xs
xsm
sm
md
lg

สสปน.หวั่นอภัยโทษ ฉุดไทยแตกแยกอีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน –   สสปน.-เอกชน โวย มติ ครม. แก้ พ.ร.ฎ. อภัยโทษ  เหมือนเติมเชื้อ ฉุดภาพลักษณ์ประเทศไทย ให้แย่ลงไปกว่าเดิม ชี้อุตสาหกรรมไมซ์น้ำท่วม กระทบ งานยกเลิกแล้วกว่า 5 งาน  สูญรายได้กว่า 3.3 พันล้านบาท  เร่งฟื้นธุรกิจไม่รอรัฐบาลแล้ว   

นายอรรคพล  สรสุชาติ  ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. เปิดเผยว่า   ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมไมซ์ยังเห็นตรงกันว่า ประเทศไทยบอบช้ำมาติดต่อกันหลายปีแล้ว  ทั้งผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองและปีนี้คือผลกระทบจากภัยธรรมชาติ   และจะเสนอภาครัฐว่า ควรออกมายืนยันมาตรการแก้ปัญหาระยะยาวว่า ในอนาคตจากนี้ไป อุทกภัยแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก

***ฉะรัฐแก้ พ.ร.ฎ.จุดชนวนแตกแยก
ดังนั้น จึงอยากขอให้รัฐบาลอย่าสร้างประเด็นอื่นๆเข้ามาทำลายความมั่นใจของชาวต่างชาติไปมากกว่านี้  โดยเฉพาะประเด็นที่คณะรัฐมนตรีมีมติแก้ พ.ร.ฎ.อภัยโทษ เพราะมองว่าจะเป็นประเด็นที่สร้างความแตกแยกของคนภายในประเทศให้เกิดขึ้นอีก ทั้งนี้มองว่าหากไทยผ่านพ้นวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ไปได้ ปีหน้า จะเป็นอีกหนึ่งปี ที่ เศรษฐกิจของไทย จะก้าวสู่ความสดใสและฟื้นเป็นปรกติได้อย่างรวดเร็ว

“หากรัฐบาลคิดที่จะทำอะไรอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมแก่เวลาและสถานการณ์ ก็ขอให้หยุดเสีย แล้วหันมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือเรื่องอุทกภัยให้เสร็จสิ้นก่อน ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมไมซ์เห็นตรงกันว่า  หากรัฐคิดจะแก้พ.ร.ฎ.อภัยโทษ เพื่ออะไรก็แล้วแต่ หากหยุดได้ก็ควรหยุดเถอะ เพราะการทำเช่นนี้ จะถูกใจก็เพียงใครบางคน แต่ผลจะเสียหายกับคนทั้งประเทศก็จะเข้าข่ายว่า ความวัวยังไม่ทันหาย ความควาย เข้ามาแทรก น้ำยังไม่ลดต่อก็จะมาผุดขึ้นอีก  อย่าหาประเด็นการเมืองมาทำให้เกิดวิกฤตใหม่ขึ้นมาอีก วันนี้ต่างชาติไม่มั่นใจเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมก็พออยู่แล้ว ยังต้องมากังวลว่า การเมืองไทย จะมีการเผชิญหน้ากันอีกหรือไม่  วันนี้ กระบวนการแก้ พ.ร.ฎ.เพิ่งเริ่มต้น ก็ควรตัดไฟแต่ต้นลม“

นายอรรคพล กล่าวต่อถึง การประชุมร่วมกับภาคเอกชน เมื่อวานนี้  เพื่อหามาตรการฟื้นฟูอุตสาหกรรมไหม จากวิกฤตน้ำท่วม ว่า ที่ประชุมมีมติ จะรีบดำเนินการฟื้นฟูความมั่นใจจากต่างประเทศ  เพื่อให้อุตสาหกรรมไมซ์ของไทย สามารถเดินหน้าต่อได้ทันที  ภายใต้แคมเปญ Together We FIGHT for Thailand
โดยจะไม่นิ่งรอแผนการฟื้นฟูจากภาครัฐบาลเพียงอย่างเดียว

 โดยแนวทางการทำงาน ในระยะสั้นจะเร่งนำเสนอภาพหรือข่าวสารเชิงบวกของประเทศไทย ออกไปยังสื่อต่างชาติ  เช่น ภาพแหล่งท่องเที่ยว ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ภาพการประชุม สัมมนา ที่ยังคงมีการจัดงานนับแต่เดือน พ.ย. นี้เป็นต้นไป  ภาพความร่วมมือร่วมใจของคนไทย ในการฝ่าฝันวิกฤตน้ำท่วม  ตลอดจน การจัดกิจกรรม บิ๊ก คลีนนิ่ง เดย์  แสดงให้เห็นว่าเมืองไทยพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว และการประชุม สัมมนา

ทั้งนี้ กิจกรรมที่ดำเนินการทั้งหมด สสปน.จะให้งบประมาณที่มีอยู่ จัดสรรออกมาใช้ นอกจากนั้นยังต้องเร่งกระตุ้นโดเมสติกไมซ์ให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ให้หน่วยงานราชการ เร่งจัดงานประชุมสัมนนา ภายในไตรมาส 2 ปีหน้า  อย่ารอจนถึงสิ้นปีงบประมาณ

จากการหารือกับภาคเอชน มีข้อเสนอถึงรัฐบาลว่า ต้องการให้รัฐปรับมุมมอง หรือทัศนคติ ที่มีต่อธุรกิจไมซ์  เพราะถือเป็นธุรกิจที่สามารถฟื้นตัวได้ทันที เพียงรัฐบาลเร่งสร้างความมั่นใจ ผู้คนนักธุรกิจก็จะกลับเข้ามาใช้ประเทศไทยในการจัดประชุมสัมมนา เหมือนเดิม   ซึ่งผิดกับอุตสาหกรรมอื่นๆที่อาจต้องใช้เวลานานถึง 3 เดือน   

***ใช้เวทีต่างประเทศแจงข้อเท็จจริง****
นายอรรคพล กล่าวอีกว่า  ในส่วนของ สสปน.  จะใช้เวทีการออกงานในต่างประเทศ ชี้แจงข้อเท็จจริงสถานการณ์ของประเทศไทย   เริ่มตั้งแต่สัปดาห์หน้า ในเวทีการประชุม สมัชชาใหญ่คณะกรรมการมหกรรมโลก  หรือ BIE ที่กรุวปารีส  และต่อด้วยงานประชุมเกี่ยวกับธุรกิจไมซ์   EIBTM   ที่ประเทศสเปน

อย่างไรก็ตาม   จากอุทกภัยครั้งนี้เป็นผลให้มีการยกเลิกการจัดงานประชุมใหญ่ รวม 5 งาน  ที่เหลือเป็นการขอเลื่อนการจัดงานออกไปปลายปีนี้ถึงกลางปีหน้า  ส่งผลให้ธุรกิจไมซ์ เสียโอกาสสร้างรายได้ ถึงวันที่ 15 พ.ย.54 เป็นมูลค่ารวม กว่า 3,323 ล้านบาท  ส่วนในปี 2555 ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณ ราว 800 ล้านบาท  น้อยกว่าปีนี้ สสปน.จึงขอกำหนดเป้าหมาย จำนวนนักเดินทางและรายได้เท่ากับปีนี้ คือ 7.5 แสนคน รายได้  6 หมื่นล้านบาท

***เอกชนหนุนโฆษณาผ่านCNN
นางสุชาดา  ยุวบูรณ์ ประธานกรรมการ สวนสามพราน โรงแรม โรสการ์เด้น ริเวอร์ไซต์  กล่าวว่า  ภาคเอกชนทั้งสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ(ไทย) และอีกหลายหน่วยงาน ที่ร่วมประชุมครั้งนี้เห็นตรงกันว่า จะร่วมกับ สสปน. ในการเร่งประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยออกสู่สายตาชาวต่างชาติ  เช่น การลงโฆษณาผ่าน สื่อที่มีชื่อเสีย อย่าง CNN และ BBC  ซึ่ง มีผู้ชมจำนวนมาก เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย  ภาพที่จะนำเสนอ เช่น มุมมองอื่นๆ เช่น พื้นทีน้ำลด การเก็บขยะ กิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่ง   ที่ไม่ใช่ภาพความเสียหายจากน้ำท่วม

***
กำลังโหลดความคิดเห็น