xs
xsm
sm
md
lg

อธิปไตยในสายน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ตลอดเดือนกันยายนและตุลาคม 2554 ประชาชนไทยจำนวนมากมองน้ำราวกับเป็นข้าศึกที่ยกทัพมารุกราน บั่นทอนความปลอดภัย และทำลายชีวิตและทรัพย์สิน มีการเตรียมการต่อสู้กับน้ำในหลากหลายรูปแบบ แต่เมื่อย่างเข้าเดือนพฤศจิกายนก็มีปรากฎการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงภาวะการเปลี่ยนผ่านและขยายขอบเขตความคิดและจินตนาการเกี่ยวกับผู้ที่เป็นปรปักษ์และอำนาจอธิปไตยขึ้นมาอย่างน่าสนใจ

สภาพภววิสัยที่เผชิญอยู่กับการท่วมขังของน้ำเป็นเวลานานนับเดือน และยังไม่ทราบชะตากรรมว่าสภาพดังกล่าวจะดำรงอยู่นานอีกเท่าไร อันเกิดมาจากความล้มเหลวของรัฐบาลในการจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ประชาชนจำนวนมากผู้ถูกน้ำท่วมขังจึงเกิดภาวะอึดอัดคับข้องใจ นำไปสู่การรวมกลุ่มเพื่อปฏิบัติการทางการเมือง โดยมีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาด้วยตนเองและกดดันรัฐบาลให้เร่งแก้ไขปัญหา วิธีคิดเกี่ยวสิ่งที่เป็นปรปักษ์ได้ขยายจากน้ำ ไปสู่รัฐบาลและประชาชนอีกกลุ่มที่มีพื้นที่ติดกันแต่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำ

ในช่วงเริ่มแรกของสถานการณ์อุทกภัย น้ำถูกมองว่าเป็นข้าศึกหลักที่คุกคามวิถีชีวิตของผู้คน การตอบสนองเหตุการณ์น้ำท่วมของประชาชนมีหลากหลายรูปแบบ แต่รูปแบบหลักที่พอจะเป็นแบบแผนทางสังคมมี 3 ประการคือ การต่อสู้ การอยู่ร่วม และการถอยหนี การต่อสู้เป็นความคิดเริ่มแรกเมื่อผู้คนได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับน้ำท่วม วิธีคิดของผู้คนในการต่อสู้กับน้ำคือการป้องกันไม่ให้น้ำเข้ามาในพื้นที่ครอบครองของตนเองโดยการสร้างกำแพงกั้นซึ่งอาจเป็นกระสอบทราย หรือใช้วัสดุอื่นๆ ขณะเดียวกันก็เตรียมเครื่องมือในการสูบน้ำเอาไว้ด้วยเพื่อใช้สูบน้ำออกจากพื้นที่กรณีมีน้ำผ่านเข้ามา

การต่อสู้ต้านกระแสน้ำของประชาชนกระทำทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ครัวรือน ชุมชน กลุ่มพื้นที่เฉพาะ และจังหวัด หากรวมทรัพยากรที่แต่ละครัวเรือน แต่ละชุมชน แต่ละองค์การใช้ไปเพื่อต่อสู้ในครั้งนี้คงมีจำนวนมาก แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือส่วนใหญ่ไม่อาจต้านทานมวลน้ำจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลลงมาได้ เราจึงเห็นการแตกพ่ายของแนวป้องกันในแต่ละจุดแต่ละพื้นที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเดือนตุลาคม และต้นเดือนพฤศจิกายน 2554

นิคมอุตสาหรรมในจังหวัดอยุธยาและปทุมธานีแห่งแล้ว แห่งเล่า พ่ายแพ้กระแสน้ำ จมหายใต้นที ต่อเนื่องกันเป็นลูกระนาด หมู่บ้านแล้ว หมู่บ้านเล่า ถูกกลืนลงไปในผืนน้ำ แม้กระทั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิตที่ถูกใช้เป็นศูนย์อพยพแห่งแรกๆ ซึ่งมีระบบการป้องกันน้ำอย่างหนาแน่น ก็ยังเอาไม่อยู่ ท้ายที่สุดมวลน้ำก็เข้ายึดครองสนามบินดอนเมือง และ ศปภ. ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการในการรับมือและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลเอง

แต่ในบางชุมชนกลับสามารถยันการรุกรานของมวลน้ำเอาไว้ได้ ทั้งที่โดยสภาพพื้นที่แล้วไม่น่าจะหลุดรอดจากการถูกน้ำท่วมได้ เช่น พื้นที่ส่วนใหญ่ของเทศบาลนครปากเกร็ด และเทศบาลนครนนทบุรี ปัจจัยที่ทำให้สามารถรักษาพื้นที่เหล่านี้เอาไว้ได้อาจมีหลายประการ แต่ปัจจัยสำคัญคือ การใช้ภาวะผู้นำของทีมผู้บริหารนครทั้งสองแห่ง ในการระดมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนเพื่อเตรียมการต่อสู้กับมวลน้ำอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ มีการวางแผนจำแนกพื้นที่รับน้ำและพื้นที่ปลอดน้ำ มีการใช้เครือข่ายสังคมช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างผู้คนที่ต้องเป็นกลุ่มผู้เสียสละให้น้ำท่วมกับกลุ่มประชาชนที่รอดพ้นจากการถูกน้ำท่วม ด้วยเหตุเหล่านี้จึงทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ในเขตเทศบาลทั้งสองรอดพ้นจากการถูกน้ำท่วมไปได้

สำหรับในอาณาบริเวณที่พ่ายแพ้ต่อมวลน้ำ การรับมือในขั้นต่อไปของประชาชนคือการตัดสินใจเลือกระหว่างการอยู่ร่วมกับน้ำและการอพยพออกจากพื้นที่เพื่อหนีน้ำ สำหรับวิธีการที่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐแนะนำประชาชนคือการอพยพ ประชาชนส่วนหนึ่งจึงอพยพออกไป บ้างก็ไปอยู่ตามศูนย์อพยพที่รัฐบาลหรือเอกชนจัดไว้ให้ บ้างก็อพยพไปอยู่ในสถานที่ซึ่งชุมชนจัดกันเอง บ้างก็อพยพไปอยู่กับญาติมิตรเพื่อนฝูง บ้างก็ไปเช่าโรงแรมหรือสถานที่อื่นๆนอกบริเวณน้ำท่วม

ถึงกระนั้นมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เลือกอยู่ร่วมกับน้ำ หรืออยู่ในบ้านของตนเองโดยไม่หนีไปไหน ด้วยเหตุที่ห่วงบ้าน ห่วงทรัพย์สิน หรือไม่มีที่ไป หรือไม่อยากไป ผู้ที่อยู่ร่วมกับน้ำด้านหนึ่งก็มีการเตรียมเสบียงอาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค และอุปกรณ์ต่างๆที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต รวมทั้งเครื่องมือในการเดินทาง เช่น เรือ หรือ แพ เป็นต้น

ชะตากรรมของผู้ที่เลือกอยู่ร่วมกับน้ำนับวันจะยิ่งประสบกับความยากลำบากมากขึ้น เพราะต้องเผชิญกับสภาพของน้ำที่สกปรก เต็มไปด้วยเชื้อโรคร้าย และเน่าเหม็น ซ้ำร้ายเสบียงอาหาร น้ำดื่มที่เตรียมไว้ก็ร่อยหลอลง ประกอบอาชีพก็ไม่ได้ เงินสะสมก็เริ่มหมดลง รอรับถุงยังชีพจากรัฐบาลและหน่วยงานอื่นๆที่ลงมาช่วยก็ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ได้ไม่ทั่วถึง ร้ายกว่านั้นบางพื้นที่ถูกลืมไปเลย

ยิ่งนานวันผู้ถูกน้ำท่วมไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่อพยพหนีน้ำและกลุ่มที่อยู่ร่วมกับน้ำ ก็ยิ่งได้รับความทุกข์ยากลำบากมากขึ้นทั้งด้านการเป็นอยู่ทั่วๆไป ด้านเศรษฐกิจ ด้านสุขภาพ การเดินทาง ความอึดอัดคับข้องใจก็สะสมเพิ่มพูนขึ้น ผนวกกับวิธีการที่รัฐบาลใช้ในการแก้ปัญหาแบบง่ายๆไร้จินตนาการและไร้ความเป็นระบบในการระบายน้ำภาพรวม โดยการเอากระสอบบรรจุทรายขนาดใหญ่หรือบิ๊กแบ็ค ไปกั้นทางน้ำเอาไว้เพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าในเขตกรุงเทพชั้นใน ผลที่ตามมาคือทำให้ระดับน้ำที่อยู่นอกคันบิ๊กแบ็คก็เพิ่มสูงขึ้นและระยะเวลาในการท่วมขังก็นานขึ้นด้วย

ความคิดเกี่ยวกับความเป็นปรปักษ์ของประชาชนที่ถูกน้ำท่วมจำนวนมากจึงขยายตัวจาก “น้ำ” ไปสู่ “คน” โดยเฉพาะคนสองกลุ่มคือ รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ กับ ประชาชนด้วยกันเองที่มีพื้นที่ติดกัน ประชาชนที่ถูกน้ำท่วมมองว่ารัฐบาลและหน่วยงานของรัฐทำงานไร้ประสิทธิภาพและเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดสภาพน้ำท่วมขังที่ยาวนาน จึงมีการเรียกร้องให้ดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่ด้วยความไร้ประสิทธิภาพและไร้สมรรถภาพของรัฐบาลอีกนั่นแหละ ทำให้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนผู้ประสบกับความเดือดร้อนได้ทั่วถึงและทันเวลา

ประชาชนหลายพื้นที่หลายกลุ่มจึงได้ออกมาปฏิบัติการณ์ทางการเมืองด้วยตัวพวกเขาเอง และด้วยเหตุที่พวกเขาสะสมความอึดอัดคับข้องใจและความทุกข์ยากอย่างยาวนาน รวมทั้งมีการเสนอแนะให้รัฐบาลแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีแล้วแต่ไม่ได้ผล การปฏิบัติการที่เกิดขึ้นระหว่างนี้จึงเป็นไปตามอารมณ์ความรู้สึกโกรธแค้นและมุ่งหวังจะให้เกิดผลทันที โดยอาจไม่มองผลกระทบใดๆที่ตามมา เราจึงเห็นสภาพอนาธิปไตย ความขัดแย้ง และความรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้งแทบทุกวัน ทั้งการรวมพลเข้าไปทำลายพังแนวกั้นน้ำ การพังประตูน้ำ การทำร้ายกันเองระหว่างชาวบ้านที่อยู่ต่างพื้นที่ และการชุมนุมประท้วงปิดถนน เป็นต้น

สภาพความเป็นรัฐ อธิปไตยของรัฐ ความเป็นนิติรัฐ ความมีเสถียรภาพของสังคม และความสามัคคีของผู้คนในชาติกำลังเสื่อมสลายลงไปทุกขณะ ตามจำนวนวันที่น้ำท่วมขังและตามจำนวนชั่วโมงที่รัฐบาลชุดนี้ครองอำนาจ ในทางกลับกันความขัดแย้ง ความรุนแรง ความอยุติธรรม ความไร้ระเบียบ อาชญากรรม และการแตกสลายของสังคม ปรากฎตัวขึ้นมาอย่างเด่นชัดยิ่งขึ้น

รัฐบาลใดก็ตามที่ไม่สามารถใช้อำนาจในเชิงปฏิบัติ ไม่อาจรักษากฎหมายและใช้ตามหลักนิติธรรม ไม่อาจรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน ไม่อาจบรรเทาความทุกข์ร้อนของประชาราษฎร์ไม่อาจสร้างพลังร่วมของคนในชาติเพื่อต่อสู้และแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ รัฐบาลนั้นย่อมไม่มีความชอบธรรมใดหลงเหลืออยู่ในการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐบริหารประเทศอีกต่อไป การตัดสินใจด้วยตนเองในการลงจากอำนาจจึงเป็นวิถีของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย เราจึงเห็นการเสียสละอำนาจตนเองเพื่อรักษาระบอบของรัฐบาลต่างๆในหลายประเทศที่ผู้นำมีจิตสำนึกแห่งความเป็นประชาธิปไตย แต่ในหลายประเทศที่มีอารยธรรมและวัฒนธรรมประชาธิปไตยเพียงเล็กน้อยซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วยจิตสำนึกดังกล่าวยังไม่ถือกำเนิดเกิดขึ้นในตัวนักการเมืองทั้งหลาย

ดังนั้นเราจึงเห็นผู้นำรัฐบาลหลายประเทศดื้อดึงยืนกรานในการรักษาตำแหน่งและอำนาจเอาไว้อย่างถึงที่สุดโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของบ้านเมือง และเราก็เห็นเช่นเดียวกันว่าในประเทศเหล่านั้นประชาชนได้ใช้สิทธิและหน้าที่อันชอบธรรมของพวกเขากระชากและขับไล่รัฐบาลออกจากเก้าอี้แห่งอำนาจ ปรากฎการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยหลายครั้งแล้ว และกำลังจะเกิดอีกครั้งในไม่นาน

สายน้ำในครั้งนี้อาจเป็นจุดก่อเกิดจิตสำนึกแห่งอำนาจอธิปไตยครั้งสำคัญสำหรับประชาชนชาวไทย และนั่นย่อมเป็นสัญญาณแห่งจุดจบของบรรดานักการเมืองและข้าราชการผู้ทุจริต ฉ้อฉล ไร้ประสิทธิภาพ และไร้ปัญญาทั้งหลาย

กำลังโหลดความคิดเห็น