xs
xsm
sm
md
lg

ดูเอาเถิด กระสอบทรายสูงล้อมทำเนียบใจกลางพระนคร !?

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ในที่สุด ศปภ.ก็ต้องย้ายจากดอนเมืองออกมาหลังจากที่ รัฐบาลได้ย้ายศูนย์บัญชาการจากทำเนียบรัฐบาลใจกลางพระนครไปอยู่ที่สนามบินดอนเมือง เพราะอาจคิดว่าอยู่ในที่ๆใกล้สถานการณ์ประการหนึ่ง และอาจคิดว่าอยู่บนที่ดอนน้ำคงไม่ท่วมถึงเป็นอีกประการหนึ่ง

แต่รัฐบาลโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาศัยอำนาจตาม พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยปี พ.ศ. 2550 มาตรา 31 และได้ทำการเปิดประตูน้ำพระอินทร์ราชา พร้อมกับให้กรุงเทพมหานครเปิดประตูรับน้ำให้มากขึ้น แต่ในที่สุดปัญหาก็เกิดขึ้นเพราะประตูน้ำพระอินทร์ราชาชำรุดมานานแล้ว ตลอดจนมีการกั๊กไม่มีการสูบน้ำและระบายน้ำไปยังคลอง 8 – 13 เพื่อให้น้ำไปยังกรุงเทพฝั่งตะวันออก เป็นสาเหตุสำคัญทำให้น้ำได้ไหลเข้ากรุงเทพมหานครล้นคลอง 1 คลอง 2 แบบไม่สามารถควบคุมได้จนเกิดการท่วมสูงขึ้นจากทางทิศเหนือของกรุงเทพมหานคร ผ่านคลองเปรมประชากร และคลองสอง ทำให้น้ำท่วมไปตามถนนวิภาวดีรังสิต และถนนพหลโยธิน จนท่วมสนามบินดอนเมือง และท่วมมาถึงบ้านเรือนจนถึงเขตหลักสี่ และบางเขนแล้ว

สภาพนี้ก็เหมือนรัฐบาลตั้งกองบัญชาการอยู่ส่วนหน้าสุดเพื่อรับศึกกับทัพน้ำอันมีมวลมหาศาล แต่กลับปล่อยน้ำให้ท่วมตัวเองก่อนที่อื่น มันเป็นวิธีที่ฉลาดหรือไม่ !!?

ปัญหาที่สำคัญที่ดูเหมือนรัฐบาลจะมองข้ามไปในการรับน้ำจากทางทิศเหนือก็คือ หากน้ำเหนือท่วมเข้าผ่านดอนเมืองแล้ว จะต้องลามไปหลายพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วย บ้านเรือนที่อยู่อาศัย สำนักงาน และสนามบิน อย่างแน่นอน เพราะความจริงแล้วบริเวณทิศเหนือฝั่งพระนครถือว่าอยู่ห่างกับคลองที่ตัดขวาง หรือสถานีสูบน้ำ ดังนั้นกว่าระดับน้ำจะลดลงต่ำกว่าตลิ่งได้ก็ต้องรอให้ผ่านการตัดขวางของ คลองบางเขน สถานีสูบน้ำปูนซีเมนต์ไทย คลองบางซื่อ และคลองสามเสน ตามลำดับ ถึงจะเข้าสู่ระบบการสูบน้ำเต็มที่ของกรุงเทพมหานคร

โดยเฉพาะคลองแสนแสบ เป็นคลองที่ยาวสามารถระบายน้ำจากทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานครด้านหนึ่งเพื่อลงแม่น้ำเจ้าพระยา แต่อีกด้านหนึ่งก็สามารถลงแม่น้ำบางปะกงได้ ดังนั้น หากจัดการบริหารเป็นจะสามารถทำให้น้ำท่วมในกรุงเทพมหานครไม่ขยายขอบเขต และยังสามารถช่วยระบายน้ำจากทิศตะวันออกได้มากขึ้นเพื่อสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกด้วย

แต่ถ้ารัฐบาลเกิดบริหารไม่เป็น โดยปล่อยให้กรุงเทพมหานครรับน้ำเกินความสามารถกว่าการระบายออก ก็ถือเป็นการออกแบบตั้งใจให้มีการท่วมขัง ซึ่งหากกรุงเทพมหานครมีการท่วมขังมากเกินไป ก็จะใช้เวลานานกว่าจะระบายออกได้ เพราะมีสภาพเป็นแอ่งที่มีพนังกั้นน้ำตลอดรอบด้าน และการเอาน้ำในเมืองออกต้องผ่านระบบสูบน้ำได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ความจริงมวลน้ำอันมหาศาลมหึมาขนาดนี้ ลำพังเพียงแค่เครื่องสูบน้ำและคลองที่เล็กกว่ามากไม่มีทางจะเปรียบเทียบกันได้เลย เพียงแต่ในสถานการณ์นี้ การใช้เครื่องสูบน้ำและระบบคลองของกรุงเทพมหานครอาศัยการซื้อเวลาเพื่อรอเวลาน้ำทะเลลดลงเพื่อที่จะกระจายสูบลงแม่น้ำสายหลักเพื่อลงทะเลได้มากขึ้น โดยอาศัยยุทธวิธีคือ

1.อาศัยว่าน้ำที่ไหลเข้ามาในกรุงเทพทางทิศเหนืออยู่ในขณะนี้เป็นน้ำ “ส่วนเกิน” ที่ไหลทะลักข้ามพนังกั้นน้ำเข้ามา หรือเข้ามาผ่านคลองและท่อระบายน้ำ จึงไม่ได้มีมากเท่ากับมวลน้ำทั้งหมด และอาศัยว่าน้ำในส่วนหน้านั้นมีอัตราการไหลที่ช้า และเคลื่อนไหวในวงกว้างเคลื่อนจากที่สูงลงที่ต่ำไร้ทิศทาง แล้วยังถูกกีดขวางทั้งอาคารบ้านเรือนและถนน ซึ่งต่างจากระบบสูบน้ำที่มีอัตราความเร็วสูงกว่า จึงสามารถถ่วงเวลาไม่ให้ขยายขอบเขตของน้ำท่วมให้มากหรือเร็วเกินไป

ระบบสูบน้ำและคลองของกรุงเทพมหานครชั้นในไม่ได้ออกแบบเพื่อรับน้ำเหนือไหลบ่าเข้าบุกเข้ามาในเมืองจากทางทิศเหนือ จึงต้องมีการทำกั้นน้ำเป็นถนนสายไหมที่มีขนาดกว้างใหญ่ แม้ระบบสูบน้ำและคลองในกรุงเทพมหานครไม่สามารถทำให้น้ำทางทิศเหนือลดระดับลงได้ตราบใดที่น้ำยังไหลเข้าไม่หยุด แต่สามารถประยุกต์เพื่อประคองสถานการณ์ไม่ให้น้ำส่วนเกินที่ไหลทะลักเข้ามาไม่ให้ขยายขอบเขตกว้างขึ้นอย่างรวดเร็วได้

2.แม้จะมีความพยายามในการสูบน้ำไปทางทิศตะวันออกนั้นที่ผ่านมาพยายามจะไปที่แม่น้ำบางปะกง แต่ความเป็นจริงแล้วการสูบน้ำไปแม่น้ำบางปะกงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องอาศัยเครื่องสูบน้ำเพื่อเอาชนะระยะทางและความลาดชันสูงขึ้นของแอ่งเจ้าพระยาเอง ในขณะที่น้ำที่ผันไปทางทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานครนั้นจะทำได้ตรงประเด็นมากกว่าหากลงไปยังทิศใต้ลงไปยังระบบคลองและเครื่องสูบน้ำที่จังหวัดสมุทรปราการเพื่อลงอ่าวไทย

แต่ในความเป็นจริงก็มีการกั๊กและรักษาผลประโยชน์ในพื้นที่ของทั้งนักการเมืองและชาวบ้านเอง ทั้งไม่เปิดประตูรับน้ำบ้าง ไม่เดินเครื่องสูบน้ำบ้าง ทำให้พื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานครในช่วงแรกไม่ได้รับน้ำผ่านคลองทางทิศเหนือลงทิศใต้อย่างเต็มที่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

3.ลักษณะ 2 ประการข้างต้นเป็นการประคองสถานการณ์และถ่วงเวลา เพื่อรอจังหวะที่ระดับน้ำทะเลลดลง ก็จะเป็นจังหวะที่ทำให้น้ำเหนือที่ไหลบ่าอยู่ในขณะนี้ไหลลงผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน และ บางปะกงอย่างรวดเร็วขึ้น อีกทั้งยังทำให้ระบบสูบน้ำทำงานระบายลงแม่น้ำลงสู่ทะเลได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

ยุทธวิธีทั้งสามประการที่กล่าวมาข้างต้น นั้นปัจจุบันกรุงเทพฝั่งพระนครมีสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ จากที่กำลังจะผ่านช่วงเวลาทะเลหนุนสูง และระบายน้ำเปิดประตูและเดินเครื่องสูบน้ำไปยังทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานครได้มากขึ้น

เพียงแต่อาจจะต้องทำใจว่าน้ำส่วนกรุงเทพมหานครด้านตะวันออกที่ท่วมอยู่ในขณะนี้จะต้องท่วมอีกนานเป็นเดือน เพราะกว่าที่รัฐบาลจะเปลี่ยนแนวคิดที่จะรับน้ำจากทิศเหนือให้ท่วมกรุงเทพมหานคร มารับน้ำจากทิศตะวันออกซึ่งใกล้สถานีสูบน้ำมากกว่าแทน กระจายน้ำไปด้านตะวันออกลงสู่แม่น้ำบางปะกง และลงทิศใต้ที่สมุทรปราการ ก็ช้าไปจนน้ำท่วมขังมากแล้ว

ส่วนทางทิศตะวันตกของกรุงเทพมหานคร (ฝั่งธนบุรี)ก็มีความน่าเป็นห่วงมากกว่า และสถานการณ์หนักกว่า เพราะด้านหนึ่งระบบการระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำ และคลองไม่สามารถเทียบได้กับฝั่งพระนคร ในขณะที่มวลน้ำอันมหาศาลไหลมาทางฝั่งธนบุรีมากกว่าฝั่งพระนครอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งคลองหลักที่จะช่วยระบายน้ำไปยังแม่น้ำท่าจีนได้ก็คือ คลองมหาสวัสดิ์ คลองภาษีเจริญ และคลองมหาชัย ในขณะพนังกั้นน้ำที่พังทลายลงในเขตบางพลัดก็แก้ไขได้ช้ามากจนบางพลัดท่วมจมน้ำในที่สุด จนคนในฝั่งธนบุรีหลายพื้นที่มีความรู้สึกถูกทอดทิ้งเมื่อเทียบกับคนที่อาศัยอยู่ในฝั่งพระนคร

ในขณะเดียวกันพนังกั้นน้ำฝั่งธนบุรีที่เป็นถนนบรมราชชนนี และคลองมหาสวัสดิ์ที่เอ่อล้นอยู่ตอนนี้ ก็ได้ทำให้มวลน้ำเคลื่อนไปในทิศทางที่สะดวกมากกว่า โดยการวิ่งตรงไปที่จังหวัดนครปฐมและสมุทรสาครอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน

และสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อก็คือภาพของทำเนียบรัฐบาลมีการกั้นกระสอบทรายสูง บางด้านถึงขั้นก่ออิฐฉาบปูน ล้อมรอบทำเนียบรัฐบาล ทั้งๆที่ทำเนียบรัฐบาลอยู่ใจกลางพระนคร ราวกับว่ารัฐบาลไม่มั่นใจหรือไม่มีความรู้ในระบบคลองและเครื่องสูบน้ำตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น
ภาพ: ทำเนียบรัฐบาลใจกลางพระนครตั้งกระสอบทรายสูงเตรียมพร้อมรับมือกับภัยน้ำท่วม
หรือไม่ก็เป็นสัญญาณที่บ่งบอกให้รู้ว่ารัฐบาลตั้งใจออกแบบจะทำให้ใจกลางพระนครน้ำท่วมได้โดยการปล่อยน้ำเข้าให้มากเกินความสามารถของคลอง และท่วมอยู่ในระดับมิดหลังคารถยนต์ที่ขับมาในทำเนียบรัฐบาล!?

เพราะในอีกด้านหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ให้สัมภาษณ์ในการได้รับมอบหมายให้ดูแลเขตพระราชฐานในสถานการณ์น้ำท่วม ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ความตอนหนึ่งว่า:

“ท่านทรงเป็นห่วงประชาชน อยากให้เป็นไปตามธรรมชาติ นี่พระมหากรุณาธิคุณ ท่านห่วงประชาชนตลอด ท่านก็บอกว่าให้ปล่อยเป็นไปตามธรรมชาติ ท่านจึงไม่ทรงโปรด และทรงรับสั่งว่าเป็นน้ำท่วมก็ขอปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่อยากให้มีอะไรเป็นพิเศษ”

ความจริงแล้ว หากรัฐบาลใส่ใจตั้งแต่ตอนต้น แล้วศึกษาพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2538
ที่ได้ทรงพระราชทานแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมหลายประเด็น เช่น ทรงพระราชทานไม่เห็นด้วยที่จะระบายน้ำให้เข้าท่วมขังกรุงเทพมหานครเพราะจะทำให้ท่วมขังนานระบายออกได้ยาก และทรงให้แก้ไขปัญหาด้วยการให้น้ำเหนือไปทางทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานครตามระบบคลองตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 โดยเครื่องสูบน้ำที่มีอยู่เพื่อนำมวลน้ำลงทิศใต้ ไปยังระบบคลองและเครื่องสูบน้ำที่สมุทรปราการเพื่อลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด ทรงแนะน้ำให้ใช้เครื่องสูบน้ำให้เต็มที่ ประคองรักษาคลองหกวาให้ดี พร้อมให้ใช้เครื่องผลักดันน้ำในคลองต่างๆจะทำให้เกิดความรวดเร็วขึ้นในการระบายน้ำ ขจัดขยะและทำลายผักตบชวา ทรงแนะนำให้เจาะถนนที่ขวางทางน้ำเพื่อให้น้ำผ่านไปเร็วที่สุด เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นและการทะเลาะเรื่องคันกั้นน้ำจะมีมาก พร้อมทั้งทรงแนะนำให้ใช้ Flood way ขนาดกว้างและไม่ลึกไป เพื่อช่วยระบายน้ำออกเหมือนในประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งให้จัดโซนระบายรับน้ำท่วมทางด้านตะวันออของกรุงเทพมหานครให้เต็มที่ ฯลฯ

พระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานเอาไว้เมื่อ 16 ปีที่แล้ว ยังทันสมัยเหมือนกับทรงมีพระราชดำริแก้ปัญหาอยู่ในปัจจุบัน !!!
กำลังโหลดความคิดเห็น