xs
xsm
sm
md
lg

อุทกภัย รัฐบาล ประชาชน กองทัพ และกฎหมายอภัยโทษ 2554

เผยแพร่:   โดย: ว.ร. ฤทธาคนี

อุทกภัยหรือภัยจากน้ำท่วม มีลักษณะต่างๆ กันในเรื่องความรุนแรงของกระแสน้ำ หรือลักษณะค่อยๆ ไหลมาท่วมที่ราบลุ่มของกระแสน้ำที่ไหลลงสู่ทะเล ปรากฏการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้นมีความรุนแรงน้อยครั้ง และช่วงสั้นๆ มีผลกระทบกับพื้นที่ไม่กว้างขวางนัก เช่น กรณีอุทกภัยฉับพลันที่แหลมตะลุมพุก พ.ศ.2505 อันเกิดจากพายุโซนร้อนแฮร์เลียตพัดกระหน่ำเฉพาะตำบล ทำให้เกิดน้ำทะเลท่วมบ้านเรือนชาวบ้าน และฝนตกหนัก ดินโคลนชายเขาถล่ม และน้ำป่าไหลเข้าท่วมบ้านเรือนที่ปากพนัง นครศรีธรรมราช

ปกติวาตภัยและอุทกภัยจะมาด้วยกัน วาตภัยเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่พยากรณ์ได้ยาก เพราะมีตัวแปรหลากหลาย เช่น ความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิ ความกดอากาศ ความเร็วและทิศทางกระแสลมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนที่เส้นแลตติจูด 14 องศาเหนือ ได้รับอิทธิพลลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่เกิดขึ้นเป็นประจำ มรสุมแปลงมาจากภาษาอารบิก แปลว่าฤดูกาล จึงทำให้พยากรณ์ลมฟ้าอากาศได้พอประมาณ แต่อินโดจีนและแหลมสุวรรณภูมิยังตกอยู่ในเขตอิทธิพลพายุไต้ฝุ่นที่เกิดขึ้นบริเวณในทางภูมิศาสตร์เรียกว่า “แอ่งแปซิฟิก” ไต้ฝุ่นเป็นพายุหมุนในเขตร้อนที่เกิดขึ้นตามปรากฏการณ์ Convection และ Advection หรือการขยายลอยขึ้นและลอยตัวของมวลอากาศร้อนตามแนวนอนบริเวณเส้นศูนย์สูตร แล้วไหลไปแทนที่มวลอากาศเย็นที่หนักกว่าบริเวณขั้วโลกเหนือเป็นประจำตลอดเวลา ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิ ความกดอากาศ และจำนวนน้ำในหมู่เมฆ เกิดเป็นพายุไต้ฝุ่นแล้วพัดเข้าหาฝั่ง แต่พยากรณ์ได้ยาก เพราะว่าตัวแปรภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงได้ง่าย และรวดเร็ว

ประเทศไทยโชคดีที่พายุไต้ฝุ่นจากทะเลจีนใต้พัดมากระทบกับเทือกเขาโฮงเลียนของเวียดนามทอดยาวเหนือใต้ ซึ่งมียอดเขาฟานซีปัง สูง 3,143 เมตร ขวางกันพายุไต้ฝุ่นมิให้เข้าสู่ประเทศไทย แต่ให้กลายเป็นเพียงดีเปรสชันฝนตกหนักเท่านั้น

ดังนั้น วาตภัยและอุทกภัยร้ายแรงจึงไม่เกิดขึ้นกับประเทศไทย แต่จำนวนฝนตกหนักนั้นมีสถิติอยู่แล้ว และเมื่อสามารถคำนวณจุดต่ำสุดสูงสุดได้ สามารถคำนวณวิเคราะห์ความเสี่ยงภัยแล้งอุทกภัยได้พอสมควร แต่ที่คำนวณไม่ได้คือภาวะความเสี่ยงน้ำมันแพง ทำให้ กฟผ.ต้องตั้งตัวเลขของน้ำกักเก็บในเขื่อนภูมิพลไว้สูง เพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำปั่นไฟฟ้า พลังงานไฟฟ้าจึงเป็นตัวแปรของการคาดคะเนผิดพลาดของใครบางคนหรือเปล่าเป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันต่อไป

ปรากฏการณ์ธรรมชาติเป็นสัญญาณแจ้งเตือนเชิงภูมิศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับอุทกภัยและภัยแล้งอันมีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมให้กับรัฐบาลเป็นประจำอยู่แล้ว ฤดูกาลที่ไม่เปลี่ยนแปลง สถิติน้ำฝนตกสูงสุดต่ำสุดเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์อยู่แล้ว และวิกฤตน้ำท่วมหลังเขื่อนเหนือเขื่อนที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554 เป็นสิ่งบอกเหตุ แต่รัฐบาลประมาทไม่ใส่ใจ และไร้แผนตั้งรับ ขาดมาตรการป้องกัน และการบรรเทาทุกข์ของประชาชนอย่างเป็นระบบ ขาดข้อมูลที่ถูกต้องหรือใกล้เคียงความจริง ขาดการสั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ให้จัดเตรียมแผนงานรองรับ

รัฐบาลนี้มีอำนาจในการบริหารอยู่แล้ว สามารถเชิญกลุ่มบุคคลที่มีความชำนาญโดยเฉพาะนักวิชาการทางวิศวกรรมชลประทาน นักวิชาการภูมิศาสตร์และอุทกศาสตร์มาระดมสมองเพื่อรับมือน้ำท่วม ปูแดงเมื่อได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ต้องเผชิญกับแรงกดดันในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี และข้าราชการการเมือง เพื่อเอื้อประโยชน์กับทักษิณ พรรคเพื่อไทย และคนเสื้อแดงจึงขาดภาวะความเป็นผู้นำอย่างมืออาชีพที่ต้องคิดวิธีการบริหารและแก้ปัญหาของชาติ ทุกทิศทาง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องขจัดความทุกข์ของประชาชนที่ได้รับในภาคเหนือและภาคอีสานที่น้ำท่วมก่อนหน้าที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ แต่กลับไปคิดเฉพาะตัวเลขค่าแรง 300 บาทต่อวัน เงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาทต่อเดือนของปริญญาตรี หลักการซื้อบ้านหลังแรก และรถยนต์คันแรก ซึ่งเป็นผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ซึ่งนายกรัฐมนตรีปูแดงก็มีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะเป็นเจ้าของ เอสซี แอสเสท หรือรถคันแรกที่ขัดผลประโยชน์กันระหว่างผู้ผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก ซีซีต่ำ ว่าจะมีเกณฑ์อย่างไร

ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลที่แท้จริง ไม่ได้รับการแจ้งเตือนที่เชื่อถือได้ ไม่มีหลักประกันในความเป็นอยู่ในแหล่งอพยพ ขาดการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ การช่วยเหลือไม่ทั่วถึงและเสมอภาค มีการใช้กฎหมู่ในการบริหารระดับน้ำท่วม มีการเอารัดเอาเปรียบของพวกเห็นแก่ตัว มิจฉาชีพอาละวาดปล้นจี้ขโมยของ ขณะที่ตำรวจไม่มีแผนรองรับในการลดความทุกข์และเสริมความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ประชาชนจึงได้รับทุกข์เต็มๆ

เศรษฐกิจพังพินาศเพราะว่าผลกระทบของรายได้ภาคเอกชนตกต่ำส่งสินค้าออกไม่ได้ น้ำท่วมครั้งนี้ทำให้ต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในการบริหารวิกฤตของนายกรัฐมนตรีหญิงคนนี้ ซึ่งพลพรรคเพื่อไทยออกมาป้องกันว่าน้ำท่วมครั้งนี้เป็นภัยธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้ แต่ความจริงแล้วนายกรัฐมนตรีขาดความรอบรู้ ขาดภาวะและขาดความตระหนักถึงสถานการณ์ ทั้งๆ ที่มีสัญญาณแจ้งเตือนเรื่องน้ำท่วมมา 2 เดือนแล้ว ประกอบกับมีโมเดลการป้องกันน้ำท่วมให้วิเคราะห์พิจารณา ประยุกต์ใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งทฤษฎีแก้มลิงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชดำริในการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2538 และ 2549 แต่นายกรัฐมนตรีจะใส่ใจหรือไม่ใส่ใจกับเรื่องเหล่านี้นั้น เป็นเรื่องที่อยู่ในใจของนายกรัฐมนตรีปูแดงเอง ไม่มีใครรู้ได้

กองทัพเป็นสถาบันของชาติที่มีกรอบหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และมีจิตสำนึกในหน้าที่อยู่แล้ว ตลอดจนการฝึกอบรมของครูฝึกทหารสมัยใหม่ ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นที่ต้องช่วยเหลือประชาชนเป็นสำคัญอันดับหนึ่ง พวกเขาไม่ได้ทำเพราะหน้าที่ แต่พวกเขาทำด้วยใจ ด้วยจิตสำนึกความเป็นคนไทย ความเป็นทหาร และศรัทธาที่ประชาชนเชื่อมั่นว่าทหารไม่ทอดทิ้งประชาชนที่รับทุกข์ต่างหากที่เป็นพลังให้ทหารซึ่งก็เป็นคนธรรมดาเหมือนกันมีหิว มีความรังเกียจ ขยะแขยงสิ่งสกปรก แต่พวกเขาลืมทั้งหมด เพราะเขารู้ว่าประชาชนต้องการความช่วยเหลือ จึงทำให้ทหารแต่ละคนทุ่มเททั้งกายและใจช่วยเหลือประชาชน

แม้นว่าตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554 เป็นต้นมา คนเสื้อแดงพยายามที่จะทำลายศรัทธาของประชาชนที่มีต่อกองทัพ ด้วยการสร้างเรื่องการปราบปรามพวกอันธพาลก่อการร้ายเสื้อแดงของทหาร แต่เหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ทหารไม่ได้ใส่ใจเลยว่าชุมชน หมู่บ้าน หรือเขตไหน เป็นฝ่ายใด ใส่เสื้อสีอะไร เคยด่าว่าร้ายทหารหรือไม่ ทหารไม่ได้ใส่ใจ ช่วยเหลือทุกคนสุดกำลัง

แต่ท่ามกลางความทุกข์และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากรณีน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ 2554 และในวาระสุดมงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา ในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ รัฐบาลกลับฉวยโอกาสใช้อำนาจออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษผู้ต้องโทษ 2554 ในวาระอันเป็นมงคลของในหลวง ซึ่งเป็นประเพณีปฏิบัติกันมาแต่โบราณ โดยรัฐบาลใช้โอกาสนี้สอดใส่เนื้อหาในกฎหมายฉบับนี้เอื้อประโยชน์ให้กับทักษิณ ด้วยการหาช่องว่างคุณลักษณะพิเศษของ พ.ร.ฎ.นี้ให้ประโยชน์ และปลดเปลื้องความผิดของทักษิณโดยตรง เช่น การที่ ครม.ตัดเงื่อนไขในคำแนบท้าย พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ที่แต่เดิมระบุว่าผู้ที่อยู่ในข่ายได้รับอภัยโทษจะต้องเป็นนักโทษที่ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและทุจริตคอร์รัปชันออกไป

โดยปกติการร่างกฎหมายลักษณะนี้กระทำการอย่างเปิดเผย เพราะเป็นประโยชน์ต่อสังคม เพื่อเป็นพระราชกุศล และเป็นตัวอย่างให้นักโทษที่ประพฤติดี เพื่อที่จะได้มีโอกาสเป็นอิสระก่อนกำหนดโทษ

อย่างไรก็ดี พ.ร.ฎ.ถึงจะออกได้โดยรัฐบาลอยู่แล้วหากมีเหตุจำเป็นแต่ยังต้องมีพระราชบัญญัติรองรับ มีขบวนการตามรัฐธรรมนูญ และต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อให้ในหลวงทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งเป็นขบวนการที่เปิดเผย ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะใช้เวลาเป็นตัวบีบ เพราะว่าต้องการให้ออกกฎหมายนี้ก่อนวันที่ 5 ธันวาคมนี้ แต่หากขบวนการไม่บริสุทธิ์ก็ใช่ว่าจะสำเร็จง่ายๆ เพราะว่านักโทษมิได้จะออกจากคุกได้ทันทีทันใด ยังต้องผ่านกระบวนการทางราชทัณฑ์อีกมากมายและเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย จึงจะมาตีกินเร่งออกกฎหมายนี้

คงมีคนไทยอีกนับล้านๆ ที่คงไม่ยอมให้มติของการประชุม ครม.ที่มีร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงเป็นประธานมาบังคับในหลวงให้ลงพระปรมาภิไธยใน พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ได้ง่ายๆ คงมีขบวนการต่อต้านออกมาเรียกร้องความถูกต้องชอบธรรม และยุติธรรมให้กับข้าราชการและนักการเมืองที่ต้องโทษคนอื่นๆ

ดังนั้น ขอรัฐบาลอย่าได้มั่วใช้เวลาอันเป็นมงคล และในห้วงความทุกข์ของคนถูกน้ำท่วม แสวงหาโอกาสให้แก่คนเพียงคนเดียว ที่ไม่ได้เสวยทุกข์อะไรเลยในต่างแดนและขอให้พระสยามเทวาธิราชได้ขจัดภัยแผ่นดินอย่างถาวร
กำลังโหลดความคิดเห็น