความกังวลของสาธารณชนต่อเสถียรภาพของรัฐบาล” (แค่ตั้งชื่อก็บ่งบอกแล้วว่า ใครกังวลว่ารัฐบาลจะล้มไป)
โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างประชาชนทั่วไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร น่าน พิษณุโลก เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี หนองบัวลำภู มหาสารคาม ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น สตูล ตรัง และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,176 ครัวเรือน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 14 -19 พ.ย.
โดยพบว่า เมื่อทำการวิจัยเชิงคุณภาพ สอบถามเชิงลึกถึงกรณีข่าวรัฐบาลชุดปัจจุบันยื่นขออภัยโทษให้นักโทษต่างๆ นั้น พบว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการยื่นขออภัยโทษให้กับนักโทษในเรือนจำที่ประพฤติตนดีจะได้มีโอกาสรับอิสรภาพ และส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยกับการยื่นขออภัยโทษในคดีทางการเมือง
จนกระทั่งมีข้อเรียกร้องมากมายให้เปิดเผย “วิธีการศึกษา” เพราะคนไม่เชื่อถือวิธีการศึกษาของเอแบคโพลล์
เหมือนการทำวิจัยทุกครั้งที่ผู้วิจัยต้องเปิดเผยวิธีการศึกษาให้สังคมวิจัยรับทราบ
มิเช่นนั้น เอแบคโพลล์จะกลาย “กาฝาก” ของสังคมวิจัยไปโดยปริยาย!!