ผู้บัญชาการทหารบก ตรวจศูนย์พักพิงสายไหม ไปดอนเมือง ยันเน้นทั่วถึง แบ่ง 2 กลุ่มดูคันกั้นน้ำและดูอาหาร, สัญจร ชี้ช่วย กทม.ต่างต่างจังหวัด เหตุพื้นที่จำกัด วอนชาวบ้านอพยพ อย่าดื้ออยู่ต่อ ยันกองทัพเคลียร์ทำลายพนังแล้ว แนะรู้จักเสียสละ เผยถก ส.ก., เขตแบ่งโซนให้ทหารเข้า รับใช้กำลังพลกว่า 5 หมื่น วอนอดทนอีกสักนิด แนะให้คิดอยู่ร่วมกัน โยนนายกฯ จัดการนักการเมืองชักใยป่วน รับไม่อยากใช้ กม.ให้อายต่างชาติ ยันไม่จุ้นแต่พร้อมช่วย เผยขนรถถังเก็บหวั่นจมแล้วไม่คุ้ม
วันนี้ (31 ต.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พร้อมด้วย พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสนาธิการทหารบก พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 และ คณะนายทหารระดับสูงได้ลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมที่ศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยน้ำท่วมโรงเรียนสายไหม (ทัศนารมย์อนุสรณ์) เขตสายไหม ซึ่งมีผู้พักพิงอยู่กว่า 100 คน โดยได้รับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์เขตสายไหม มอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบภัย และทักทายกับกำลังพลที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ ได้เดินทางตรวจน้ำท่วมในเขตพื้นที่เขตดอนเมือง เนื่องจากระดับน้ำในเขตดอนเมืองสูงถึง 1 เมตรกว่า ทำให้ต้องลงเรือแอร์โบ้ตตรวจพื้นที่
โดย พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ระหว่างลงพื้นที่เขตสายไหม ว่า สิ่งที่เราเป็นห่วงขณะนี้ คือ ความทั่วถึง เพราะความเดือดร้อนเริ่มแผ่กระจายไปในวงกว้าง แม้ระดับน้ำจะไม่สูงมากนัก แต่มีผลกระทบต่อการสัญจรไปมา โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ใกล้กับคลองต่างๆ ทั้ง 4-5 คลอง ที่ได้แจ้งเตือนมาแล้ว ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง ตนจึงสั่งการให้ตำรวจในพื้นที่ประสานการปฏิบัติกับเขตต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เพราะนโยบายที่เราได้กำชับ คือ จะต้องทั่วถึง โดยเราจะแบ่งกลุ่มงานออกเป็นกลุ่มหลักๆ คือ เรื่องการดูแลน้ำ ดูแลพนังกั้นน้ำ ว่า จะต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลไม่ให้พังทลาย ส่วนที่ 2 คือ การดูแลการสัญจร อาหารต้องทั่วถึง และคิดว่า กำลังทหารเพียงอย่างเดียวคงทำได้ไม่ทั่วถึง ถ้าเราไม่บูรณาการร่วมกับสำนักเขต กทม. ส.ก. และ ส.ข.ซึ่งเป็นผู้รู้ว่า ประชาชนอยู่ที่ไหนบ้าง
“เมื่อแบ่งพื้นที่แล้ว ทหารจะเข้าไปเป็นแกน แล้วให้ส่วนราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันดูแลจะได้ทั่วถึงเช่นในเขตสายไหม เราแบ่งเป็น 4 โซน โซนไหนเดือดร้อนมากก็ส่งกำลังเข้าไปมากหน่อย ส่วนไหนเดือดร้อนน้อยค่อยส่งกำลังเข้าไปทีหลัง ซึ่งคน กทม.กับคนต่างจังหวัดแตกต่างกัน เพราะ กทม.ไปไหนไม่ได้ เนื่องจากมีพื้นที่จำกัด ถ้าจะออกไปก็ต้องไปต่างจังหวัดเลย ขณะนี้เขาคิดว่าความเดือดร้อนยังไม่มากนัก จึงอยากอยู่ที่เดิม ซึ่งเป็นปัญหาที่เราต้องแก้ไขว่าทำอย่างไรจึงจะทั่วถึง คิดว่า ในระยะยาวถ้าน้ำท่วมขึ้นมามาก ประชาชนต้องออกมากันให้หมด ต้องเชื่อฟังเจ้าหน้าที่ อย่าดื้อดึงอยู่กันต่อไปเลย อยู่ไปก็ดูแลลำบาก พอดูแลไม่ทั่วถึงจะอดอาหารอดน้ำ แล้วเจ้าหน้าที่ก็ต้องเข้าไปแจกจ่าย ซึ่งบางจุดเราก็เข้าไปไม่ถึง ช่วยลำบาก” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่คนในพื้นที่สายไหมมีการทำลายพนังกั้นน้ำ ขณะนี้กองทัพได้ทำความเข้าใจกับประชาชนแล้ว ซึ่งมีหลายจุดที่มีการรื้อและพังทลาย แต่เราได้เข้าไปทำความเข้าใจและอธิบาย ซึ่งก็ดีขึ้นและมีจำนวนลดลงมาก ถ้าเราไปพังพนังกั้นน้ำทั้งหมด น้ำจะเข้ากรุงเทพฯทั้งหมด เราต้องรู้จักการเสียสละ การอยู่ร่วมกันไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ พลเรือน ตำรวจ ทหาร อย่ามาเลือกที่รักมักที่ชังกันตอนนี้มันไม่ได้ ส่วนกำลังพลต้องมีการตระเวนตลอดเวลาต้องแบ่งความรับผิดชอบให้ชัดเจน ตนพูดในฐานะผู้ปฏิบัติเราไม่ได้ยุ่งกับรัฐบาล ในส่วนของเราต้องแบ่งมอบพื้นที่รับผิดชอบจะได้มีความชัดเจนขึ้น แต่ถ้าทำไม่ได้ทหารจะเป็นหลักในทุกพื้นที่ วันนี้ได้คุยกับ ส.ก.และ ผอ.เขต ว่า ต่อไปนี้เราจะแบ่งพื้นที่รับผิดชอบให้ชัดเจน แบ่งโซนนิงแล้วทหารจะเข้าไปในทุกจุด ส่วนกำลังพลที่ดูแลน้ำท่วม ตนทำการเพิ่มเติมตลอดตั้งแต่หมื่นคนจนขณะนี้มี 5 หมื่นคน และได้เรียกมาเพิ่มเติม 20 กว่ากองร้อย ส่วนที่ต่างจังหวัดได้สแตนด์บายไว้กว่า 2 กองร้อย ซึ่งเป็นระลอกสุดท้ายที่จะต้องมาเป็นกองหนุนให้
“สถานการณ์น้ำขณะนี้ผมได้ติดตามจากการแจ้งข้อมูลข่าวสารจากหน่วยที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ศปภ. กทม.และเท่าที่ประเมินสถานการณ์ในช่วงนี้เป็นช่วงที่น้ำหนุน ต้องผ่านสิ้นเดือน ต.ค.ไปแล้ว หรือสัปดาห์แรกของเดือน พ.ย.ปริมาณน้ำในทะเลจะเริ่มลดลงก็จะทำให้การระบายน้ำทำได้มากขึ้นทั้งฝั่งตะวันตก ตะวันออก และตรงกลาง แต่ส่วนตรงกลางจะได้รับผลกระทบมากกว่าส่วนอื่นเพราะน้ำจะทะลักเข้ามาใน กทม.และประชาชนจะเดือดร้อน แต่จะทำอย่างไรได้เพราะถ้าเรากั้นไว้หมดน้ำก็ลงทะเลไม่ได้ ทั้งเจ้าพระยา ท่าจีน และบางปะกง เราต้องนำน้ำลงทะเลให้หมด ถ้าทะเลไม่ดันไว้น้ำก็จะระบายได้มากขึ้น ขอให้ทุกคนอดทนอีกสักระยะหนึ่ง อย่างที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ว่าประมาณ 7-10 วัน ซึ่งจะรอดูสถานการณ์อีกครั้ง ช่วงนี้ต้องคิดกันว่าจะทำอย่างไรถึงจะอยู่ร่วมกันได้ ทั้งฝ่ายการเมือง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน ต้องช่วยกันทำหน้าที่ดูแลประชาชน เรื่องอื่นเลิกคิดไปก่อน เราต้องคิดว่า จะสร้างความเข้มแข็งให้กับส่วนราชการและประชาชนได้อย่างไร วันนี้ต้องอยู่ร่วมกับน้ำให้ได้ก่อน ดูแลอย่างไรไม่ให้อดอาหาร อดน้ำ เราต้องแก้ด้วยการบูรณาการทุกส่วนราชการ ทหารไม่ต้องการเป็นพระเอก แต่ขอเป็นผู้ช่วยให้สำนักงานเขต กทม. รัฐบาล มาเป็นพระเอก มันเป็นหน้าที่ของทหาร ทหารมีหน้าที่ในการสนับสนุน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่มีนักการเมืองเข้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายพนังกันน้ำ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องให้ฝ่ายการเมืองไปพูดคุยกัน ซึ่งบางส่วนได้รายงานให้ ศปภ.และนายกฯทราบแล้ว ท่านก็ไปว่าของท่านเอง ท่านต้องไปสั่งการในเรื่องของนักการเมือง เพราะตนไปละลาบละล้วงไม่ได้ คิดว่า ช่วงที่ผ่านมาเกี่ยวกับประเด็นนี้มีอยู่บ้างก็ต้องขอร้องกัน แต่คงได้แต่ขอร้อง อย่าให้ต้องบังคับใช้กฎหมายกันเลย มันไม่เกิดประโยชน์ บังคับใช้กฎหมายแล้วตีกันเรื่องน้ำ มีแต่เสียหายเปล่าๆ อายต่างชาติเขา ส่วนกรณีที่มีบางหน่วยงานไม่ยอมปฏิบัติงานนั้น ก็ไปว่ากัน ใครจะทำไม่ทำก็เป็นเรื่องของ ศปภ.ที่จะต้องไปสำรวจ เขามีมาตรการ มีกฎหมายอยู่ คิดว่า เขาคงพยายามทำอยู่ แต่อาจจะติดขัดด้วยอะไรตนไม่ทราบ ในส่วนของทหารก็พยายามจะแก้ในส่วนที่มีปัญหา ซึ่งเราแก้ได้ แต่เราจะไม่ไปละลาบละล้วงในหน่วยงานอื่น เราพร้อมจะช่วยทุกหน่วยงาน ถ้ามีปัญหาก็บอกเรามา เราจะสนับสนุนให้เท่าที่เราสามารถทำได้ เราจะทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เราจะทำหน้าที่เป็นทหารของประชาชนให้มากที่สุด ต้องให้กำลังใจเขาด้วย ทั้งเขต ส.ก. ส.ข. กทม.และรัฐบาล ต้องให้กำลังใจเขาให้หมด
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่กองทัพบกมีการเคลื่อนย้ายยุทโธปกรณ์เพื่อหลีกเลี่ยงน้ำท่วม ว่า เป็นการเคลื่อนย้ายเพื่อเอายุทโธปกรณ์ไปเก็บยังที่ที่ปลอดภัย ไม่ได้ใช้คำว่า “หนี” แต่เป็นใช้คำว่า “ขนของ” เหมือนบ้านท่านกำลังจะถูกน้ำท่วม เราก็ต้องขนของไปเก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัย เรา ไปช่วยข้างหน้า ข้างหลังเราก็ต้องดูแลของเรา เพราะรถถังที่เคลื่อนย้ายมันราคาแพง ไม่ใช่คันละล้าน แต่คันละเป็นร้อยล้าน ของอย่างนี้ถ้ามันจมน้ำมันไม่คุ้มค่า จะให้ผมทำอย่างไร จะปล่อยให้ยุทโธปกรณ์ท่วมไปด้วยคงไม่ได้ แต่คนไม่ได้หนี ถ้าคนหนีก็คงไปกันหมดแล้ว แต่นี่อยู่กันเต็มไปหมด ทหารไม่เคยหนี หนีไม่ได้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนที่มีการเคลื่อนย้ายยุทโธปกรณ์ตอนนี้ใน กทม. อาทิ กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ (ร.1รอ.) กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11รอ.) และกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน4 รอ.) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ริมน้ำ ตนได้ให้นโยบายในการป้องกันไว้ คือ 1.ต้องเอาของขึ้นจากพื้นอย่างน้อย 1 เมตร 2.รถ ถังและยานพาหนะทั้งหมดจะต้องเอาออกมาข้างนอก เพราะมีราคาแพงและต้องนำมาใช้เพื่อช่วยเหลือประชาชน ตนจึงได้บอกว่าให้เอาไปจอดที่ไหนก็แล้วแต่ที่มันปลอดภัย แล้วถึงเวลาก็ต้องนำออกมาช่วยประชาชนได้ ทั้งนี้เราเคยมีบทเรียนมาแล้ว ถ้าจมน้ำแล้วมันเสียหายเยอะ ถ้าปล่อยให้จมน้ำหมดก็ไม่ได้ เพราะจะให้ทหารว่ายน้ำไปช่วยประชาชนก็ไม่ได้ ดังนั้นก็ต้องรักษารถ ซึ่งรถสายพานลำเลียงที่เรามีก็สามารถใช้บรรทุกคนได้ แต่ขณะนี้น้ำมันสูง รถมันวิ่งไม่ได้ รถเก่าแล้วลอยน้ำไม่ได้ ถ้าอยากให้ลอยน้ำก็ต้องซื้อใหม่ แต่ไม่ใช่ว่า จะเรียกร้องช่วงน้ำท่วมแล้วอยากได้โน่นได้นี่ ขณะนี้ทหารมีของที่ต้องรักษาอยู่ 3 ของ คือ ของตัวเอง ของหลวง และของประชาชน เราต้องป้องกันส่วนนี้ให้ได้ อยากให้เห็นใจกันหน่อย